บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

06 มกราคม 2568

เศรษฐกิจไทยปี 2567 และแนวโน้มปี 2568

 

ปี 2567 เศรษฐกิจเติบโตตามวัฏจักรแต่การฟื้นตัวยังไม่กระจายไปในทุกภาคส่วน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง


เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.7% ปรับดีขึ้นจาก 1.9% ในปี 2566 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การใช้จ่ายภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่เน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากความไม่ต่อเนื่องของนโยบายภายหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ประกอบกับความล่าช้าในการลงทุนภาครัฐ และปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต

การท่องเที่ยวเติบโตแข็งแกร่ง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอานิสงส์ของมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (Visa Free) ที่ขยายครอบคลุมกว่า 90 ประเทศ ประกอบกับการขยายเส้นทางการบิน และการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 35.5 ล้านคนในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 28.2 ล้านคนในปี 2566 อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่เป็นตลาดสำคัญยังคงฟื้นตัวช้ากว่ามาเลเซีย รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งกลับไปสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว ขณะเดียวกันการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.8%  ปัจจัยบวกจากภาคท่องเที่ยวที่ช่วยสนับสนุนการจ้างงานในภาคบริการ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy E-Receipt และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบาง อย่างไรก็ตาม การบริโภคชะลอลงจากปี 2566 เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง อีกทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวนจากภัยแล้งและน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ในภาคเกษตร



 

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2567 หลังจากการเบิกจ่ายพลาดเป้าในช่วงครึ่งปีแรกจากความล่าช้าในการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ด้านการส่งออกของไทยมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดที่ 3.9% จากหดตัว 1.5% ในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวตามวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของภาคบริการทั่วโลก  นอกจากนี้ บางกลุ่มสินค้าอาจมีคำสั่งซื้อเร่งตัวจากความกังวลการปรับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในปี 2568 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัว 1.5% ในปี 2567 จากขยายตัว 3.2% ในปี 2566 สาเหตุหนึ่งจากความกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศซึ่งมีการผลัดเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีกระทันหัน และการลงทุนบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567



ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 ชะลอลงสอดคล้องกับการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศ และสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีความผันผวนลดลง ผนวกกับการดำเนินมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง จากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศและค่ากระแสไฟฟ้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% จาก 1.2% ในปี 2566 สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินเริ่มมีการผ่อนคลายอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยคณะกรรมการนโยบายเงิน (กนง.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง จากสิ้นปี 2566 ที่ระดับ 2.50% สู่ระดับ 2.25% ในช่วงต้นไตรมาสสุดท้ายของปี และคงไว้ที่ระดับดังกล่าวจนถึงสิ้นปี 2567 ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ ภาวะการเงินที่ตึงตัวซึ่งสะท้อนจากการหดตัวของสินเชื่อ รวมถึงช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้านค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายปีค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ภายหลังสหรัฐฯส่งสัญญาณอาจชะลอการปรับลดดอกเบี้ยในปี 2568


 

ปี 2568 เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากปัจจัยบวกชั่วคราว ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างและความไม่แน่นอนด้านนโยบาย

 

สำหรับปี 2568 วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.9% ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจาก 2.7% ในปี 2567 แรงขับเคลื่อนหลักจาก (i) ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่องและมีแนวโน้มกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 35.5 ล้านคน ในปี 2567  ปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น การปรับตัวของอุปทานทั้งจำนวนเที่ยวบินและการขยายเส้นทางการบินเพิ่มเติม  รวมทั้งมาตรการ Visa Free  (ii) การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและกลับมาเป็นปกติหลังจากมีการเบิกจ่ายล่าช้าในปีงบประมาณ 2567 ประกอบกับพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เพิ่มขึ้นจากปีงบฯก่อน 4.2% และเป็นงบขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.5% ของ GDP (iii) การลงทุนโดยภาพรวมมีแนวโน้มจะขยายตัวในระดับปานกลาง แรงหนุนจากการเร่งลงทุนของภาครัฐ สะท้อนจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปีงบฯ 2568 ขยายตัวสูงถึง 26.5% เมื่อเทียบกับปีงบฯ ก่อน ซึ่งจะช่วยเหนี่ยวนำให้การลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐปรับดีขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 7.2 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี ส่งสัญญาณเชิงบวกต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายภาคอุตสาหกรรมอาจเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน (iv) การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ชะลอลงจากปี 2567 โดยยังได้อานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าโลก สะท้อนจาก IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกับปี 2567 ที่ 3.2% เช่นเดียวกับองค์การการค้าโลก (WTO) คาดปริมาณการค้าโลกจะเติบโตราว 3.0% จาก 2.7% ในปี 2567 นอกจากนี้ ยังได้ปัจจัยหนุนจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการเติบโตในภาคท่องเที่ยวและบริการที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ อาหาร และเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับปานกลางเนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีแรงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตในประเทศที่มีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย (v) ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงในปี 2568 แต่คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม ปัจจัยบวกจากการปรับดีขึ้นต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวที่หนุนการจ้างงานในภาคบริการ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่านโครงการ Easy E-Receipt ในช่วงต้นปี รวมถึงการจัดทำงบประมาณวงเงิน 1.53 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนอาจถูกจำกัดเนื่องจากรายได้ที่แท้จริงของแรงงานยังฟื้นตัวช้า ประกอบกับมูลค่าสินทรัพย์ของครัวเรือนลดลงในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางลงมา ขณะที่รายได้เกษตรกรมีแนวโน้มปรับลดลงจากปี 2567 ผลกระทบจากปัจจัยทางด้านราคาเป็นหลัก นอกจากนี้ ภาวะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงแม้จะมีมาตรการบรรเทาภาระหนี้แก่กลุ่มเปราะบางผ่านโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’




 

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่ากนง.มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากสิ้นปี 2567 ที่ 2.25% สู่ระดับ 2.00% ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและบรรเทาภาวะทางการเงินที่ตึงตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2568 คาดว่าจะมีแนวโน้มอยู่ใกล้ขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ใกล้เคียงกับปีก่อน ประกอบกับทางการยังคงดำเนินมาตรการบรรเทาค่าครองชีพทางด้านราคาพลังงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ราคาน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้า

แม้เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมในปี 2568 จะทยอยเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปและได้รับแรงสนับสนุนจากหลายปัจจัยมากขึ้น แต่ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายสำคัญ ได้แก่ (i) ความตึงเครียดทางการค้าและความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (ii) การหลั่งไหลของสินค้านำเข้าจากจีน (iii) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง เช่น ความเสี่ยงจากปรากฏการณ์ La Niña (iv) ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้ครัวเรือนสูง และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และ (v) ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย


Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา