หน้าหลัก

การพัฒนาที่ยั่งยืน
สารประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ
และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
สารประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ในปี 2566 โลกได้เผชิญกับความเสื่อมถอยด้านสิ่งแวดล้อมในนานารูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ระบบนิเวศที่ถูกคุกคาม ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลาย และปัญหาด้านมลพิษที่ล้วนทวีความรุนแรงจนเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อสภาพแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ พัฒนาการทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงความมั่นคงของมนุษย์ นอกจากนี้ ประชาคมโลกยังต้องประสบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากอื่นอีก อาทิ การฟื้นฟูหลังวิกฤตโรคโควิด-19 นโยบายการเงินที่ตึงตัว และความตึงเครียดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

ภายใต้บริบทความท้าทายดังกล่าว การดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่นส่งผลให้กรุงศรีประสบผลสำเร็จในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจทั้งในส่วนของลูกค้าและของธนาคารให้มีการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น กอปรกับแผนธุรกิจระยะกลางฉบับที่ 3 (ครอบคลุมปี 2564-2566) ซึ่งเปรียบเสมือนเข็มทิศการดำเนินธุรกิจที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสภาพภูมิอากาศ โดยหนึ่งในความสำเร็จสำคัญด้านธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดยืนเพื่อความยั่งยืน คือยอดสินเชื่อสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainable Finance) ณ สิ้นปี 2566 เพิ่มขึ้น 71,000 ล้านบาทจากปีฐาน 2564 นับเป็นการเดินทางเกินกว่าครึ่งทางสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 100,000 ล้านบาทภายในปี 2573

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำนวนการสนับสนุนทางการเงินคือการผนวกองค์ประกอบด้าน ESG ไว้ในการดำเนินงานที่ยึดมั่นในพันธกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดยืนเพื่อความยั่งยืน ทำให้กรุงศรีได้รับการจัดอันดับ AAA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของ “SET ESG Ratings 2023” โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนถึงแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศด้านความยั่งยืนของกรุงศรีในด้านการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง และการเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น

กรุงศรีมุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่วางไว้ตามวิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุุรกิจทั้งหมดของธนาคารภายในปี 2573 ทั้งนี้ กิจกรรมที่สำคัญในปี 2566 คือปฏิบัติการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร ผ่านโครงการ “Krungsri Race to Net Zero” ซึ่งเป็นการรวมพลังพนักงานกรุงศรีอย่างสร้างสรรค์สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ประกอบด้วยภารกิจการลดขยะ การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ

อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญภายใต้วิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของกรุงศรี คือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยธนาคารจะร่วมแรงร่วมใจกับลูกค้าและจับมือก้าวไปด้วยกันในการบรรลุเป้าหมายอันเด็ดเดี่ยวนี้ ทั้งนี้ ธนาคารจะไม่สามารถลดคาร์บอนในพอร์ตโฟลิโอของตนเองได้ หากลูกค้าไม่ลดคาร์บอนในธุรกิจของตนด้วย

ปี 2566 เป็นอีกหนึ่งปีแห่งความก้าวหน้าของกรุงศรีในการลงมือดำเนินการตามพันธสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรมในการช่วยภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตสีเขียวด้วยผลิตภัณฑ์การเงินที่หลากหลายเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ตอกย้ำปณิธานของกรุงศรีสู่ “การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย” นอกจากธนาคารจะดำรงตำแหน่งผู้นำในตลาดทุนและตลาดสินเชื่อของประเทศไทยแล้ว กรุงศรียังเป็นผู้ริเริ่มในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนของประเทศไทยหลายรายการสู่ตลาด โดยในปี 2566 หนึ่งในผลิตภัณฑ์สำคัญคือการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ควบคู่กับตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ผ่านการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้กับ International Finance Corporation (IFC) มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่า 14,236 ล้านบาท

วัตถุประสงค์หลักของการออกตราสารหนี้ครั้งนี้คือการระดมทุนเพื่อเร่งสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวและสินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์ท้องทะเล (Blue Financing) เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของทั้งกรุงศรีและประเทศไทยในองค์รวม นอกจากนี้ ในช่วงปี 2563-2566 ธนาคารได้จำหน่ายพันธบัตรและสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนรวมกว่า 30 โครงการ ส่งผลให้ธนาคารครองตำแหน่งผู้นำของตลาดพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าการจัดจำหน่ายพันธบัตรรวมสุทธิ 78,551 ล้านบาท

ด้วยจิตสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) ของประเทศ กรุงศรีได้เข้าร่วมในการจัดทำมาตรฐานกลางของภูมิทัศน์ทางการเงินด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยในฐานะ Co-CEO Sponsor Bank ด้านความยั่งยืนของสมาคมธนาคารไทย ธนาคารได้ร่วมจัดทำคู่มือการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Industry Handbook) สำหรับภาคการเงินไทย ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในปี 2566 และวางรากฐานในการผนวกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์

กรุงศรีตระหนักดีว่าการกำกับดูแลกิจการอย่างเข้มงวดรัดกุมนั้น ย่อมส่งเสริมความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น กรุงศรีจึงได้ออกนโยบายการให้สินเชื่ออย่างยั่งยืนในปี 2566 เป็นกรอบพื้นฐานสำหรับการอำนวยสินเชื่อธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG มุ่งหวังส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืนและเสริมสร้างผลลัพธ์เชิงบวกแก่สังคมโดยรวม นโยบายนี้ให้นิยามลักษณะและจัดประเภทของธุรกรรมในการพิจารณาสินเชื่อ ได้แก่ ธุรกรรมที่ไม่รับพิจารณา ธุรกรรมพึงระวัง ธุรกรรมที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และธุรกรรมการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้วางแผนกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสมตามความเสี่ยงด้าน ESG ของแต่ละธุรกรรม

นอกเหนือจากวาระด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ประเด็นด้านสังคมก็มีความเร่งด่วนเช่นเดียวกัน กลุ่มธนาคารกรุงศรี ได้กำหนดกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ซึ่งบูรณาการสิทธิมนุษยชนเข้ากับระบบประเมินความเสี่ยงและกลไกการกำกับดูแลของธนาคาร รวมถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights)

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จะคลี่คลาย และสัดส่วนสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกรุงศรีต่อยอดสินเชื่อรวมลดลงจากร้อยละ 29 ในปี 2563 เหลือร้อยละ 6 ณ สิ้นปี 2566 เนื่องจากลูกหนี้ส่วนใหญ่ออกจากโครงการรับความช่วยเหลือแล้ว อย่างไรก็ดี ยังมีลูกค้าบางราย โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังต้องใช้เวลาและทรัพยากรสนับสนุนเพื่อฟื้นตัวสู่สภาวะปกติ ดังนั้น กรุงศรีจึงยังคงให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้ากลุ่มนี้เข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะสมและทันกาลในระหว่างที่ยังฟื้นฟูธุรกิจ และจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

การผสานพลังพันธมิตรด้าน ESG ของเรามิได้จำกัดอยู่เพียงในระบบนิเวศทางการเงิน เราได้สร้างความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในการปลูกป่าชุมชน 1,000 ไร่ ในภาคเหนือตามมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยคาร์บอนที่ดักจับได้ภายใต้โครงการนี้ จะสามารถขอรับการรับรองคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรต่อไป

ปี 2567 เป็นปีแรกของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ของกรุงศรีซึ่งครอบคลุมปี 2567-2569 ในแผนฉบับที่ 4 นี้ พันธกิจของกรุงศรีคือ “การเป็นธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งขับเคลื่อนด้วยสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจที่เชื่อมโยงกับ ESG ดังนั้น เราจึงกำหนดสามกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว อันได้แก่ การมุ่งสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน การเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพ และการก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งอนาคต ทั้งนี้ ด้วยเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน ธนาคารจึงส่งเสริมโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจของธนาคาร ตลอดจนลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น พร้อมทั้งมุ่งมั่นยกระดับทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อมสู่อนาคตที่ดีกว่า

อนึ่ง กรุงศรีอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่าน (Transition Plan) เพื่อลดความเสี่ยงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพอร์ตโฟลิโอของเรา โดยเฉพาะความเสี่ยงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง จากนั้นจึงขยายขอบเขตไปครอบคลุมอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ ภาคการขนส่ง ทั้งนี้ แผนการเปลี่ยนผ่านของกรุงศรีสอดคล้องกับการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมระยะที่ 1 (Thailand Taxonomy Phase 1) ซึ่งจำแนกเป็นกลุ่มสีเขียว อำพัน และแดง ตามความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละกิจกรรมเศรษฐกิจ

ในปี 2567 กรุงศรียังคงมุ่งมั่นในการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับลูกค้า ห่วงโซ่อุปทาน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทุกกลุ่มของเรา สอดคล้องกับจิตสำนึกการเป็น “ธนาคารพาณิชย์ที่มีจุุดยืนเพื่อความยั่งยืน” ของธนาคาร ผ่านการเพิ่มผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน และการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจที่มีเป้าหมายร่วมด้านความยั่งยืน อีกทั้งผนวกรวมมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในกระบวนการธุรกิจ และสนองรับกับแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Standard Practice)

วันเวลาสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net Zero ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กรุงศรีจะเร่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของลูกค้าควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานในส่วนของธนาคารเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนภายในกำหนดเวลา เพื่อท้ายสุดแล้วเป็นการสนับสนุนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างราบรื่น
 

โนริอากิ โกโตะ
ประธานกรรมการ
จำลอง อติกุล
รองประธานกรรมการ
เคนอิจิ ยามาโตะ
กรรมการผู้จัดการใหญ่
และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา