5 เหตุผลที่เงินเดือนเท่ากัน แต่ได้วงเงินกู้ซื้อบ้านไม่เท่ากัน
รอบรู้เรื่องบ้าน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 เหตุผลที่เงินเดือนเท่ากัน แต่ได้วงเงินกู้ซื้อบ้านไม่เท่ากัน

icon-access-time Posted On 19 เมษายน 2567
By Krungsri The COACH
สำหรับคนที่กำลังวางแผนซื้อที่อยู่อาศัย หลังจากที่เราเลือกแบบบ้านที่ชอบ โครงการที่ใช่ได้แล้ว ขั้นตอนถัดไปคงหนีไม่พ้นการขอสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงินทั้งจากที่โครงการจัดหามาให้ หรือจากสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ แต่เมื่อทำการขอสินเชื่อไปแล้วกลับพบว่า แต่ละสถาบันการเงิน อนุมัติวงเงินสินเชื่อที่ไม่เท่ากัน และในบางครั้งเมื่อไปเปรียบเทียบกับเพื่อนที่เงินเดือนเท่ากัน สถาบันการเงินเดียวกัน ก็ได้วงเงินไม่เท่ากันอีก

วันนี้ Krungsri The COACH จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจกันว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการอนุมัติวงเงินกู้ซื้อบ้าน และเคล็ดลับในการขอสินเชื่อให้มีโอกาสได้รับอนุมัติง่ายขึ้น
เคล็ดลับยื่นกู้บ้านให้ผ่านง่ายขึ้น

ทำไมเงินเดือนเท่ากัน แต่ได้วงเงินกู้ซื้อบ้านไม่เท่ากัน?

ในการพิจารณาวงเงินกู้ สถาบันการเงินจะประเมินสถานะทางการเงินเพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของผู้กู้ โดยจะพิจารณาจากข้อมูลทางการเงิน ได้แก่ รายได้ต่อเดือน ภาระค่าใช้จ่าย หนี้สินในปัจจุบัน และประวัติการชำระหนี้ นอกจากนี้ยังมีอีก 5 เหตุผลที่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาการให้วงเงินกู้ซื้อบ้าน ดังนี้
 

เหตุผลข้อที่ 1 ความมั่นคงของรายได้

ขอยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้สามารถเห็นภาพ ดังนี้
นาย A เป็นพนักงานประจำมีรายได้ 70,000 บาทต่อเดือน
นาย B ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance หรือ Influencer) มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน และค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นมีรายได้ต่อเดือนทั้งสิ้น 70,000 บาท
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า A และ B มีรายได้รวมเฉลี่ย 70,000 บาทต่อเดือน แต่ในมุมมองของสถาบันการเงิน นาย A มีความมั่นคงของรายได้มากกว่า ในขณะที่อาชีพอิสระอาจมีรายได้ต่อเดือนไม่สม่ำเสมอ

ดังนั้น สถาบันการเงินมีโอกาสให้วงเงินกู้กับ นาย A มากกว่า นาย B
 
อาชีพที่รายได้มั่นคงยื่นกู้ธนาคารง่ายขึ้น
 

เหตุผลข้อที่ 2 ความสามารถในการชำระหนี้

ในการพิจารณา สถาบันการเงินจะพิจารณาภาระหนี้ในปัจจุบันของผู้กู้ เปรียบเทียบกับรายได้ตามการคำนวณของสถาบันการเงิน โดยการใช้ สูตร DTI (Debt-to-income ratio) ซึ่งเป็นสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ ที่บอกถึงความสามารถในการชำระหนี้สินที่กู้ยืมมา “คนที่มี DTI น้อยกว่าจะมีโอกาสกู้ได้มากกว่า” ทั้งนี้สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีข้อกำหนด DTI ของตนเอง ซึ่งอาจไม่ตรงกัน โดยทั่วไปแนะนำว่า เราไม่ควรมี DTI (อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้) เกิน 65% ของรายได้ เช่น ถ้าเรามีรายได้ 10,000 บาท เราไม่ควรมีค่าใช้จ่ายในการผ่อนหนี้เกิน 6,500 บาท
 

เหตุผลข้อที่ 3 ประวัติการชำระหนี้

สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้ผ่านข้อมูลเครดิตบูโร (NCB: National Credit Bureau) หากผู้กู้มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีก็มีโอกาสได้วงเงินกู้สูงกว่าคนที่มีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี โดยที่เราสามารถตรวจเครดิตบูโรได้ด้วยตนเองก่อนขอสินเชื่อ เพื่อตรวจดูว่าเรามีหนี้ที่ไม่รู้ตัวมาก่อนบ้างหรือไม่ และมีประวัติการจ่ายหนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สามารถตรวจสอบเครดิตบูโรออนไลน์ ผ่าน KMA krungsri app โดย กดที่ เมนูทั้งหมด >> ขอข้อมูลเครดิตบูโร
 

เหตุผลข้อที่ 4 มูลค่าสินทรัพย์ และประเภทสินทรัพย์ค้ำประกัน

การประเมินมูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ประเภทของที่อยู่อาศัย ทำเล ราคาตลาด หากเป็นโครงการที่น่าเชื่อถือ อยู่ในทำเลที่ดี ย่อมได้ราคาประเมินที่ดีกว่า
 

เหตุผลข้อที่ 5 LTV (Loan to value) ratio เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน

เพดานการปล่อยสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับราคาบ้านที่ซื้อ จำนวนสัญญาที่ผ่อนอยู่ การวางเงินดาวน์ และระยะเวลาการผ่อน โดยวงเงินกู้สูงสุดต่อมูลค่าหลักประกัน (ราคาซื้อขาย) ตามหลักเกณฑ์ ธปท. มาตรการ LTV ดังนี้
 
จำนวนสัญญาเงินกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มูลค่าหลักประกันไม่เกิน 10 ล้านบาท มูลค่าหลักประกัน 10 ล้านบาทขึ้นไป
สัญญาที่ 1 100% 90%
สัญญาที่ 2 80 - 90% 80%
สัญญาที่ 3 เป็นต้นไป 70%
ดังนั้น ถ้าหากมีการกู้ซื้อบ้านมากกว่า 1 สัญญา หรือมีการซื้อบ้านหลายหลัง จะทำให้เราได้วงเงินกู้น้อยลง

เหตุผล 5 ข้อข้างต้น มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ 5Cs ที่ทางสถาบันการเงินใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งประกอบด้วย
  1. Character คุณลักษณะและความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อ
  2. Capacity ความสามารถในการชำระหนี้ ความมั่นคงของรายได้ ภาระหนี้ในปัจจุบัน
  3. Capital เงินทุน สินทรัพย์ของผู้ขอกู้ยืม
  4. Collateral หลักประกัน ผู้ค้ำประกัน
  5. Conditions เงื่อนไขอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้
วิธีขอสินเชื่อให้ผ่านในการซื้อบ้านหลายหลัง

เคล็ดลับขอสินเชื่ออย่างไรให้ผ่านง่ายขึ้น

หลังจากที่เรารู้เกณฑ์การพิจารณาของสถาบันการเงินแล้ว ถึงเวลาเตรียมตัวเพื่อให้สามารถขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น Krungsri The COACH มี 3 เคล็ดลับให้ขอสินเชื่อผ่านง่ายขึ้นดังนี้
 

1. มีรายได้มั่นคง อาชีพมั่นคง จะได้รับการพิจารณาวงเงินกู้มากกว่า

กรณีที่เราประกอบอาชีพอิสระ ต้องพยายามหาแหล่งเงินได้ที่มั่นคงไปแสดงเพื่อให้สถาบันการเงินพิจารณาประกอบ หรือพยายามหารายได้หลายทาง โดยพิสูจน์จากความสม่ำเสมอของการเดินบัญชีทั้งการเอาเงินเข้าและออกในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เพื่อแสดงว่าเรามีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ หรือหากมีสัญญาจ้างในกรณีที่เราได้รับการจ้างงานระยะยาวก็สามารถนำเอกสารมาแนบประกอบได้ เพื่อให้สถาบันการเงินเห็นว่าเราจะมีรายได้เข้ามาเท่าไหร่จากโปรเจกต์นั้น ๆ
 

2. หนี้น้อย มีความสามารถในการกู้มากกว่า

ถ้าในปัจจุบันเรากำลังผ่อนรถยนต์ ผ่อนโทรศัพท์ ทีวี ตู้เย็น บัตรเครดิต หรือผ่อนอะไรอยู่ก็ตาม ให้เราพยายามวางแผนเพื่อลดภาระการผ่อนของเรา เพื่อให้อัตราหนี้ต่อรายได้ หรือ DTI ในปัจจุบันของเราน้อยลง จะได้เพิ่มโอกาสกู้เงินซื้อบ้านได้มากขึ้น
 

3. ประวัติชำระหนี้ดี โอกาสในการได้วงเงินกู้มากกว่า

ถ้าเราเป็นหนี้อยู่ ให้พยายามผ่อนหนี้ให้ตรงงวดเพื่อสร้างประวัติการชำระหนี้ที่ดี แสดงถึงการเป็นลูกหนี้ที่ดี คนปล่อยกู้ก็สบายใจ
 
วิธีขอสินเชื่อให้ผ่าน

และนี่คือ 3 เคล็ดลับวิธีขอสินเชื่อให้ผ่านง่ายขึ้น สำหรับคนอยากมีบ้านที่เราได้นำมาฝากทุกคนในวันนี้ ทั้งนี้ในการกู้เงินซื้อบ้าน นอกจากจะต้องพิจารณาในส่วนของวงเงินกู้ยืมแล้ว อย่าลืมดูเรื่องของดอกเบี้ย ค่างวดที่เราต้องจ่ายคืนให้กับทางสถาบันการเงิน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะตามมาหลังจากซื้อบ้าน เช่น ค่าตกแต่ง ต่อเติม เฟอร์นิเจอร์ ค่าส่วนกลาง ถ้าหากเราไม่ได้เตรียมเงินเอาไว้ล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจทำให้เรามีปัญหาการเงินตามมาก็เป็นได้

Krungsri The COACH: แนะนำสินเชื่อบ้านสำหรับผู้ที่สนใจกำลังวางแผนกู้เงินซื้อบ้าน

สำหรับผู้ที่สนใจกำลังวางแผนกู้เงินซื้อบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านมือหนึ่งหรือมือสอง หรือกำลังดู ๆ อยู่ว่าจะผ่อนบ้านกับธนาคารไหนดี ขอแนะนำ สินเชื่อบ้านกรุงศรีเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจากธนาคารกรุงศรี

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สินเชื่อบ้านกรุงศรีเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจากธนาคารกรุงศรี
 
เครื่องมือคำนวณเงินผ่อนบ้าน

นอกจากนี้ ทางธนาคารกรุงศรียังมีเครื่องมือคำนวณเงินผ่อนบ้าน ได้ที่ “เครื่องมือคำนวณสินเชื่อ” ให้เราสามารถคำนวณความสามารถในการกู้เงินและยอดผ่อนชำระต่อเดือน เพื่อให้เราวางแผนทางการเงินได้ง่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในการวางแผนซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัย วงเงินกู้ยืมที่สถาบันการเงินจะอนุมัติขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินในปัจจุบัน ดังนั้น วิธีขอสินเชื่อให้ผ่าน ควรรักษาสถานะทางการเงินให้ดี มีหน้าที่การงานมั่นคง มีรายได้มากกว่ารายจ่าย เป็นหนี้เท่าที่จำเป็น และเป็นลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ขอสินเชื่อให้ผ่านง่ายขึ้น เมื่อทำเช่นนี้แล้ว การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

และสิ่งสำคัญสุดท้ายที่ห้ามลืมเด็ดขาดเลยก็คือ “ควรกู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว”

อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา