3 แนวรุกบุกอาเซียน เตรียมพร้อมก่อนทำการค้าขายระหว่างประเทศ
รอบรู้เรื่องธุรกิจ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

3 แนวรุกบุกอาเซียน เตรียมพร้อมก่อนทำการค้าขายระหว่างประเทศ

icon-access-time Posted On 11 ธันวาคม 2567
By Krungsri The COACH
ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการสามารถวางเป้าหมายของธุรกิจให้เติบโตได้มากกว่าเฉพาะภายในประเทศ เนื่องจากมุมมองการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เข้าสู่โลกที่ไร้ขอบเขต ทำให้สินค้าสามารถกระจายออกไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้เรื่อย ๆ โดยที่กลุ่มลูกค้าที่อยู่ในภูมิภาคอื่น ๆ ก็มีความต้องการสินค้า และบริการที่เพิ่มมากขึ้น โดยไม่จำกัดอยู่กับสินค้าที่มีอยู่ในประเทศ

ดังนั้นคนทำธุรกิจจึงควรศึกษา และมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มในการเติบโตสูง เพราะเป็นโอกาสที่ทำให้ธุรกิจของเราเติบโตอย่างก้าวกระโดด แถมยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเพียงแห่งเดียว วันนี้ Krungsri The COACH จะพาทุกคนมาดูว่าเราจะสามารถขยายธุรกิจไปต่างประเทศในรูปแบบใดได้บ้าง
การทำธุรกิจในต่างประเทศ

3 รูปแบบการทำธุรกิจในต่างประเทศ เปิดประตูการค้า หาโอกาสต่อยอดธุรกิจ

การทำธุรกิจในอาเซียนมีวิธีการหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกจากประเทศไทย การหาพาร์ตเนอร์ร่วมธุรกิจเพื่อมาเป็นตัวแทนขายหรือช่วยกระจายสินค้า รวมถึงการหาหุ้นส่วนเพื่อก่อตั้งธุรกิจร่วมกัน นอกเหนือจากนี้ยังมีการลงทุนเมกะโปรเจกต์กับทางบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และทางภาครัฐ ซึ่งเราสามารถแบ่งการทำธุรกิจเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ดังนี้
 

1. ธุรกิจส่งออก (Exports)

เป็นการค้าขายระหว่างประเทศที่มีรูปแบบการขยายธุรกิจที่ง่ายที่สุด เริ่มต้นจากการหาลูกค้าที่ต้องการสินค้าหรือบริการจากเรา เราเพียงทำการผลิตหรือจัดหาสินค้า และส่งออกไปยังประเทศปลายทาง โดยเราจะต้องเริ่มจากการสำรวจความต้องการของตลาด และหาผู้ซื้อในประเทศปลายทาง ตัวอย่างเช่น หากเราทำธุรกิจสินค้าประเภทอาหารไทย เราสามารถเริ่มต้นจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อให้สินค้าของเราเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักธุรกิจทั้งในไทย และต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น งาน THAIFEX ที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรืองาน ASEAN FOOD & BEVERAGE EXHIBITION

ข้อดี : เป็นวิธีการขยายธุรกิจที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าวิธีอื่น ๆ
เหมาะกับใคร : การส่งออกเหมาะกับผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตสินค้าในประเทศอยู่แล้ว และอยากทดลองขยายธุรกิจของตัวเองไปยังต่างประเทศ

สำหรับผู้ที่สนใจทำการส่งออกสินค้าไปยังประเทศในอาเซียน หากอยากรู้ว่าประเทศไหนบ้างที่น่าลงทุน สามารถอ่านบทความ 4 ประเทศ ASEAN ดาวรุ่ง โอกาสทองของธุรกิจส่งออกไทย
 

2. ธุรกิจฝากขาย (Consignment)

เป็นการทำธุรกิจกับพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศ โดยมีการทำสัญญาร่วมกันเพื่อให้พาร์ตเนอร์สามารถใช้แบรนด์ และเครื่องหมายการค้า สำหรับดำเนินงานธุรกิจแทนเรา โดยการดำเนินงานจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น การให้สิทธิ์พาร์ตเนอร์เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า การให้สิทธิ์ในการดำเนินงานธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเราจะได้รับค่าตอบแทนเรียกว่า “ค่าสิทธิ หรือ Royalty Fee”

การทำธุรกิจในรูปแบบนี้จะต้องเริ่มจากการหาคู่ค้าที่มีประสบการณ์ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การทำสัญญาเพื่อความร่วมมือทางธุรกิจ

ข้อดี : ทำให้มีการกระจายสินค้าของเราได้มากขึ้น โดยเราไม่ต้องลงทุนเปิดร้านในต่างประเทศเอง
เหมาะกับใคร : การฝากขายเหมาะกับผู้ที่ต้องการขยายตลาด และแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ โดยไม่ต้องลงทุนในการกระจายสินค้าด้วยตัวเอง
 

3. ธุรกิจลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment : FDI)

เป็นการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยที่เราจะเข้าไปเป็นเจ้าของธุรกิจเอง หรือสามารถร่วมทุนระหว่างเรากับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ มีการลงทุนทั้งในเรื่องเงิน ทรัพยากรบุคคล รวมไปถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การทำสัมปทานสร้างถนน ธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้า ธุรกิจสนามบิน ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และทางด่วน การทำธุรกิจในรูปแบบนี้เราจะต้องมีประสบการณ์ เงินทุน และความเชี่ยวชาญที่สามารถดำเนินการในโครงการขนาดใหญ่ได้

ข้อดี : ทำให้เราสามารถหาโอกาสในการทำธุรกิจขนาดใหญ่ ในประเทศที่กำลังพัฒนาได้
เหมาะกับใคร : การลงทุนทางตรงเหมาะกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากร และประสบการณ์ในการบริหารโครงการขนาดใหญ่
 
เตรียมพร้อมก่อนทำการค้าขายระหว่างประเทศ

5 สิ่งที่ต้องทำ เมื่ออยากขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

ก่อนที่เราจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ จะต้องเตรียมความพร้อมต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อให้การค้าขายระหว่างประเทศนั้นประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งสิ่งที่เราจะต้องวิเคราะห์ และศึกษาก่อนนั้น มีดังนี้
 

1. วิเคราะห์ความพร้อมของธุรกิจ

สำรวจก่อนว่าเรามีความพร้อมทางด้านการเงินสำหรับขยายธุรกิจในต่างประเทศในระดับไหน รวมไปถึงความพร้อมในด้านการผลิต จำนวนบุคคลากรที่เชี่ยวชาญในการสนับสนุนงานต่าง ๆ เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่า เราควรจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในรูปแบบใด
 

2. วิเคราะห์ตลาดประเทศเป้าหมาย

ศึกษา และสำรวจตลาดก่อนว่า ประเทศที่เราต้องการขยายธุรกิจไปนั้นมีศักยภาพในการขยายตัวมากแค่ไหน มีคู่แข่งเจ้าใดที่กำลังทำธุรกิจอยู่แล้ว และอย่าลืมที่จะสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคว่าเป็นอย่างไร ต้องมีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับลูกค้าในประเทศนั้นอย่างไรบ้าง และดูว่าการค้าขายระหว่างประเทศในรูปแบบไหนที่เหมาะสมกับตลาดในประเทศนั้นที่สุด
 
สิ่งที่ต้องทำ เมื่ออยากขยายธุรกิจไปต่างประเทศ
 

3. ศึกษากฎระเบียบและข้อกฎหมาย

แต่ละประเทศนั้นจะมีกฎระเบียบ และข้อกฎหมายธุรกิจที่แตกต่างกัน ตั้งแต่รูปแบบการจัดตั้งธุรกิจ การขอใบอนุญาตต่าง ๆ การจัดการด้านบัญชี และภาษี รวมไปถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องทราบในการทำธุรกิจ เช่น กฎหมายแรงงาน เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น กฎหมายฟิลิปปินส์ อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนได้ 100% ในเกือบทุกกิจการยกเว้นธุรกิจที่รัฐบาลกำหนดไว้ ในขณะที่อินโดนีเซียจะมีการจำกัดสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติ เช่น ธุรกิจสำหรับการจัดจำหน่าย และการกักเก็บสินค้า นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้ ในสัดส่วนที่ไม่เกิน 33% ดังนั้น เราจึงต้องศึกษากฎหมายธุรกิจในประเทศนั้น ๆ ให้เข้าใจก่อนตัดสินใจในการทำธุรกิจเสมอ

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษา มุมมอง และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวกกับภูมิภาคอาเซียน สามารถรับชมรายการ Krungsri เซียน ASEAN มองอาเซียนอย่างเซียน ตอนที่ 3 เซียนคู่ค้า พร้อมพาธุรกิจของคุณเติบโตไปพร้อมกัน

 

4. การวางแผนด้านการเงิน

ควรศึกษาและสำรวจค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ในกรณีส่งออกสินค้า เราจะต้องทราบค่าใช้จ่าย ๆ ดังนี้
  • ค่าขนส่งสินค้าตามช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกทางเรือ ทางรถ หรือทางเครื่องบิน
  • ค่าธรรมเนียม และภาษีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการส่งออก
  • ค่าใช้จ่ายที่อยู่ในข้อกำหนดในการส่งสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (International Commercial Terms หรือ INCOTERMS) เช่น ค่าชดเชยความเสียหายในกรณีที่สินค้าเกิดการเสียหาย หรือสูญหายระหว่างการจัดส่ง ค่าประกันภัยสำหรับสินค้า ฯลฯ

ซึ่งเราจะต้องนำแผนด้านการเงินไปศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และวางแผนในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการขยายตลาด รวมถึงการจัดการวางแผนภาษีสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นตามรูปแบบของการค้าขายระหว่างประเทศ
 

5. มีพาร์ตเนอร์ที่เชี่ยวชาญรอบรู้รอบด้าน

นอกจากนี้เราควรจะมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่มีความเข้าใจในเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศ มีเครือข่ายธุรกิจ ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ที่สามารถแนะนำเราให้สามารถทำธุรกิจในต่างประเทศได้ และช่วยทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพจนบรรลุถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้
 
การส่งออกสินค้าไปยังประเทศในอาเซียน

ขยายธุรกิจในอาเซียนต้องไปกับ Krungsri

หากต้องการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนในอาเซียน กรุงศรี พร้อมพาธุรกิจคุณก้าวสู่อาเซียนอย่างมั่นใจ โดยมีโซลูชันที่พร้อมเชื่อมต่อกับคู่ค้าต่างแดนผ่าน “Krungsri ASEAN LINK” ซึ่งเป็นบริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจในธุรกิจและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจไปในประเทศต่าง ๆ อาเซียน ที่แตกต่างและหลากหลาย
 

จุดเด่นของ Krungsri ASEAN LINK

  • การให้ข้อมูลข่าวสาร : เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจถึงโอกาส และความท้าทายในตลาด ASEAN พร้อมเป็น Center Excellence ให้ลูกค้า
  • ร่วมพัฒนาธุรกิจ : ช่วยปลดล็อกศักยภาพ และพัฒนาธุรกิจโดยดึงจุดแข็งของลูกค้าออกมา ชี้ให้เห็นโอกาสและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
  • คัดสรรพันธมิตร : คัดสรรและจับคู่ลูกค้า กับคู่ค้าหรือผู้ร่วมลงทุนที่เหมาะสม และเป็นจุดที่ Krungsri ASEAN LINK ให้ความสำคัญมาก
  • เชื่อมโยงเครือข่าย : ด้วยเครือข่ายที่แข็งแกร่งของกรุงศรี และ MUFG หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก ครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศ ในภูมิภาค ASEAN

การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศนั้นเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของเราเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตามก่อนที่เราจะเราลงทุนในต่างประเทศ เราควรจะเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับศักยภาพ และเป้าหมายทางธุรกิจ รวมถึงศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ อีกด้วย


อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา