7 เคล็ดลับ ปรับโครงสร้างหนี้ พิชิตวิกฤตหนี้สินได้แบบง่าย ๆ
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

7 เคล็ดลับ ปรับโครงสร้างหนี้ พิชิตวิกฤตหนี้สินได้แบบง่าย ๆ

icon-access-time Posted On 20 ตุลาคม 2567
By Krungsri The COACH
ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ ทำให้หลายคนต้องเผชิญกับปัญหารายรับที่ลดลง สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค หรือแม้แต่ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน ส่งผลให้ภาระหนี้ต่าง ๆ ที่เคยจัดการผ่อนชำระได้ ในเวลานี้กลับเปลี่ยนไป จากที่เคยจ่ายหนี้ได้ตรงเวลา กลับกลายเรื่องยากลำบาก บางเดือนอาจจะจ่ายได้ไม่ครบ บางเดือนอาจต้องผิดนัดชำระ หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจถึงขั้นที่ไม่มีเงินจ่ายหนี้เลย ปัญหาเหล่านี้จึงไม่ควรเก็บไว้คนเดียว ทางออกที่ดีที่สุดคือการปรึกษาธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่เพื่อให้คนที่มีหนี้สามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

วันนี้ Krungsri The COACH ขอแนะนำแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ กับเคล็ดลับ 7 วิธี เพื่อให้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เบาลง ที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างราบรื่น

การปรับโครงสร้างหนี้ คืออะไร

7 วิธี เพื่อให้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เบาลง

การปรับโครงสร้างหนี้ คือ การที่ลูกหนี้และธนาคารหรือสถาบันการเงินหารือร่วมกัน เพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้เดิมให้สอดคล้องกับปัญหาทางการเงินของลูกหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ลูกหนี้มีรายได้ลดลง หรือประสบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ตามสัญญาเดิม

7 เคล็ดลับปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนสายเกินแก้

เมื่อลูกหนี้ประสบกับวิกฤตทางการเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ธนาคารหรือสถาบันการเงินก็จะมีวิธีปรับโครงสร้างหนี้ โดยมี 7 ทางออก ดังต่อไปนี้
 

1. เปลี่ยนประเภทหนี้

หากกำลังแบกภาระหนี้โดยจ่ายขั้นต่ำอยู่หลายบัญชี การเปลี่ยนประเภทหนี้อาจเป็นทางออกที่น่าสนใจ เพราะส่วนใหญ่หนี้ที่กำหนดให้จ่ายขั้นต่ำได้จะเรียกเก็บดอกเบี้ยค่อนข้างสูง โอกาสที่จะปลดหนี้ยิ่งเป็นไปได้ยาก การนำหนี้ที่จ่ายขั้นต่ำ และมีดอกเบี้ยสูงหลาย ๆ ก้อน ไปรวมเป็นสินเชื่อประเภทอื่นที่มีกำหนดระยะเวลาชำระ (Term Loan) ที่แน่นอน เช่น สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่อการรวมหนี้ จะช่วยให้เรากำหนดอิสรภาพทางการเงินได้ดีกว่า

ข้อดี : มีกำหนดเวลาการชำระคืนที่ชัดเจน และมีค่างวดต่อเดือนลดลงจากเดิม ทำให้บริหารจัดการและการติดตามสถานะหนี้สินเป็นไปได้สะดวกมากขึ้น

วิธีนี้เหมาะกับ :
  • ผู้ที่ยังพอจ่ายหนี้ไหว แต่อยากลดภาระค่างวดต่อเดือน เพื่อให้ผ่อนชำระได้อย่างสบายยิ่งขึ้น
  • ผู้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ และต้องการปิดหนี้ตามแผนกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ที่แน่นอน
 

2. Hair Cut

Hair Cut คือ การเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อมีเป้าหมายเพื่อปิดบัญชีหนี้ทันที ด้วยเงินก้อนที่ลูกหนี้พอจะสามารถทำการปิดบัญชีได้บ้าง โดยแทนที่จะจ่ายหนี้เต็มจำนวน สถาบันการเงินอาจเสนอทางเลือกต่าง ๆ เช่น ลดดอกเบี้ย หรือลดทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้และเจ้าหนี้ก็ได้รับเงินคืนบางส่วน ซึ่งดีกว่าการปล่อยให้กลายเป็นหนี้สูญ

ข้อดี : ช่วยปิดจบหนี้สินได้เร็วขึ้น ไม่ต้องกังวลปัญหาจากดอกเบี้ยสะสม

วิธีนี้เหมาะกับ : ลูกหนี้ที่มีโอกาสได้รับเงินก้อนเข้ามา เช่น มรดกหรือโบนัส และต้องการใช้โอกาสนี้ปิดจบหนี้

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น Krungsri The COACH แนะนำอ่านบทความเพิ่มเติม เคลียร์หนี้แบบล้างกระดาน ด้วยวิธีปรับโครงสร้างหนี้ แบบ “แฮร์คัท”
 
การปรับโครงสร้างหนี้ คืออะไร
 

3. รีไฟแนนซ์

การรีไฟแนนซ์เป็นการปิดหนี้เจ้าหนี้เก่า แล้วไปกู้เงินจากเจ้าหนี้รายใหม่ เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง หรือเงื่อนไขการผ่อนชำระที่ดีกว่าเดิม

ข้อดี : ช่วยลดภาระดอกเบี้ยในระยะยาว และยังสามารถเจรจาเพื่อขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระ หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินยิ่งขึ้น

วิธีนี้เหมาะกับ :
  • ผู้ที่มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบหรือบัตรกดเงินสดหลายก้อน และต้องการลดอัตราดอกเบี้ยให้เบาลง
  • ผู้ที่ต้องการลดความซับซ้อนในการชำระหนี้สิน เพราะการรวมหนี้เป็นก้อนเดียวจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการหนี้สินได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้

การรีไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลจะช่วยลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยได้อย่างมาก หากสนใจรีไฟแนนซ์ Krungsri The COACH ขอแนะนำ สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล บริการรวมยอดหนี้ เพื่อรวมหนี้ก้อนเล็กก้อนน้อยให้เป็นก้อนเดียว ช่วยให้บริหารจัดการเงินได้ง่ายขึ้น แถมยอดผ่อนต่อเดือนก็ลดลง ใช้ชีวิตคล่องตัวขึ้น ไม่ต้องปวดหัวกับการจ่ายหลายบิลอีกต่อไป จ่ายที่เดียวจบ สบายใจกว่าเยอะ
 
สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล บริการรวมยอดหนี้

*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว | อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกปกติ 21% - 25% ต่อปี
**ศึกษารายละเอียด เงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพิ่มเติมที่ www.krungsri.com
 

4. ขอลดดอกเบี้ย

เมื่อรู้ตัวว่าการเงินเริ่มตึงมือ หรือจ่ายหนี้ไม่ไหว การขอลดดอกเบี้ยเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยได้ เพียงเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเป็นการชั่วคราว ในระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน

ข้อดี : ช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อเดือนให้น้อยลงทันที ตามกำหนดวันที่ธนาคารมีการอนุมัติ และเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงก็จะทำให้มีเงินเหลือเพื่อนำไปใช้สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ ก่อน

วิธีนี้เหมาะกับ :
  • ผู้ที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะสั้น เพื่อนำเงินไปใช้ในเรื่องเร่งด่วนอื่น ๆ
  • ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทำให้ขาดรายได้หรือทรัพย์สินได้รับความเสียหาย เช่น น้ำท่วม เป็นต้น
 
เคล็ดลับปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนสายเกินแก้
 

5. พักชำระเงินต้น เพื่อจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย

เมื่อการเงินสะดุด ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด การขอพักชำระเงินต้น คือทางออกที่ช่วยให้พักหายใจได้คล่องขึ้น เพราะจะเป็นการขอจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยก่อน ส่วนเงินต้นนั้นพักไว้ โดยมักจะได้รับการอนุมัติให้พักชำระประมาณ 3 - 6 เดือน ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนให้น้อยลงได้ดียิ่งขึ้น

ข้อดี : ลดภาระค่าใช้จ่ายรายเดือน เพราะไม่ต้องจ่ายเงินต้น ช่วยให้มีเงินเหลือสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งนำไปใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

วิธีนี้เหมาะกับ :
  • ผู้ที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว หรือธุรกิจกำลังประสบปัญหา แต่คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ และจะกลับมาชำระหนี้ตามเดิมได้ในเวลาไม่เกิน 6 เดือน
  • ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทำให้ขาดรายได้หรือทรัพย์สินได้รับความเสียหาย เช่น น้ำท่วม เป็นต้น
 

6. ขยายเวลาชำระหนี้

เมื่อเริ่มรู้สึกว่าหนี้สินเริ่มเป็นภาระหนักอึ้งเกินจะแบกรับไหว การขอขยายเวลาชำระหนี้ คือทางเลือกหนึ่งที่ช่วยได้ โดยเป็นการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอยืดระยะเวลาผ่อนทั้งหมดออกไป เช่น จากเดิมต้องผ่อนหมดภายใน 5 ปี สามารถเจรจาขอขยายเวลาเป็น 7 ปี หรือ 10 ปี ทำให้การผ่อนแต่ละงวดมีจำนวนยอดผ่อนที่น้อยลง

ข้อดี : การขยายเวลาชำระหนี้ทำให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลง ผ่อนสบายขึ้น ไม่ตึงมือ ทำให้สามารถบริหารจัดการเงินได้คล่องขึ้น เพราะจะช่วยลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนลดลง

วิธีนี้เหมาะกับ :
  • ผู้ที่ยังพอจะมีกำลังผ่อนชำระอยู่บ้าง แต่อยากลดภาระค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนให้น้อยลง เพื่อให้มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้น
  • ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างหนัก และจำเป็นต้องแบ่งเงินมาใช้ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่เป็นอันดับแรก ก็จะเหมาะกับการขยายเวลาชำระหนี้ เนื่องจากสามารถลดภาระการผ่อนจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนได้
 

7. พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย

เมื่อสถานการณ์ทางการเงินเข้าขั้นวิกฤต การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเปรียบเสมือนการกดปุ่มหยุดชั่วคราวให้กับภาระหนี้สิน เพราะไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น ในช่วง 3 เดือน หรือ 6 เดือน

ข้อดี : ช่วยให้มีเวลาตั้งหลักในการวางแผนการเงิน และฟื้นฟูสถานะทางการเงินให้กลับมามีสภาพคล่องอีกครั้ง

วิธีนี้เหมาะกับ :
  • ผู้ที่กำลังเผชิญวิกฤตทางการเงินอย่างหนัก เช่น ผู้ที่ตกงานกะทันหัน ประสบอุบัติเหตุร้ายแรง หรือธุรกิจล้มละลาย จนทำให้ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้
  • ผู้ที่ต้องการระยะเวลาในการปรับปรุงสถานะทางการเงิน ก่อนกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
  • ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง เช่น น้ำท่วมหนัก จำเป็นจะต้องใช้เงินและระยะเวลาในการฟื้นตัว จึงไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย
 
เคล็ดลับปรับโครงสร้างหนี้แบบง่าย ๆ

สำหรับลูกค้าสินเชื่อของกรุงศรีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2567 ทำให้ขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้ที่มีอยู่ ทางกรุงศรีได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกค้า SME และลูกค้ารายย่อยเป็นกรณีพิเศษ ครอบคลุมทั้งธนาคารและบริษัทในเครือ สามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2567
 
การปรับโครงสร้างหนี้

Krungsri The COACH ขอแนะนำว่า การปรับโครงสร้างหนี้เป็นทางเลือกที่สามารถช่วยให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ทางการเงินได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น และยังช่วยป้องกันปัญหาหนี้เสีย รวมไปถึงการถูกฟ้องร้องในอนาคต ที่สำคัญที่สุด คือช่วยให้มีโอกาสกลับมาสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย ดังนั้น หากใครที่ต้องเผชิญวิกฤตทางการเงิน จนหาทางออกในการจัดการหนี้สินไม่ได้ ก็ขอให้เปิดใจเข้ามาคุยกับธนาคารก่อน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน และอย่าปล่อยให้ปัญหาหนี้สินลุกลามจนสายเกินแก้


อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา