เช็กสิทธิ Easy E-Receipt 2568 ช้อปสนุก ได้ลดหย่อนภาษีสบาย ๆ
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เช็กสิทธิ Easy E-Receipt 2568 ช้อปสนุก ได้ลดหย่อนภาษีสบาย ๆ

icon-access-time Posted On 11 กุมภาพันธ์ 2568
By Krungsri The COACH
เริ่มต้นปี 2568 กันแล้ว หลายคนคงกำลังวางแผนจัดการภาษี และมองหาวิธีลดหย่อนภาษีที่ต้องยื่นตอนต้นปี 2569 กันอยู่ แน่นอนว่า หนึ่งในมาตรการที่น่าสนใจที่สุดก็คือ “Easy E-Receipt” ที่ให้คุณได้ทั้งของใช้ และสิทธิลดหย่อนภาษีในคราวเดียว โดยในปีนี้ รัฐบาลได้ปรับปรุงมาตรการให้น่าสนใจยิ่งขึ้นภายใต้ชื่อโครงการ “Easy E-Receipt 2.0” พร้อมอัปเดตเงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ เพื่อช่วยลดภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง? Krungsri The COACH จะพาไปหาคำตอบ เพื่อให้คุณได้ลดหย่อนภาษีแบบคุ้มที่สุด

Easy E-Receipt 2568 คืออะไร

Easy E-Receipt 2568

Easy E-Receipt 2568 หรือ Easy E-Receipt 2.0 คือ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับคนที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยผู้เสียภาษีสามารถซื้อสินค้า หรือบริการที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือเอกสารรับเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด แล้วนำเอกสารที่ได้จากร้านค้าไปใช้ยื่นลดหย่อนภาษีได้ประจำปีนั้น ๆ ได้

อัปเดต Easy E-Receipt 2568 มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง

Easy E-Receipt 2568 ยังคงสามารถใช้ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้สูงสุด 50,000 บาท ต่อปี (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) เหมือนกับ Easy E-Receipt ปีก่อน ๆ แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่วงเงินของกลุ่มสินค้า หรือบริการที่นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งในปีนี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
 

1. กลุ่มสินค้าและบริการทั่วไป

สินค้าและบริการทั่วไปที่ใช้สิทธิ easy e receipt

สำหรับกลุ่มสินค้า หรือบริการทั่วไป สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท โดยจะแบ่งเป็น 2 แบบหลัก ๆ ได้แก่
  • สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และสามารถออก e-Tax Invoice ได้ : เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเสื้อผ้า
  • สินค้าและบริการที่ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (non-VAT) : จะได้เฉพาะหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือ e-Book แต่จะต้องขอ e-Receipt ที่มีชื่อ และข้อมูลผู้ซื้อด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีในโครงการนี้ได้
 

2. กลุ่มสินค้า OTOP หรือสินค้าและบริการจากวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม

สินค้าวิสาหกิจชุมชน

สำหรับสินค้ากลุ่มนี้ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 20,000 บาท (แต่ถ้าไม่มีการใช้จ่ายในสินค้ากลุ่มที่ 1 สามารถซื้อสินค้าในกลุ่มนี้เพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีเพิ่มเป็น 50,000 บาท ได้) โดยจะต้องเป็นสินค้าที่ออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้ และอยู่ในเงื่อนไขด้านล่าง ดังนี้
  • สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้รับการลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน
  • สินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้กับวิสาหกิจชุมชน ที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
  • สินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

สินค้าและบริการที่ไม่เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 2568

สินค้าที่ไม่ร่วม easy e-receipt

เพื่อไม่ให้คุณซื้อสินค้า หรือบริการผิดกลุ่ม แล้วไม่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ Krungsri The COACH ได้สรุปสินค้า และบริการที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 2568 มาให้แล้ว ดังนี้
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ สุรา เบียร์ และไวน์
  • ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิด
  • น้ำมัน ก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะ
  • รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการต่าง ๆ ที่มีระยะเวลาการใช้งานเกินกว่าช่วงมาตรการ (16 มกราคม 2568 - 28 กุมภาพันธ์ 2568)
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
  • แพ็กเกจท่องเที่ยว
  • ค่าที่พักทุกประเภท (โรงแรม โฮมสเตย์ และที่พักอื่น ๆ)

เริ่มใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน Easy E-Receipt 2568 ได้เมื่อไร

สามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีด้วย Easy E-Receipt 2568 ได้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ใครที่วางแผนจะลดหย่อนภาษีด้วยโครงการนี้อยู่ สามารถวางแผนการซื้อสินค้าที่เข้าร่วมโครงการได้เลย

หลักฐานที่ใช้ยื่น Easy E-Receipt 2568

หลักฐาน หรือเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-Receipt 2568 มีแค่ e-Tax Invoice และ e-Receipt โดยถ้าเป็นสินค้า หรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องใช้ e-Tax Invoice เท่านั้น แต่ถ้านอกเหนือจากนั้นก็ให้ผู้ขายออกใบ e-Receipt ให้แทน

สิ่งสำคัญก็คือ คุณจะต้องเช็กข้อมูลในใบ e-Tax Invoice และ e-Receipt ให้ดี โดยเฉพาะชื่อ เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้า เพราะถ้าข้อมูลเหล่านี้ผิด จะไม่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง

เช็กรายชื่อร้านค้าที่ออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้ที่ไหน

แม้จะรู้ว่าสามารถซื้อสินค้า หรือบริการอะไรได้บ้าง แต่ก็อาจมีบางคนที่กลัวว่าจะซื้อผิดอยู่ ไม่ต้องกังวลไป เราสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่สามารถออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้ง่าย ๆ ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร มั่นใจได้เลยว่า การช้อปปิ้งของคุณจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างแน่นอน

Krungsri The COACH แนะนำ : วิธีใช้สิทธิลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2568 ให้คุ้มค่ามากที่สุด

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงพร้อมที่จะไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย Easy E-Receipt 2568 กันแล้ว แต่เดี๋ยวก่อน Krungsri The COACH ขอชวนทุกคนมาเช็กภาษีที่ต้องจ่ายคร่าว ๆ ในปีหน้ากันก่อน เพื่อดูว่า เราจำเป็นต้องซื้อสินค้าครบ 50,000 บาท จริงไหม? และเพื่อเช็กสิทธิลดหย่อนให้เราได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการนี้อย่างแท้จริง
 

คำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2568 แบบง่าย ๆ

เราสามารถคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายได้ง่าย ๆ ด้วยการนำเงินได้ตลอดทั้งปี (ดูได้จากใบ 50 ทวิ สำหรับมนุษย์เงินเดือน) มาลบกับค่าใช้จ่ายแบบเหมา 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของเงินได้สุทธิ หลังจากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับภาษีเงินได้แบบขั้นบันไดได้เลย

ตัวอย่างการคำนวณภาษี

กรณีที่ไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์จาก Easy E-Receipt 2568

นางสาว A มีรายได้ทั้งหมดตลอดปี 500,000 บาท มีการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 100,000 บาท และมีค่าลดหย่อนภาษี ได้แก่ รายการลดหย่อนภาษีส่วนตัว 60,000 บาท และประกันสังคม 9,000 บาท (เป็นค่าลดหย่อนภาษีพื้นฐานที่ทุกคนมี) เท่ากับว่านางสาว A จะมีเงินได้สุทธิดังนี้
  • 500,000 - 100,000 - 60,000 - 9,000 = 331,000 บาท

หลังจากนั้นให้นำเงินได้สุทธิมาเปรียบเทียบกับตารางอัตราภาษีแบบขั้นบันไดเพื่อคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายด้วยสูตร [ (เงินได้สุทธิ - เงินได้สุทธิสูงสุดขั้นก่อนหน้า) X อัตราภาษี ] + ค่าภาษีสะสมที่ต้องจ่ายในขั้นก่อนหน้า ก็จะได้จำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่ายแล้ว
 
เงินได้สุทธิ (บาท) อัตราภาษี ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้นเงินได้ ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น
0 - 150,000 ยกเว้น ยกเว้น 0
150,001 - 300,000 5% 7,500 7,500
300,001 - 500,000 10% 20,000 27,500
500,001 - 750,000 15% 37,500 65,000
750,001 - 1,000,000 20% 50,000 111,500
1,000,001 - 2,000,000 25% 250,000 365,000
2,000,001 - 5,000,000 30% 900,000 1,265,000
5,000,001 บาทขึ้นไป 35% - -
เท่ากับว่า นางสาว A ซึ่งมีเงินได้หักสุทธิที่ 331,000 บาท อยู่ที่ฐานภาษี 10% รวมกับภาษีขั้นก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 7,500 บาท สามารถคำนวณเงินที่จะต้องจ่ายภาษี ดังนี้

[ (331,000 - 300,000) X 10% ] + 7,500 = 10,600 บาท

กรณีที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย Easy E-Receipt 2568 เต็มจำนวน

หากนางสาว A ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย Easy E-Receipt 2568 เต็มจำนวน จะมีเงินได้สุทธิเท่ากับ 500,000 - 100,000 - 60,000 - 9,000 - 50,000 (ค่าลดหย่อนจาก Easy E-Receipt) = 281,000 บาท

เท่ากับว่านางสาว A ต้องจ่ายภาษี (281,000 - 150,000) X 5% = 6,550 บาท (สามารถลดค่าเสียภาษีจากเดิม 10,600 - 6,550 = 4,050 บาท)
 

คุ้มสองต่อ Easy E-Receipt 2568 จ่ายเงินคืนภาษีสูงสุดให้ด้วย

นอกจากค่าลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงแล้ว เรายังสามารถได้เงินคืนภาษีจาก Easy E-Receipt 2568 ด้วย แต่จะได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินได้สุทธิ และอัตราภาษีของแต่ละคน ซึ่งสามารถคำนวณเงินคืนภาษีสูงสุดได้โดยใช้สูตร อัตราภาษี x ค่าลดหย่อนจาก Easy E-Reciept
 
เงินได้สุทธิ อัตราภาษี เงินคืนภาษีสูงสุด
(กรณีใช้ลดหย่อน E-Receipt 50,000 บาท)
0 - 150,000 ยกเว้น 0
150,001 - 300,000 5% 2,500
300,001 - 500,000 10% 5,000
500,001 - 750,000 15% 7,500
750,001 - 1,000,000 20% 10,000
1,000,001 - 2,000,000 25% 12,500
2,000,001 - 5,000,000 30% 15,000
5,000,001 บาทขึ้นไป 35% 17,500
จากตารางนี้ ถ้านางสาว A มีเงินได้สุทธิ 281,000 หลังจากหักค่าลดหย่อน Easy E-Receipt ไปแล้ว ก็จะได้เงินคืนภาษีสูงสุดอยู่ที่ 2,500 บาท นั่นเอง

Krungsri The COACH แนะนำ : สร้างโอกาสลงทุนในกองทุนรวม พร้อมสิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีกับ Easy E-Receipt สำหรับนักลงทุนมือใหม่ และนักลงทุนมือทองที่ต้องการสร้างโอกาสในการลงทุนควบคู่ไปกับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี สามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ในการซื้อกองทุนได้เหมือนกันนะ เพียงลงทุนในกองทุนบลจ.กรุงศรี ที่มีค่าธรรมเนียมการซื้อ (Front-end fee) ผ่านธนาคารกรุงศรี ระหว่างวันที่ 16 ม.ค. 68 – 28 ก.พ. 68 สามารถนำค่าธรรมเนียมการซื้อไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2568 ได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท โดยใช้เอกสาร “หนังสือรับรองสิทธิในหน่วยลงทุน/ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี” ที่ได้รับจากธนาคารเป็นหลักฐานประกอบการยื่นลดหย่อนภาษีกับกรมสรรพากร

ศึกษารายละเอียดกองทุนที่แนะนำเพิ่มเติม ได้ที่ กองทุนรวม
 
ซื้อกองทุนรวม easy e reciept

Krungsri The COACH ขอสรุปว่า ถ้าอยากใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก Easy E-Receipt 2568 ให้คุ้มค่า จะต้องเช็ก 2 สเต็ป เริ่มต้นจากเปรียบเทียบภาษีที่ต้องจ่ายระหว่างเงินได้สุทธิปกติ กับเงินได้สุทธิที่หักค่าลดหย่อนภาษี 50,000 จาก Easy E-Receipt แล้ว ถ้าลดได้เยอะ ก็ซื้อสินค้าได้เลย แต่ถ้ายังรู้สึกว่าลดภาษีได้น้อย สเต็ปต่อมาให้มาดูที่เงินคืนภาษีสูงสุดที่คุณจะได้รับเพิ่ม ถ้ารู้สึกว่าคุ้มค่าแล้ว ก็ช้อปต่อได้เลย เพราะเมื่อหักค่าสินค้าด้วยเงินคืนภาษีสูงสุดที่ได้รับ ก็เท่ากับว่าได้ซื้อสินค้าในราคาที่ถูกกว่าเดิม รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมไปใช้ Easy E-Receipt กันนะ


อ้างอิง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา