เสริมทัพธุรกิจให้แกร่งในอาเซียน ผ่านกฎหมายธุรกิจที่ควรรู้
รอบรู้เรื่องธุรกิจ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เสริมทัพธุรกิจให้แกร่งในอาเซียน ผ่านกฎหมายธุรกิจที่ควรรู้

icon-access-time Posted On 20 พฤศจิกายน 2567
By Krungsri The COACH
ปัจจุบันการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียนถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับบรรดานักลงทุน เนื่องจากภูมิภาคนี้มีการเจริญเติบโตของตลาดและประชากรอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ส่งผลให้มีการพัฒนานโยบายการค้าร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ภูมิภาคนี้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นลงทุนธุรกิจในภูมิภาคนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็มีกฎหมายธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจและสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ ดังนั้นการศึกษากฎหมายของแต่ละประเทศให้เข้าใจก่อนเริ่มทำธุรกิจ จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ และช่วยให้ธุรกิจดำเนินการอย่างถูกต้อง รวมไปถึงสิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนที่แต่ละประเทศจะมอบให้นักลงทุน วันนี้ Krungsri The COACH จะพาทุกคนไปรู้จักกับความสำคัญของกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน มีอะไรบ้างที่เราควรรู้

4 เรื่องต้องรู้ก่อนทำธุรกิจในอาเซียน

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนทำธุรกิจในอาเซียน

ก่อนที่เราจะไปเจาะลึกเกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจ Krungsri The COACH จะพาทุกคนมาดูเรื่องที่ต้องรู้และเตรียมตัวก่อนทำธุรกิจในอาเซียน เพื่อให้ทุกคนสามารถวางแผนต่อยอดธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมั่นใจ
 

1. ความเป็นไปได้ของธุรกิจ

ในการขยายธุรกิจไปยังอาเซียน เราควรเริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศ เช่น เราอาจจะศึกษาข้อมูลว่ารัฐบาลของประเทศนั้น ๆ มีการส่งเสริมให้นักลงทุนชาวต่างชาติสามารถทำธุรกิจหรือเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ เรายังต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อจำกัดในการลงทุนของประเทศนั้น ๆ ด้วย เช่น กฎหมายที่บอกว่านักลงทุนชาวต่างชาติถือหุ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ สามารถนำเข้าและส่งออกสินค้าอะไรได้บ้าง
 

2. การจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคล

หลังจากที่เราเตรียมความพร้อมด้านการทำธุรกิจแล้ว ให้เราศึกษาวิธีการจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลในประเทศที่ต้องการ โดยต้องตรวจสอบว่าธุรกิจของเราสามารถจัดตั้งเป็นองค์กรธุรกิจในรูปแบบไหนได้บ้าง เช่น บริษัทจำกัด บริษัทหุ้นส่วนจำกัด หรือสาขาของบริษัทต่างชาติ และธุรกิจของเราจำเป็นต้องขออนุญาตในการประกอบกิจการหรือไม่ เช่น เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน สุขภาพ หรือพลังงาน
 

3. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หลังจากที่เราศึกษาข้อมูลการจัดตั้งบริษัทแล้ว ให้เราทำการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในประเทศนั้น ๆ เช่น กฎหมายแรงงาน ว่าเราได้สิทธิ์อะไรบ้างและเราต้องให้สิทธิ์อะไรกับลูกจ้าง รวมถึงมีภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในต่างประเทศอะไรบ้างที่เราต้องจ่าย นอกจากนี้ ในบางประเทศยังมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัด ซึ่งการที่เราทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายไม่เพียงช่วยป้องกันปัญหาทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจและความมั่นใจให้กับคู่ค้าหรือลูกค้าได้อีกด้วย
 

4. การแลกเปลี่ยนเงิน และข้อบังคับ

สิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจ คือ การได้ผลตอบแทน โดยเราต้องศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการส่งผลกำไรกลับมายังประเทศของเรา ซึ่งเราต้องมั่นใจว่าทำตามกฎ และมีการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ธุรกิจของเราสามารถสร้างกำไรได้อย่างยั่งยืน

กฎหมายธุรกิจน่ารู้ของ 3 ประเทศอาเซียนดาวรุ่ง

กฎหมายน่ารู้ของประเทศในอาเซียน

ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีการเติบโตและน่าลงทุนเป็นอย่างมาก โดยบทวิเคราะห์จากวิจัยกรุงศรีคาดว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศในอาเซียนมีการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและส่งผลให้ตลาดมีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะยังคงไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว จึงทำให้ประเทศในอาเซียนเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน ซึ่งประเทศดาวรุ่งในอาเซียนที่มีการเติบโตและน่าลงทุนอย่างมากในตอนนี้ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย วันนี้เราจึงจะขอมาเจาะลึกกฎหมายธุรกิจของ 3 ประเทศนี้ เพื่อให้นักลงทุนได้พิจารณากัน

กฎหมายธุรกิจของเวียดนาม

กฎหมายธุรกิจประเทศเวียดนาม

เวียดนาม เป็นประเทศที่ตลาดหุ้นกำลังเติบโต ประชากรในประเทศอายุยังน้อยแต่มีกำลังซื้อ และได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังได้ออกกฎหมายกระตุ้นการลงทุนและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ ทำให้เป็นตลาดที่มาแรง และได้รับความนิยมสูงในบรรดานักลงทุน สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในประเทศเวียดนามควรรู้กฎหมาย ดังนี้
 

กฎหมายการลงทุน

กฎหมายเวียดนามอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้เกิน 49% ในตลาดหลักทรัพย์ หากไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมที่จำกัด และนักลงทุนต่างชาติแต่ละราย สามารถครอบครองสิทธิ์ได้ไม่เกิน 15% โดยนักลงทุนต่างชาติจะมีสิทธิ์ที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากการเวนคืนอย่างเป็นธรรม และสำหรับผู้ประกอบการชาวไทยจะได้รับสิทธิพิเศษในด้านภาษี ตามที่ทางรัฐบาลไทยได้มีการร่วมลงนามอนุสัญญากับรัฐบาลเวียดนามเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ความน่าสนใจในการลงทุนที่เวียดนาม คือเวียดนามเป็นเขตเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาเพื่อการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เน้นการลงทุนด้านการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ และเพื่อการส่งออก
 

กฎหมายพาณิชย์

สำหรับรูปแบบของการตั้งบริษัทในเวียดนาม นักลงทุนต่างชาติสามารถจัดตั้งได้ ได้แก่
  1. บริษัทจำกัด (Limited Liability Company) ในลักษณะผู้ถือหุ้นรายเดียวหรือมากกว่าสองรายขึ้นไปก็ได้ แต่ไม่เกิน 50 ราย
  2. บริษัทร่วมทุน (Shareholding or Joint-stock Company) เป็นบริษัทที่ต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 ราย โดยไม่จำกัดจำนวนสูงสุด
  3. ห้างหุ้นส่วนสามัญ (General Partnership) หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Liability Partnership)
  4. บรรษัทเอกชน (Private Enterprise) มีลักษณะคล้ายกับห้างที่มีผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียว
  5. สาขา (Branch)
  6. สำนักงานผู้แทน (Representative Office)
 

กฎหมายแรงงาน

บริษัทสามารถจ้างงานชาวเวียดนามได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ด้วยการจ้างโดยตรงหรือมอบหมายให้บริษัทจัดหางานของรัฐเป็นผู้จัดหา กรณีที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศหรือสำนักงานตัวแทน บริษัทจะต้องวางแผนฝึกอบรมและสามารถส่งแรงงานชาวเวียดนามไปฝึกในศูนย์ฝึกอบรมที่ต่างประเทศหรือในประเทศได้ ทั้งนี้เพื่อยกระดับความสามารถของคนงานทุกระดับในบริษัทและพัฒนาฝีมือแรงงานในประเทศเวียดนาม
 

กฎหมายที่ดิน

รัฐบาลเวียดนามไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติซื้อขายที่ดินในเวียดนาม แต่ให้สิทธิ์ในการเช่าที่ดินตามระยะเวลาของโครงการลงทุนที่ได้รับ โดยทั่วไปนักลงทุนต่างชาติจะได้รับสิทธิ์ในการเช่าที่ดินประมาณ 50 ปี แต่อาจขยายได้ถึง 70 ปี หากเป็นโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ

กฎหมายธุรกิจของฟิลิปปินส์

กฎหมายธุรกิจประเทศฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีแนวโน้มทางธุรกิจต่อเนื่องในระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ควรรู้กฎหมาย ดังนี้
 

กฎหมายการลงทุน

สิทธิพิเศษที่ฟิลิปปินส์ให้แก่นักลงทุนในอาเซียนในการเข้ามาจัดตั้ง บริษัทต่างชาติที่ไม่ใช่สายการผลิต สามารถใช้ประโยชน์จากการขอสินเชื่อในประเทศได้ในสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่ร้อยละ 50 กล่าวคือมีหนี้สินไม่เกินครึ่งหนึ่งของทุนบริษัท โดยการถือหุ้นของชาวต่างชาติจะต้องมีผู้จัดการสำนักงานเป็นคนฟิลิปปินส์ และให้ผู้จัดการคนดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่านั้น
  1. กฎหมายพาณิชย์ สำหรับรูปแบบของการตั้งบริษัทในฟิลิปปินส์ นักลงทุนต่างชาติสามารถจัดตั้งได้ กิจการที่เป็นเจ้าของคนเดียว (Sole Proprietorship) สำหรับชาวฟิลิปปินส์และต่างชาติ
  2. ห้างหุ้นส่วน (Partnerships) ทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (General Partnership) และห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership)
  3. บริษัทจำกัด (Corporations) ที่มีผู้ถือหุ้น 5 ถึง 15 คน หากมีชาวต่างชาติถือหุ้นเกินร้อยละ 40 จะจัดเป็นบริษัทต่างชาติ หากชาวต่างชาติถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 40 จัดเป็นบริษัทท้องถิ่น
 

กฎหมายแรงงาน

เจ้าของธุรกิจสามารถจ้างงานโดยลูกจ้างจะต้องทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และหากต้องทำงานในเวลากลางคืนตั้งแต่ 22.00 ถึง 06.00 น. ของอีกวัน ลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ส่วนผู้หญิงห้ามทำงานในเวลากลางคืน และต้องมีสุขาหญิง สถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานที่พักผ่อน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย
 

กฎหมายที่ดิน

ฟิลิปปินส์ให้คนที่มีสัญชาติฟิลิปปินส์เป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น และในกรณีของนิติบุคคล เช่น บริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ จะถือว่ามีสัญชาติฟิลิปปินส์ก็ต่อเมื่อมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติฟิลิปปินส์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

กฎหมายธุรกิจของอินโดนีเซีย

กฎหมายธุรกิจประเทศอินโดนีเซีย

อินโดนีเซีย เป็นประเทศสมาชิก G20 เพียงประเทศเดียวในอาเซียน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ จึงเป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติ สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในประเทศอินโดนีเซียควรรู้กฎหมาย ดังนี้
 

กฎหมายการลงทุน

ไม่ให้นักลงทุนต่างชาติและนิติบุคคลต่างชาติทำธุรกิจโดยตรงในประเทศอินโดนีเซีย แต่จะกำหนดให้การลงทุนสามารถเปิดบริษัทได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทจำกัดภายใต้กฎหมายอินโดนีเซีย (Perseroan Terbatas (“PT”)) โดยมักจะเรียกกันในนามว่าบริษัท PMA
 

กฎหมายพาณิชย์

กฎหมายอินโดนีเซียกำหนดรูปแบบองค์กรทางธุรกิจไว้หลายประเภท เช่น PT, บริษัทขนาดเล็ก (Firm), ห้างหุ้นส่วน (Partnership), ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Commanditaire Vennootschap), และสหกรณ์ (Cooperative) แต่นักลงทุนต่างชาติจะสามารถทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียได้โดยผ่าน PT เท่านั้น
 

กฎหมายแรงงาน

นายจ้างต้องมีการฝึกอบรมงานให้ลูกจ้าง มีประกันสังคม สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นไปตามค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยนายจ้างห้ามจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่าที่ผู้ว่าราชการที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้
 

กฎหมายที่ดิน

สามารถเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอินโดนีเซียได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ถือครองที่ดิน ยกเว้นถ้ามีหนังสืออนุญาตการทำงานจะได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของบ้านหรือห้องชุดได้
 
สรุปกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ

หลังจากที่เราได้รู้จักกฎหมายธุรกิจของประเทศต่าง ๆ กันไปแล้ว หากใครอยากรู้ว่าทั้ง 3 ประเทศนี้ มีความน่าสนใจในด้านอื่น ๆ อย่างไร แนะนำ เจาะลึก 3 ประเทศมาแรง โอกาสทองธุรกิจส่งออกสู่ ASEAN ได้เลย แต่ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนในอาเซียน กรุงศรีพร้อมพาธุรกิจของคุณก้าวสู่อาเซียนอย่างมั่นใจ ผ่านบริการ Krungsri ASEAN LINK ด้วยเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ครอบคลุมถึง 9 ประเทศ ในอาเซียน โดยมีโซลูชันที่พร้อมเชื่อมต่อกับคู่ค้าต่างแดน พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมในอาเซียนที่แตกต่างและหลากหลาย


อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา