เมื่อมาตรการรัฐเปลี่ยนไป ผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่าง ๆ ก็จำเป็นจะต้องวิ่งตามให้ทันตัวบทกฎหมายและเทคโนโลยีด้วย ทั้งรายได้ ยอดค่าใช้จ่าย รวมทั้งการจำกัดวงเงินมีรายละเอียดที่น่ารู้อย่างไร และสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร อย่ารอช้า มาติดตามไปด้วยกัน
หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาแบงก์ชาติเคยออกมาตรการควบคุมการใช้
บัตรเครดิตมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยกำหนดให้คุณสมบัติของผู้สมัครบัตรเครดิตต้องมีรายได้ 15,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน ยอดชำระต่อรอบบัญชีไม่น้อยกว่า 10% ของยอดค้างชำระ และเพดานดอกเบี้ยรวมกับค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 20% ต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงตัวเลขหนี้เสียสูงในธุรกิจบัตรเครดิต และคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมกับผู้ถือบัตร
กาลเวลาผ่านไปตัวเลขทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวลงไปพอสมควรทำให้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตน่าจะมีกำไรส่วนต่างดอกเบี้ยมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาทำธุรกิจกับดอกเบี้ยเงินให้กู้ไปใช้บัตรเครดิต และที่สำคัญภาวะหนี้ครัวเรือนสูงจนน่าเป็นห่วงเกือบ 80% ของจีดีพี โดยคนไทยมีหนี้ครัวเรือนประมาณ 21 ล้านคน เฉลี่ยคนละ 150,000 บาทสูงติดอันดับ 3 ของเอเชีย-แปซิฟิก และในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียประมาณ 3 ล้านคนหรือ 15% ดังนั้นจึงเป็นเวลาเหมาะสมที่แบงก์ชาติจะงัดมาตรการใหม่มาควบคุมการใช้บัตรเครดิต
ข้อมูลจากเครดิตบูโรพบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วตั้งแต่เริ่มต้นทำงานและก่อหนี้ยันเกษียณ เหตุผลเพราะมีสิ่งของที่อยากได้อยู่เต็มไปหมดแต่เก็บเงินไม่ทัน ต้องใช้บริการสินเชื่อหลากหลายประเภทเพื่อนำเงินอนาคตมาใช้ก่อนแล้วจึงค่อยทยอยจ่าย อันได้แก่
สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต เช่าซื้อรถยนต์/มอเตอร์ไซค์ และ
สินเชื่อบ้าน โดยกลุ่มที่น่าห่วงสุดคือ Gen Y ผู้ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2523-2540 เพราะยับยั้งชั่งใจใช้เงินได้น้อยกว่าคนวัยอื่น ประกอบกับรายได้อยู่ในช่วงเริ่มต้นทำงานจึงน้อยกว่าคนวัยอื่นด้วย ทำให้กว่า 50% ของคนวัยนี้เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งสินเชื่อทั้งคู่เข้าถึงง่ายได้รับความนิยม แต่ถ้าใช้ไม่ระวังอาจจ่ายได้แค่เพียงยอดชำระขั้นต่ำต้องเสียดอกเบี้ยเยอะ หรือหากไม่มีเงินจ่ายต้องเสียประวัติกลายเป็นหนี้เสีย
มาตรการใหม่ที่แบงก์ชาติเพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา คือ หั่นเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินสูงสุดจาก 20% เหลือ 18% ต่อปี และจำกัดวงเงินจากเดิมไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน เป็นไม่เกิน 1.5 - 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน ตามตาราง
รายได้ต่อเดือน |
วงเงินสูงสุด |
15,000 – 29,999 บาท |
1.5 เท่าของรายได้ต่อเดือน |
30,000 – 49,999 บาท |
3 เท่าของรายได้ต่อเดือน |
50,000 บาทขึ้นไป |
5 เท่าของรายได้ต่อเดือน |
โดยมาตรการใหม่เรื่องหั่นเพดานดอกเบี้ยมีผลบังคับใช้กับรายการใช้จ่ายหลังประกาศของผู้ถือบัตรทุกคน ส่วนมาตรการใหม่เรื่องจำกัดวงเงินมีผลบังคับใช้กับผู้ถือบัตรรายใหม่หลังประกาศเท่านั้น ดังนั้นผู้ถือบัตรก่อนประกาศก็ยังคงใช้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าได้เหมือนเดิม
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนบัตรเครดิตเกือบ 20 ล้านบัตรแต่มีผู้ถือบัตรอยู่เพียง 6 ล้านกว่าคน ดังนั้นผู้ใช้จะถือบัตรเฉลี่ยคนละ 3 ใบ โดยหากจำแนกผู้ถือบัตรตามพฤติกรรมการชำระเงิน จะแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้
- ผู้ถือบัตรที่มียอดใช้จ่าย และชำระเงินเต็มจำนวน (Transactor)
- ผู้ถือบัตรที่มียอดใช้จ่าย แต่ชำระเงินเพียงบางส่วนหรือขั้นต่ำ 10% (Revolver)
- ผู้ถือบัตรที่มียอดใช้จ่าย แต่ไม่ชำระตามกำหนด (Delinquency)
- ผู้ถือบัตรที่ไม่มียอดใช้จ่าย (Inactive)
มาตรการใหม่ทั้งเรื่องหั่นเพดานดอกเบี้ยและจำกัดวงเงิน พุ่งเป้าไปที่กลุ่ม Gen Y เพราะมีสัดส่วนผู้ถือบัตรที่มียอดใช้จ่ายแต่ชำระเงินเพียงบางส่วนหรือขั้นต่ำ 10% (Revolver) อยู่เป็นจำนวนมากกว่าคนวัยอื่น ซึ่งบางส่วนจะแปรสภาพเป็นผู้ถือบัตรที่มียอดใช้จ่ายแต่ไม่ชำระตามกำหนด (Delinquency) หรือถึงขั้นเป็นหนี้เสียหากค้างชำระเกิน 90 วัน (Bad Debt) ซึ่งส่งผลให้ผู้ถือบัตรมีประวัติชำระเงินที่ไม่ดีในเครดิตบูโรและมีผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต่าง ๆ ในอนาคต
ผลกระทบทางบวก
- ชะลอการก่อหนี้ฟุ่มเฟือยจากการจำกัดวงเงิน เดิมผู้ถือบัตรได้วงเงินสูงสุด 5 เท่าต่อบัตร และจากข้อมูลมีบัตรเฉลี่ยคนละ 3 ใบ แปลว่าวงเงินรวมทุกบัตรเครดิตสูงสุด 15 เท่าของรายได้ต่อเดือน หากใช้เพลินเต็มวงเงินอาจเกิดปัญหาจ่ายไม่ไหว ดังนั้นผู้ถือบัตรใหม่ที่มีรายได้น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือนจะถูกจำกัดวงเงินรวมทุกบัตรเครดิตสูงสุด 4.5-9 เท่าของรายได้ต่อเดือน
- ประหยัดดอกเบี้ยลงจากการหั่นเพดานดอกเบี้ยสูงสุด 20% เหลือ 18% ต่อปี ทำให้กลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตที่เสียดอกเบี้ยมีเงินเหลือเก็บออมมากขึ้นหากไม่นำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น พึงระลึกไว้ว่าการทำให้ฐานะมั่นคงมีเงินใช้ จุดเริ่มต้นมาจากการออมทีละเล็กทีละน้อยรวมกันจนได้เงินก้อนโต
- ความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้นจากการไม่เป็นหนี้จนจ่ายไม่ไหว ผมฟังประสบการณ์คนแบกหนี้ก้อนโตจนเกินกำลัง ทุกคนล้วนเครียดนอนไม่หลับ บางคนถึงขั้นคิดสั้น ดังนั้นการที่มีใครสักคนคอยดูแลไม่ให้เราใช้เงินอนาคตเกินตัวก็น่าจะดี หากใครคนนั้นดูอย่างเข้าใจปัญหาและทำอย่างรอบคอบ หรือเราเองก็อาจจะศึกษาเพิ่มตัวด้วยตนเองอย่างเช่น เทคนิคใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์
ผลกระทบทางลบ
- มองหาแหล่งเงินกู้ทางอื่น ผู้ถือบัตรใหม่บางคนอาจรู้สึกว่าวงเงินบัตรเครดิตที่ได้รับอนุมัติไม่พอใช้ ต้องไปหาแหล่งเงินกู้อื่นที่ยังไม่ถูกควบคุมมากนัก เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อนอกระบบ เป็นต้น ซึ่งต้องยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราที่แพงมากขึ้น
- ลดสิทธิประโยชน์ผู้ถือบัตร หากมองในฝั่งผู้ประกอบการบัตรเครดิต เดิมมีรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน 20% ต่อปี พอหักรายจ่ายต่าง ๆ สมมติว่าเหลือกำไร 5% เมื่อมาตรการใหม่มีผลบังคับใช้ รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน 18% ต่อปี พอหักรายจ่ายต่าง ๆ สมมติว่าเหลือกำไร 3% ซึ่งจะเห็นได้ว่ากำไรหายไปเกือบครึ่ง แน่นอนว่าผู้ประกอบการบัตรเครดิตย่อมต้องหาทางลดต้นทุน รวมถึงลดสิทธิประโยชน์บางอย่างออกไป
- ลดจำนวนผู้ให้บริการบัตรเครดิตในระยะยาว ธุรกิจที่กำไรหดตัวลงย่อมไม่จูงใจให้รายใหม่เข้ามาในตลาด ส่วนรายเก่าบางรายที่ทำกำไรได้ไม่ดีก็อาจถอนตัว ซึ่งในระยะยาวผู้ถือบัตรได้รับผลกระทบจากการมีตัวเลือกบัตรเครดิตน้อยลง