หลักการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อบ้านเบื้องต้น
ปกติแล้วทางธนาคารจะกำหนดให้ผู้กู้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย โดยกำหนดจำนวนค่างวดตายตัวเป็นตารางชำระตั้งแต่วันทำสัญญาว่า แต่ละงวดจะต้องจ่ายเท่าไหร่ เช่น งวดละ 20,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ทางธนาคารได้คำนวณมาเรียบร้อยแล้ว
เงินค่างวดในปีแรก ๆ จะเป็นการชำระดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการลดเงินต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อผ่อนไปเรื่อย ๆ เงินต้นก็จะเริ่มถูกตัดไปเรื่อย ๆ ทำให้ดอกเบี้ยในแต่ละเดือนที่เราจ่ายก็น้อยลงไปตามสัดส่วน ซึ่งสวนทางกับค่างวดในปีแรก ๆ นั่นเองครับ
การคำนวณค่างวดตายตัว ธนาคารจะใช้ตัวเลข MLR แบบสมมติสำหรับงวดในอนาคต เพราะเป็นตัวเลขที่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่ทางธนาคารมักจะคิดเงินค่างวดเผื่อเอาไว้ก่อน โดยจะทำการคำนวณค่างวดจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในอัตราสูงเอาไว้ก่อนบนอัตรา MLR ในอนาคต เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้ผู้กู้ถ้าหาก MLR เพิ่มสูงขึ้นในภายหลังนั่นเอง โดยผู้กู้ไม่ต้องชำระค่างวดเพิ่ม เพราะคำนวณเผื่อเอาไว้แล้ว หาก MLR ต่ำกว่าตัวเลขที่สมมติไว้ เราก็จะจ่ายค่างวดตามเวลาครบจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หนี้หมดก่อนกำหนดได้ เพราะเงินค่างวดที่เราชำระมามันมีส่วนเกินนั่นเองครับ ไม่ต้องห่วงว่าเงินที่เราชำระทุกเดือน ๆ จะหายไปไหน หากเป็นการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทางธนาคารอาจจะให้ผู้กู้ทำการชำระเงินค่างวดเกินกว่าจำนวนตายตัวที่กำหนดเอาไว้ได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถปิดเงินกู้ได้เร็วขึ้นหากเราสามารถหาเงินมาโปะได้เยอะ แต่ธนาคารมักจะไม่ยอมให้จ่ายค่างวดเกินหากใช้อัตราดอกเบี้ยตายตัว
วิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบง่าย ๆ
คุณสามารถใช้บริการเครื่องคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ โดยสามารถค้นหาออนไลน์ หรือคำนวณด้วยเครื่องคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้บ้านได้ที่
Krungsri Calculators
คุณสามารถคำนวณเพื่อดูความสามารถในการกู้ ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน ระยะเวลาการกู้ยืม วงเงิน และคำนวณดูว่าคุณจะสามารถประหยัดดอกเบี้ยได้แค่ไหนหากทำรีไฟแนนซ์
ประเภทอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน
1. เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan)
หมายถึง เงินกู้ที่มีกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี จากนั้นจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งต้องวัดกันว่าลอยตัวแล้วดอกเบี้ยจะสูงหรือจะต่ำ
อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้ หมายถึง เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบไม่มีการปรับเปลี่ยนขึ้นลง ตามสภาพตลาดเงิน หรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน
อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้น แบบขั้นบันใดในช่วงแรกแล้วปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หมายถึง เงินกู้ที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี แต่ระหว่างนี้อาจมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันใด คือ คงที่ 2 ปีที่ 3.25% ปีที่สอง 4.25% เป็นต้น จากนั้นก็จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวแทน
2. เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate loan)
เป็นเงินกู้ที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดในเวลาปัจจุบัน และใช้อัตรานี้ไปในระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาอาจมีการปรับเปลี่ยนขึ้น-ลงได้ตามสภาพตลาดการเงิน หรือต้นทุนการเงินของสถาบันการเงิน จะไม่สามารถทราบว่าจะมีการปรับใหม่เมื่อไหร่ บางปีอาจจะมีการปรับหลายครั้ง บางปีอาจไม่มีการปรับเปลี่ยนเลย โดยจะมีผลต่อจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระในแต่ละเดือน
3. เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่ง และปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา (Rollover mortgage loan)
เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่ง เช่น 3-5 ปี แล้วมีการปรับเป็นอัตราคงที่ใหม่ทุก 3-5 ปีตลอดระยะเวลากู้นาน 25-30 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในแต่ละช่วงก็จะคงที่