ภูมิภาคอาเซียนนับเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่น และกลายเป็นจุดหมายสำคัญในการเข้าไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางด้านธุรกิจ อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจในอาเซียนนั้นก็ยังมีความท้าทายในเรื่องของวัฒนธรรมที่หลากหลายของประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความคิด การดำรงชีวิต และความต้องการของ
ประชากรอาเซียนที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้าใจ เราจึงจำเป็นจะต้องศึกษาวัฒนธรรมอาเซียนไปด้วย โดย Krungsri The COACH จะสรุปให้เข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นฐานของแต่ละประเทศ เพื่อให้ทุกคนสามารถวางแผนทำธุรกิจได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น
รู้จักองค์ประกอบของวัฒนธรรม
ก่อนที่เราจะเข้าไปทำธุรกิจในอาเซียน เราจะต้องเข้าใจวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนในแต่ละประเทศเป็นอันดับแรก ซึ่งวัฒนธรรม หมายถึง ความรู้ ความเชื่อ ค่านิยม และขนบธรรมเนียม ที่กลายเป็นบรรทัดฐานร่วมกันของกลุ่มบุคคลซึ่งจะนำไปสู่แนวทางในการปฏิบัติต่าง ๆ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ด้าน คือ
- ภาษา ซึ่งรวมไปถึงลักษณะของการแสดงออกในการสื่อสาร เช่น สีหน้าท่าทาง การสบตา
- ศาสนา รวมไปถึงความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งคนในสังคมนั้น ๆ ให้ความเคารพ และยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
- ค่านิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในสังคมนั้น ๆ มองว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการปฏิบัติ
สัมผัส 5 มุมมองวัฒนธรรมในอาเซียน พร้อมเทคนิคในการทำธุรกิจ
มาดูตัวอย่าง 5 ประเทศเด่น ๆ ในอาเซียนกันว่า หากเราจะไปทำธุรกิจในประเทศเหล่านี้ เราควรจะเข้าใจวัฒนธรรมเรื่องอะไร และมีเทคนิคไหนที่จะตอบโจทย์การทำธุรกิจในประเทศนั้น ๆ
1. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
ภาษา : คนลาวโดยส่วนใหญ่มีความเข้าใจภาษาไทยเป็นอย่างดี สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ แต่ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการยังคงต้องใช้ภาษาลาวอยู่
ศาสนา : คนลาวโดยส่วนใหญ่เป็นคนพุทธ แต่ก็มีบางส่วนที่นับถือในความเชื่อท้องถิ่น คนไทยจึงสามารถเข้าใจประเพณี และวิถีทางศาสนาของคนลาวได้ไม่ยาก
ค่านิยม : คนลาวนั้นมีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย อยู่ในสังคมที่ไม่เร่งรีบ ชอบใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ และชอบคนที่จริงใจ
เทคนิคสำคัญในการทำธุรกิจ
โดยส่วนใหญ่แล้วคนลาวคุ้นเคยกับสินค้าไทยเป็นอย่างดี สามารถใช้สินค้า และอ่านรายละเอียดภาษาไทยได้ ดังนั้นในการประชาสัมพันธ์สินค้าก็สามารถใช้สื่อโทรทัศน์ และวิทยุของไทยร่วมกับสื่อท้องถิ่นของลาวได้ นอกจากนี้คนลาวมักจะซื้อของทีละน้อยแต่ซื้อบ่อย ๆ จึงต้องออกแบบสินค้าให้มีขนาดพอดี ราคาสมเหตุสมผล หรือ
สร้างกลยุทธ์การตลาดแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำจนกลายเป็นลูกค้าประจำ
2. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ภาษา : ใช้ภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาราชการ
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
ค่านิยม : ค่านิยมหลักของคนอินโดนีเซียผูกพันกับคำสอนทางศาสนาอิสลาม และศาสนาก็มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งกายที่ต้องมิดชิด เรียบร้อย หรือการที่คนอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับช่วงเทศกาลถือศีลอด เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งที่นักธุรกิจต้องรู้ คือ อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ “กฎหมายอิสลาม” ดังนั้น นักธุรกิจจากต่างแดนจึงต้องศึกษา และปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
เทคนิคสำคัญในการทำธุรกิจ
การทำธุรกิจในอินโดนีเซียจะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า สิ่งใดที่สามารถทำได้ และสิ่งใดที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น การนำสินค้าเข้าไปขายจะต้องตรงตามมาตรฐานฮาลาล และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะรบกวนในช่วงเวลาที่กำลังละหมาด นอกจากนี้ สำหรับนักธุรกิจที่ต้องติดต่อธุรกิจกับภาครัฐหรือคนอินโดนีเซีย หากสวมใส่ “ผ้าบาติก” (Batik) ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายพื้นเมืองของคนอินโดนีเซีย ก็จะสามารถซื้อใจ และช่วยให้ติดต่อธุรกิจได้ราบรื่นมากขึ้น
3. ราชอาณาจักรกัมพูชา
ภาษา : ภาษากัมพูชาถูกใช้เป็นภาษาราชการ และภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีคนกัมพูชาหลายคนที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้
ศาสนา : ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีวัฒนธรรม และประเพณีที่คล้ายกับคนไทย
ค่านิยม : คนกัมพูชาเป็นคนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของตัวเองมาก ๆ
เทคนิคสำคัญในการทำธุรกิจ
เนื่องจากไทยและกัมพูชามีอาณาเขตชายแดนที่ติดต่อกันเป็นแนวยาว ทำให้สินค้าจากไทยสามารถกระจายเข้าสู่ตลาดกัมพูชาได้เป็นจำนวนมาก เช่น สบู่ ยาสีฟัน เครื่องสำอาง และสินค้าแฟชั่นต่าง ๆ โดยสินค้าที่จะตีตลาดในประเทศกัมพูชาได้ จะต้องทำให้เห็นถึงการใช้งานที่คุ้มค่า และมีราคาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ในการเจรจาธุรกิจ หากผู้ประกอบการสามารถฝึกพูดภาษากัมพูชาเบื้องต้นเพื่อสร้างความประทับใจได้ เช่น การกล่าวทักทาย คำว่า “ซัวสเด” แปลว่า สวัสดี แต่อย่างไรก็ตามคนกัมพูชานิยมเจรจาติดต่อทางธุรกิจแบบพบปะเจอหน้ากัน และควรมีล่ามไปด้วย เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง
4. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ภาษา : ใช้ภาษาเวียดนามเป็นภาษาราชการ
ศาสนา : มีความเชื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ รวมไปถึงความเชื่อในท้องถิ่น
ค่านิยม : คนเวียดนามทางตอนเหนือ จะมีค่านิยมในการทำงานแบบเน้นความเป็นทางการ และยึดระบบอาวุโสในที่ทำงาน ในขณะที่คนเวียดนามที่อยู่ทางใต้จะมีค่านิยมในการทำงานที่มีความคล่องตัวมากกว่า และการตัดสินใจในด้านธุรกิจต่าง ๆ จะมีความยืดหยุ่นกว่าคนทางเหนือ
เทคนิคสำคัญในการทำธุรกิจ
ในปัจจุบันเราสามารถติดตามเทรนด์ธุรกิจ และนำเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงลูกค้าคนเวียดนามได้ เช่น การขายของผ่าน Platform ต่าง ๆ นอกจากนี้คนเวียดนามยุคใหม่ยังให้ความสำคัญกับความงาม ความทันสมัย การทำตามเทรนด์ รวมไปถึงแฟชั่น ธุรกิจต่าง ๆ จึงนิยมการใช้ KOL และ Influencer หรือเพลงใหม่ ที่ฮิตติดชาร์ตมาใช้ทางธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงคนเวียดนามได้มากขึ้น
5. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
ภาษา : เดิมฟิลิปปินส์ถูกปกครองโดยสหรัฐอเมริกา จึงทำให้คนฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลในการใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก สามารถพูดทั้งภาษาตากาล็อกซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ และภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี
ศาสนา : คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์
ค่านิยม : คนฟิลิปปินส์จะมีความคล้ายคลึงกับคนไทยที่ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา มีอุปนิสัยรักสนุก ชอบการเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อน ๆ นอกจากนี้ยังมีค่านิยม บายานีฮัน (Bayanihan) คือ จิตวิญญาณร่วม ที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีความสามัคคี และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เทคนิคสำคัญในการทำธุรกิจ
เนื่องจากคนฟิลิปปินส์จะให้ความสำคัญกับคนใกล้ชิด และนิยมพบหน้ากันมากกว่าจะส่งข้อความหากันเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้คนฟิลิปปินส์มักจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันด้วยความสนุกสนานเสมอ ดังนั้นเราสามารถจัดกิจกรรมทางการตลาดกับคนฟิลิปปินส์ ผ่านการจัดงานคอนเสิร์ต เทศกาลอาหาร หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสินค้าหรือบริการของเรา เพื่อให้คนฟิลิปปินส์พาเพื่อนและครอบครัวออกมาสังสรรค์ร่วมกันในงาน
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเตรียมความพร้อม ก่อนบุกตลาดอาเซียน สามารถรับชมคลิป
Krungsri เซียน ASEAN มองอาเซียนอย่างเซียน ตอนที่ 1 เซียนวัฒนธรรม ที่พร้อมจะพาทุกคนไปทำธุรกิจในอาเซียนร่วมกัน
สนใจขยายธุรกิจในอาเซียนต้องไปกับ Krungsri
เนื่องจากธนาคารกรุงศรี เป็นธนาคารแห่งภูมิภาคที่มีเครือข่ายพันธมิตร 9 ประเทศในอาเซียน โดยสามารถให้บริการลูกค้าที่ต้องการขยายกิจการไปยังภูมิภาคอาเซียนได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนในอาเซียน กรุงศรีพร้อมพาธุรกิจของคุณก้าวสู่อาเซียนอย่างมั่นใจ โดยมีโซลูชันที่พร้อมเชื่อมต่อกับคู่ค้าต่างแดน ผ่านบริการ “
Krungsri ASEAN LINK” เพื่อเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมในอาเซียนที่แตกต่าง และหลากหลาย นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณวางแผนการตลาดที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม และค่านิยมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศได้อีกด้วย
ก่อนที่เราจะเข้าไปเริ่มธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เราก็ควรจะศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของประเทศนั้น ๆ เพื่อที่จะช่วยลดความเสี่ยง สามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาวได้
อ้างอิง