ผ่อนบ้านไม่ไหวอย่าปล่อยให้ธนาคารยึด พร้อม 6 ทางออกของปัญหาเมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว
หนึ่งในความฝันของใครหลาย ๆ คน คือการมีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะบ้านคือสถานที่อบอุ่นหัวใจของทุกคน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวที่ให้เราสามารถอยู่ดูแลคนที่เรารักได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเราตัดสินใจผ่อนบ้านไประยะเวลาหนึ่งก็อาจจะเจอความเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่ทำให้เราผ่อนบ้านไม่ไหว กลายเป็นภาระที่หนักอึ้งและอยากหาทางออก
Krungsri The COACH เข้าใจทุกคนที่กำลังอยู่ในสถานการณ์นี้ เลยจะพาทุกคนไปสำรวจทางเลือกต่าง ๆ สำหรับคนที่ผ่อนบ้านไม่ไหว และดูว่าเราจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อรักษาบ้านเอาไว้ถ้าไม่อยากให้บ้านหลุดมือ
ผ่อนบ้านไม่ไหว ปล่อยยึดหรือขายคืนธนาคารเลยดีไหม?
เมื่อหลายคนผ่อนบ้านไม่ไหว อาจจะมีอยู่ 2 ความคิด คือ การปล่อยให้ธนาคารยึดบ้านไปเลย และการขายบ้านคืนให้กับทางธนาคาร เพื่อที่จะทำให้ชีวิตหมดภาระและไม่ต้องผ่อนบ้านต่ออีกหลาย ๆ ปี มาดูแต่ละทางเลือกว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไร
กรณีที่ 1 ปล่อยให้ธนาคารยึดบ้านจะเกิดอะไรขึ้น
- ทำให้เสียเครดิตทางการเงิน :
การที่เราผ่อนบ้านไม่ไหวและให้ธนาคารยึดบ้านเรานั้น ธนาคารก็จะบันทึกประวัติไว้ว่าเราเคยถูกยึดบ้าน รวมทั้งข้อมูลของเราจะถูกนำไปรวบรวมในเครดิตบูโร แม้ว่าเราจะไปขอสินเชื่อที่ธนาคารอื่น ๆ ในอนาคต ธนาคารก็จะทราบว่าเราเคยปล่อยให้ธนาคารยึดบ้าน ทำให้การขออนุมัติสินเชื่อในครั้งต่อ ๆ ไปทำได้ยาก
- อาจต้องรับผิดชอบส่วนต่าง หากราคาขายทอดตลาดต่ำกว่ายอดหนี้ :
หากผ่อนบ้านไม่ไหว จะถูกฟ้องร้องให้มีการยึดบ้านแล้วนำไปขายทอดตลาด เมื่อขายได้แล้วจะนำเงินมาคืนธนาคาร และหากขายได้ราคาที่ต่ำกว่ายอดหนี้ ก็ต้องหาเงินเพิ่มเติมมาคืนให้กับทางธนาคาร ตัวอย่างเช่น เป็นหนี้ธนาคาร 3 ล้านบาท หลังจากบ้านถูกขายทอดตลาดได้รับเงินมา 2.7 ล้านบาท เงินส่วนนี้จะนำมาจ่ายคืนให้กับธนาคารและเรายังต้องนำเงินมาคืนให้กับธนาคารเพิ่มอีก 3 แสนบาท
- สูญเสียเงินที่ผ่อนไปพร้อมเงินดาวน์ :
หากเราผ่อนบ้านไม่ไหว และปล่อยให้ธนาคารยึดบ้าน เราจะต้องสูญเสียบ้าน รวมถึงเงินที่เคยผ่อนมาทั้งหมดพร้อมกับเงินดาวน์โดยไม่ได้รับอะไรกลับคืน นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและเสียโอกาสในชีวิตมาก ๆ
กรณีที่ 2 ผ่อนบ้านไม่ไหว ขายคืนธนาคารได้หรือไม่
อย่าลืมว่าธนาคารนั้นเป็นผู้ให้เรายืมเงินเพื่อไปซื้อบ้าน ไม่ใช่ผู้ขายบ้านให้กับเรา เราจึงไม่สามารถขายบ้านคืนให้กับธนาคารได้โดยตรง แต่เราสามารถขายบ้านให้กับผู้อื่นได้ ถึงแม้ว่าเราจะยังผ่อนชำระบ้านหลังนี้อยู่ก็ตาม โดยผู้ซื้อบ้านจะนำเงินมาจ่ายเพื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านของเรา และเราจะนำเงินก้อนนี้ไปจ่ายให้กับธนาคารเพื่อปิดหนี้ หลังจากนั้นก็โอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้ซื้อใหม่
ซึ่งหากใครสนใจอ่านข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่บทความ
เอาไงต่อ..เป็นหนี้ไม่พอจ่าย ปล่อยให้ยึด จบจริงหรือ?
อย่างไรก็ตามหลายคนคงอยากได้ทางออกที่เหมาะกับตัวเองโดยที่ไม่ต้องเสียบ้านไป เพียงเพราะเหตุผลที่ว่า ผ่อนบ้านไม่ไหว Krungsri The COACH ขอแนะนำให้ทุกคนเจรจาประนอมหนี้จะดีกว่า ซึ่งเราสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
6 ทางออกเมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว
1. ขอลดอัตราดอกเบี้ยกับทางธนาคาร
หากเรามีปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหวเนื่องจากภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินไป เราอาจจะนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อพูดคุยในการลดดอกเบี้ย วิธีการนี้เรียกว่า การรีเทนชั่น (Retention) เป็นการขอลดดอกเบี้ยกับธนาคารที่ปัจจุบันใช้สินเชื่ออยู่ โดยปกติธนาคารจะพิจารณารีเทนชั่นให้เมื่อผ่อนดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรกจบลงแล้ว
- ข้อดี คือ ได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง ใช้เวลาไม่นานในการอนุมัติ
- ข้อจำกัด คือ เราจะได้อัตราดอกเบี้ยใหม่เป็นไปตามอัตราที่ธนาคารกำหนดเท่านั้น
2. ขอขยายระยะเวลาในการชำระหนี้
วิธีต่อมาที่เราจะแก้ปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหว คือ การพูดคุยกับธนาคารเพื่อให้พิจารณายืดเวลาในการผ่อนชำระหนี้ เช่น จากเดิมเราจะต้องผ่อนต่อจากวันนี้ไปอีกเป็นระยะเวลา 10 ปี ก็ขอให้ธนาคารพิจารณายืดเวลาให้เป็น 15 ปี เมื่อระยะเวลาในการชำระหนี้มากขึ้น ก็จะช่วยให้ค่าผ่อนบ้านต่อเดือนน้อยลง อย่างไรก็ตามธนาคารจะพิจารณาขยายเวลาชำระหนี้ให้ไม่เกิน 30 ปี และอายุผู้กู้รวมกับเวลาที่ขยายออกไปนั้นต้องไม่เกินอายุ 70 ปี
- ข้อดี คือ ทำให้จำนวนเงินที่เราจะต้องผ่อนบ้านต่อเดือนน้อยลง
- ข้อจำกัด คือ เป็นหนี้ยาวนานขึ้น แม้การผ่อนต่อเดือนจะลดลง แต่ดอกเบี้ยโดยรวมที่เกิดขึ้นในการผ่อนบ้านทั้งหมดนั้นจะมากขึ้น
3. ขอพักชำระหนี้
หลายคนอาจจะพบปัญหาหนัก ๆ ไม่ใช่แค่ผ่อนบ้านไม่ไหว แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย และต้องการเวลาระยะหนึ่งที่จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้อีกครั้ง สามารถติดต่อธนาคารเพื่อขอให้มีการพักชำระหนี้ โดยธนาคารอาจจะพิจารณาให้มีการพักชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนด เช่น 3 - 6 เดือน แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาพักชำระหนี้จะมีการคิดดอกเบี้ยปกติและอาจจะนำไปเฉลี่ยจ่ายในเดือนต่อ ๆ ไป หรือเรียกเก็บท้ายสัญญาก็ได้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างลูกหนี้และธนาคาร
- ข้อดี คือ ช่วยให้มีเวลาตั้งหลักในช่วงที่การเงินคับขัน เมื่อจัดการเงินได้ดีขึ้น สามารถเริ่มผ่อนบ้านต่อได้ในภายหลัง
- ข้อจำกัด คือ มีการคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่มีการพักชำระหนี้ ทำให้เรามีภาระหนี้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและจะต้องนำมาชำระในภายหลัง
4. ขอชำระค่าบ้านต่ำกว่างวดปกติ
เวลาที่เราผ่อนบ้าน ธนาคารจะมีแผนการผ่อนบ้านให้เราว่าจะต้องจ่ายกี่งวดและงวดละกี่บาท ในแต่ละงวดจะถูกนำไปชำระดอกเบี้ยและเงินต้นเท่าไหร่ แต่หากเราผ่อนบ้านไม่ไหวเราอาจจะขอธนาคารในการชำระค่าบ้านที่น้อยลงกว่างวดปกติ ซึ่งธนาคารบางแห่งอาจจะยินยอมให้ใช้วิธีนี้หากยอดชำระค่าบ้านในแต่ละเดือนสูงกว่าดอกเบี้ยตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป เป็นวิธีการที่สามารถใช้ได้ชั่วคราว โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระต่ำกว่างวดปกติได้ไม่เกิน 2 ปี และทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
- ข้อดี คือ ช่วยให้เราสามารถลดภาระในการผ่อนบ้านชั่วคราว ช่วยแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของชีวิตได้ในระยะหนึ่ง
- ข้อจำกัด คือ เมื่อเราไม่ได้ชำระหนี้เต็มจำนวนทำให้เราจะต้องพบภาระหนี้จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และเราจะต้องหาเงินเพิ่มเพื่อมาชำระคืนในอนาคต
5. ขอผ่อนผันหนี้ที่ค้างชำระ
เมื่อหลายคนผ่อนบ้านไม่ไหวก็อาจจะตัดสินใจไม่ชำระเงินให้กับธนาคารเลยแล้วกัน ทำให้เกิดหนี้สินคงค้างอยู่เป็นเดือน ๆ และก็ไม่สามารถจัดการหนี้ในส่วนนี้ได้ด้วยเงินเดือนเพียงก้อนเดียว ดังนั้นเราจึงต้องคุยกับธนาคารว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ที่คงค้างชำระอยู่อย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องหนี้สินรุงรังในอนาคต ธนาคารอาจจะนำเสนอแนวทาง ได้แก่ การแบ่งชำระเป็นเงินก้อนเล็ก ๆ ทุกเดือน หรืออาจจะเป็นเงินก้อนใหญ่ ๆ แล้วแบ่งชำระเป็นงวด ๆ รวมถึงการตกลงกับธนาคารว่าจะชำระให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด
- ข้อดี คือ ช่วยแบ่งเบาภาระจากหนี้สินคงค้างที่จะสร้างภาระทางการเงินในอนาคต
- ข้อจำกัด คือ ทำให้เราต้องบริหารจัดการเงินในชีวิตมากขึ้นเพื่อนำไปผ่อนชำระให้กับธนาคาร
6. รีไฟแนนซ์บ้านเพิ่มวงเงิน
การ
รีไฟแนนซ์บ้านเพิ่มวงเงิน คือ การขอสินเชื่อจากธนาคารแห่งใหม่มาปิดสินเชื่อเก่าที่ใช้อยู่ โดยสินเชื่อใหม่ที่ได้รับนั้นจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า และมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ดีกว่าเดิม ทำให้เราจ่ายดอกเบี้ยลดลง ได้รับวงเงินเพิ่มอีกด้วย ช่วยให้คนที่ผ่อนบ้านไม่ไหวได้พบทางออกในการลดภาระดอกเบี้ย และสามารถเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของชีวิตในแต่ละเดือนได้ดีขึ้นอีกด้วย
- ข้อดี คือ เลือกธนาคารที่ต้องการรีไฟแนนซ์ได้ ได้ดอกเบี้ยในอัตราใหม่ ถูกลงกว่าเดิม ลดภาระดอกเบี้ยในระยะยาว
- ข้อจำกัด คือ ต้องเตรียมเอกสารขอยื่นกู้ใหม่ทั้งหมด มีค่าธรรมเนียมการกู้ที่ต้องจ่าย และใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติ
ผ่อนบ้านไม่ไหว นึกถึง
สินเชื่อบ้านกรุงศรี รีไฟแนนซ์บ้าน เพิ่มได้ ช่วยให้คุณประหยัดมากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกตลอดอายุสัญญาอยู่ระหว่าง 4.55% - 5.93% ต่อปี*
*สำหรับวงเงินกู้ตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป **สมมติฐานการคำนวณมาจากอัตราดอกเบี้ย MRR ณ วันที่ 6 ต.ค. 66 = 7.40% ต่อปี ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้
หมายเหตุ : อัตราดอกเบี้ยนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่โพสต์บทความ สามารถตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน และรายละเอียดการคำนวณเพิ่มเติมได้ที่
www.krungsri.com
การเผชิญหน้ากับปัญหาการผ่อนบ้านไม่ไหวนั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและทำให้หลาย ๆ คนเกิดความกังวลและความเครียดได้ และเมื่อเรานึกถึงธนาคารก็อย่าไปคิดว่าเขาเป็นผู้ร้ายที่จะคอยยึดบ้านเรา แต่ขอให้มองธนาคารในมุมใหม่ เพราะธนาคารสามารถเป็นเพื่อนคู่คิดและที่ปรึกษา ที่เราสามารถพูดคุยปัญหาและหาทางออกร่วมกันได้จะดีกว่า
อ้างอิง