บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

20 พฤษภาคม 2567

การชะลอตัวของเงินเฟ้อช่วยลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่น ขณะที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนคาดผลกระทบระยะสั้นยังคงจำกัด

 

สหรัฐ

 

เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวเข้าสู่ภาวะ Goldilock ในเดือนเมษายน เงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิต (headline PPI) เร่งตัวขึ้นสู่ 2.2% YoY จากเดือนก่อนที่ 1.8% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานฝั่งผู้ผลิต (Core PPI) เร่งตัวขึ้นสู่ 2.4% จากเดือนก่อนที่ 2.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไป (headline CPI) ชะลอลงสู่ 3.4% จากเดือนก่อนที่ 3.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอลงสู่ 3.6% จากเดือนก่อนที่ 3.8% นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกชะลอลงสู่ 3.04% YoY จากเดือนมีนาคมที่ 3.83% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ยอดค้าปลีกไม่เติบโต (0% MoM)  

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่าแม้อัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐจะเพิ่มสูงขึ้นในเดือนเมษายน แต่ยังไม่ใช่สัญญาณบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2% ในปีนี้ ขณะที่นโยบายการเงินมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดนานกว่าที่คาดจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงช้า ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการลดลงของอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนพร้อมกับตัวเลขเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะในภาคบริการ) และการจ้างงานในสหรัฐที่ส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้นช่วยเปิดโอกาสให้เฟดสามารถเริ่มปรับaลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนกันยายนโดยอาจปรับลด 3 ครั้งปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ระดับ 4.50-4.75%


 

ญี่ปุ่น

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นพลิกหดตัวในไตรมาส 1 ก่อนเริ่มทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป GDP ไตรมาส 1 พลิกหดตัวที่ -0.5% QoQ และ -2.0% YoY จากคาดการณ์ของตลาดที่ -0.3% และ -1.5% ตามลำดับ โดยการบริโภคภาคเอกชนหดตัว -0.7% QoQ จากผลของเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าจ้างในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การใช้จ่ายด้านทุนหดตัว -0.8% QoQ

แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะพลิกกลับมาหดตัวในไตรมาส 1 แต่จากมาตรการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน (มากที่สุดในรอบ 30 ปี) แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง และภาคบริการที่เติบโต คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศและเศรษฐกิจโดยรวมตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แม้จะมีความกังวลและเฝ้าระวังการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของเงินเยนมากขึ้น แต่ความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากและต่อเนื่อง (aggressive rate hike) คาดว่ายังอยู่ในระดับต่ำตราบใดที่ผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยนต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ชัดเจนมากพอ ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า BOJ จะยังคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายจนกว่าผลบวกจากการปรับขึ้นค่าจ้างและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช่วยหนุนนำให้อัตราเงินเฟ้อระยะยาวเคลื่อนไหวเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2%



 

จีน
 

การประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้ารอบล่าสุดของสหรัฐอาจส่งผลกระทบต่อจีนในระยะสั้นไม่มากนัก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจีนยังขยายตัวต่อเนื่องแต่การบริโภคชะลอลง สหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเซมิคอนดัคเตอร์ โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมตั้งแต่ 2 เท่าไปจนถึง 3.7 เท่า และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงปี 2567 ถึง 2569 ล่าสุด การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.7% ในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ยอดขายบ้านใหม่ในเดือนเมษายนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ -44.9% YoY ขณะที่ราคาบ้านใหม่และบ้านมือสองหดตัวแรงขึ้นเป็น -3.5% และ -6.8% ตามลำดับ

ในระยะสั้นผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐต่อจีนในยานยนต์ไฟฟ้าและแผงโซลาร์อาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับกรณีที่สหภาพยุโรปอาจขึ้นภาษีในกลุ่มสินค้าเดียวกัน เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกสินค้าดังกล่าวจากจีนไปยังสหรัฐค่อนข้างต่ำ สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลประกาศมาตรการเงินทุนรีไฟแนนซ์ดอกเบี้ยต่ำมูลค่า 41.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเข้าซื้ออุปทานที่อยู่อาศัยส่วนเกิน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มสภาพคล่องโดยตรงให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้บางส่วน แต่แนวโน้มการฟื้นตัวในภาคอสังหาฯ ยังไม่ชัดเจน ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากอุปทานส่วนเกินและภาคการบริโภคที่ยังอ่อนแอ ล่าสุด ยอดค้าปลีกชะลอลงสู่ 2.3% ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2566


 

 

เศรษฐกิจไตรมาสแรกแม้เติบโตดีกว่าคาดแต่ภาพรวมยังคงอ่อนแอ ขณะที่ความเชื่อมั่นทยอยปรับลดลงในต้นไตรมาส 2


GDP ไตรมาส 1 ปี 2567 เติบโต 1.5% YoY วิจัยกรุงศรีอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2567 สภาพัฒน์ฯ รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 1.5% (นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 0.8% และ 0.7% ตามลำดับ) เทียบกับขยายตัว 1.7% ใน 4Q66 ปัจจัยบวกสำคัญมาจากภาคท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นช่วยหนุนให้การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกภาคบริการยังคงขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่อง (+6.9% และ +24.8% ตามลำดับ) ขณะที่การส่งออกกลับมาหดตัว (-0.2%) และการหดตัวต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐ (-27.7%) จากความล่าช้าในการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567

GDP ในไตรมาสแรกที่ปรับผลของฤดูกาลออกขยายตัวที่ 1.1% QoQ sa ดีกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ 0.6% และ 0.5% ตามลำดับ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยสามารถหลุดพ้นจากความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยหลังจากที่หดตัว 0.4% ใน 4Q66 สำหรับในช่วงที่เหลือของปี วิจัยกรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยจะยังมีการฟื้นตัวตามวัฏจักร โดย GDP มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากไตรมาสแรก (เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ปัจจัยบวกจาก (i) การใช้จ่ายภาครัฐที่จะเร่งขึ้นในช่วงไตรมาส 2 โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบฯ ลงทุน (หลังล่าช้าไป 7 เดือน) และ (ii) การเติบโตของภาคท่องเที่ยว  ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงหนุนให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีกำลังทบทวนการประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้เพื่อสะท้อนการเติบโตของ GDP ในไตรมาสแรกที่ดีกว่าคาด รวมถึงข้อจำกัดและอุปสรรค โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคครัวเรือนมากขึ้น ท่ามกลางความเชื่อมั่นทางธุรกิจและผู้บริโภคที่อ่อนแอลง รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้งที่กดดันปริมาณผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรอีกด้วย ขณะที่ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือเติบโต 2.0-3.0% จากเดิมคาด 2.2-3.2%

 




 

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมร่วงลงในต้นไตรมาสสอง ชี้เศรษฐกิจยังมีความเปราะบางในการฟื้นตัว ในเดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับ 62.1 จาก 63.0 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นหลังจากทางการทยอยลดการอุดหนุน ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรรม (TISI) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 90.3 จาก 92.4 เดือนมีนาคม เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่ผู้ประกอบการกังวลต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล รวมถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวัน

แม้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสองจะได้แรงขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มถูกกดดันจากความเชื่อมั่นที่อ่อนแอลง ประกอบกับล่าสุดการรายงานของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติชี้ว่ากลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (หนี้ค้างชำระมากกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน) ในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับเพิ่มสูงขึ้น 32.4% YoY และ 15.0% YoY ตามลำดับ ซึ่งสินเชื่อในกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียและอาจส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้นซึ่งจะบั่นทอนการเติบโตของการบริโภคได้ในระยะถัดไป

สำหรับความกังวลของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั่นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวัน ล่าสุดคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละเท่าไร มีกิจการใดบ้างที่ควรปรับขึ้นค่าจ้าง และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้

 



 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา