บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

26 พฤศจิกายน 2567

เศรษฐกิจโลก และไทย

 

ภาพรวมเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความแตกต่างท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ด้านไทยเตรียมออกมาตรการช่วยหนุนการบริโภคและบรรเทาภาระหนี้

 

โลก

 

กิจกรรมภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐฯ เติบโตดีกว่าประเทศหลักอื่นๆ ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความรุนแรง ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้น (Flash PMI) ของสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 31 เดือนที่ 55.3 จากแรงหนุนของดอกเบี้ยขาลงและนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่คาดว่าจะเอื้อต่อภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซนปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ที่ 48.1 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการของญี่ปุ่นขยับขึ้นสู่ระดับ 50.2 ในเดือนพฤศจิกายน แต่ภาคการผลิตลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ 49 ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงกับพรรคฝ่ายค้านในการผลักดันมาตรการกระตุ้นมูลค่า 8.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของภาคครัวเรือนจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ด้านความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความรุนแรง โดยรัสเซียได้เพิ่มความรุนแรงในการโจมตีหลังจากอังกฤษและสหรัฐฯอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธของทั้งสองประเทศเข้าไปในรัสเซีย

ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศสำคัญมีความแตกต่าง โดย (i) เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแม้จะชะลอลงตามตลาดแรงงาน และคาดว่าเฟดจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับ 3.25-3.50% ภายในปี 2568 (ii) ยูโรโซนยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบเปราะบาง โดยคาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 2.00% ภายในช่วงกลางปี 2568 ส่วน (iii) เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นและปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นส่งเสริมการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยคาดว่า BOJ จะปรับขึ้น 0.25% สู่ระดับ 0.50% ภายในไตรมาส 1/2568 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกในปี 2568


 

ไทย

 

รัฐบาลเตรียมออกมาตรการบรรเทาหนี้ครัวเรือน และมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 อาจช่วยสร้างแรงส่งหนุนการบริโภคในช่วงต้นปี 2568 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน การประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นชอบในหลักการโครงการแจกเงินสด 10000 บาท ระยะที่ 2 ให้แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ผ่านการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ราว 4 ล้านคน โดยคาดว่าจะแจกก่อนปลายเดือนมกราคม 2568 ส่วนระยะที่ 3 สำหรับกลุ่มที่เหลือของผู้ได้รับสิทธิ์ คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 2/2568 นอกจากนี้ ยังเห็นชอบหลักการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนใน 3 กลุ่ม วงเงินหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท ได้แก่  (i) หนี้ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท (ii) หนี้รถยนต์ ไม่เกิน 800,000 บาทต่อคัน และ (iii) หนี้ SMEs  ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ทั้ง 3 กลุ่มนี้ ต้องเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี ตัดถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 โดยจะพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี สำหรับแหล่งเงินทุนที่จะช่วยสนับสนุนการลดหนี้ผ่านธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารพาณิชย์ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ของเงินฝาก จากเดิม 0.46% เป็นเวลา 3 ปีเช่นกัน

วิจัยกรุงศรีประเมินผลเชิงบวกจากโครงการการแจกเงินสด 10,000 บาท ในเฟส 2 สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับสิทธิ์ราว 4 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับเฟสแรกที่แจกเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง  จากงบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม นับว่าช่วยสร้างแรงส่งให้กับการบริโภคในประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ได้บ้าง ส่วนมาตรการพักชำระดอกเบี้ยของหนี้ครัวเรือนใน 3 กลุ่มดังกล่าว ถือเป็นความพยายามในการลดภาระทางการเงินของครัวเรือนที่อยู่ในภาวะหนี้เสีย (NPL) ที่ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งอาจช่วยบรรเทาให้ครัวเรือนหรือ SMEs รายเล็กมีเวลาฟื้นตัวจากภาระหนี้ อย่างไรก็ตาม ดัวยสัดส่วนของมูลหนี้ทั้ง 3 กลุ่มที่จะได้รับการช่วยเหลือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของหนี้ครัวเรือนรวมกว่า 16.3 ล้านบาท (89.6% ของ GDP) สะท้อนว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องอาศัยเวลาและอาจพิจารณาถึงการลดต้นเหตุของปัญหา อาทิ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและรายได้ที่มั่นคง เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินในระดับครัวเรือนอย่างยั่งยืน


 
ประกาศวันที่ :26 พฤศจิกายน 2567
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา