บนโลกนี้ใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซื้อสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งการใช้เงินมีอยู่ 2 ประเภทคือ “ใช้เงินปัจจุบันเท่าที่มี” กับ “ใช้เงินอนาคตด้วยการกู้ยืมมา” โดยการใช้เงินปัจจุบัน มุ่งเน้นให้เก็บออมเงินจนครบก่อนแล้วค่อยนำเงินไปซื้อ แต่ในชีวิตจริงภาระค่าใช้จ่ายทั้งจำเป็นและฟุ่มเฟือยมีมากเหลือเกิน ทำให้ออมเงินไม่ครบซักที ประกอบกับแต่ละช่วงชีวิตมีรายได้และรายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน อย่างช่วงอายุ 20-35 ปีในวัยเริ่มต้นทำงาน จะเจอปัญหาเงินไม่พอใช้มากกว่าคนวัยอื่น จึงจำเป็นต้องใช้เงินอนาคตด้วยการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน เป็นต้น โดยทำสัญญาว่าจะใช้คืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนด ซึ่งเงินที่นำไปใช้คืนนั้นมาจากรายได้ในอนาคตนั่นเอง ผมถึงเรียกว่าเงินอนาคต
การใช้เงินอนาคตเป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้านมีทั้งดีและไม่ดี หากใช้เพื่อความจำเป็นในชีวิตถือเป็นเรื่องดี อย่างเช่น ซื้อบ้านไม่เกินฐานะ จ่ายค่ารักษาตัว หากใช้เพื่อหารายได้หรือลงทุนให้งอกเงยก็ถือเป็นเรื่องดีเหมือนกัน อย่างเช่น ขายของออนไลน์ ลงทุนคอนโดปล่อยเช่า แต่หากใช้เพื่อสิ่งฟุ่มเฟือยถือเป็นเรื่องไม่ดี อย่างเช่น ซื้อนาฬิกาหรูเกินฐานะ เที่ยวกลางคืนเป็นประจำ อย่างไรก็ตามในชีวิตจริงคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งฟุ่มเฟือยมักจะทำให้คนเรามีความสุข ดังนั้น ผมคิดว่าเดินทางสายกลางดีที่สุดคือ เราต้องหาจุดสมดุลของตนเองระหว่างการใช้เงินปัจจุบันกับการใช้เงินในอนาคต เอาที่คิดว่ามีเงินพอใช้ยามฉุกเฉินและยามเกษียณ ไม่เป็นหนี้มากเกินจนจ่ายไม่ไหวกินไม่ได้นอนไม่หลับครับ
ความท้าทายในสังคมไทยอย่างหนึ่งคือตอนเป็นเด็กคุณครูไม่เคยสอนเรื่องการใช้เงินอนาคต ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ผมว่าเกินครึ่งหนึ่งของคนไทยต้องเคยใช้บริการสินเชื่อ 4 ประเภทนี้ แล้วมีไม่น้อยที่เกิดปัญหาตามมา ได้แก่ เสียดอกเบี้ยแพง ไม่มีเงินเก็บ หาเงินมาจ่ายไม่ทัน และลุกลามจนเป็นหนี้เสีย ดังนั้น ผมจึงอยากชวนคุณมาเรียนรู้ให้เข้าใจมากขึ้นเพื่อใช้เงินอนาคตอย่างมีความสุข ดังนี้ครับ
|
สินเชื่อส่วนบุคคล |
บัตรเครดิต |
สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ |
สินเชื่อที่อยู่อาศัย |
รายได้ |
ขั้นต่ำ 5,000 บาท |
ขั้นต่ำ 15,000 บาท |
ไม่ระบุ |
ไม่ระบุ |
อายุ |
20-65 ปี |
20-65 ปี |
20-65 ปี |
20-65 ปี |
วงเงิน |
สูงสุดไม่เกิน 3-5 เท่าตามรายได้ |
สูงสุดไม่เกิน 1.5-5 เท่าตามรายได้ |
ได้สูงสุด 100% ของหลักประกัน |
ได้สูงสุด 100% ของราคาประเมิน |
จำนวนสินเชื่อ |
สูงสุด 3 สถาบัน |
ไม่มีกำหนด |
ไม่มีกำหนด |
ไม่มีกำหนด |
รายการใช้จ่าย |
ผ่อนสินค้า กดเงินสด |
ซื้อสินค้า ผ่อนสินค้า กดเงินสด |
ซื้อรถยนต์ |
ซื้อที่อยู่อาศัย |
การคิดดอกเบี้ย |
แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) |
แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) |
แบบคงที่ (Flat Rate) |
แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) |
เปรียบเทียบดอกเบี้ย |
สูงสุดลดต้นลดดอกไม่เกิน 28% ต่อปี |
สูงสุดลดต้นลดดอกไม่เกิน 18% ต่อปี |
สูงสุดลดต้นลดดอกปัจจุบัน 16% ต่อปี |
สูงสุดลดต้นลดดอกปัจจุบัน 14% ต่อปี |
ชำระแบบขั้นต่ำ |
5% ของหนี้คงค้าง |
10% ของหนี้คงค้าง |
ไม่มี |
ไม่มี |
ชำระแบบรายเดือน |
สูงสุด 60 เดือน |
สูงสุด 10 เดือน |
สูงสุด 84 เดือน |
สูงสุด 30 ปี |
- สินเชื่อส่วนบุคคล เข้าถึงง่ายมีคนใช้บริการเป็นจำนวนมากถึง 12.8 ล้านบัญชี เพราะรายได้ขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท มีความคล่องตัวสูงสามารถกดเงินสดเอาไปทำอะไรก็ได้ และมีความยืดหยุ่นในการชำระดีจ่ายขั้นต่ำเพียงแค่ 5% ของหนี้คงค้าง แต่ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึง 28% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่นพอสมควร
- บัตรเครดิต ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรมากถึง 20.3 ล้านบัญชีแต่เฉลี่ยแล้วมีคนละ 3 บัตร เพราะเข้าถึงได้เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทขึ้นไป เป็นบัตรที่มีความคล่องตัวสูงสุด เพราะนอกจากกดเงินสดได้แล้วยังรูดซื้อสินค้าได้ทุกที่ทั่วโลก มีความยืดหยุ่นในการชำระเงินปานกลางเพราะสามารถจ่ายขั้นต่ำที่ 10% ของหนี้คงค้าง และเสียดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้การรูดซื้อสินค้าแล้วชำระเต็มจำนวนก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเลย
- สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันและวัตถุประสงค์ชัดเจนว่านำไปซื้อรถยนต์ แม้ว่าจะไม่ระบุรายได้ขั้นต่ำชัดเจนแต่วงเงินอนุมัติสินเชื่อจะถูกพิจารณาจากรายได้เป็นหลัก ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่คิดจริงจะไม่สูงเหมือนในตารางด้านบนหากมีประวัติการชำระเงินที่ดี โดยอัตราดอกเบี้ยหลากหลายมากขึ้นอยู่กับรุ่นรถ อาชีพ ยอดเงินดาวน์ และระยะเวลาผ่อน นอกจากนี้การคำนวณดอกเบี้ยจะเป็นแบบคงที่ (Flat Rate) ไม่เหมือนกับสินเชื่อประเภทอื่น
- สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันและวัตถุประสงค์ชัดเจนว่านำไปซื้อที่อยู่อาศัย แม้ว่าจะไม่ระบุรายได้ขั้นต่ำชัดเจนแต่วงเงินอนุมัติสินเชื่อจะถูกพิจารณาจากรายได้เป็นหลัก ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่คิดจริงจะไม่สูงเหมือนในตารางด้านบนหากมีประวัติการชำระเงินที่ดี โดยอัตราดอกเบี้ยหลากหลายมากขึ้นอยู่กับโครงการ ประเภทอสังหาริมทรัพย์ อาชีพ และทำประกัน MRTA นอกจากนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกสุดหากไม่นับโปรโมชั่นผ่อน 0% และมีระยะเวลาผ่อนที่ยาวนานที่สุด ดูวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผ่อนบ้านได้ที่ลิงก์นี้
ตัวอย่างตารางเปรียบเทียบสินเชื่อเพื่อการบริโภค
|
สินเชื่อส่วนบุคคล |
บัตรเครดิต |
สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ |
สินเชื่อที่อยู่อาศัย |
ยอดขอสินเชื่อ |
50,000 บาท |
100,000 บาท |
800,000 บาท |
3,000,000 บาท |
อัตราดอกเบี้ย |
แบบลดต้นลดดอก 28% ต่อปี |
แบบลดต้นลดดอก 18% ต่อปี |
แบบคงที่ 3% ต่อปี |
แบบลดต้นลดดอก 5% ต่อปี |
ยอดชำระรายเดือน |
10% ของหนี้คงค้าง |
20% ของหนี้คงค้าง |
15,333 บาท |
16,105 บาท |
ระยะเวลาชำระ |
45 เดือน |
25 เดือน |
60 เดือน |
30 ปี |
ดอกเบี้ยรวม |
10,256 บาท |
5,890 บาท |
120,000 บาท |
2,797,674 บาท |
ดอกเบี้ยรวมต่อยอดกู้ |
20.5% |
5.9% |
15.0% |
93.3% |
สุดท้ายนี้ อยากฉายภาพให้เห็นว่าสินเชื่อแต่ละประเภทเสียดอกเบี้ยกันเท่าไร โดยขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย คือ ยอดขอสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย ยอดชำระรายเดือน และระยะเวลาชำระ ซึ่งสินเชื่อแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากตามตารางด้านบนส่งผลให้เสียดอกเบี้ยรวมไม่เท่ากัน ผมอยากให้การใช้เงินอนาคตให้ความสำคัญทั้ง “อัตราดอกเบี้ย” และ “ดอกเบี้ยรวมต่อยอดกู้” เพราะอัตราดอกเบี้ยบอกความถูกแพง และดอกเบี้ยรวมต่อยอดกู้บอกความหนักเบาของภาระดอกเบี้ย
ดังนั้น หากมีสินเชื่อทั้ง 4 ประเภทควรนำเงินไปชำระสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน และควรหาทางลดภาระสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย
การรีไฟแนนซ์ (Refinance: ย้ายไปธนาคารใหม่ที่เสนอโปรดอกเบี้ยต่ำกว่า) หรือรีเรท (Re-rate: อยู่ธนาคารเดิมแต่เปลี่ยนไปใช้โปรดอกเบี้ยต่ำกว่า) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่มากแต่ช่วยลดดอกเบี้ยได้เป็นแสนเลยครับ