ข้อควรระวังก่อนทำรีไฟแนนซ์บ้าน
รอบรู้เรื่องบ้าน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ข้อควรระวังก่อนทำรีไฟแนนซ์บ้าน

icon-access-time Posted On 05 ตุลาคม 2563
By Krungsri the COACH
วิธีการหนึ่งที่นิยมในการบริหารจัดการหนี้สิน โดยเฉพาะการผ่อนชำระบ้าน นั่นก็คือ การทำ “รีไฟแนนซ์” (Refinance) ซึ่งก็คือ การนำเงินกู้ก้อนใหม่ไปชำระคืนเงินกู้ก้อนเดิม เป็นการแบ่งเบาภาระหนี้ก้อนใหญ่ของเรา แต่หลายคนก็ยังสงสัยว่าการรีไฟแนนซ์บ้านดีไหม? หรือขอลดดอกเบี้ยกับธนาคารเดิมจะดีกว่ากัน
สำหรับใครที่มีหนี้สินจากการผ่อนชำระค่าบ้าน วิธีการหนึ่งที่คนนิยมใช้ในการบริหารจัดการนั่นก็คือ การทำ “รีไฟแนนซ์บ้าน” (Refinance) ซึ่งก็คือ การนำเงินกู้ก้อนใหม่ไปชำระคืนเงินกู้ก้อนเดิม โดยทั่วไปเงินกู้ก้อนใหม่ที่เราหามาได้นั้นจะมีภาระ “ดอกเบี้ย” อย่างเช่น ดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านที่ต่ำกว่าเงินกู้ก้อนเดิม หรือในบางกรณีอาจจะมีงวดจ่ายที่สั้นลงหรือยาวขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้กู้ แต่โดยรวมแล้วจะช่วยทำให้ผู้กู้มีความพึงพอใจที่มากขึ้น เพราะสามารถปรับภาระดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับตัวเองได้มากขึ้น
“สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย” คือ หนึ่งในสินเชื่อที่มีการรีไฟแนนซ์ที่มากที่สุด เนื่องจากที่อยู่อาศัยหรือบ้านนั้นมีราคาที่สูง การที่จะรอให้เก็บเงินจนซื้อบ้านได้ทั้งหลังอาจจะต้องใช้เวลานานจนเกินไป จึงทำให้คนนิยมใช้บริการสินเชื่อกันมากที่สุด ประกอบกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้นมักจะมีปริมาณหนี้ที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ของผู้กู้ ทำให้มีระยะเวลาในการผ่อนชำระยาวนานถึงมากกว่า 20 ถึง 30 ปี
และด้วยลักษณะของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในบ้านเรามักจะมีช่วงที่เรียกว่า “ช่วงโปรโมชัน” ซึ่งเป็นช่วงที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติในช่วง 2-3 ปีแรก และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงอัตราดอกเบี้ยปกติ ทำให้ผู้กู้นิยมที่จะทำการรีไฟแนนซ์บ้านไปยังสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงินแหล่งใหม่หลังจากช่วงระยะเวลาโปรโมชันหมดลง เพื่อไปรับดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านในอัตราโปรโมชั่นจากสถาบันการเงินอื่นต่อ
ข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้าน ที่หลาย ๆ คนนิยมทำก็เป็นเพราะ สามารถได้รับดอกเบี้ยช่วงโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่องและจะช่วยทำให้เราผ่อนบ้านได้หมดเร็วขึ้น โดยที่เราผ่อนเท่าเดิมทุกเดือนไม่แตกต่างไปจากเดิมเลย เนื่องจากเงินงวดที่เราผ่อนทุกเดือนเข้าไปตัดเงินต้นได้มากขึ้นเมื่อเราเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลง ด้วยอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านที่ช่วยให้ผู้ผ่อนบ้านมีความคล่องตัวในเรื่องการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยถึงเป็นที่นิยมอย่างมาก แล้วถ้าใครมีสภาพคล่องเหลือ มีการโปะเพิ่มเติมเข้าไปด้วยจะช่วยทำให้เรายิ่งผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้นอีกด้วย

การรีไฟแนนซ์อาจจะตามมาด้วยค่าปรับหากปิดหนี้ก่อนเวลาที่ตกลงในสัญญา

ถึงแม้ว่าจะได้ดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านในอัตราที่ถูกลง แต่การรีไฟแนนซ์เองก็มีข้อควรระวังเหมือนกัน เนื่องจากการรีไฟแนนซ์บ้านอาจจะมี “รายจ่ายแฝง” ตามมาด้วย รายจ่ายแรกที่เราอาจจะต้องเจอ ก็คือ “ค่าปรับ” ของวงเงินสินเชื่อคงค้าง เนื่องจากในปัจจุบันการรีไฟแนนซ์ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้กู้มักจะทำกันเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านในอัตราที่ลดลง เป็นเหตุผลที่ทำให้สถาบันการเงินมีการเขียนไว้ในสัญญาด้วยเช่นกันว่าห้ามรีไฟแนนซ์หรือปิดหนี้ก่อนกี่ปี โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 3 ปี ถึง 3 ปีครึ่ง ถ้าปิดหนี้ก่อนหน้านั้นเราจะต้องเสียค่าปรับ ดังนั้นอย่าลืมดูระยะเวลาในสัญญาให้ดีก่อนทุกครั้ง

รีไฟแนนซ์ดีไหม ถ้ามีค่าใช้จ่ายเหมือนกับการยื่นกู้ใหม่

นอกจากนี้การรีไฟแนนซ์บ้านยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องคิดคำนวณให้ดี และนำมาเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านที่เราจะได้รับด้วย สมมติว่าเราทำการรีไฟแนนซ์ยอดสินเชื่อรวมทั้งหมด 1,000,000 บาท ซึ่งกรณีที่เราไม่ได้รีไฟแนนซ์ก่อนครบกำหนดที่ตกลงก็จะไม่มีค่าปรับ แต่จะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ใกล้เคียงกับการขอยื่นกู้สินเชื่อใหม่ เพียงแต่จะไม่มีค่าธรรมเนียมในการโอน โดยรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นจะประกอบด้วย
  • ค่าธรรมเนียมในการจดจำนอง 1% ของราคาประเมิน
  • ค่าประเมินราคาหลักประกันประมาณ 3,000 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้
  • ค่าประกันอัคคีภัย
  • ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมในการขอสินเชื่อ
เมื่อนับรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดทั้งหมดแล้วจะเห็นว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้นในกรณีที่เรารีไฟแนนซ์วงเงิน 1,000,000 บาท (สมมติว่าราคาประเมินอยู่ที่ 1,000,000 บาทเช่นกัน) ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมจดจำนอง 10,000 บาท ค่าประเมินราคาหลักประกัน 3,000 บาท ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท ค่าประกันอัคคีภัย 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 500 บาท รวม 17,000 บาท ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจากับทางธนาคารว่าสามารถยกเว้นรายจ่ายบางรายการได้หรือไม่ เช่น ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นต้น
จากนั้นให้คำนวณกรณีที่ ‘รีไฟแนนซ์’ กับ ‘ไม่รีไฟแนนซ์’ ว่าสามารถประหยัดดอกเบี้ยได้หรือไม่ (อย่างในกรณีนี้ ก็เป็นการคำนวณว่า จากการที่เราได้รับดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านในอัตราใหม่ เราจะสามารถประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 17,000 บาทหรือไม่) แต่ถ้าคำนวณออกมาแล้วไม่แตกต่างกันหรือดอกเบี้ยสำหรับการรีไฟแนนซ์ที่พักอาศัยที่ได้รับน้อยกว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์ครั้งนี้ก็อาจจะไม่คุ้มค่า และเราอาจจะเปลี่ยนมาเลือกเป็น “การขอลดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินเดิม (Retention)” แทนได้เช่นกัน
สำหรับใครที่กำลังคิดว่าจะรีไฟแนนซ์บ้านดีไหม และกำลังมองหาแหล่งรีไฟแนนซ์สามารถเข้ามาใช้บริการ “สินเชื่อบ้านกรุงศรีรีไฟแนนซ์” ได้ เราเสนอดอกเบี้ยต่ำและให้วงเงินสูงถึง 95% ของราคาประเมิน สามารถเข้าไปขอคำปรึกษา เพื่อรู้ถึงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้าน และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกรุงศรีทั่วประเทศ (ภายในวันทำการ) หรือโทร 1572 ได้เลย
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา