คุณคือคนที่อยาก
ปิดหนี้บ้านให้หมดไว ๆ อยู่หรือเปล่า? ถ้าใช่! รู้ไหมว่า การโปะบ้าน เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ดีที่สุดที่จะทำให้คุณผ่อนบ้านหมดไวขึ้นหลายปี เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในระยะยาวได้อีกด้วย วันนี้ Krungsri The COACH ขอแนะนำ 2 วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็วขึ้น พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า วิธีไหนจะช่วยให้คุณปลดภาระหนี้บ้านได้เร็วกว่ากัน ไปดูกันเลย
การโปะบ้านคืออะไร? เคล็ดลับที่คนผ่อนบ้านต้องรู้
การโปะบ้าน คือ การชำระเงินเกินกว่าค่างวดที่กำหนดในแต่ละเดือน โดยเงินส่วนเกินจะถูกนำไปหักลดเงินต้นโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้นกว่าระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา
การโปะบ้านดีกว่าการจ่ายค่างวดปกติโดยไม่โปะอย่างไร?
การโปะบ้านดีกว่าการจ่ายค่างวดปกติ เพราะถึงแม้ดอกเบี้ยบ้านจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดไว้ในสัญญากู้ในแต่ละปีแล้วก็ตาม แต่จะใช้วิธีคิดคำนวณ
ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งเป็นการคำนวณดอกเบี้ยต่อเดือนจากเงินต้นคงเหลือในงวดนั้น ๆ ทำให้ยิ่งเราโปะบ้าน หรือจ่ายโปะเพื่อลดเงินต้นได้มากเท่าไร เงินต้นคงเหลือที่ถูกนำมาคำนวณดอกเบี้ยต่องวดก็จะน้อยลง และทำให้ผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้นนั่นเอง
หลักการคำนวณดอกเบี้ยบ้านในแต่ละเดือน
สูตรคำนวณดอกเบี้ยบ้าน : (เงินต้นคงเหลือ X อัตราดอกเบี้ยบ้านต่อปี X จำนวนวันในเดือนนั้น ๆ) / (จำนวนวันของปีนั้น ๆ) = ดอกเบี้ยบ้านที่ต้องจ่ายในงวดนั้น ๆ
ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยบ้าน : หากนาย ก. กู้บ้านวงเงิน 3,500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.00% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา มีระยะเวลา 286 งวด และค่างวดผ่อนชำระ 21,000 บาท จะสามารถคำนวณยอดตัดเงินต้น และดอกเบี้ยบ้านในงวดแรกได้ ดังนี้
อย่างไรก็ตาม หาก นาย ก. ทำการโปะบ้านเพิ่มขึ้นในงวดนี้ เช่น โปะเพิ่ม 3,000 บาท จำนวนเงินที่ถูกนำไปหักเงินต้นจะเท่ากับ 6,136.99 + 3,000 = 9,136.99 บาท ส่งผลให้เงินต้นที่จะถูกนำไปคำนวณดอกเบี้ยบ้านในงวดถัดไปเหลือเท่ากับ 3,500,000 - 9,136.99 =
3,490,863.01 บาท
จากการคำนวณนี้ จะเห็นได้ว่า
การโปะบ้านทำให้เงินต้นลดลงมากขึ้น และเมื่อเงินต้นลดลงมากขึ้น ดอกเบี้ย
ที่ต้องจ่ายในงวดถัดไปก็จะลดลงตามไปด้วยนั่นเอง
โปะบ้านทุกเดือนกับโปะบ้านเงินก้อน แบบไหนดีกว่ากัน?
หลายคนอาจสงสัยว่า ควรเลือกวิธีโปะบ้านแบบไหนดี? วิธีไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน? เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น Krungsri The COACH จะพาไปเปรียบเทียบชัด ๆ ระหว่างการโปะบ้านทุกเดือน กับโปะบ้านเงินก้อน แต่ละวิธีมีข้อดีอย่างไร ตามไปดูกันเลย!
การโปะบ้านทุกเดือน (โปะแบบชำระเงินเกินทุกงวด)
การโปะบ้านทุกเดือน หรือที่เรียกว่า วิธีโปะบ้านแบบชำระเกินทุกงวด คือ การจ่ายค่างวดบ้านมากกว่าที่ธนาคารกำหนดในทุก ๆ เดือน เช่น หากค่างวดปกติอยู่ที่ 20,000 บาทต่อเดือน อาจจ่ายเพิ่มเป็น 23,000 บาทต่อเดือน โดยเงิน 3,000 บาท จะถูกนำไปหักเงินต้นโดยตรง
ข้อดีของการโปะบ้านแบบชำระเกินทุกงวด
- สามารถลดดอกเบี้ยโดยรวมได้มากที่สุด จากการที่เราจ่ายโปะเงินต้นไปทุกเดือน
- ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น เนื่องจากมีการทยอยลดเงินต้นสม่ำเสมอ
- สามารถวางแผนการเงินได้ง่าย เพราะรู้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายแน่นอนในแต่ละเดือน
ตัวอย่างตารางการผ่อนบ้านแบบชำระเกินทุกงวด 24 เดือน
นาย ก. กู้บ้านวงเงิน 3,500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.00% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา มีระยะเวลา 286 งวด และค่างวดผ่อนชำระ 21,000 บาท โดยหากเริ่มจ่ายงวดแรกที่เดือน มกราคม และนาย ก. เลือกจ่ายโปะเพิ่มทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท ติดต่อกัน 24 งวด จะมียอดตัดเงินต้น ยอดตัดดอกเบี้ยรวม และเงินต้นคงเหลือ ดังนี้
ตัวอย่างผ่อนบ้านแบบชำระเกินทุกงวด งวดละ 3,000 บาท ติดต่อกัน 24 เดือน
จากตารางการผ่อนนี้ สรุปได้ว่า วิธีโปะบ้านแบบชำระเกินทุกงวดของ นาย ก. จะตัดเงินต้นไปทั้งหมด 237,233.59 บาท เสียยอดตัดดอกเบี้ย 338,766.41 บาท และมีเงินต้นคงเหลือ
3,262,766.41 บาท
การโปะบ้านแบบเงินก้อนแบบปีละครั้ง
วิธีโปะบ้านแบบเงินก้อน คือ การโปะบ้านแบบจ่ายเป็นเงินก้อนใหญ่ในงวดเดียว เช่น นำเงินโบนัสมาโปะบ้านหรือนำเงินเก็บก้อนใหญ่มาโปะบ้านในช่วงสิ้นปี โดยจ่ายค่างวดปกติในเดือนอื่น ๆ
ข้อดีของการโปะบ้านแบบเพิ่มปีละครั้ง
- สามารถผ่อนบ้านทุกเดือนได้ปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มเงินไว้โปะทุกเดือน
- เหมาะกับผู้ที่มีโบนัสประจำปี สามารถวางแผนนำโบนัสมาใช้ให้เกิดประโยชน์
- มีความยืดหยุ่นในการใช้เงิน สามารถปรับเปลี่ยนจำนวนเงินที่โปะได้ตามสถานการณ์
ตัวอย่างตารางการผ่อนแบบโปะเงินก้อนแค่ปีละครั้ง
ในตัวอย่างตารางการผ่อนแบบโปะเงินก้อน จะใช้ตัวอย่างเดียวกับการผ่อนแบบชำระเกินทุกงวดเลย แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่ นาย ข. จะเปลี่ยนจากการจ่ายโปะทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท เป็นแบ่งจ่ายโปะเป็นเงินก้อนในเดือนที่ 12 จำนวน 36,000 บาท (12 X 3,000) และเดือนที่ 24 จำนวน 36,0000 บาท (12 X 3,000) โดยนาย ข. จะมียอดตัดเงินต้น ยอดตัดดอกเบี้ยรวม และเงินต้นคงเหลือ ดังนี้
ตัวอย่างผ่อนบ้านแบบโปะเงินก้อนแค่ปีละครั้ง
จากตารางการผ่อนนี้ สรุปได้ว่า วิธีโปะบ้านแบบโปะเงินก้อนปีละครั้งของ นาย ข. จะตัดเงินต้นไปทั้งหมด 235,509.46 บาท เสียยอดตัดดอกเบี้ย 340,490.54 บาท และมีเงินต้นคงเหลือ
3,264,490.54 บาท
สรุปยอดตัดเงินต้น ยอดตัดดอกเบี้ยรวม และเงินต้นคงเหลือของ นาย ก. และนาย ข. (จำนวน 24 งวด)
จากตารางข้างบนแสดงให้เห็นว่า จำนวนเงินต้นของ นาย ก. ที่ทำการผ่อนชำระแบบโปะทุกเดือนสามารถลดได้เร็วกว่า จำนวนเงินต้นของ นาย ข. ที่ทำการผ่อนชำระแบบโปะเงินก้อนปีละครั้ง
ประมาณ 1,724.13 บาท ในระยะเวลา 24 เดือนแรกของการผ่อนชำระสินเชื่อ
สรุป : วิธีโปะบ้านแบบไหนคุ้มค่า และปิดหนี้บ้านให้หมดไวที่สุด
จากตัวอย่างการโปะบ้านทั้งสองแบบที่เรานำมาให้ดูจะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะมีวงเงินกู้บ้าน อัตราดอกเบี้ย และค่างวดที่เท่ากัน แต่ถ้าเลือกโปะบ้านด้วยวิธีที่ต่างกัน ก็จะส่งผลต่อเงินต้นที่จะถูกนำมาคิดดอกเบี้ยในการผ่อนชำระแตกต่างกันตามไปด้วย โดยคนที่โปะบ้านทุกเดือนจะเสียค่างวดดอกเบี้ยน้อยกว่าคนที่โปะบ้านแบบเงินก้อน เพราะสามารถหักเงินต้นได้มากกว่า ทำให้ยอดตัดดอกเบี้ยบ้านในงวดถัดไปลดน้อยกว่าทันที
อย่างไรก็ตาม การโปะบ้านทุกงวดให้ได้ผลดีนั้น จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และต้องคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในแต่ละเดือนให้ดี รวมถึงเก็บเงินสำรองไว้ใช้จ่ายฉุกเฉินด้วย จะได้ไม่ทำให้การผ่อนบ้านดูตึงเครียดจนเกินไป
Krungsri The COACH แนะนำ : เคล็ดลับรีไฟแนนซ์บ้าน ปรับดอกเบี้ยให้ลดลง โปะบ้านได้หมดไวยิ่งขึ้น
สำหรับคนที่ต้องการลดดอกเบี้ยบ้านให้หมดไวขึ้น การ
รีไฟแนนซ์บ้านก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ขาดไม่ได้เลย เพราะช่วยให้ดอกเบี้ยบ้านถูกลง สามารถวางแผนผ่อนชำระได้สบายกว่าเดิม สำหรับผู้ที่สนใจรีไฟแนนซ์บ้าน
Krungsri The COACH ขอแนะนำ
สินเชื่อบ้านกรุงศรีรีไฟแนนซ์ มีอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์คงที่เริ่มต้นเพียง 1.88% ต่อปี* ปีแรก และยังช่วยให้คุณมีเงินเหลือสำหรับโปะบ้านเพิ่มขึ้นอีกด้วย
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว | อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกตลอดอายุสัญญาอยู่ระหว่าง 4.259% - 5.800% ต่อปี**
*สำหรับวงเงินกู้ตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป
**สมมติฐานการคำนวณมาจากอัตราดอกเบี้ย MRR ณ วันที่ 1 พ.ย. 67 = 7.275% ต่อปี
ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ รายละเอียดการคำนวณเพิ่มเติมดูได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
สรุปแล้ว การโปะบ้านทุกงวดในระยะยาวจะให้ความคุ้มค่ามากกว่า เพราะสามารถหักเงินต้นได้ทันที และทำให้ดอกเบี้ยลดลงตามไปด้วย แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกโปะบ้านด้วยวิธีใด สิ่งสำคัญคือการมีวินัยในการผ่อนชำระอย่างสม่ำเสมอ และเลือกวิธีที่เหมาะกับรูปแบบรายได้ และการใช้จ่ายของคุณ เพื่อให้การผ่อนบ้านเป็นภาระที่จัดการได้ และบรรลุเป้าหมายการมีบ้านที่ปลอดภาระหนี้เร็วขึ้น
อ้างอิง