บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

17 กันยายน 2567

Soft-landing ในสหรัฐฯหนุนคาดการณ์เฟดเริ่มเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาลง ขณะที่ ECB มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจจีนเริ่มอ่อนกำลัง

 

สหรัฐ


ภาพการชะลอตัวแบบ soft-landing ยังคงหนุนคาดการณ์เฟดลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 กันยายน เงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภคในเดือนสิงหาคมชะลอลงสู่ 2.5% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.9% แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 3.2% ขณะที่เงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตชะลอลงสู่ 1.7% YoY จาก 2.1% นอกจากนี้ ผลการสำรวจคะแนนจากการโต้วาทีชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รอบแรก โดยผู้มีสิทธิลงคะแนนให้นางคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครตเป็นผู้ชนะอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ด้วยคะแนน 63% ต่อ 37%

ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวในระยะข้างหน้าจาก (i) ตัวเลขเปิดรับสมัครงานที่ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 (ii) กิจกรรมภาคการผลิตที่หดตัวหนักสุดในรอบ 8 เดือน และ (iii) ยอดการผิดนัดชำระหนี้ที่ทยอยเพิ่มขึ้น ล่าสุดตลาดมองมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยถึง 0.5% อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เนื่องจากการบริโภคยังคงเติบโต ความเชื่อมั่นผู้บริโภคแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และกิจกรรมภาคบริการขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังทรงตัวเหนือ 3% วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปรับลด 0.25% ในทุกการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะกลาง



 

ยูโรโซน

 

ECB ลดดอกเบี้ยตามคาดพร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2567-2569 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.25% สู่ระดับ 3.50% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ลง 0.60% สู่ระดับ 3.65% จากแถลงการณ์ระบุว่าคณะกรรมการจะตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงินตามข้อมูลเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อในแต่ละครั้ง โดยไม่มีการกำหนดทิศทางล่วงหน้า นอกจากนี้ ECB ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนลง โดยในปี 2567 คาดว่าการเติบโตจะอยู่ที่ 0.8% (จาก 0.9%) ปี 2568 คาดว่าจะเติบโต 1.3% (จาก 1.4%) และในปี 2569 คาดว่าจะเติบโต 1.5% (จาก 1.6%)

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเปราะบางและไม่แน่นอนจาก (i) แรงหนุนจากนโยบายการคลังที่ลดลง (ii) การบริโภคที่โตช้าจากอัตราดอกเบี้ยและค่าครองชีพที่สูง (iii) การลงทุนที่ชะลอตัวจากผลของกำไรภาคธุรกิจที่ปรับลดลง (iv) การเติบโตของเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในกลุ่มประเทศสำคัญ และ (v) การฟื้นตัวของสินเชื่อคาดว่ายังคงจำกัดจากอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการกีดกันทางค้ากับจีนและความไม่แน่นอนของนโยบายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายต่อการฟื้นตัวของยูโรโซนในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอยู่ที่ 3.25%



 

จีน
 

เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ได้แรงหนุนบางส่วนจากการส่งออก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 0.5% YoY ในเดือนกรกฎาคมเป็น 0.6% ในเดือนสิงหาคม สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลงจาก 0.4% เป็น 0.3% ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวเร่งขึ้นจาก -0.8% เป็น -1.8% ขณะเดียวกันยอดค้าปลีกสินค้าชะลอลงจาก 2.7% เป็น 2.1% เช่นเดียวกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวชะลอลงจาก 5.1% เป็น 4.5% สำหรับการส่งออกในเดือนสิงหาคมยังเติบโตที่ 8.7% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 แต่เสี่ยงชะลอลงในระยะข้างหน้าหลังหลายชาติจ่อขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน ล่าสุด สหภาพยุโรปจะลงมติภาษีนำเข้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในวันที่ 25 กันยายน ซึ่งอาจสูงถึง 45% หลังประกาศอัตราภาษีชั่วคราวไปก่อนหน้านี้ สอดรับกับสหรัฐฯ ที่ประกาศบังคับใช้ภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (100%) แผงโซลาร์ (50%) รวมถึงเหล็ก อะลูมิเนียม และแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (25%) ในวันที่ 27 กันยายน

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ดัชนีราคาผู้ผลิตที่หดตัวแรงขึ้น การบริโภคที่ยังคงซบเซา และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวลดลง ล้วนสะท้อนถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แม้ล่าสุดธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณจะลดต้นทุนการกู้ยืมเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน แต่ผลบวกอาจจำกัดภายใต้แรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกิน ภาคบริการที่เริ่มอ่อนกำลังลง และความขัดแย้งทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น จีนอาจเสี่ยงเผชิญกับการชะลอตัวต่อเนื่องในการบริโภค การลงทุน การจ้างงาน และเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงที่เหลือของปี


 

 

การบริโภคแผ่วลงในไตรมาส 3 แต่คาดในไตรมาสสุดท้ายของปีจะได้แรงหนุนจากโครงการโอนเงินสด 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบาง


การบริโภคภาคเอกชนอ่อนแรงลงสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี และนับเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 สู่ระดับ 56.5 จาก 57.7 ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังไม่ชัดเจนจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวซึ่งอาจจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังลดลงและแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนแรงส่งการบริโภคภาคเอกชนที่แผ่วลงชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 สอดคล้องกับเครื่องชี้จากธปท. ที่ระบุว่าดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนกรกฎาคมแทบไม่เติบโตเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (+0.2% YoY) เป็นผลจากการหดตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าการบริโภคจะได้แรงหนุนจากนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เป็นการโอนเงินให้กับกลุ่มเปราะบางกว่า 14 ล้านคนก่อนเป็นเฟสแรก โดยมีแผนจะเริ่มโอนเงินได้ในปลายเดือนกันยายนนี้ โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบฯปี 2567 อีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท  ส่วนเฟสที่สอง สำหรับผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ยังคงต้องติดตามความชัดเจนต่อไป อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการบริโภคยังเผชิญข้อจำกัดจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสถานการณ์อุทกภัยที่อาจกระทบต่อรายได้เกษตรกร

 


 

รัฐบาลใหม่กำหนด 10 นโยบายเร่งด่วน เพื่อจัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้กำหนด 10 นโยบายเร่งด่วนที่ดำเนินการทันที (ดังตาราง) ส่วนนโยบายในระยะกลาง-ระยะยาว ภาพรวมจะเป็นการมุ่งเน้นปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Industry transformation) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ (New growth engine) เพื่อปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยแม้ไม่ได้เผชิญกับภาวะสุญญากาศ แต่อาจทำให้การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอาจล่าช้าไปบ้าง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ที่ยังเป็นขั้วพรรครัฐบาลเดิมเป็นส่วนใหญ่ การกำหนดนโยบายเร่งด่วนส่วนใหญ่จึงมีความใกล้เคียงและมีความต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน ทั้งนี้ ความสำเร็จและประสิทธิผลของนโยบายเร่งด่วนเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ (i) แผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายตามความเร่งด่วนและผลกระทบ (ii) การกำหนดงบประมาณที่เพียงพอและไม่ขัดต่อวินัยการคลัง (iii) การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการเข้าถึงของประชาชน (iv) การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชน และ (v) การติดตามผลและประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงนโยบายตามสถานการณ์จริง


 



 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา