ปลดล็อกสกิลการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ รู้ก่อนได้เปรียบกว่า
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ปลดล็อกสกิลการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ รู้ก่อนได้เปรียบกว่า

icon-access-time Posted On 25 มกราคม 2568
By Krungsri The COACH
เมื่อพูดถึง “ดอกเบี้ยเงินกู้” ตัวแปรสำคัญในการขอสินเชื่อส่วนบุคคลหรือกู้ยืมเงินที่ไม่ควรมองข้าม เพราะแม้ว่าจะมีเงินต้นเท่ากัน แต่หากวิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แตกต่างกัน อาจส่งผลต่อภาระหนี้ต่อเดือนที่เราต้องจ่าย ในบทความนี้ Krungsri The COACH จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจสูตรคำนวณดอกเบี้ยแบบง่าย ๆ ทั้ง วิธีคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ และวิธีคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก เพื่อช่วยให้ทุกคนประเมินภาระการผ่อนได้แม่นยำขึ้น สามารถเลือกสินเชื่อส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับตนเองได้มากขึ้นอีกด้วย

ดอกเบี้ยเงินกู้คืออะไร มีกี่ประเภท?

วิธีคิดดอกเบี้ยเงินกู้

ดอกเบี้ยเงินกู้ คือ ค่าธรรมเนียมที่ผู้ให้กู้ หรือสถาบันการเงิน เรียกเก็บจากผู้กู้ หรือผู้ขอสินเชื่อ โดยจะรวมอยู่ในค่างวดที่ต้องชำระในทุก ๆ เดือนแล้ว เช่น ผ่อนชำระ 10,000 ต่องวด อาจเสียดอกเบี้ย 3,000 บาท และหักเงินต้น 7,000 บาท เป็นต้น ส่วนจะต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามประเภทของสินเชื่อ ระยะเวลาการกู้ยืม และความเสี่ยงของผู้กู้

ในปัจจุบันจะใช้ดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ดอกเบี้ยแบบคงที่ และดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งจะมีจุดเด่น และวิธีคิดดอกเบี้ยแตกต่างกัน ดังนี้

1. ดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat Rate)

วิธีคิดดอกเบี้ยแบบคงที่

ดอกเบี้ยแบบคงที่ คือ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดเรียกเก็บแบบตายตัว เป็นจำนวนเท่ากันทุกงวด และไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาการกู้ หรือในช่วงเวลาที่กำหนด มีข้อดีตรงที่เข้าใจง่ายกว่า ไม่ซับซ้อน เพราะผู้กู้จะรู้ก่อนขอสินเชื่อเลยว่า ต้องจ่ายแต่ละงวดเท่าไร และเสียดอกเบี้ยทั้งหมดเท่าไร แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถโปะเงินต้นเพื่อลดดอกเบี้ยได้ หากอยากปิดหนี้ จะต้องจ่ายวงเงินตามจำนวนงวดที่เหลือทั้งหมด
 

สูตรวิธีคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ต่องวด

  • เงินต้น x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x ระยะเวลากู้ (ปี) = ดอกเบี้ยรวม
  • (เงินต้น + ดอกเบี้ยรวม) ÷ จำนวนงวดทั้งหมด = ค่างวดต่อเดือน

ตัวอย่าง :

นาย ก. กู้สินเชื่อส่วนบุคคล 200,000 บาท คิดดอกเบี้ยคงที่ โดยที่มีอัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปี และมีระยะเวลาชำระทั้งหมด 2 ปี (24 งวด) เท่ากับว่า นาย ก. จะต้องจ่ายค่างวดในแต่ละเดือน ดังนี้
 
  วิธีคำนวณ จำนวนเงินที่ต้องจ่าย
ดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 200,000 x 18% x 2 72,000
ยอดรวมที่ต้องชำระ 200,000 + 72,000 272,000
ค่างวดต่อเดือน 272,000 ÷ 24 11,333.33
ตัวอย่างตารางการผ่อนของนาย ก. (เริ่มงวดแรกที่เดือนมกราคม)
 
 
งวด ค่างวด ดอกเบี้ย เงินต้น อัตราดอกเบี้ย ยอดคงเหลือ
1 11,333.33 3,000 8,333.33 18% 260,667
2 11,333.33 3,000 8,333.33 18% 249,333
3 11,333.33 3,000 8,333.33 18% 238,000
5 11,333.33 3,000 8,333.33 18% 215,333
10 11,333.33 3,000 8,333.33 18% 192,667
15 11,333.33 3,000 8,333.33 18% 102,000
20 11,333.33 3,000 8,333.33 18% 45,333
24 11,333.33 3,000 8,333.33 18% 0
ยอดรวม 272,000 72,000 200,000 18% -
หมายเหตุ : คำนวณให้ดูบางช่วงเวลาเท่านั้น

2. ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)

วิธีคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก

ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก คือ ดอกเบี้ยที่คิดจากเงินต้นคงเหลือ โดยดอกเบี้ยในแต่ละงวดจะลดลงตามยอดเงินต้นที่ลดลงไปด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อดีตรงที่สามารถโปะหนี้ให้หมดเร็ว ๆ ได้ หากบริหารจัดการหนี้ดี ๆ ก็อาจเสียดอกเบี้ยน้อยกว่าแบบแรก แต่ก็แลกมากับการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
 

สูตรวิธีคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกต่องวด

  • (เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวด) ÷ 365 = ดอกเบี้ยต่องวด
  • ค่างวด - ดอกเบี้ยต่องวด = เงินต้นที่ชำระ

ตัวอย่าง :

นาย ข. กู้สินเชื่อส่วนบุคคล 200,000 บาท คิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอก โดยที่มีอัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปี มีระยะเวลาการชำระทั้งหมด 2 ปี (24 งวด) และชำระค่างวดเดือนละ 11,333.33 บาท เท่ากับว่า นาย ข. จะต้องจ่ายค่างวดในแต่ละเดือน ดังนี้
 
การคำนวณงวดที่ 1 เดือนมกราคม
 
  วิธีคำนวณ จำนวนเงินที่ต้องจ่าย
ดอกเบี้ย (200,000 x 18% x 31) ÷ 365 3,057.53
เงินต้นที่ชำระ 11,333.33 - 3,057.53 8,275.80
เงินต้นคงเหลือ 200,000 - 8,275.80 191,724.20
การคำนวณงวดที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์
 
  วิธีคำนวณ จำนวนเงินที่ต้องจ่าย
ดอกเบี้ย (191,724.20 x 18% x 28) ÷ 365 2,647.37
เงินต้นที่ชำระ 11,333.33 - 2,647.37 8,685.96
เงินต้นคงเหลือ 191,724.20 - 8,685.96 183,038.24
การคำนวณงวดที่ 3 เดือนมีนาคม
 
  วิธีคำนวณ จำนวนเงินที่ต้องจ่าย
ดอกเบี้ย (183,038.24 x 18% x 31) ÷ 365 2,798.23
เงินต้นที่ชำระ 11,333.33 - 2,798.23 8,535.10
เงินต้นคงเหลือ 183,038.23 - 8,535.10 174,503.14
ตัวอย่างตารางการผ่อนของนาย ข. (เริ่มงวดแรกที่เดือนมกราคม)
 
 
งวด ค่างวด ยอดตัดดอกเบี้ย ยอดตัดเงินต้น
(ส่วนที่เหลือจากการตัดดอกเบี้ย)
เงินต้นคงเหลือ
1 11,333.33 3,057.53 8,275.80 191,724.20
2 11,333.33 2,647.37 8,685.96 183,038.24
3 11,333.33 2,798.23 8,535.10 174,503.14
5 11,333.33 2,533.95 8,799.38 156,952.13
10 11,333.33 1,838.25 9,495.08 110,748.65
15 11,333.33 1,087.21 10,246.12 60,870.78
20 11,333.33 278.91 11,054.42 7,189.99
21 7,296.36 106.37 7,189.99 0
ยอดรวม 233,962.96 33,962.96 200,000 -
หมายเหตุ : คำนวณดอกเบี้ยให้ดูบางช่วงเวลาเท่านั้น

ขอสินเชื่อส่วนบุคคลใช้ดอกเบี้ยคงที่ VS ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก แบบไหนดีกว่ากัน?

สินเชื่อส่วนบุคคล

จากตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยลดต้นลดดอกทั้ง 3 งวด ของ นาย ข. จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ดอกเบี้ยที่เสียไปในแต่ละงวดมีจำนวนลดลงไปตามเงินต้นอย่างเห็นได้ชัด และดอกเบี้ยตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไป เสียดอกเบี้ยต่องวดน้อยกว่า นาย ก. อีกด้วย

ดังนั้น ดอกเบี้ยคงที่กับดอกเบี้ยลดต้นลดดอกแบบไหนดีกว่ากัน? คำตอบคือ “ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก” เพราะดอกเบี้ยจะลดลงตามยอดหนี้ที่ลดลง ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ทว่าเรายังสามารถโปะหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยได้ ทำให้โดยรวมจ่ายดอกเบี้ยน้อยกว่าดอกเบี้ยแบบคงที่ และปิดหนี้ได้ไวขึ้นกว่าเดิม

จึงสรุปได้ว่า ดอกเบี้ยแบบคงที่ เหมาะกับสายชิล ไม่ต้องคิดเยอะ จ่ายเท่ากันทุกงวด ส่วนดอกเบี้ยลดต้นลดดอก จะเหมาะกับคนอยากปิดหนี้ไว สามารถโปะเงินเพื่อหักเงินต้นได้ไวขึ้นนั่นเอง!

Krungsri The COACH แนะนำ : สินเชื่อส่วนบุคคล Krungsri iFIN เงินก้อนฉุกเฉิน ที่ตอบโจทย์ทุกปัญหาทางการเงิน

สำหรับใครที่กำลังมองหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนมาช่วยแก้ไขปัญหาการเงิน เพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถวางแผนใช้เงินได้โดยไม่มีสะดุด ธนาคารกรุงศรีก็มีตัวช่วยที่น่าสนใจอย่าง สินเชื่อส่วนบุคคล Krungsri iFIN ที่จะช่วยจบทุกความต้องการทางการเงิน พร้อมจุดเด่นที่ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการเงินก้อนฉุกเฉิน ดังต่อไปนี้
  • เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ใช้ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก : ช่วยให้คุณประหยัดดอกเบี้ยได้มากกว่า พร้อมความยืดหยุ่นในการใช้วงเงิน และการชำระคืน
  • ยื่นกู้เงินสดได้ง่าย โดยไม่ต้องมีคนค้ำ : เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการวงเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือต้องการบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • เลือกผ่อนจ่ายสบาย ๆ : เลือกจำนวนงวดผ่อนชำระทั้งหมดได้ตั้งแต่ 16 - 60 เดือน

*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว l อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกปกติ 21% - 25% ต่อปี*
*ศึกษารายละเอียด เงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพิ่มเติมที่ www.krungsri.com

สรุปแล้ว การเข้าใจวิธีคิดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งสองแบบจะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกสินเชื่อได้อย่างชาญฉลาด เพราะคุณสามารถนำไปใช้เป็นวิธีคิดดอกเบี้ยต่อปีที่ตนเองต้องจ่ายได้เลย ทำให้รู้ว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดเท่าไร? คุ้มค่าหรือไม่? เพื่อที่จะได้เลือกสินเชื่อที่ใช้ดอกเบี้ยเหมาะสมกับความต้องการ และความสามารถในการชำระเงิน พร้อมทั้งวางแผนการผ่อนชำระได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
 

อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา