บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

17 ธันวาคม 2567

การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปยังคงสนับสนุนมุมมองดอกเบี้ยขาลงในปี 2568 ขณะที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

 

สหรัฐ

 

คาดเฟดทยอยลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจแบบ Soft-landing ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เพิ่มขึ้น 2.7% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.6% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น 3.3% ทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้นเกินคาดแต่ราคาภาคบริการชะลอลงชัดเจน อีกทั้งดัชนีราคานำเข้าขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ด้านจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน นอกจากนี้ สหรัฐฯเตรียมปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลและโพลีซิลิคอนจากจีนสู่ระดับ 50% (จากเดิม 25%) และปรับขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ทังสเตนสู่ระดับ 25% (จากเดิม 7.5%) โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568

ตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังคงสนับสนุนภาพการชะลอตัวแบบ Soft-landing แต่อาจลดความคาดหวังต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีหน้า สะท้อนจาก (i) ดัชนี ISM ภาคบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่อง (ii) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดในรอบ 8 เดือน สอดคล้องกับยอดค้าปลีกที่ขยายตัว และ (iii) ความเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของทรัมป์ที่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของตลาดแรงงาน ค่าจ้างที่เติบโตลดลง รวมถึงอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อผู้บริโภคและบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงและเปิดทางให้เฟดสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 ธันวาคม ก่อนที่คาดว่าจะปรับลด 0.25% ต่อไตรมาส ในปี 2568



 

ยูโรโซน

 

ECB ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในปี 2568 จากภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 3.0% พร้อมส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่ ECB จะยังคงเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมท่ามกลางการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนและการประเมินว่าเงินเฟ้อจะต่ำกว่า 2% ในปี 2568 นอกจากนี้ ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของสหภาพยุโรปเพิ่มสูงขึ้นหลัง มิเชล บาร์นิเย นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ถูกลงมติไม่ไว้วางใจและต้องพ้นจากตำแหน่งหลังปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 3 เดือน

แม้ ECB คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจาก 0.7% ในปี 2567 สู่ระดับ 1.1% ในปี 2568 แต่ภาพรวมยังคงอ่อนแอและมีความไม่แน่นอนสูงสะท้อนจาก (i) กิจกรรมภาคการผลิตและบริการที่หดตัวมากขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 45.2 ส่วนภาคบริการพลิกกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน (ii) ความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำซึ่งอาจกลายเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในระยะข้างหน้า (iii) ความขัดแย้งทางการค้าของจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อภาพรวมการส่งออก และ (iv) ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหภาพยุโรปที่เพิ่มสูงขึ้นหลังพรรครัฐบาลของฝรั่งเศสและเยอรมนีสูญเสียความนิยมไปค่อนข้างมากจนอาจนำไปสู่การยุบสภาในปีหน้าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและความสามารถในการผลักดันนโยบาย ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ECB มีแนวโน้มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 2.00% ภายในกลางปี 2568



 

จีน
 

เศรษฐกิจจีนยังเปราะบาง แม้ส่งสัญญาณบวกบ้างจากมาตรการกระตุ้น ทางการรายงาน PMI ภาคการผลิตขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จาก 50.1 ในเดือนตุลาคมเป็น 50.3 ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ขยายตัวต่อเนื่องจาก 50 เป็น 50.8 สอดคล้องกับดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก ซึ่งสูงขึ้นจาก 47.3 เป็น 48.1 ส่วน PMI นอกภาคการผลิตลดลงเล็กน้อยจาก 50.2 เป็น 50 ขณะเดียวกันภาคเอกชนหรือ Caixin รายงาน PMI ภาคการผลิตขยายตัวเร่งขึ้นจาก 50.3 เป็น 51.5 แต่ PMI ภาคบริการลดลงเล็กน้อยจาก 52 เป็น 51.5 สำหรับการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนขยายตัว 6.7% ชะลอลงจาก 12.7% ในเดือนตุลาคม ส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ยังทรงตัวที่ 8% ในอีกด้านหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 0.2% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตดีขึ้นเล็กน้อยจาก -2.9% เป็น -2.5%

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวบางส่วน ท่ามกลางปัญหาอุปทานส่วนเกินในภาคการผลิตและอสังหาริมทรัพย์ โดยการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงจาก 4.8% ในปี 2567 เหลือ 4.5% ในปี 2568 ล่าสุด รัฐบาลส่งสัญญาณเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างระมัดระวัง เป็นนโยบายแบบผ่อนคลายมากขึ้นในปี 2568 ควบคู่ไปกับมาตรการเสริมเสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงอาจพิจารณาให้เงินหยวนอ่อนค่ามากขึ้นเพื่อรับมือกับการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ารอบใหม่ของสหรัฐฯ แม้มาตรการเหล่านี้น่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ และบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้บ้าง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มภาระหนี้สินของรัฐบาล ซึ่งอาจบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 


 

 

 

แม้ความเชื่อมั่นมีทิศทางฟื้นตัว และทางการออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนเพิ่มเติม แต่คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากปีนี้


ความเชื่อมั่นผู้บริโภคผ่านจุดต่ำสุด แต่แรงส่งการฟื้นตัวยังเปราะบาง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับ 56.9 จากเดือนก่อนที่ 56.0 ปัจจัยบวกจากสถานการณ์อุทกภัยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่คลี่คลายลง  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบาง กิจกรรมท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น

แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่คาดว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในเดือนกันยายน (ที่ 55.3) นับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องและโมเมนตัมในการฟื้นตัวยังค่อนข้างเปราะบาง สะท้อนจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดโควิด (ปี 2562 เฉลี่ยที่ 75.5) ประกอบกับปัจจัยหนุนในการฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้จ่ายในระยะสั้น ขณะที่กำลังซื้อยังอ่อนแอสะท้อนจากค่าจ้างที่แท้จริงในปี 2567 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดโควิด (ปี 2562) ราว 3.2% หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 0.6%  ต่อปี นอกจากนี้ ค่าจ้างที่แท้จริงในแรงงานแต่ละสาขามีการฟื้นตัวแตกต่างกัน โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้าและยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด ส่วนรายได้ในภาคเกษตรในปี 2568 มีแนวโน้มลดลงตามปัจจัยทางด้านราคาเป็นสำคัญ

วิจัยกรุงศรีคาดการบริโภคภาคเอกชนในปี 2568 จะขยายตัวราว 3% จากปีนี้คาดโตที่ 4.8% โดยมีแนวโน้มชะลอลงใกล้กับระดับการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้นหลังจากที่ขยายตัวในอัตราสูงจากแรงอัดฉีดของมาตรการภาครัฐและ pent-up demand รวมทั้งการเร่งตัวของภาคท่องเที่ยวในช่วงหลังโควิด

 


 

ทางการออกโครงการแก้หนี้ครัวเรือนมุ่งช่วยกลุ่มเปราะบาง  แต่ยังต้องอาศัยเวลาในการบรรเทาปัญหา ล่าสุดรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันผลักดันโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ (i) จ่ายตรง คงทรัพย์ เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และสินเชื่อ SMEs ขนาดเล็ก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวด และพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด (ii) มาตรการจ่าย ปิด จบ เป็นการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ที่เป็น NPL และมีมูลหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท/บัญชี สามารถชำระหนี้และปิดจบหนี้ได้ (รายละเอียดดังตาราง)โดยผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568

จากโครงการแก้หนี้ข้างต้นนับเป็นมาตรการชั่วคราวที่เน้นให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเปราะบางทั้งที่เป็นลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกหนี้สามารถรักษาสินทรัพย์ บ้าน รถ หรือสถานประกอบการ โดยโครงการแก้หนี้นี้จะครอบคลุมจำนวนลูกหนี้ 1.9 ล้านราย หรือ 2.1 ล้านบัญชี ยอดหนี้คงค้างรวม 8.9 แสนล้านบาท  หรือคิดเป็น 5.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ทั้งนี้  วิจัยกรุงศรีประเมินว่าอาจได้รับผลเชิงบวกช่วยให้หนี้ภาคครัวเรือนปรับลดลงจากปัจจุบันที่อยู่ระดับสูงเกือบ 90% ของ GDP รวมทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของสินเชื่อในบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ซึ่งอาจจะกลายเป็น NPL เร่งขึ้นได้ในระยะข้างหน้า สะท้อนจากข้อมูล ณ ไตรมาส 3 สินเชื่อที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย (Stage 2 หรือ หนี้ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน) ของกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 15.7% ของสินเชื่อรวม จาก 7.4% ของสินเชื่อรวม ในปี 2562 (ช่วงก่อนเกิดโควิด)

โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” คาดว่าจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มเปราะบาง แต่การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งมีลักษณะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างยังต้องอาศัยระยะเวลาควบคู่กับมาตรการระยะยาว เช่น มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มรายได้และการเสริมสร้างผลิตภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลับเข้าสู่วงจรหนี้ซ้ำซ้อนในระยะข้างหน้า

 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา