บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

01 ตุลาคม 2567

FED เตรียมลดดอกเบี้ยต่อ ขณะที่เงินเฟ้อญี่ปุ่นชะลอตัวหนุน BOJ ขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป ด้านรัฐบาลจีนเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจหลังชะลอตัวต่อเนื่อง​

 

สหรัฐ


ภาพการชะลอตัวแบบ Soft-landing และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังสูง หนุนเฟดปรับลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ในไตรมาส 2  GDP สหรัฐฯ โต 3.0% QoQ annualized เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.4% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่ในเดือนกันยายน PMI ภาคบริการขยายตัวที่ 55.4 แต่ภาคการผลิตหดตัวมากสุดในรอบ 15 เดือนที่ 47 นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม ยอดขายบ้านใหม่โต 9.8% YoY ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 2% สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองอายุ 30 ปีที่ลดลงทำระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ 6.1%

แม้ว่าตลาดแรงงานที่อ่อนแอลง ภาคการผลิตที่หดตัว รวมถึงการปรับตัวลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกันยายน เพิ่มโอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงคลายกังวลเรื่องความเสี่ยงต่อภาวะถดถอย (recession) จาก (i) แรงหนุนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ปรับตัวลงส่งผลให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯเริ่มดูดีขึ้นสะท้อนจากการฟื้นตัวของยอดขายบ้านใหม่และจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (ii) ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เช่นเดียวกับการบริโภคและภาคบริการที่ยังคงขยายตัว และ (iii) ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวดีในไตรมาส 2 วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมช่วงที่เหลือ 2 ครั้งของปีนี้ โดยปรับลดครั้งละ 0.25% สู่ 4.25-4.50% ภายในสิ้นปีนี้



 

ญี่ปุ่น

 

เงินเฟ้อที่ชะลอตัวและเศรษฐกิจที่ยังโตต่ำ รวมทั้งทิศทางนโยบายของผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่ หนุนภาพการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป นายชิเกรุ อิชิบะ เตรียมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นหลังชนะการเลือกตั้งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) โดยจะเข้ารับตำแหน่งหลังการลงคะแนนเสียงในรัฐสภาวันที่ 1 ตุลาคมนี้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Tokyo CPI) ในเดือนกันยายนชะลอตัวลงสู่ระดับ 2% YoY จากเดือนก่อนหน้าที่ 2.4% เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Tokyo CPI) ที่ชะลอลงจาก 2.6% มาอยู่ที่ 2.2% ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งของนายชิเกรุ อิชิบะ ส่งผลให้เงินเยนปรับแข็งค่าขึ้นกว่า 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่ตลาดคาดว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายอิชิบะจะสนับสนุนให้ BOJ เดินหน้าปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกติด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม จากภาคการผลิตและการส่งออกที่ยังคงอ่อนแออาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะข้างหน้ายังคงเปราะบางและเติบโตในอัตราที่ต่ำ นอกจากนี้ การกลับมาใช้มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานในเดือนกันยายน คาดทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า BOJ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 0.25% ภายในสิ้นปี 2567 สอดคล้องกับการประเมินของ BOJ ที่พิจารณาพัฒนาการของข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นสำคัญ (Data-dependence approach)



 

จีน
 

รัฐบาลจีนเร่งออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อรับมือภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มาตรการสำคัญที่ประกาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ (i) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.1%-0.3% และลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (ii) ลดสัดส่วนเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับบ้านหลังที่สองจาก 25% เป็น 15% (iii) ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านสำหรับผู้กู้ปัจจุบัน 0.5% (iv) ให้เงินอุดหนุนกลุ่มเปราะบางภายในวันที่ 1 ตุลาคม (v) จัดหาสวัสดิการทางสังคมแก่เด็กจบใหม่ที่ไม่สามารถหางานประจำได้ภายใน 2 ปีหลังจบการศึกษา (vi) จำกัดการก่อสร้างบ้านใหม่เพื่อลดอุปทานส่วนเกิน นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเพิ่ม ได้แก่ (i) ออกพันธบัตรมูลค่า 142 พันล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นการบริโภค และอีก 142 พันล้านดอลลาร์เพื่อแก้ปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่น (ii) อัดฉีดเงินทุนมูลค่า 142 พันล้านดอลลาร์แก่ธนาคารขนาดใหญ่ของรัฐเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตทางการเงินในปี 2551

มาตรการรอบล่าสุดถือเป็นมาตรการชุดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่จีนเปิดประเทศ และคาดว่าน่าจะช่วยบรรเทาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้บางส่วน รวมถึงลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ราว 5% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของมาตรการอาจถูกลดทอนด้วยปัจจัยบางประการ เช่น (i) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ยังอ่อนแอ ซึ่งอาจทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดไว้ (ii) ความล่าช้าในการดำเนินนโยบาย จากข้อมูลเดือนมิถุนายนพบว่า การเบิกจ่ายเงินสำหรับมาตรการเข้าซื้ออุปทานบ้านส่วนเกินมีสัดส่วนเพียง 4% ของเงินทุนทั้งหมดที่รัฐบาลกำหนดไว้ (iii) ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้รัฐบาลท้องถิ่น สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข


 

 

การส่งออกที่เติบโตดีจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจในไตรมาส 3  แต่การลงทุนภาคเอกชนอาจยังฟื้นช้าจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม


ส่งออกเดือนสิงหาคมเติบโตต่อเนื่องหนุนภาพรวมไตรมาส 3 แต่ยังมีหลายปัจจัยอาจฉุดส่งออกไตรมาสสุดท้าย กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 26.2 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.0% YoY เป็นการเติบโตต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคมที่โต 15.2% และหากหักทองคำ มูลค่าส่งออกขยายตัว 6.2% โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+74.7%) ยางพารา (+64.8%)  ข้าว (+46.6%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+15.2%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+14.9%) เคมีภัณฑ์ (+12.5%) และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่กลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย (+0.4%) ขณะที่การส่งออกในบางกลุ่มหดตัว อาทิ แผง วงจรไฟฟ้า(-33.2%) น้ำตาลทราย (-14.2%) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-11.5%) ด้านตลาดส่งออกพบว่าขยายตัวในตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน อาเซียน5 และ CLMV ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่อง สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกขยายตัว 4.2% และหากหักทองคำขยายตัว 3.8%

การส่งออกในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปี (เฉลี่ยต่อเดือนที่ 24.4 พันล้านดอลลาร์) โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก และความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารตามการเติบโตของภาคบริการในตลาดสำคัญ อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังเผชิญปัจจัยท้าทายที่อาจจำกัดการเติบโต และมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยคาดการณ์มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2567 อาจขยายตัวราว 2% เนื่องจาก (i) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่มีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนทั้งสหรัฐฯ และจีน  โดยเฉพาะการนำเข้าของสหรัฐฯและจีนกับการส่งออกของไทยพบว่ามีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง (correlation =0.81 และ 0.66 ตามลำดับ)  (ii) อุทกภัยในประเทศอาจกระทบผลผลิตทางการเกษตรบางรายการ (iii) ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง กระทบรายได้ของผู้ส่งออก นอกจากนี้ ยังมีเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ (i) ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย (ii) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ และ (iii) สงครามทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และปัญหาอุปทานส่วนเกินหรือสินค้าล้นตลาดของจีน ก่อให้เกิดการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดโลกและไทย ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยที่มีต้นทุนสูงกว่า

 


 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ อาจสะท้อนภาพการลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมหดตัว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2567 กลับมาหดตัว 1.9% YoY จากเดือนกรกฏาคมขยายตัว 1.6% จากการหดตัวของการผลิตในหลายอุตสาหกรรมหลัก อาทิ กลุ่มยานยนต์ (-18.0%) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (-11.8%) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง (-13.5%) ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนสิงหาคมปรับลดลงสู่ 58.3% จาก 58.8%  อย่างไรก็ตาม การผลิตในบางกลุ่มขยายตัว อาทิ กลุ่มอาหาร (+4.8%) และกลุ่มเคมีภัณฑ์ (+3.1%) สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 1.6% YoY และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.0% ล่าสุดสศอ.ปรับลดคาดการณ์ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยทั้งปี 2567 หดตัวที่ -1.0% ถึง 0%  (เดิมคาดขยายตัว 0-1%)

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งในเดือนสิงหาคม นำโดยกลุ่มยานยนต์ สาเหตุหลักจากการหดตัวของตลาดในประเทศ โดยเฉพาะรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และยอดอนุมัติสินเชื่อที่ปรับลดลง ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากการลดลงของการผลิตแผงวงจรไฟฟ้า (IC) เป็นหลัก ขณะที่กลุ่มวัสดุก่อสร้าง การผลิตลดลงตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และความล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมบางพื้นที่ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 60% อาจสะท้อนการลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าหลังจากหดตัว 6.8% ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และทั้งปี 2567 วิจัยกรุงศรีคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนอาจเติบโตเพียง 0.2% จากขยายตัว 3.2% ในปี 2566


 



 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา