อัปเดตวิธีการคำนวณค่าโอนบ้าน 2567 ต้องจ่ายเท่าไหร่
รอบรู้เรื่องบ้าน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

อัปเดตวิธีการคำนวณค่าโอนบ้าน 2567 ต้องจ่ายเท่าไหร่

icon-access-time Posted On 24 กรกฎาคม 2567
By Krungsri The COACH
การมีบ้านหรือคอนโดเพื่อใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวของเราเองหรือมีไว้เพื่อใช้ชีวิตกับคนที่เรารัก ถือว่าเป็นเป้าหมายและความฝันของใครหลาย ๆ คน อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านเป็นสิ่งที่ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายอยู่หลายอย่าง นอกเหนือจากราคาบ้านที่เราต้องซื้อแล้ว เรายังต้องจ่ายค่าโอนบ้านที่เป็นรายจ่ายแฝงเพิ่มเติมที่จะเกิดขึ้นในวันที่เราไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านจากเจ้าของเดิมด้วย

แน่นอนว่าค่าโอนบ้านนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เราอาจจะต้องจ่ายเงินก้อนนี้ในหลักหมื่นถึงแสนบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาประเมินหรือราคาขายของบ้าน ดังนั้นควรวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า Krungsri The COACH จึงอยากให้ทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ พร้อมอัปเดตมาตรการช่วยเหลือค่าโอนบ้านจากรัฐบาลในปี 2567 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

การโอนบ้าน คืออะไร

การโอนบ้านก็คือ การโอนกรรมสิทธิ์ของบ้านและโฉนดที่ดินจากเจ้าของบ้านเดิมไปสู่เจ้าของบ้านใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านจากผู้ขายที่เป็นบุคคลทั่วไปหรือโครงการบ้านต่าง ๆ มาให้กับผู้ซื้อ

แต่หากมีการกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร ธนาคารจะเก็บโฉนดตัวจริงไว้ ส่วนผู้ซื้อบ้านจะได้รับเป็นสำเนาโฉนด ซึ่งโฉนดที่ดินจะระบุชื่อผู้รับสัญญาเป็นชื่อของธนาคารผู้รับจำนองจนกว่าผู้ซื้อจะผ่อนชำระสินเชื่อบ้านจนหมดนั่นเอง

ค่าใช้จ่ายในการโอนบ้านเกิดขึ้นเมื่อไร

เมื่อมีการตกลงซื้อขายบ้านระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่อาจเป็นได้ทั้งโครงการหรือบุคคลธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้เมื่อผู้ซื้อทำการซื้อบ้านไปแล้วแต่ต่อมาต้องการรีไฟแนนซ์บ้านจากธนาคารหรือสถาบันการเงินเดิมไปยังธนาคารใหม่ ผู้ซื้อบ้านจะต้องชำระค่าโอนบ้านอีกครั้งกับทางสำนักงานที่ดิน

ค่าใช้จ่ายในการโอนบ้าน มีอะไรบ้าง

ในการโอนบ้านนั้น เราในฐานะผู้ซื้อบ้านจะต้องนัดหมายเพื่อโอนกรรมสิทธิ์บ้านกับผู้ขายบ้าน ณ สำนักงานที่ดิน โดยจะต้องมีการจ่ายค่าโอนบ้าน ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนด อีกหลายรายการ

ค่าใช้จ่ายในการโอนบ้าน ได้แก่

  • ค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน คิดเป็น 2%* ของราคาประเมินค่าจดจำนอง คิดเป็น 1%* ของยอดเงินกู้
  • ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ** คิดเป็น 3.3% ของราคาซื้อขาย หรือราคาประเมิน
  • ค่าอากรแสตมป์ คิดเป็น 0.5% ของราคาซื้อขาย (ไม่ต้องจ่ายหากจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว)
  • ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (กรณีที่ผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ขายต้องชำระค่าภาษีนี้)

หมายเหตุ :
*มาตรการกระตุ้น “ภาคอสังหาริมทรัพย์” ปี 2567 ลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง เหลือ 0.01% สำหรับซื้อบ้านใหม่ และซื้อบ้านต่อ ที่ราคาซื้อขาย วงเงินจำนอง และราคาประเมินกรมที่ดิน ไม่เกิน 7 ล้านบาท
เงื่อนไข : เป็นการซื้อที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ หรือซื้ออาคารชุด โดยได้รับการลดหย่อนทั้ง (ซื้อใหม่ / ซื้อต่อ) ครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว (ทาวน์เฮาส์) อาคารพาณิชย์ และห้องชุด โดยราคาซื้อขายและวงเงินจำนอง ต้องไม่เกิน 7 ล้านบาท (ราคาประเมินกรมที่ดินต้องไม่เกิน 7 ล้านบาทด้วย) กรณีอย่างใดอย่างหนี่งไม่เข้าเกณฑ์ จะไม่ได้รับสิทธิตามมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ผู้ซื้อต้องเป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย และต้องเป็นการโอนพร้อมจดจำนองในคราวเดียวกัน ระยะเวลาตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
** โดยปกติหากเราซื้อบ้านกับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการแสวงหารายได้และผลกำไรจากการขายบ้าน หรือซื้อกับบุคคลธรรมดาที่ขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปีนับแต่ได้อสังหาริมทรัพย์นั้นมา หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านหลังที่ขายเป็นเวลาน้อยกว่า 1 ปี จะต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่หากเกิน 5 ปี หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี ผู้ขายบ้านไม่ต้องเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะแต่จะเสียค่าอากรแสตมป์

อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการโอนบ้าน จึงต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายบ้าน เช่น หารคนละครึ่ง หรือผู้ขายให้จะลดราคาบ้านให้เราเพิ่มเติมโดยแลกกับการให้เรารับผิดชอบในส่วนของค่าโอนบ้านทั้งหมดแทน

หากเราซื้อบ้านจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทางเจ้าของโครงการจะแจ้งรายละเอียดว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในค่าโอนบ้าน แต่หากเป็นการซื้อขายกับบุคคลทั่วไป ผู้ซื้อควรสอบถาม ศึกษาหาข้อมูล และคำนวณราคาบ้านพร้อมค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อเตรียมเงินก้อนสำหรับจ่ายค่าโอนบ้าน
 
คำนวณราคาบ้านพร้อมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของการโอนบ้าน

ตัวอย่างในการคำนวณค่าโอนบ้าน

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น Krungsri The COACH ได้ทำตารางตัวอย่างค่าโอนบ้านสำหรับบ้านราคา 1 ล้านบาท ถึง 3 ล้านบาท โดยสรุปจะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนี้
 
ค่าใช้จ่ายในการโอนบ้าน บ้านราคา 1 ล้านบาท บ้านราคา 2 ล้านบาท บ้านราคา 3 ล้านบาท
ค่าธรรมเนียมโอนบ้าน (2%) 20,000 บาท 40,000 บาท 60,000 บาท
ค่าจดจำนอง (1%) 10,000 บาท 20,000 บาท 30,000 บาท
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ (3.3%) 33,000 บาท 66,000 บาท 99,000 บาท
ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 63,000 บาท 126,000 บาท 189,000 บาท
จุดสังเกตที่น่าสนใจ คือ ค่าโอนบ้านนั้นจะเพิ่มขึ้นตามราคาของบ้าน ยิ่งบ้านราคาแพงก็ยิ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 6.3% - 6.8% ของราคาบ้าน หากใครจะซื้อบ้าน 3 ล้านบาท และต้องเป็นผู้จ่ายค่าโอนบ้าน อย่าลืมวางแผนเตรียมเงินเพิ่มอีกประมาณ 189,000 บาท

หมายเหตุ : ในกรณีนี้เป็นการกู้ซื้อบ้านจึงมีค่าจดจำนอง และเป็นกรณีที่มีการซื้อบ้านผ่านโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือเป็นการซื้อจากเจ้าของบ้านเดิมที่ถือครองไม่ถึง 5 ปี หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านหลังที่ขายเป็นเวลาน้อยกว่า 1 ปี จึงเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
 
ค่าโอนบ้านปี 2567 ลดค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

อัปเดตค่าโอนบ้านปี 2567 ลดค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ข่าวดีของทุก ๆ คนที่กำลังตัดสินใจในการซื้อบ้าน ในปี 2567 เนื่องจากรัฐบาลได้มีมาตรการ ในการลดค่าธรรมเนียมในการโอนบ้านจากเดิม 2% เหลือเพียง 0.01% และค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับซื้อบ้านใหม่ และซื้อบ้านต่อ ที่ราคาซื้อขาย วงเงินจำนอง และราคาประเมินกรมที่ดิน ไม่เกิน 7 ล้านบาท ทำให้คนที่มีความฝันอยากจะมีบ้านในปีนี้ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการโอนบ้านได้มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น เราซื้อบ้านจากโครงการ ราคา 1 ล้านบาท จากเดิมที่เราจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมโอนบ้านและค่าจดจำนองรวมกัน 30,000 บาท จะเหลือเพียง 200 บาทเท่านั้น และหากเราซื้อบ้านในราคาที่สูงขึ้น เช่น บ้านราคา 2 ล้านบาทจะเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ 400 บาท และบ้านราคา 3 ล้านบาทนั้นจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 600 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลดลงไปนี้เราสามารถนำไปลงทุนในเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อชีวิตเราได้อีกด้วย

ตารางค่าใช้จ่ายในการโอนบ้านทั้งหมดจากมาตรการรัฐบาล ปี 2567

ค่าใช้จ่ายในการโอนบ้าน บ้านราคา 1 ล้านบาท บ้านราคา 2 ล้านบาท บ้านราคา 3 ล้านบาท
ค่าธรรมเนียมโอนบ้าน (0.01%) 100 บาท 200 บาท 300 บาท
ค่าจดจำนอง (0.01%) 200 บาท 200 บาท 300 บาท
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 200 บาท 400 บาท 600 บาท

Krungsri The COACH ขอแนะนำสินเชื่อบ้านที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

หากใครกำลังมีแผนในการซื้อบ้านและเตรียมพร้อมในการโอนบ้าน ในช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ ที่เราจะได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของรัฐ และหากใครกำลังมองหาสินเชื่อบ้านดี ๆ Krungsri The COACH ขอแนะนำ สินเชื่อบ้านกรุงศรีเพื่อที่อยู่อาศัย พร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น
  • ดอกเบี้ยต่ำสุดคงที่ปีแรก 2.50% ต่อปี
  • ฟรี! ค่าสำรวจและประเมินหลักประกันมูลค่า 3,210 บาท ตามเงื่อนไขของธนาคาร
  • ฟรี! ค่าจดจำนอง ตามเงื่อนไขของธนาคาร
  • ส่วนลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สำหรับลูกค้าที่ใช้บัญชีเงินเดือนกับธนาคารกรุงศรี
 
วิธีคำนวณค่าโอนบ้านปี 2567

โดยสรุปจะเห็นได้ว่าในการซื้อบ้านนั้น มักจะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา นอกเหนือจากราคาซื้อขายบ้าน ซึ่งหากเราคำนวณดูแล้วจะเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำนวนไม่น้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาบ้านที่เราซื้อ อย่างไรก็ตามด้วยมาตรการของรัฐบาลในปีนี้ก็ทำให้ผู้ซื้อบ้านได้ประโยชน์จากการลดค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและค่าจดจำนอง ก่อนซื้อบ้านเราจึงต้องเช็กค่าใช้จ่ายอย่างรอบด้านและลองดูว่ามีมาตรการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบไหนที่จะทำให้เราได้ประโยชน์สูงสุดในการซื้อบ้านได้

กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกตลอดอายุสัญญาอยู่ระหว่าง 4.42% - 5.93% ต่อปี*
*สมมติฐานการคำนวณมาจากอัตราดอกเบี้ย MRR ณ วันที่ 6 ต.ค. 66 = 7.40% ต่อปี ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้

หมายเหตุ : อัตราดอกเบี้ยนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่โพสต์บทความ สามารถตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน และรายละเอียดการคำนวณเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungsri.com/th/personal/loans/home-loans/homeloan


อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา