บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

16 กรกฎาคม 2567

การชะลอตัวของเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยูโรโซนหนุนภาพทิศทางดอกเบี้ยขาลง ด้านดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มกระเตื้องขึ้น

 

สหรัฐ


มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ หลังตัวเลขเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่อง ในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเทียบรายปี (YoY) ชะลอลงจาก 3.3% ในเดือนพฤษภาคม สู่ระดับ 3.0% ขณะที่เมื่อเทียบรายเดือน (MoM) หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ -0.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อเทียบรายปี (YoY) ชะลอลงจาก 3.4% สู่ระดับ 3.3% ขณะที่เมื่อเทียบรายเดือน (MoM) ชะลอลงจาก 0.2% สู่ระดับ 0.1% ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564

การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน รวมถึงการแถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ รอบครึ่งปีของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม ระบุว่า (i) กระบวนการปรับลดเงินเฟ้อและลดความร้อนแรงในตลาดแรงงานมีความคืบหน้ามากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และ (ii) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) พร้อมที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็นต้องรอให้เงินเฟ้อลงมาที่ระดับเป้าหมาย 2% เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีมองว่าจากภาพแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ชะลอลงต่อเนื่อง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยแท้จริง (real interest rate) ที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนกันยายน และมีโอกาสที่จะปรับลดอีกครั้งในเดือนธันวาคม ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอยู่ที่ 4.75-5.00% จากระดับปัจจุบันที่ 5.25-5.50%


 

ยูโรโซน

 

เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ขณะที่ผลเลือกตั้งฝรั่งเศสเพิ่มความเสี่ยงสภาแขวน ในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจาก 2.6% ในเดือนพฤษภาคมสู่ระดับ 2.5% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวอยู่ที่ 2.9% ขณะที่ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการลดลงจาก 52.2 สู่ระดับ 50.9 โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตหดตัวมากขึ้นจาก 47.3 สู่ระดับ 45.8 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการชะลอลงจาก 53.2 สู่ระดับ 52.8 อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ 0.3% YoY ในเดือนพฤษภาคม

แม้ว่าดัชนีบ่งชี้ทางเศรษฐกิจของยูโรโซนหลายตัวเริ่มปรับดีขึ้น อาทิ GDP ไตรมาสแรก ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ รวมถึงยอดค้าปลีก แต่อัตราการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่หดตัวมากขึ้น รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการที่ชะลอลงในเดือนมิถุนายน ประกอบกับความเสี่ยงจากสงครามการค้ากับจีนที่เพิ่มสูงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของยูโรโซนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะถัดไป หลังจากที่ล่าสุดทางการจีนประกาศเริ่มการสอบสวนพฤติกรรมทุ่มตลาดต่อสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปหลายรายการ เช่น บรั่นดี และเนื้อหมู รวมถึงอาจมีการปรับขึ้นภาษีรถยนต์น้ำมันขนาดใหญ่จากยุโรปด้วย ในขณะที่ผลการเลือกตั้งรัฐสภารอบที่สองของฝรั่งเศสบ่งชี้ว่าการเมืองฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับ “สภาแขวน” หรือไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มแนวร่วมใดที่ชนะเด็ดขาด (ได้ ส.ส.ถึง 289 ที่นั่ง) ซึ่งอาจทำให้เกิดรัฐบาลมีเสียงข้างน้อยในสภาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสและอาจกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ในอนาคต



 

จีน
 

ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนเริ่มฟื้นตัว ขณะที่การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องแม้เผชิญแรงกดดันจากความขัดแย้งทางการค้า เงินเฟ้อทั่วไปลดลงเล็กน้อยจาก 0.3% YoY ในเดือนพฤษภาคมเป็น 0.2% ในเดือนมิถุนายน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 0.6% ด้านดัชนีราคาอาหารในภาพรวมยังคงหดตัวที่ -1.1% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวดีขึ้นจาก -1.4% เป็น -0.8% ซึ่งสูงสุดในรอบ 18 เดือน หากจำแนกตามกลุ่มพบว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตด้านวัตถุดิบสูงขึ้นจาก 0.5% เป็น 1.6% ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตด้านการทำเหมืองแร่พลิกกลับมาขยายตัวจาก -1.2% เป็น 2.7% สำหรับการส่งออกในเดือนมิถุนายนขยายตัวต่อเนื่องจาก 7.6% YoY เป็น 8.6% ขณะที่การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปขยายตัวเพียง 1.5% และหดตัว -2.6% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำสะท้อนถึงการบริโภคที่ยังเปราะบาง ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มกระเตื้องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดสัดส่วนเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับผู้ซื้อบ้าน ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าอาจเริ่มกระทบเศรษฐกิจบางส่วน แต่ความรุนแรงของผลกระทบโดยรวมยังจำกัด เนื่องจากการขึ้นภาษีของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ยังเน้นเฉพาะบางอุตสาหกรรมเท่านั้น ดังนั้น การพึ่งพาการส่งออกเพื่อชดเชยการบริโภคภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ จึงน่าจะยังช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนได้อีกระยะหนึ่ง


 

 

แรงส่งการบริโภคแผ่วลงจากความเชื่อมั่นที่อ่อนแอ ขณะที่รัฐบาลเตรียมปรับโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแต่บางส่วนยังรอความชัดเจน


การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน โดยลดลงแตะ 58.9 ในเดือนมิถุนายน จาก 60.8 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับ (i) ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทยอยลดการอุดหนุนจากรัฐบาล (ii) ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า กระทบต่อรายได้และกำลังซื้ออ่อนแอลง และ (iii) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 สะท้อนถึงแรงส่งการบริโภคภาคเอกชนที่แผ่วลงหลังจากที่เติบโตค่อนข้างสูงในไตรมาสแรก (+6.9% YoY) ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปีแม้ยังมีปัจจัยบวกช่วยหนุนการบริโภค อาทิ (i) การเติบโตของภาคท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการท่องเที่ยวเมืองรอง (ii) รายได้เกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยลงหลังจากผ่านพ้นภาวะภัยแล้ง (El Niño) และ (iii) มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายสำหรับกลุ่มเปราะบาง อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะยังเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของการบริโภค ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากธปท. ณ สิ้นไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 16.37 ล้านล้านบาท หรือ 90.8% ของ GDP  นอกจากนี้ ธปท.ชี้ว่า 1 ใน 3 เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ หรือเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลค่อนข้างสูง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทำได้ยากและต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก กอปรกับมีแรงงานราว 9 แสนคนอยู่ในภาคการผลิตที่เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง


 

รัฐบาลปรับวงเงินและแหล่งที่มาของเงินสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยวางแผนเตรียมเสนอเข้าค.ร.ม.สิ้นเดือนนี้ ล่าสุดวันที่ 10 กรกฏาคม การประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีข้อสรุปในการปรับลดวงเงินสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจาก 5 แสนล้านบาท เหลือ 4.5 แสนล้านบาท และปรับแหล่งที่มาของเงินจากการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 เท่านั้น โดยจำแนกเป็นงบประมาณปี 2567 วงเงิน 1.65 แสนล้านบาท (ประกอบด้วย งบฯ เพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบฯจากการบริหารจัดการ 0.43 แสนล้านบาท) ส่วนงบประมาณปี 2568 วงเงิน 2.85 แสนล้านบาท (ประกอบด้วย การจัดตั้งงบฯ 1.52 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบอื่นๆ 1.323 แสนล้านบาท  เช่น งบกลาง และงบประมาณส่วนที่หน่วย งานใช้ไม่ทัน) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบปรับเพิ่มรายการสินค้าที่ไม่สามารถใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตซื้อได้อีก 3 รายการ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ

แม้จะมีความคืบหน้าเบื้องต้นเกี่ยวกับการปรับวงเงินและแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ยังต้องติดตามรายละเอียดต่อไป สำหรับกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568  ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาวาระที่ 1 แล้วในช่วงกลาง เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยกำหนดกรอบวงเงินรวมที่ 3.75 ล้านล้านบาท และเป็นงบขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น -4.5% ของ GDP   ทั้งนี้ ส่วนของแหล่งเงินที่มาจากงบฯการบริหารจัดการวงเงิน 1.323 แสนล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามเพราะยังขาดรายละเอียดและความชัดเจน สำหรับไทม์ไลน์สำคัญของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในเดือนนี้ โดยวันที่ 24 กรกฏาคม นายกรัฐมนตรีจะแถลงรายละเอียด และวันที่ 30 กรกฏาคม มีแผนนำเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี




 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา