สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ soft-landing ขณะที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมของจีนยังเปราะบาง
สหรัฐ
ภาพการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแบบ soft-landing ชัดขึ้น แต่จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.3% QoQ annualized ลดลงจากประมาณการรอบแรกที่ 1.6% เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคโตน้อยกว่าคาด ขณะที่การใช้จ่ายที่แท้จริง (ขจัดผลของเงินเฟ้อ) ลดลง 0.01% MoM ในเดือนเมษายน ด้านดัชนีราคา headline และ core PCE ปรับตัวขึ้นในอัตราเดียวกับเดือนก่อนที่ 2.7% YoY และ2.8% YoY สอดคล้องกับคาดการณ์ของตลาด
การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ขณะที่ความเสี่ยงจากการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังยังคงจำกัดเนื่องจาก (i) ตลาดแรงงานที่ลดความร้อนแรงลงและเริ่มกลับเข้าสู่สมดุลมากขึ้น ภายใต้จำนวนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเข้ามาของผู้อพยพหรือย้ายถิ่น (ii) ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่คลี่คลายผ่านการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิต รวมถึง (iii) สงครามในตะวันออกกลางที่ไม่ขยายวงและไม่กระทบราคาพลังงานโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ soft-landing ในปีนี้ หากพิจารณาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการทยอยลดลงของเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand-pull inflation) โดยล่าสุด เงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE ยังอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ระดับ 4.50-4.75%
ญี่ปุ่น
BOJ ส่งสัญญาณพร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ยหากการอ่อนค่าของเงินเยนกระทบต่อทิศทางเงินเฟ้อในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในกรุงโตเกียวเพิ่มขึ้นสู่ 2.2% YoY จากเดือนก่อนที่ 1.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในกรุงโตเกียวเพิ่มขึ้นสู่ 1.9% จากเดือนก่อนที่ 1.6% ขณะที่ในเดือนเมษายนอัตราส่วนของตำแหน่งงาน/จำนวนผู้สมัครงาน ลดลงสู่ระดับ 1.26 จากเดือนก่อนที่ 1.28 นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกขยายตัวดีขึ้นสู่ 2.4% YoY จากเดือนก่อนที่ 1.1%
ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ส่งสัญญาณฟื้นตัว อาทิ (i) ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ (LEI) ปรับขึ้นสู่ระดับ 112.2 จุด สูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 (ii) ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพฤษภาคมกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ที่ระดับ 50.5 และ (iii) ยอดค้าปลีกเดือนเมษายนขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 26 ขณะเดียวกัน แม้ว่ามาตรการสนับสนุนราคาพลังงานของรัฐบาลญี่ปุ่นจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคมและอาจผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อดีดตัวสูงขึ้นในระยะถัดไป แต่คาดว่าไม่กระทบต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะกลางเนื่องจากผลบวกของมาตรการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน การขยายตัวของการบริโภคและการท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นผ่านนโยบายการคลังและการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าแม้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีความกังวลต่อการอ่อนค่าของเงินเยน แต่ยังมีความเป็นไปได้ไม่มากที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากและต่อเนื่อง (aggressive rate hike) เพราะผลกระทบทางลบจากการอ่อนค่าของเงินเยนต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่ายังอยู่ในวงจำกัด
จีน
IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนปี 2567 แต่การฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมยังเปราะบาง ล่าสุด IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนปี 2567 เป็น 5% จาก 4.6% แต่คาดว่า GDP จะขยายตัวลดลงเหลือเพียง 3.3% ภายในปี 2572 จากปัญหาสังคมผู้สูงอายุและผลิตภาพที่เติบโตชะลอลง ขณะที่ภาคเอกชนหรือ Caixin รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 51.7 จาก 51.4 ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 อย่างไรก็ตาม ทางการรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตพลิกกลับมาหดตัวที่ 49.5 จาก 50.4 ในเดือนเมษายน นอกจากนี้ ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายนยังต่ำกว่าก่อนโควิด-19 ถึง 30% อย่างไรก็ดี
ความแตกต่างของดัชนี PMI ภาคการผลิตสะท้อนการฟื้นตัวที่ยังเปราะบาง และความอ่อนไหวต่อความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและชาติตะวันตกที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากภาคการผลิตบางส่วนพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากขึ้นเพื่อชดเชยอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ นอกจากนี้ ยังอาจสะท้อนว่า ผลบวกจากมาตรการกระตุ้นยังค่อนข้างจำกัดโดยเฉพาะ มาตรการอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรรุ่นใหม่โดยนำรุ่นเก่าไปแลก ท่ามกลางระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง และความซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
การฟื้นตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจกำลังถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่แผนการจัดทำงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจสร้างความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลัง
ภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศช่วยหนุนเศรษฐกิจไตรมาสสองมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การเติบโตของ GDP ทั้งปีอาจต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนเมษายนฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยกิจกรรมในภาคบริการที่ปรับดีขึ้นจากเดือนมีนาคม ตามการเพิ่มขึ้นของทั้งรายรับจากการท่องเที่ยว (+7.1% MoM sa) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (+4.4%) นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นทั้งการบริโภคภาคเอกชน (+1.6%) และการลงทุนภาคเอกชน (+5.0%) หลังจากลดลงในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงจากความกังวลการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจ ประกอบกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในประเทศ ด้านมูลค่าส่งออกสินค้า (ไม่รวมทองคำ) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (+4.8%) สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้น (+3.5%)
แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปีมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและกระจายตัวในหลายภาคส่วนมากขึ้นจากปัจจัยหนุนตามวัฎจักร (Cyclical factor) ทั้งการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง และการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ปัจจัยลบจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต ซึ่งทำให้การส่งออกกระจุกตัวในสินค้าประเภท low value-added ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดยจากการศึกษาของวิจัยกรุงศรีพบว่า ประสิทธิภาพของแรงงานหรือ Labor productivity หลังจากเกิดโรคโควิด-19 ลดลงถึง 1.6% ต่อปี (CAGR) และลดลงชัดเจนในหลายภาค อุตสาหกรรม แตกต่างจากช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นราว 4.2% ต่อปี นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีจากแรงกดดันของปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง และภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ในภาคเกษตร โดยภาพรวมแล้ววิจัยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตที่ 2.4% ต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.7%
กรอบแผนการคลังระยะปานกลางล่าสุดสะท้อนว่าเสถียรภาพทางการคลังของไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 มีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบฯ 2567 โดยปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเป็น 8.05 แสนล้านบาท จากเดิมที่ 6.93 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนรายละเอียดในแผนการคลังปี 2568-2571 โดยเฉพาะการปรับลดคาดการณ์ GDP ในแต่ละปี เพื่อให้สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2567 ที่ทางการปรับลดจากขยายตัว 2.7% เป็น 2.5%
การทบทวนแผนการคลังระยะปานกลางและการขยายกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จากเดิม 3.48 ล้านล้านบาท เป็น 3.602 ล้านล้านบาท ส่งผลให้การขาดดุลการคลังปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ของ GDP ก่อนจะแตะระดับการขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.5% ของ GDP ในปีงบฯ 2568 การขาดดุลดังกล่าวจะส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งขึ้นจาก 63.7% ในปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567) ไปแตะระดับ 65.7% ในปีงบฯ 2568 และเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 68.9% ในปีงบฯ 2570 ซึ่งใกล้จะเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ทั้งนี้ แผนการคลังระยะปานกลางของไทยสะท้อนถึงแรงกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นที่มาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สินจำนวนมาก ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลังและการจัดการกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากช่องว่างในการดำเนินนโยบายการคลัง (fiscal policy space) อาจเหลือไม่เพียงพอต่อการรับมือหากเกิดวิกฤต นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้ในอนาคต