ความไม่แน่นอนของนโยบายทรัมป์อาจส่งผลให้กลุ่มธนาคารกลางชะลอการปรับดอกเบี้ย ส่วนเศรษฐกิจจีนดีขึ้นเพียงเล็กน้อยจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค
สหรัฐ
ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและความไม่แน่นอนจากนโยบายเศรษฐกิจอาจส่งผลให้เฟดชะลอการปรับลดดอกเบี้ย ประธานเฟด เจอโรม พาวเวล ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัว ตลาดแรงงานแข็งแกร่ง แต่เงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้าหมาย 2% ทำให้เฟดไม่รีบลดดอกเบี้ยและสามารถตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยพาวเวลยังมองว่าเงินเฟ้อจะทยอยลดลงสู่เป้าหมายในระยะยาว นอกจากนี้ เฟดจะประเมินผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลใหม่ก่อนปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ในเดือนตุลาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.6% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.3% ขณะที่ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.4% MoM สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 0.3%
แม้ว่าชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์และการครองอำนาจเบ็ดเสร็จในสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกันช่วยสร้างความคาดหวังเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่นโยบายต่างๆ รวมถึงการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอาจส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นและเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ วิจัยกรุงศรีพบว่าหากนโยบายการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่ระดับ 60% และสินค้าจากประเทศอื่นที่ 20% จะกระทบต่อ GDP ของสหรัฐฯ -0.97% จากกรณีฐาน ด้วยเหตุนี้ เฟดจึงยังไม่น่ารีบร้อนในการเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรอรายละเอียดและประเมินผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ โดยหากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอาจกระทบเส้นทางการปรับดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าที่อาจปรับลดน้อยหรือช้ากว่าตลาดคาดได้
ญี่ปุ่น
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเติบโตของค่าจ้าง และการท่องเที่ยวช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่การเติบโตยังคงถูกจำกัดจากกิจกรรมการผลิตและการส่งออกที่ซบเซา เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 0.2% QoQ ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันสองไตรมาส แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตั้งเป้าใช้งบประมาณสูงถึง 10 ล้านล้านเยน (6.5 หมื่นล้านดอลลาร์) ภายในปีงบประมาณ 2573 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ เตรียมเข้าพบตัวแทนจากภาคธุรกิจและสหภาพแรงงานภายในเดือนนี้เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเผชิญความท้าทายจากภาคการผลิตที่ซบเซาและการชะลอตัวของส่งออก อย่างไรก็ตาม จากแรงหนุนของค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวที่เติบโต และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรวมถึงส่งเสริมการลงทุน จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นแบบค่อยเป็นค่อยไปในปีหน้า ทั้งนี้ จากภาพเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มโตในระดับต่ำ รวมถึง ประเด็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจใช้แนวทาง wait-and-see stance โดยมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 0.50% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568
จีน
มาตรการกระตุ้นล่าสุดช่วยหนุนยอดค้าปลีกในจีน แต่การผลิต การลงทุน และภาคอสังหาริมทรัพย์ยังฟื้นตัวช้า ในเดือนตุลาคม ยอดค้าปลีกเติบโตในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (+4.8% YoY +3.2% ในเดือนกันยายน) แต่การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจอื่นๆยังไม่ชัดเจน โดยการผลิตภาคอุตสาหกกรรมชะลอลงเล็กน้อย (+5.3% vs +5.4%) ราคาบ้านใหม่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 แม้จะมีสัญญาณกระเตื้องเล็กน้อย (-5.9% จาก -5.8%) ส่วนในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่อง (-10.3% เทียบกับ -10.1% ในช่วง 9 เดือนแรก) และการเติบโตของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงทรงตัว (+3.4%)
แม้จีนออกมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน เนื่องจาก (i) การบริโภคอาจเร่งขึ้นระยะสั้นจากมาตรการอุดหนุนและมีวันหยุดต่อเนื่องรวมทั้งเทศกาลคนโสด ขณะที่ความมั่งคั่งของครัวเรือนกว่า 70% ที่ผูกติดอยู่กับมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัว (ii) มาตรการหนุนการลงทุนและภาคอสังหาฯยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะกว่าจะเห็นผลบวกชัดเจน เนื่องจากมีอุปทานล้นตลาดอยู่มาก และ (iii) มาตรการส่วนใหญ่เน้นบรรเทาปัญหาในอดีตมากกว่ากระตุ้นการใช้จ่ายในปัจจุบัน เช่น โครงการมูลค่า 10 ล้านล้านหยวนเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และมาตรการภาษีหนุนธุรกรรมซื้อขายบ้านและที่ดิน นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการค้ามีแนวโน้มกดดันภาคส่งออกซึ่งเคยเป็นภาคที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมา
วิจัยกรุงศรีเตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ หลังตัวเลข GDP 3Q67 ออกมาดีกว่าคาด และมีสัญญาณเชิงบวกจากความเชื่อมั่นที่ขยับดีขึ้น
GDP ไตรมาส 3 ปี 2567 เติบโตดีกว่าคาดที่ 3.0% YoY และ 1.2% QoQ ทั้งปีมีแนวโน้มสูงกว่าที่วิจัยกรุงศรีเคยคาดไว้ที่ 2.4% สภาพัฒน์ฯ รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปีนี้ขยายตัว 3.0% (นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 2.4% และ 2.3% YoY ตามลำดับ) เทียบกับขยายตัวที่ 2.2% ใน 2Q67 โดยมีปัจจัยหนุนจาก (i) การใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัว โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ (+25.9%) ที่กลับมาเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส (ii) การส่งออกสินค้า (+8.3%) ฟื้นตัวจากความต้องการในบางกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า (iii) การส่งออกบริการ (+21.9%) ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น, และ (iv) การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว (+3.4%) แม้ชะลอลงจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง (-2.5%) ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้ขยายตัวที่ 2.6% (เดิมคาด 2.5%) และคาดการณ์ปี 2568 เติบโตที่ 2.3-3.3%
สภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP ใน 3Q67 ที่ปรับผลของฤดูกาลออกขยายตัวที่ 1.2% QoQ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดที่ 0.8% และ 0.7% ตามลำดับ และสูงกว่า 0.8% ใน 2Q67 สำหรับ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 GDP เติบโตอยู่ที่ 2.3% YoY ล่าสุดวิจัยกรุงศรีเตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขึ้นจากเดิมเคยคาดไว้ที่ 2.4% โดยประเมินเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปียังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจาก (i) แรงส่งการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายต่อเนื่อง (ii) ภาคท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น หนุนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 35.6 ล้านคน (ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 28.8 ล้านคน) (iii) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านกลุ่มเปราะบาง และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อีกทั้งทางการกำลังเตรียมพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อใช้ในปลายปีนี้จนถึงในปีหน้า และ (iv) ผลของฐานต่ำในปีก่อน โดย GDP ใน 4Q66 เติบโตเพียง +1.7% YoY เนื่องจากความล่าช้าในการอนุมัติพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
ความเชื่อมั่นมีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงต้นไตรมาสสุดท้ายของปี ด้านรัฐบาลเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีเพิ่มเติม ในเดือนตุลาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สู่ระดับ 56.0 จากเดือนก่อนที่ 55.3 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมกลับมาเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 89.1 จาก 87.1 ในเดือนกันยายน โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์อุทกภัยที่คลี่คลายลง มาตรการแจกเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบาง มาตรการส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้หลังจากธปท.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25%
แม้ความเชื่อมั่นจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่การฟื้นตัวยังมีเปราะบางสะท้อนจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดโควิด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 75.5 (ปี 2562) ขณะที่โมเมนตัมของการฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้จ่ายในระยะสั้น ซึ่งล่าสุดรัฐบาลระบุเตรียมพิจารณาจะแจกเงิน 10,000 บาท สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ทั้งจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งกดดันกำลังซื้อของประชาชน ความสามารถในการแข่งขันของบางอุตสาหกรรมที่ลดลง และการลงทุนที่ยังอยู่ระดับต่ำ นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกรวมถึงไทย