เนื่องจากปัจจุบันผู้คนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพกันมากขึ้น หลายคนจึงมีไลฟ์สไตล์การกินอาหารแบบ Flexitarian หรือการเลือกที่จะบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลงในบางโอกาส ส่งผลให้อาหารจากพืชเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น นอกจากนี้ การกินอาหารที่มีขั้นตอนการผลิตที่ไม่กระทบกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน ท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่ตระหนักรู้เรื่องภาวะโลกร้อนและสวัสดิภาพสัตว์กันมากขึ้น จึงทำให้อาหารจากพืชกลายเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองในการลงทุนผลักดันธุรกิจด้วยนั่นเอง
ซึ่งจากความนิยมนี้หากใครที่กำลังคิดวางแผนลงทุนเพื่อผลักดันธุรกิจนี้ให้โกอินเตอร์ สร้างผลตอบแทนได้มากนั้น น้องเพลินเพลินขอเริ่มพาทุกคนไปดูข้อมูลสำคัญที่มีผลด้านธุรกิจอย่างสถานการณ์การส่งออกและนำเข้าอาหาร Plant based ของโลกและไทย เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจและวางแผนกันก่อน
- 6 ประเทศที่มีการส่งออกอาหาร Plant based มากที่สุดในโลกปี 2564 จากการส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืช 3 กลุ่ม คือ อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่ม และโปรตีนเข้มข้น ได้แก่
- สหรัฐอเมริกา มูลค่า 8.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11.6% ของมูลค่าการส่งออก
- สิงคโปร์ มูลค่า 8.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 9.4% ของมูลค่าการส่งออก
- เยอรมัน มูลค่า 5.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 8.6% ของมูลค่าการส่งออก
- เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 5.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.7% ของมูลค่าการส่งออก
- จีน มูลค่า 2.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 4.3% ของมูลค่าการส่งออก
- ไทย มูลค่า 2.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 4.1% ของมูลค่าการส่งออก
- ประเทศที่มีการนำเข้าอาหาร Plant based มากที่สุดในโลกปี 2564 ได้แก่ สหรัฐฯ 12.2%, จีน 6.9%, เยอรมัน 4.4%, เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา 3.5%
สถานการณ์การส่งออกอาหาร Plant based ของไทย
- การส่งออกอาหาร Plant based ของไทยปี 2564 มีมูลค่า 2,852 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่
- ตลาดเครื่องดื่ม
- มูลค่า 1,502 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 52.7% ของมูลค่าการส่งออก โดยมีตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งไทยจะเน้นการส่งออกนมถั่วเหลืองเป็นหลัก
- ตลาดอาหารปรุงแต่ง
- มูลค่า 1,347 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 47.2% ของมูลค่าการส่งออก โดยมีตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และเมียนมา ซึ่งไทยมีการส่งออกครีมเทียมเป็นหลัก
- ตลาดโปรตีนเกษตร
- มูลค่า 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.1% ของมูลค่าการส่งออก โดยมีตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ซึ่งไทยมีการส่งออกสินค้ากลุ่มโปรตีนเข้มข้น เช่น เนื้อจากพืช ผงโปรตีนจากพืช แม้จะยังมีมูลค่าการส่งออกน้อยอยู่ก็ตาม
หลังจากที่เราได้ดูข้อมูลสถานการณ์การส่งออกและนำเข้าอาหาร Plant based ของโลกและไทยกันไปแล้ว จะเห็นได้ว่าธุรกิจอาหารนี้มีการเติบโตอย่างมาก โดยประเทศไทยเองก็เป็นผู้ส่งออกในตลาดโลกที่มีมูลค่าเทียบจะสูสีกับประเทศจีน เรียกได้ว่า สำหรับธุรกิจอาหาร Plant based ประเทศไทยของเราก็มีพื้นที่อยู่ในตลาดโลกไม่น้อย
และนี่อาจจะเป็นโอกาสให้ใครหลายคนได้แจ้งเกิด ปั้นธุรกิจนี้ให้โกอินเตอร์ก็เป็นได้ โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนที่มีมูลค่าส่งออกอาหาร Plant based ของไทยมากที่สุด
ตัวอย่างธุรกิจอาหาร Plant based ที่น่าจับตา
ในประเทศไทย
น้องเพลินเพลินขอยกตัวอย่างแบรนด์ ‘MORE MEAT’ แชมป์ท็อป 3 อาหาร Plant based ที่ขายดีที่สุดในไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาดนับเป็น 30 - 40% ของตลาด โดยแบรนด์มีการพัฒนาสินค้าให้สามารถคงคุณค่าทางโภชนาการ แต่ไม่มีส่วนผสมของกลูเตน มีโซเดียมต่ำ และไฟเบอร์สูง เพื่อตอบโจทย์คนรักสุขภาพได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่วัตถุดิบตั้งต้นอย่างการเลือก ‘เห็ดแครง’ จากแหล่งเพาะปลูกที่ดีที่สุดมาจากภาคใต้ และยังเป็นอาหารจากพืชที่มีโปรตีนสูงมากกว่าเห็ดชนิดอื่น ๆ แถมมีผิวสัมผัสที่หนึบสู้ฟันเหมาะสมกับการทำ plant based มาก ๆ มาชูเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ทำให้อาหาร Plant based หรืออาหารจากพืชได้รับความนิยมในไทยมาก ๆ นั่นเอง
ส่วนเรื่องการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ ในปี 2565 – 2566 ทางแบรนด์จะเริ่มที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องด้วยปัจจัยด้านผู้บริโภคของสิงคโปร์ที่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งหากตีตลาดสิงคโปร์ได้สำเร็จก็จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สามารถเปิดตลาดใหม่ในประเทศอื่นได้ง่าย หลังจากนั้นก็จะขยายตลาดไปที่เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนในระดับโลกมีแผนที่จะเริ่มที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ต่อไป
ในต่างประเทศ
แบรนด์ ‘Beyond Meat’ แบรนด์เนื้อสัตว์เทียมระดับโลก มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทั้งเบอร์เกอร์ ไส้กรอก เนื้อบด วางจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก และตามร้านสะดวกซื้อทั่วสหรัฐฯ รวมถึงได้รับการนำไปประกอบเมนูต่าง ๆ ของร้านอาหารชื่อดัง เช่น TGI Fridays, Carl’s Jr. โดยชิ้นเบอร์เกอร์ของ Beyond Meat นั้นไม่มีคอเลสเตอรอลเพราะทำจากพืช และมีไขมันอิ่มตัวเพียง 5 กรัมเท่านั้น เพราะทำมาจากโปรตีนถั่วกับน้ำบีทรูท ซึ่งช่วยให้ตัวเนื้อเบอร์เกอร์ออกสีแดงเมื่อนำไปโดนความร้อน จึงช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่เหมือนเนื้อสัตว์มากขึ้น
นอกจากนี้ Beyond Meat ยังเป็นบริษัทโปรตีนทางเลือกบริษัทแรกที่เข้าตลาดหุ้น สร้างปรากฏการณ์ด้วยอัตราการพุ่งของราคาที่ 163% ในวันซื้อขายวันแรก ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ามุมมองของนักลงทุนที่มีต่อเทรนด์การกินอาหาร Plant based หรืออาหารจากพืชกำลังมาแรง และอาจปูทางไปสู่การเข้าตลาดหุ้นของบริษัทอื่น ๆ ที่ทำธุรกิจนี้ก็เป็นได้ โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ Beyond Meat จะนำไปลงทุนในขั้นตอนการผลิตและพัฒนาสินค้าเพื่อสู้กับคู่แข่งรายอื่น ๆ ในตลาดอันแน่นหนาได้นั่นเอง
ซึ่งแม้จะมีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จระดับโลกมากมาย แต่การทำธุรกิจอาหาร Plant based ในไทยยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องผลผลิตทางการเกษตรที่มีความหลากหลาย ที่สามารถนํามาใช้ในการผลิตและลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถเป็นผู้ผลิตที่ส่งออกผลผลิตนี้ไปให้กับแบรนด์จากทั่วโลกได้อีกด้วย
Tips by น้องเพลินเพลิน : ต่อยอดธุรกิจอาหาร Plant based ด้วย 5 ผลผลิตการเกษตรคนไทย
โดยผลผลิตทางการเกษตรของคนไทยที่สามารถนำมาแปรรูปเพื่อเป็นสินค้า plant based นั้นมีหลากหลายมาก ๆ แต่ 5 ผลผลิตที่น้องเพลินเพลินคัดมาแนะนำกันวันนี้นั้นเป็นส่วนหนึ่งจากการแนะนำของสายงานเศรษฐกิจและวิชาการของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรของคนไทยที่น่าต่อยอดในธุรกิจนี้จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
- ถั่วเขียว ปลูกได้ในหลายพื้นที่ สามารถแปรรูปเป็นผลผลิตได้หลากหลาย เช่น วุ้นเส้น เครื่องดื่มโปรตีน และอาหารสัตว์
- เมล็ดกัญชง มีองค์ประกอบคล้ายไข่ดาว เนื้อสัมผัสนุ่ม ย่อยง่าย สามารถแปรรูปเป็นผลผลิตได้หลากหลาย เช่น โลชันกัญชง น้ำมันเมล็ดกัญชง ช็อกโกแลตผสมเมล็ดกัญชง และอาหารสัตว์
- เห็ดแครง มีเบต้ากลูเคนและไฟเบอร์สูง มีเนื้อสัมผัสคล้ายสัตว์ สามารถแปรรูปเป็นผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ชาเห็ดแครง สเต็กเห็ดแครง และเห็ดแครงอบแห้ง
- ขนุนอ่อน มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ ไฟเบอร์สูง แต่น้ำตาลน้อย สามารถแปรรูปเป็นผลผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เนื้ออบแห้งจากขนุน
- ไข่ผำ มีโปรตีนสูง สามารถแปรรูปเป็นผลผลิตได้หลากหลาย เช่น เครื่องดื่มไข่ผำ สบู่ไข่ผำ และอาหารเสริม
และนี่คือเรื่องราวของอาหาร Plant based หรืออาหารจากพืช ที่น้องเพลินเพลินนำมาฝากเพื่อน ๆ กัน อย่างไรก็ตาม แม้การทำธุรกิจตามเทรนด์จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเราได้ แต่เราก็ควรพิจารณาข้อมูลว่าเทรนด์นั้นจะสามารถกลายเป็นพฤติกรรมในอนาคตเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้หรือไม่ด้วย นอกจากนี้ ทุกการทำธุรกิจเราควรจะศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ โดยเฉพาะการวางแผนทางการเงินที่จะต้องมีเงินทุนมาหมุนเวียนให้ธุรกิจไปได้ไกลด้วย
สำหรับใครที่ต้องการเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สามารถผลิตหรือจำหน่ายสินค้าได้อย่างคล่องตัว กรุงศรีพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของคุณคล่องตัว ด้วย
สินเชื่อเพื่อการส่งออก บริการสินเชื่อเพื่อการส่งออกเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นไม่เกิน 180 วัน ให้กู้ได้ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินตราต่างประเทศ