คุณเคยมีความคิดแบบนี้ไหม? หลังเกษียณไปแล้วจะเอาเงินที่ไหนใช้จ่าย มีวิธีไหนที่จะเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณได้อย่างสบายใจ จะลงทุนอะไรดีเพื่อให้มีเงินงอกเงยไปจนถึงวันที่ไม่มีรายได้แล้ว เมื่อมีคำถามเหล่านี้ แสดงว่าคุณเองก็เริ่มสนใจที่จะวางแผนการเงินเพื่ออนาคตแล้ว และคุณคงเคยได้ยินชื่อของกองทุน RMF มาแล้วแน่ ๆ แต่อาจจะยังไม่เข้าใจกองทุนตัวนี้จริง ๆ ว่ามีรายละเอียดและเงื่อนไขอะไรบ้าง ที่นอกจากจะซื้อกองทุน RMF ลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีประโยชน์อย่างอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่ง “มนุษย์เงินเดือน” ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ ที่ส่วนใหญ่จะต้องทำงานไปจนถึงอายุ 55-60 ปี แล้วจึงเกษียณ ดังนั้นการวางแผนเพื่อชีวิตหลังเกษียณเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และปัจจุบันก็ทำได้ไม่ยาก ทั้งผ่านการออมและการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ และยังรวมไปถึงการวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีในแต่ละปีด้วย ซึ่งภาครัฐก็ให้การสนับสนุนและกระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือน จัดสรรเงินและแบ่งมาลงทุนเพื่อการเกษียณด้วย ยกตัวอย่างเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน SSF และกองทุน RMF ที่เราจะมาเล่าในบทความนี้กัน
กองทุน RMF คืออะไร
RMF (Retirement Mutual Fund) หรือที่เรียกว่า “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้ลงทุนได้เก็บออมในระยะยาว เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในยามเกษียณ ด้วยเงื่อนไขที่ต้องถือครองและลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี จึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ พร้อมให้สิทธินำจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่ซื้อในแต่ละปี สูงสุดถึง 30% ของเงินได้
และเมื่อเป็นการลงทุนระยะยาว ผู้ลงทุนอาจจะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจและภาวะการลงทุนในแต่ละช่วงเวลาได้ กองทุน RMF จึงมีนโยบายการลงทุนที่ทำให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกการลงทุนได้ตามความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงและตามภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา และยังเปิดโอกาสให้เลือกสับเปลี่ยนระหว่างกองทุน RMF ด้วยกันได้ในแต่ละปี โดยไม่ถือว่าเป็นการขายหน่วยลงทุน
กองทุน RMF ต่างจากกองทุน SSF อย่างไร
กองทุน RMF และ SSF มีสิ่งที่เหมือนกันคือ คุณสามารถเลือกลงทุนได้ในสินทรัพย์ทุกประเภทตามนโยบายของกองทุนนั้น ๆ และตามความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไขของแต่ละกองทุนจะไม่ต้องเสียภาษี ส่วนสิ่งที่ทำให้ทั้ง 2 กองทุนนี้แตกต่างกัน เป็นเรื่องของระยะเวลาที่ต้องถือครอง และจำนวนสูงสุดที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ คือ
RMF : ลงทุนเพื่อการเกษียณ
- ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ในปีนั้น แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้เมื่อนำไปรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
- มีเงื่อนไขการลงทุนอย่างน้อย 5 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อ และต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยคือ “ปีเว้นปี”
- ผู้ลงทุนสามารถสับเปลี่ยนไปเป็นกองทุนอื่น ๆ ที่เป็นกองทุน RMF เหมือนกันได้
- หน่วยลงทุนจะขายคืนได้เมื่อผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปี
SSF : ลงทุนเพื่อการออมระยะยาว 10 ปี ขึ้นไป
- ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ในปีนั้น และต้องไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้เมื่อนำไปรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
- มีเงื่อนไขการลงทุนอย่างน้อย 10 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อ แต่ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
- ผู้ลงทุนสามารถสับเปลี่ยนไปเป็นกองทุนอื่น ๆ ที่เป็นกองทุน SSF เหมือนกันได้
โดยทั้ง 2 ประเภทกองทุนนี้ ผู้ลงทุนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี และไม่ต้องเสียเวลาดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหากทำผิดเงื่อนไข และสิ่งที่ต้องระวังนั้น สามารถจำได้ง่าย ๆ คือ “ไม่ซื้อเกิน ไม่ขายก่อน และไม่ลืมซื้อปีเว้นปีสำหรับ RMF”
แล้วทำไมมนุษย์เงินเดือน ควรซื้อกองทุน RMF?
เมื่อมนุษย์เงินเดือนคือหนึ่งในผู้มีรายได้ จึงเป็นผู้ที่มีหน้าที่ยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้นควรจะต้องรู้จักวิธีการวางแผนภาษี และคำนวณการลดหย่อนภาษี เพื่อการวางแผนการเงินที่ดี ที่สามารถทำให้เราได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่ และอย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ภาครัฐก็ได้ให้การสนับสนุนและกระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือนลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในช่วงบั้นปลาย แล้วทำไมกองทุน RMF ถึงน่าสนใจ การลงทุนนี้มีอะไรดีที่มนุษย์เงินเดือนควรลงทุน นั่นก็คือ
- เป็นหลักประกันชีวิตหลังเกษียณว่า จะมีเงินก้อนใช้แน่นอน เพราะไม่สามารถขายคืนได้ก่อนอายุ 55 ปี
- สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ จึงช่วยให้มีเงินเหลือเยอะขึ้น ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้สูงถึง 30% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น ๆ
- สามารถเลือกลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่าใดก็ได้ตามต้องการ โดยไม่มีขั้นต่ำกำหนดไว้
- มีระดับความเสี่ยง และสินทรัพย์ในการลงทุนให้เลือกหลากหลาย
- ฝึกตนเองให้มีระเบียบวินัยทางการเงิน เพราะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี หรือปีเว้นปี
เช็กเลย...ฐานเงินเดือนของคุณ ซื้อกองทุน RMF ได้สูงสุดเท่าไหร่
คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า กองทุน RMF ซื้อได้เท่าไหร่ถึงจะไม่ทำผิดเงื่อนไขและซื้อมากเกินกำหนดไว้ เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น สามารถดูตัวอย่างฐานเงินเดือนแต่ละช่วงได้จากตารางด้านล่างนี้
จากตารางจะเห็นได้ว่า วิธีการคำนวณเบื้องต้นนั้นง่ายมาก ๆ ซึ่งหากจะเช็กว่าสำหรับคุณ RMF ซื้อได้เท่าไหร่ ให้นำรายได้ต่อปีของคุณไปคูณด้วย 30% ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการวางแผนที่ประหยัดภาษีจริง ๆ ขอแนะนำให้คุณนำ
สิทธิหักลดหย่อนภาษีทั้งหมดของแต่ละปีมาคำนวณเพื่อหารายได้สุทธิ ก่อนที่จะวางแผนเพื่อซื้อ RMF ตัวอย่างเช่น
หากฐานเงินเดือนไม่เกิน 26,583 บาท จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะหลังจากที่นำมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วจะมีเงินได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาท โดยใช้สูตร
“รายได้รวมทั้งปี - (ค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท + ค่าลดหย่อน) - เงินสะสมกองทุนประกันสังคม (อัตราปกติ 5%) = เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปคำนวณภาษี
จึงเท่ากับ 318,996 - (100,000 + 60,000) - 9,000 = 149,996 บาท ดังนั้นจึงไม่ต้องเสียภาษี
และอย่าลืมว่า เมื่อจุดประสงค์จริง ๆ คือการวางแผนเพื่อการเกษียณ ดังนั้นชีวิตในปัจจุบันก็ต้องมีความสมดุลอยู่ด้วย จึงไม่จำเป็น หากต้องลดหย่อนจนเต็มแม็กซ์ แต่กลับมีเงินเหลือใช้อย่างลำบากในแต่ละเดือน แบบนี้อาจจะไม่ใช่แผนการเงินที่ดีนัก
ควรซื้อกองทุน RMF ตัวไหนดี RMF ตัวไหนน่าสนใจ มาดูกัน
หลังจากที่ได้รู้จักกับกองทุน RMF กันไปครบทุกมิติแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนที่จะต้องเลือกซื้อเพื่อเริ่มต้นลงทุนกันต่อ เราจึงขอแนะนำ 4 กองทุนรวม RMF ที่มีศักยภาพดีประจำปี 2023 ซึ่งเป็นกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงทั้งต่ำและสูง สามารถเลือกตามที่คุณสนใจได้เลย
1. กองทุนเปิดกรุงศรีแอคทีฟตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFAFIXRMF)
กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดสรรพอร์ตการลงทุนแบบยืดหยุ่นผ่านตราสารหนี้และเงินฝาก ทั้งในภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน โดยกองทุนนี้มีระดับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 4 เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำได้ โดยมีความคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เน้นการลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี และกองทุนนี้มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศอยู่ด้วย
2. กองทุนเปิดกรุงศรีกรุงศรีโกลบอลสมาร์ทอินคัมเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFSINCRMF)
กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศเพื่อการขยายโอกาสการลงทุนผ่านตราสารหนี้หลายประเภททั่วโลก เลือกลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ PIMCO GIS Income Fund (Class I-Acc) เฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV แนวทางการลงทุนเป็นแบบเชิงรุกที่จะวิเคราะห์และปรับสัดส่วนการลงทุน และอายุของตราสารหนี้ (Duration) เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งกองทุน RMF นี้มีระดับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 5 เป็นความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง และเมื่อเป็นการลงทุนในต่างประเทศ กองทุนนี้จึงมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศอยู่ด้วย
3. กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิคเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFDNMRMF)
กองทุนรวมตราสารทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 6 เป็นความเสี่ยงสูง โดยเน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แบบไม่มีความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงยังลงทุนในหุ้นที่อยู่ระหว่าง IPO ด้วย ใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกเพื่อหาสินทรัพย์ที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่สูง และเป็นการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุนแบบมีความยืดหยุ่นสูง เลือกลงทุนได้แบบไร้ข้อจำกัดด้านประเภทหุ้น ซึ่งสามารถเลือกหรือปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ ทั้งในหุ้นปันผล หุ้นเติบโต หุ้นขนาดใหญ่หรือเล็ก โดยลงทุนในหุ้นเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV และคาดหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัดของ SET50
4. กองทุนเปิดกรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFACHINRMF)
กองทุนรวมตราสารทุนความเสี่ยงระดับ 6 ถือเป็นระดับความเสี่ยงสูง เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นจีนชั้นนำ ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ UBS (Lux) Investment SICAV-China A Opportunity (USD) (Class P-acc) ซึ่งเป็นกองทุนหลักที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น A-shares ของจีน เป็นหุ้นที่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของจีน ทั้งตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น มุ่งหวังเพื่อให้เกิดผลประกอบการเคลื่อนไหวตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหลัก ที่ต้องการให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด MSCI China A Onshor ส่วนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จะเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
ข้อแนะนำสำคัญในการเลือกซื้อกองทุน RMF หรือ SSF
สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรานั้น ควรเลือกซื้อกองทุนที่มีสินทรัพย์และความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเฉพาะบุคคล เนื่องจากกองทุน RMF เป็นการลงทุนระยะยาวที่ต้องการความต่อเนื่องในการลงทุน และจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อมีอายุครบ 55 ปี ในขณะที่กองทุน SSF จะไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องก็ได้ แต่ต้องถือครองไว้เกิน 10 ปี ถึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ ซึ่งนอกจากจะเลือกจากระยะเวลาในการลงทุนแล้ว ยังควรเลือกจากนโยบายการลงทุนที่ตอบโจทย์ และมีระดับความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลรับได้ เช่น หากไม่พร้อมจะรับความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้น ก็แนะนำให้เลือกกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ หรือหากพร้อมรับความเสี่ยงสูงเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น ก็เน้นลงทุนในหุ้น หรือสินทรัพย์ทางเลือกได้
แต่อย่าลืมว่า High Risk ไม่ได้หมายถึง High Return เสมอไป ต้องเพิ่ม High Know เข้าไปด้วย คือ เข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุน หรืออาจจะเลือกกระจายความเสี่ยงของพอร์ตให้ครอบคลุมสินทรัพย์หลายประเภทก็ได้ สุดท้ายต้องพิจารณาผลการดำเนินงานย้อนหลังและค่าธรรมเนียมซื้อขาย หรือสับเปลี่ยน ที่อาจจะมีการเรียกเก็บในแต่ละกองทุน เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนได้อย่างแม่นยำ
หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับกองทุน RMF แล้ว มนุษย์เงินเดือนที่เริ่มสนใจจะลงทุน แต่อาจจะยังขาดความมั่นใจและต้องการที่ปรึกษา เพื่อให้การลงทุนนี้เป็นการวางแผนการเงินหลังเกษียณที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยวางแผนภาษีเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนในแต่ละปีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมเรื่องกองทุน RMF กับทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุน ที่สามารถให้คำปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือ
ฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาติดต่อกลับ เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมเฉพาะคุณก็ได้เช่นกัน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- RMF เป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
- กองทุน KFAFIXRMF / KFSINCRMF อาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-investment grade) หรือที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bond) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วน หรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในโครงการ
- กองทุน KFAFIXRMF / KFSINCRMF ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
- กองทุน KFACHINRMF ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา