คงเป็นความฝันของใครหลาย ๆ คนที่อยากจะมีบ้านสักหลัง
การขออนุมัติสินเชื่อเพื่อกู้ซื้อบ้าน ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งเลยที่ใครหลายคนใช้เพื่อที่จะสานฝันให้เป็นจริง แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถกู้ซื้อบ้านได้ง่าย ๆ แบบขอปุ๊บผ่านปั๊บ เพราะธนาคารจะมีกระบวนการพิจารณาตรวจสอบเพื่อตัดสินใจว่าจะอนุมัติให้หรือไม่ โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เรายื่นกู้ซื้อบ้านไม่ผ่านนั้นจะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
1. กู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน เพราะรายได้ไม่มั่นคง
การที่จะขอกู้ซื้อบ้าน ผู้ที่จะขอกู้ก็จะมีภาระ
หนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นค่าผ่อนชำระในทุก ๆ เดือน ดังนั้นธนาคารจึงจำเป็นที่จะต้องมั่นใจว่าผู้ที่จะกู้มีเงินเพียงพอที่จะผ่อนชำระหนี้ได้ ซึ่งธนาคารจะพิจารณาจากรายได้ที่ชัดเจน ซึ่งถ้าหากเป็นพนักงานประจำ ก็จะมีโอกาสกู้ซื้อบ้านผ่านมากกว่าผู้ที่ทำงานอิสระ ตัวอย่างเช่น ฟรีแลนซ์ หรืองานที่ได้รับรายได้เป็นเงินสด เพราะธนาคารจะมองว่ามีรายได้ไม่คงที่ และสาเหตุที่พนักงานประจำมีโอกาสกู้ซื้อบ้านผ่านมากกว่าเป็นเพราะว่า รายได้มีความมั่นคงกว่า มีความสม่ำเสมอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรายได้ก็ต้องมากพอต่อการผ่อนชำระบ้านในแต่ละเดือนด้วย
เพราะฉะนั้นการกู้ซื้อบ้าน จึงต้องเตรียมเอกสารแสดงรายรับให้ชัดเจน ซึ่งถ้าหากเพิ่งย้ายงานก็ควรที่จะให้ผ่านช่วง 4-6 เดือนแรกไปก่อนไม่เช่นนั้นก็จะมีโอกาสที่จะกู้ไม่ผ่าน สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ การเก็บเอกสารหลักฐานแสดงที่มาของรายได้อย่างละเอียดและต่อเนื่อง เป็นระยะเวลายาวนานอย่างน้อย 1 ปีย้อนหลังขึ้นไป จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ธนาคารได้มากขึ้นว่าเรามีรายได้สม่ำเสมอมากพอที่จะผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือน เพราะถ้าหากไม่มีเอกสารแสดงที่มาของรายได้ให้ธนาคารทราบ ก็จะทำให้โอกาสที่จะขอกู้นั้นมีน้อยลงไป
มากไปกว่านี้ การที่เรามีเงินเก็บมากกว่า 10 – 20% ของราคาบ้าน ก็มีส่วนช่วยให้การขอกู้ซื้อบ้านผ่านง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ราคาบ้าน 2 ล้านบาท เงินเก็บที่เราควรจะมีก็คือประมาณ 200,000 บาท นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่อยากรู้ว่าทำไมถึงกู้ซื้อบ้านไม่ผ่านสักที ลองเข้าไปฟังรายละเอียดเต็ม ๆ ได้ที่นี่เลย
“Krungsri The COACH Ep.55 ไขข้อข้องใจ ทำไมกู้บ้านไม่ผ่าน”
2. กู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน เพราะมีภาระหนี้สินเกิน
การมีภาระหนี้สิน เช่น มีหนี้ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิตหลายใบ เป็นผู้ร่วมกู้ ฯลฯ ส่วนนี้ธนาคารก็จะพิจารณาเราเป็นพิเศษว่าควรจะปล่อยกู้ให้ดีไหม ซึ่งส่วนนี้เองที่อาจจะทำให้เรานั้นมีโอกาสในการกู้ซื้อบ้านผ่านได้น้อย
แต่ถึงกระนั้น การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด และห้ามมีไปซะทีเดียว เพราะถ้าหากหนี้ที่มีนั้นเป็น “
หนี้ดี” เนื่องจากหนี้ดีก้อนนี้จะกลายเป็นทรัพย์สินในอนาคตที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การกู้ซื้อบ้าน ฯลฯ ซึ่งการเป็นหนี้เราสามารถประมาณการได้จากการคำนวณสัดส่วนหนี้จาก “อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม” (Debt to Income Ratio: DTI) คำนวณได้จาก หนี้รายเดือน / รายได้ต่อเดือน x 100 = อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม
ตัวอย่างการคำนวณ รวมหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน มาหารกับรายได้รวมแต่ละเดือน เช่น มีหนี้ต้องจ่ายรวม 20,000 บาท รายได้รวมแต่ละเดือนได้ 50,000 บาท
ผลลัพธ์ที่ได้คือ 20,000 / 50,000 = 0.4 x 100 = 40% นั่นหมายความว่าทุก 100 บาทต้องจ่ายหนี้ 40 บาท
จากการคำนวณจะเห็นได้ว่า เป็นหนี้เท่าไหร่ถึงจะ “พอดี” ถ้าหากจะให้ดีอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม “ไม่ควรมากกว่า 60-65%” ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่แสดงว่าเรามีสุขภาพการเงินที่ดี เมื่อสุขภาพการเงินดี การขอกู้ซื้อบ้านในอนาคตก็สามารถผ่านได้แบบง่าย ๆ
การรู้ถึงอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวมจะช่วยให้เราวางแผนการเงินได้ดี และรอบคอบมากขึ้น เพราะฉะนั้นคำนวณหาความพอดีการเป็นหนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรทำก่อนตัดสินใจกู้ซื้อบ้าน หรือการมีภาระต่าง ๆ เพิ่มเติมอีกนั่นเอง
3. กู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน เพราะวินัยทางการเงิน และประวัติการชำระหนี้
การสมัครบัตรเครดิต และมีสินเชื่อไว้จำนวนมากก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไป เพราะเมื่อใดที่เรามีบัตรเยอะเราก็จะรูดโดยไม่ทันคิด เพราะฉะนั้นควรเลือกมีบัตรที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์เราให้มากที่สุด เพราะถ้าหากสมัครบัตรเครดิตไปเยอะมาก ๆ แล้วนั้น ก็จะมีบางที่ไม่ผ่านการอนุมัติ ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารจะนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาการกู้ซื้อบ้านของเราด้วย
มากไปกว่านี้การผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตช้าก็อาจจะทำให้ประวัติเราเสียได้ ซึ่งก็จะมีผลต่อการกู้ซื้อบ้านด้วย เพราะการกู้ซื้อบ้านเป็นจำนวนเงินก้อนใหญ่ ฉะนั้นธนาคารจะพิจารณาเป็นพิเศษ ดังนั้นควรจะมีวินัยทางการเงิน และรักษาประวัติการชำระหนี้ให้ดีเอาไว้
4. กู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน เพราะการค้ำประกันหรือกู้ร่วม
หลายคนอาจจะประสบปัญหากับการช่วยเหลือญาติในครอบครัว เช่น การค้ำประกันให้ญาติ หรืออีกอย่างหนึ่งคือกู้ร่วมกับญาติเราไปด้วย ซึ่งญาติที่เราไปค้ำประกันให้อาจจะมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ไม่ค่อยดี “ผ่อนไม่ดี ค้างชำระหนี้ หรือไม่ชำระเลย” ตรงนี้ก็จะส่งผลเสียไปถึงคนค้ำประกันด้วย ตัวอย่างการกู้ เช่น วงเงินกู้ 2 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี ค่างวด 14,000 บาท และกู้ร่วมกัน 2 คน ธนาคารจะถือว่าแต่ละบุคคลมีภาระหนี้คนละ 7,000 บาท หรือหากกู้ร่วมกัน 3 คน เท่ากับว่าแต่ละคนจะมีภาระหนี้คนละ 4,600 บาท นั่นเอง
ดังนั้นไม่ว่าจะกู้ร่วม หรือค้ำประกันให้ใครก็ตามเราก็จะยังมีหนี้ก้อนนี้ติดตัวไป ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช้ผู้ชำระหนี้เองก็ตาม และส่วนนี้เองธนาคารจะนำมาประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ซื้อบ้านของเราอีกด้วย
สรุป
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้ที่อยากจะสานฝันการมีบ้านของตัวเองให้สำเร็จ ไม่ว่าจะยื่นกู้ไปแล้วและไม่ผ่าน หรือผู้ที่กำลังจะ
เตรียมตัวกู้ซื้อบ้านในอนาคต ก็อย่าลืมนำเนื้อหาบทความนี้ไปพิจารณาดูว่ามีเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อนี้อยู่ในเงื่อนไขในการกู้ซื้อบ้านของเราหรือไม่จะได้เตรียมตัววางแผนการยื่นกู้ซื้อบ้านให้ตอบโจทย์เงื่อนไขของธนาคาร และเพิ่มโอกาสในการพิจารณากู้ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้นอีกด้วย