เคยเจอแบบนี้ไหม? ใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดในชีวิตประจำวัน พอมาดูบิลบัตรเครดิตอีกทีก็เจอรายการค่าใช้จ่ายตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “Usage Fee” โผล่ขึ้นมาโดยไม่รู้ว่าคือค่าอะไร พอนั่งหาข้อมูลใน Google ก็มักจะเจอเจ้าหน้าที่ไปตอบตามกระทู้ต่าง ๆ แค่ว่าเป็นค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน ถ้าสงสัยข้อมูลเพิ่มเติมส่วนไหนให้ติดต่อกลับไปที่ Call Center ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้สักทีว่าค่า Usage Fee คืออะไรกันแน่ วันนี้ Krungsri The COACH เลยขออาสามาสรุปเรื่องนี้แบบละเอียดและเข้าใจง่ายในบทความเดียว
ค่า Usage Fee คืออะไร ทำไมเราต้องจ่าย?
ต้องอธิบายก่อนว่า บัตรเครดิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ทางสถาบันทางการเงินออกให้กับผู้ถือบัตรเพื่อนำไปใช้ในการชำระสินค้าและบริการแทนเงินสด ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ตกลง ผู้ถือบัตรจะต้องชำระเงินส่วนนั้นคืนให้กับผู้ออกบัตร
หากใช้ประโยชน์ในทางที่เหมาะสมตามเงื่อนไขของบัตร จะสามารถยืดระยะเวลาการชำระเงินค่าสินค้าและบริการไปก่อนได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมแม้แต่บาทเดียว แต่การใช้งานบางประเภท เช่น การกดเงินสดจากบัตรหรือการจ่ายขั้นต่ำ นอกจากดอกเบี้ยที่จะต้องเสียแล้ว ทางบัตรเครดิตจะเรียกเก็บ Usage Fee เพิ่มเป็นค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมเปรียบเหมือนเป็นค่าธรรมเนียมพิเศษในการใช้บริการนั่นเอง
เราจะเจอค่า Usage Fee จากบัตรเครดิตตอนไหน?
เมื่อใช้บัตรเครดิตทำธุรกรรม เช่น
- กดเงินสดจากบัตรเครดิต: จะมีค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสด 3% ของยอดเงินที่เบิก บวกกับ VAT อีก 7% พร้อมทั้งดอกเบี้ยที่คำนวณดอกเบี้ยทันทีตั้งแต่วันที่เบิกถอนเงินสด
- การผ่อนจ่ายขั้นต่ำ: บัตรเครดิตจะปลอดดอกเบี้ยเมื่อจ่ายเต็มจำนวนและจ่ายตรงเวลา แต่การผ่อนจ่ายขั้นต่ำ จะทำให้ถูกคิดค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน 1% ต่อปี และดอกเบี้ยทันที โดยนับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ใช้งานบัตร
- การผ่อนชำระสินค้าที่มีดอกเบี้ย: การผ่อนชำระสินค้าที่มีดอกเบี้ย จะถูกคิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน และดอกเบี้ยนับจากวันที่ทำรายการเช่นเดียวกับการจ่ายขั้นต่ำ
ค่า Usage Fee ของแต่ละบัตรเครดิตเท่ากันไหม?
โดยส่วนใหญ่แล้ว บัตรเครดิตจะคิด Usage Fee ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน แต่อาจจะมีบัตรเครดิตบางใบที่มีการลดค่าธรรมเนียมบางอย่างให้ในอัตราพิเศษ
ยกตัวอย่างเช่น
แล้วค่า Usage Fee คำนวณอย่างไรล่ะ?
Krungsri The COACH ขอยกตัวอย่างการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมกรณีผ่อนชำระขั้นต่ำ ดังนี้
ตัวอย่าง นาย A ใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าจำนวน 50,000 บาท ในวันที่ 1/1/2024 โดยบัตรเครดิตสรุปยอดทุกวันที่ 25 ของเดือน และมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 50 วัน ถึงวันที่ 20/2/2024 และนาย A ชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดรวมเป็นเงิน 5,000 บาท ในวันที่ 20/2/2024
ดังนั้น นาย A จะถูกบัตรเครดิตสรุปยอดบิลในเดือนต่าง ๆ ดังนี้
รอบบิลวันที่ 25/1/2024: ยังอยู่ในช่วงปลอดดอกเบี้ย 50 วัน บิลจะสรุปยอดเงิน จำนวน 50,000 บาท ที่ใช้ไปเท่านั้น
รอบบิลวันที่ 25/2/2024: เนื่องจาก นาย A ชำระขั้นต่ำ 5,000 บาท ในวันที่ 20/2/2024 เงินต้นเหลือ 45,000 บาท
+ คิดอัตราดอกเบี้ย (15%) และค่าธรรมเนียม (1%) ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ 20/2/2024 เป็นจำนวนเงิน 50,000 x 16% (อัตราดอกเบี้ย+ค่าธรรมเนียม) ÷ 365 (ทำให้ดอกเบี้ยเป็นรายวัน) x 50 (จำนวนวันที่ผ่านมา) = 1,095.89 บาท
+ คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันชำระขั้นต่ำถึงวันสรุปยอด 20/2/2024 – 25/2/2024 เป็นจำนวนเงิน 45,000 x 16% ÷ 365 x 6 = 118.36 บาท
ดังนั้น หากต้องการปิดยอดทั้งหมดในวันที่ 25/2/2024 นาย A จะต้องชำระทั้งหมด 45,000 + 1095.89 + 118.36 = 46,214.25 บาท
นอกจากค่า Usage Fee มีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ในบัตรเครดิตที่เราต้องจ่ายอีกไหม?
ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ควรทราบดังนี้
- ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตรายปี: บัตรบางใบอาจจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมในปีแรก หรือยกเว้น
- ค่าธรรมเนียมตลอดชีพ: โดยการเรียกเก็บเริ่มต้นที่ 500 บาท ต่างกันไปตามแต่ระดับของบัตร มีเงื่อนการละเว้นเมื่อใช้จ่ายครบกำหนด หรือ เข้าเกณฑ์เงื่อนไขบางอย่าง
- ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบัตรเครดิตในต่างประเทศ: ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในสกุลเงินตราต่างประเทศ จะมีการเก็บค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน โดยเรียกเก็บสูงสุดไม่เกิน 2.5% ของยอดการใช้จ่าย
อ้างอิงค่าธรรมเนียม:
krungsricard.com/th/Faq/FaqOrther/InterestRate
ถ้าไม่อยากเสียค่า Usage Fee ควรใช้บัตรเครดิตอย่างไร?
สำหรับคนที่ไม่อยากเสียค่า Usage Fee ทาง Krungsri The COACH ก็มีกฎ 3 ข้อง่าย ๆ ในการใช้บัตรเครดิตให้ไม่โดน ค่า Usage Fee มาแนะนำทุกคนกัน โดยอย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่า Usage Fee เกิดจากการใช้บัตรอย่างไม่เหมาะสม หากไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมจากการใช้งาน ควรทำตาม 3 กฎดังนี้
กฎข้อที่ 1 ไม่กดเงินสดจากบัตรเครดิต: เพราะจะเสียค่าธรรมเนียมการกดเงินและดอกเบี้ยทันที
กฎข้อที่ 2 ชำระบัตรเครดิตให้ตรงเวลาและเต็มจำนวน: หากจ่ายเงินช้าเกินระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย หรือจ่ายไม่เต็มจำนวน ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจะถูกคิดตั้งแต่วันที่รูดบัตร
กฎข้อที่ 3 ไม่ใช้เกินเงินสดที่มี: หากทุกครั้งที่ใช้จ่ายผ่านบัตร ยอดการใช้จ่ายไม่เกินจำนวนเงินสดที่มี โอกาสที่จะผิดกฎข้อที่ 2 ก็จะลดลง
บัตรเครดิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีประโยชน์มากหากใช้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการยืดระยะเวลาการจ่ายค่าสินค้าต่าง สิทธิประโยชน์มากมาย เช่น ส่วนลดการใช้บริการสินค้าที่ร่วมรายการ รับเครดิตเงินคืน ยิ่งใช้ยิ่งได้แต้ม ฯลฯ แต่หากใช้งานโดยขาดความระมัดระวังอาจจะเป็นประตูสู่ปัญหาทางการเงินอื่น ๆ ตามมาได้ Krungsri The COACH จึงขอแนะนำให้ทุกท่านใช้บัตรเครดิตอย่างมีวินัยทางการเงิน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้บัตรสามารถทำประโยชน์ต่อตัวผู้ใช้ได้สูงสุด
อ้างอิง: