กองทุน SSF SSFX และ RMF กับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ควรรู้
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

กองทุน SSF SSFX และ RMF กับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ควรรู้

icon-access-time Posted On 22 เมษายน 2563
By Krungsri the COACH
หลังจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund: LTF) ได้สิ้นสุดลงไปเมื่อปี พ.ศ. 2561 และทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF (Super Saving Fund) แทน รวมถึงได้มีการปรับกฎเกณฑ์ของ RMF ใหม่ ซึ่งได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้วสำหรับการยื่นภาษีปี พ.ศ. 2563 หลาย ๆ คนที่กำลังมองหาแนวทางในการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งยื่นภาษีเป็นครั้งแรก คงเกิดคำถามและข้อสงสัยมากมายว่า กองทุนรวมนำมาลดหย่อนภาษีได้ไหม และ กองทุน SSF และ RMF มีเงื่อนไขอย่างไร เรามาเริ่มต้นทำความรู้จักกองทุนเหล่านี้ เพื่อให้รู้ถึงข้อมูลเบื้องต้นและสิทธิในการนำ SSF และ RMF มาลดหย่อนภาษีไปพร้อม ๆ กันที่นี่เลย

มารู้จัก กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กัน

SSF เป็นกองทุนใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงินระยะยาวมากขึ้น โดยสามารถเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างจากกองทุน LTF ที่เน้นลงทุนในหุ้นไทยโดยเฉพาะ กองทุน SSF นั้นไม่ได้กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน รวมถึงไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง โดยเราสามารถซื้อกองทุนพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อนำไปรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยจะต้องถือครองเป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ จึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ โดยไม่เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ณ ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน SSF ถูกกำหนดไว้ที่ 5 ปี (2563 – 2567) หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ประเมินผลและทบทวนมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

เพิ่มความพิเศษด้วยกองทุน SSF Extra (SSFX)

SSFX คืออะไร? กองทุน SSF พิเศษ หรือ SSF เฉพาะกิจ หรือ SSF Extra (SSFX) เป็นกองทุนเพื่อการออมที่มีการปรับเกณฑ์ให้คล้ายกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั่นคือ มีการกำหนดเงื่อนไขการลงทุน ระบุว่าต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เหมือน LTF) โดยเราสามารถซื้อกองทุน SSF Extra เพื่อลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 200,000 บาท ซึ่งสิทธิลดหย่อนภาษีก้อนนี้จะแยกจากวงเงินลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF และ SSF ปกติ หากเราซื้อกองทุน SSF ปกติ ไว้เต็มวงเงิน 200,000 บาทแล้ว ก็ยังสามารถซื้อ SSF Extra (SSFX) ได้อีกไม่เกิน 200,000 บาท เท่ากับสามารถใช้สิทธิ SSF ลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2563 ได้เต็มสิทธิถึง 400,000 บาท หรือหากเรามีสิทธิซื้อกองทุนทั้ง RMF, SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ได้เต็มเพดานที่ 500,000 บาท ก็ยังมีสิทธิ์ซื้อ SSF Extra (SSFX) เพิ่มได้อีก 200,000 บาท เท่ากับสามารถใช้สิทธิจากการลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2563 ได้เต็มสิทธิ์ถึง 700,000 บาท นั่นเอง
ถึงแม้กองทุน SSF Extra จะช่วยลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น ก็ยังมีข้อแม้ว่าต้องซื้อกองทุน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2563 - 30 มิ.ย. 2563 เท่านั้น และต้องรับความเสี่ยงในการลงทุนไว้ได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี เพราะต้องถือครองเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป นับจากวันที่ซื้อ เราจึงต้องศึกษาเงื่อนไขการลงทุนให้ดี อ่านหนังสือชี้ชวนอย่างรอบคอบ และเลือกลงทุนในความระดับเสี่ยงที่เรารับได้

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ฉบับแก้ไขใหม่

กองทุนรวม Retirement Mutual Fund หรือ RMF คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนไทยเก็บออมเงินระยะยาวเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ ทำให้มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อให้เข้ากับสไตล์การลงทุน รวมถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคน ซึ่งมีจุดประสงค์คล้ายกันกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ของพนักงานบริษัทเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ของข้าราชการ
ในอดีตที่ผ่านมา เราสามารถนำเงินที่ไปซื้อกองทุน RMF มาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง โดยไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อนำไปรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน นอกจากนี้กองทุน RMF ยังถูกกำหนดให้ต้องลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่ว่าจำนวนเงินใดจะต่ำกว่า โดยต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี สามารถละเว้นได้แต่ไม่เกิน 1 ปี โดยนับเวลาแบบวันชนวัน เริ่มจากวันแรกที่ได้ซื้อหน่วยลงทุน แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการปรับกฎเกณฑ์ใหม่ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยลงทุนเพื่อการเกษียณมากขึ้น โดยปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนRMF จากเงื่อนไขเดิมไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน เป็นไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน และยกเลิกการกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF (ลองศึกษารายละเอียดกองทุน RMF ของกรุงศรี ได้ที่นี่)
เงื่อนไขการลดหย่อนภาษี กองทุนใหม่ SSFX กองทุน SSF และ เกณฑ์ใหม่ RMF
fund-tax-ssfx-ssf-rmf-detail
สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่าเราลงทุนเพื่อเป้าหมายทางการเงินของเรา แต่การที่เราลงทุนในกองทุน RMF หรือ SSF แล้วได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมด้วยนั้น ถือเป็นสิ่งที่ได้ตามมาทีหลัง เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะเริ่มลงทุนทุกครั้ง ควรมีการตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน และมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ รวมถึงศึกษารายละเอียดจากคู่มือภาษี หรือปรึกษาผู้แนะนำการลงทุน Plan Your Money เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียด กฎเกณฑ์ข้อบังคับ วิธีซื้อกองทุน SSF และเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงิน และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างถูกต้องนั่นเอง
fund-tax-ssfx-ssf-rmf-detail
pym-user-icon
มีข้อสงสัย หรืออยากวางแผนประหยัดภาษีให้สูงสุด คุยกับ Money Mentor จาก Krungsri Plan Your Money ได้ที่เบอร์ 1572 กด 5 จ.-ศ. เวลา 9.00 - 17.00 น. หรือทางเว็บไซต์ Plan Your Money กรอกชื่อเบอร์โทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับได้เลย
 
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา