นโยบายทรัมป์สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก ด้านเศรษฐกิจจีนยังอ่อนไหวต่อความขัดแย้งทางการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น
สหรัฐ
นโยบายทรัมป์เพิ่มความเสี่ยงต่อการสูงขึ้นของเงินเฟ้อและอาจส่งผลให้เฟดลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาด นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน และมีแนวโน้มที่จะครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 6-7 พฤศจิกายน โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่งและเงินเฟ้อมีความคืบหน้าในการปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% นอกจากนี้ PMI ภาคบริการเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56 สูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565
การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างบรรยากาศเชิงบวกต่อภาพรวมการลงทุนและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ผ่านความคาดหวังเรื่องนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและการปรับลดภาษี การลดความช่วยเหลือยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย รวมถึงลดอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม นโยบายการค้าที่ตั้งเป้าจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่ระดับ 60% และสินค้าจากประเทศอื่นที่ 10-20% อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีการพึ่งพาจีนในระดับสูง นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำจากภาระต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าหากนโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้จริงจะกระทบต่อ GDP ของสหรัฐฯ -0.97% ขณะเดียวกัน ในกรณีฐาน วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป (ปรับลดไตรมาสละครั้งในปี 2568) แต่หากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอาจกระทบเส้นทางการปรับดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าที่อาจปรับลดน้อยหรือช้ากว่าตลาดคาดได้
ยูโรโซน
ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในยูโรโซนที่มีแนวโน้มต่ำ 2% หนุน ECB เดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคม PMI ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 45 สู่ระดับ 46 แต่ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 28 ส่วนภาคบริการอยู่ที่ 51.6 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาส 1 และ 2 ที่ 53.1 และ 52.0 ตามลำดับ ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิต (PPI) ลดลง -3.4% YoY และ -0.6% MoM ในเดือนตุลาคม จากเดือนก่อนที่ -2.3% และ +0.6% ตามลำดับ
เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเผชิญกับข้อจำกัดในการฟื้นตัวจาก (i) การหดตัวของภาคการผลิตและแรงส่งจากภาคบริการที่อ่อนแอลง (ii) สินเชื่อที่เติบโตในระดับต่ำ และ (iii) แรงส่งจากมาตรการการคลังที่น้อยลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจากตลาดแรงงานที่อ่อนแอลง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จึงมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยคาดอยู่ที่ 3.00% ณ สิ้นปี 2567 และ 2.00% ภายในสิ้นปี 2568 ส่วนประเด็นความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นหลังโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากมีการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่ระดับ 60% และสินค้าจากประเทศอื่นที่ 10-20% ตามที่ประกาศไว้จริง วิจัยกรุงศรีประเมินว่าผลกระทบเชิงลบอาจเกิดกับประเทศที่พึ่งพาการส่งออก โดยการส่งออกของสหภาพยุโรปอาจลดลงจากกรณีฐาน
-1.66% และอาจส่งผลเชิงลบต่อการส่งออกเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้
จีน
แรงกดดันจากความขัดแย้งทางการค้าต่อเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นหลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ การเติบโตของมูลค่าการส่งออกในเดือนตุลาคมสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 12.7% YoY จากเพียง 2.4% ในเดือนกันยายน โดยการส่งออกสินค้าไฮเทค และผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องกลและไฟฟ้าขยายตัวสูงที่ 9.1% และ 13.7% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเติบโตสูงถึง 8.1% และ 12.7% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกสินค้าในภาคการผลิตยังคงอยู่ในโซนการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ 47.3 ในเดือนตุลาคม
การขยายตัวของการส่งออกล่าสุดที่สวนทางกับการหดตัวของดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกอาจสะท้อนให้เห็นถึงการเร่งส่งออกสินค้าคงคลังเพื่อเลี่ยงผลเชิงลบหากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในระยะข้างหน้า วิจัยกรุงศรีประเมินว่าหากสหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% การส่งออกของจีนจะลดลงจากกรณีฐาน -5.8% กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ยางและพลาสติก สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 35.4%, 11.8%, และ 3.9% ของการส่งออกทั้งหมดของจีนในปี 2566 ตามลำดับ โดยคาดว่าการส่งออกอาจลดลงจากกรณีฐานถึง -10.1%, -9.7%, และ -7.4% สำหรับกรณีที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากคู่ค้าอื่นที่ 20% และจีนตอบโต้ด้วยภาษีในอัตรา 60% การส่งออกในสินค้ากลุ่มดังกล่าวจะลดลง -9.9%, -10.4%, และ -9.8% ตามลำดับ ในกรณีนี้ การส่งออกโดยรวมของจีนจะลดลงมากกว่ากรณีฐานเป็น -7.2%
เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี ขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าในระยะข้างหน้ายังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมทยอยปรับขึ้นอย่างช้าๆ คาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมอยู่ที่ 0.83% YoY เพิ่มขึ้นจาก 0.61% ในเดือนกันยายน ปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นเนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.77% ทรงตัวเท่ากับเดือนกันยายน สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี (มกราคม-ตุลาคม) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.26% และ 0.52% ตามลำดับ
อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีคาดว่ายังมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการที่ 1-3% ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของราคาน้ำมันดีเซลที่ต่ำในปีก่อนที่ 30 บาทต่อลิตร เทียบกับปัจจุบันที่กำหนดเพดานที่ 33 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ กิจกรรมท่องเที่ยวในช่วงปลายปีอาจหนุนให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ 0.5%
สำหรับมุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากที่กนง.สร้างความประหลาดใจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 2.25% ในการประชุมรอบเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนในการประชุมที่เหลือในรอบสุดท้ายของปี ในวันที่ 18 ธันวาคม วิจัยกรุงศรีคาดว่ากนง.ยังมีแนวโน้มไม่รีบเร่งปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง โดยจะคงไว้ที่ระดับ 2.25% เพื่อรอดูสถานการณ์และประเมินทิศทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินในระยะต่อไป ผนวกกับรัฐบาลมีแผนเตรียมจะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี รวมถึงแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน
นโยบายภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลเชิงบวกต่อบางอุตสาหกรรม แต่ส่งผลเชิงลบต่อหลายอุตสาหกรรม จากนโยบายภาษีการค้าซึ่งนายทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ประกาศไว้ก่อนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งล่าสุด ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่อสงครามทางการค้าที่มีความเสี่ยงทวีความรุนแรงขึ้น วิจัยกรุงศรีได้ศึกษาโดยสร้างสถานการณ์จำลองเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทุกรายการในอัตรา 60% อาจทำให้การส่งออก และ GDP ของไทย เพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน +1.66% และ +0.05% ตามลำดับ ในกรณีนี้แม้ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ แต่การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงจากกรณีฐานเนื่องจากอุปสงค์โลกโดยรวมชะลอลง
กรณีที่ 2 สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 60% และ 20% กับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ จะส่งผลเชิงลบต่อไทยโดยการส่งออก และ GDP ของไทย จะลดลงจากกรณีฐาน -1.09% และ -0.01% ตามลำดับ ผลกระทบจากความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จะมีการย้ายฐานการผลิตมายังไทยก็ตาม
กรณีที่ 3 จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีในอัตรา 60% กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ กรณีดังกล่าวแม้ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตแต่ช่วยให้ GDP ไทยเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานเพียง +0.01% ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยจะลดลงสุทธิจากกรณีฐาน -0.77% โดยเป็นการลดลงของการส่งออกในหลายกลุ่มสินค้า อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ยางพาราและพลาสติก เนื่องจากความต้องการสินค้าอื่นๆจากเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ จีนและโลกได้รับผลกระทบหนักจากการตอบโต้ทางการค้า
ในระยะข้างหน้าอาจต้องติดตามว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายการค้าในรูปแบบใด ซึ่งนับว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยท้าทายของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าไทยอาจได้รับประโยชน์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิตและการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม แต่การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกและความผันผวนทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้าโดยเฉพาะในกรณีที่ 2 และ 3 ที่สหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าจากไทย และจีนตอบโต้สหรัฐฯด้วยการเก็บภาษี ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยมีผลสุทธิเป็นลบ การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว