จบทุกความเครียด แก้ปัญหาเงินไม่พอใช้ง่าย ๆ ด้วย 5 ขั้นตอน
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

จบทุกความเครียด แก้ปัญหาเงินไม่พอใช้ง่าย ๆ ด้วย 5 ขั้นตอน

icon-access-time Posted On 27 มิถุนายน 2567
By Krungsri The COACH
“เงินไม่พอใช้” จนทำให้ “หมุนเงินไม่ทัน” เป็นความเครียดที่พนักงานออฟฟิศหลายคนกำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาและเงินเฟ้อพุ่งสูง ทำให้ค่าครองชีพ ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น หลายคนจึงเกิดปัญหาาเงินเดือนไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทัน และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น การกู้หนี้นอกระบบ ที่อาจสร้างปัญหาหนี้สินไม่รู้จบ

ซึ่งหากใครที่กำลังเผชิญปัญหาเครียดเงินไม่พอใช้แบบนี้อยู่ ไม่ต้องกังวลใจไป วันนี้ Krungsri The COACH มีวิธีจัดการปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทันแบบง่าย ๆ มาฝาก โดยเรียงลำดับขั้นตอนมาให้แล้ว สามารถทำตามได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งจะมีขั้นตอนอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย!
แก้ปัญหาเงินไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทัน

5 ขั้นตอนง่าย ๆ แก้ปัญหาเงินไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทัน

1. ทําความเข้าใจสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองก่อน

1.1 ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ
ขั้นตอนแรก เราต้องมาสำรวจสถานะทางการเงินของตัวเองกันก่อน ว่ามีรายได้เท่าไหร่ และมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ทำให้เงินเดือนไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทันกัน ด้วยวิธีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ ทุกครั้งที่ได้รับเงินเดือนมาหรือจ่ายเงินออกไป ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ยิ่งเดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชันมากมายที่เข้ามาช่วยทำให้เราบันทึกรายรับ-รายจ่ายได้สะดวก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ทำได้ง่าย ๆ

ตัวอย่างแอปฯ ช่วยทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
  • Money Lover : แอปฯ ที่จะช่วยเราวางแผนการใช้จ่าย ตั้งงบประมาณ ติดตามค่าใช้จ่ายตามหมวดหมู่ แถมช่วยวิเคราะห์รายรับรายจ่ายให้เราอีกด้วย ตามสโลแกนที่ว่า “หนึ่งบาทที่ประหยัดกลายเป็นหนึ่งบาทที่เก็บได้”
  • Household Account Book : แอปฯ ช่วยบันทึกรายรับ-รายจ่ายน่ารักสไตล์ญี่ปุ่น ใช้งานง่าย มีฟีเจอร์บันทึกรายรับ-รายจ่าย และสรุปผลการใช้งาน
 
ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย

1.2 แยกประเภทของรายจ่ายต่าง ๆ และหนี้สิน
แม้เราจะกำลังเผชิญปัญหาเครียดเงินไม่พอใช้ จนไม่อยากรู้ว่ารายจ่ายของเราในแต่ละเดือนมากขนาดไหน ถึงทำให้เงินเดือนไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทัน แต่การแยกประเภทของรายจ่ายต่าง ๆ และหนี้สิน จะช่วยทำให้เราเห็นภาพรวมของค่าใช้จ่าย และสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเราสามารถแบ่งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ ดังนี้
  • ค่าใช้จ่ายจำเป็น ค่าใช้จ่ายที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าเดินทาง เป็นต้น
  • ค่าใช้จ่ายสร้างความสุข ค่าใช้จ่ายที่ช่วยให้เรามีความสุขและผ่อนคลาย เช่น ค่ากินข้าวนอกบ้าน ดูหนัง ซื้อของที่อยากได้ เป็นต้น
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการออม ที่ต้องกันไว้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ เช่น ค่าเล่าเรียนลูก ค่าประกันชีวิต หรือเงินออมเพื่อเกษียณอายุ เก็บเพื่อเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
  • หนี้สิน ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ หรือเงินกู้ต่าง ๆ
 

2. วางแผนการเงินใหม่ด้วยการกำหนดสัดส่วนค่าใช้จ่าย

เมื่อเราจำแนกประเภทรายจ่ายต่าง ๆ และหนี้สินแล้ว เราจะเริ่มเห็นว่าปัญหาเงินไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่วนไหนบ้าง จากนั้นเรามาลองวางแผนการเงินใหม่ ด้วยการแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายตาม “สูตร 50-30-20” กัน

ตัวอย่าง
เรามีเงินเดือน 30,000 บาท จะสามารถแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้วย “สูตร 50-30-20” ดังนี้
  • ก้อนแรก 50% เป็นเงินสำหรับใช้จ่ายจำเป็นและหนี้สินต่าง ๆ รวมกัน หรือจำนวน 15,000 บาท
  • ก้อนถัดมา 30% เป็นเงินสำหรับใช้เพื่อสร้างความสุข หรือจำนวน 9,000 บาท
  • ก้อนสุดท้าย 20% เป็นเงินเก็บออม หรือจำนวน 6,000 บาท
 
สัดส่วนค่าใช้จ่าย

โดยเราควรทบทวนสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่ยกตัวอย่างมานี้ทุกเดือน หรือเมื่อรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายมีการเปลี่ยนแปลงก็สามารถปรับสัดส่วนใหม่ให้เหมาะสมได้เลย ซึ่งถ้าเราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในสัดส่วนที่ตั้งไว้ได้ ก็มีโอกาสสูงที่จะแก้ปัญหาเงินไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทันได้
 

3. ปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายใหม่

หลังจากกำหนดสัดส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อลดปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้แล้ว สิ่งต่อมาที่ควรทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาเงินไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทัน คือ การปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะ “เรื่องบัตรเครดิต” เพราะปัญหาเครียดเงินไม่พอใช้ของหลายคนก็เกิดจากการรูดบัตรเครดิตเพลินจนต้องนำเงินเดือนปัจจุบันมาจ่ายหนี้บัตรฯ เก่า จนทำให้หมุนเงินไม่ทันในที่สุดนั่นเอง ซึ่งเราสามารถปรับพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตได้ ดังนี้

3.1. ไม่กดเงินสดจากบัตรเครดิต
ปกติแล้วบัตรเครดิตจะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยอยู่ เช่น 45 วัน หรือ 90 วัน แล้วแต่เงื่อนไข แต่เมื่อเบิกเงินสดออกมาดอกเบี้ยของบัตรเครดิตจะคิดเป็นรายวันทันที แถมต้องเสียค่าธรรมเนียมเบิกถอน 3% และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ด้วย ทำให้การแก้ไขปัญหาติดหนี้บัตรเครดิตเป็นเรื่องยากขึ้น

3.2. ชำระยอดเต็มจำนวนที่เรียกเก็บ แทนที่จะชำระขั้นต่ำ
สมมติว่าเราใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าไปราคา 10,000 บาท เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระ เราเลือกจ่ายแค่ขั้นต่ำ 5% คือ 500 บาท จะทำให้เรามีจำนวนหนี้เพิ่มมากขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ดังนี้
  • หนี้จากการซื้อสินค้า โดยคำนวณจากราคาสินค้า 10,000 บาททั้งจำนวน ที่เราให้ธนาคารออกเงินให้ร้านค้าก่อน โดยธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันย้อนไปถึงวันที่ได้ใช้บัตรแบบเต็มจำนวน
  • หนี้จากการจ่ายขั้นต่ำ โดยคำนวณจากเงินต้นคงเหลือหลังจากที่เราจ่ายขั้นต่ำ 500 บาท จากราคาสินค้า 10,000 บาทไปแล้ว เราจะเหลือเงินต้นคงเหลือ 9,500 บาท ธนาคารก็จะคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นก้อนนี้เป็นรายวันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดจ่ายบัตรเครดิตรอบถัดไป

ซึ่งหากเราไม่เคลียร์หนี้ก้อนนี้ในการชำระรอบหน้า การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตก็จะเป็นเรื่องยากมากขึ้น ยิ่งถ้าเรานำเงินเดือนมาจ่ายเงินส่วนนี้จนหมดก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้ตามมาได้อีกด้วย
 
จัดการภาระหนี้สินที่มีอยู่
 

4. จัดการภาระหนี้สินที่มีอยู่

เป็นการวางแผนเพื่อควบคุมและลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ เพื่อให้เราสามารถจ่ายหนี้ได้ตรงเวลา และหลีกเลี่ยงปัญหาทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ จนทำให้หมุนเงินไม่ทัน ซึ่งเราสามารถทำตามได้ ดังนี้

4.1. จัดลำดับความสำคัญของหนี้สิน
อาจพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ย หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงควรได้รับการชำระก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย จากนั้นเราค่อยวางแผนการชำระหนี้ โดยพิจารณาจากรายได้และค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ให้ไม่ให้กระทบจนเกิดปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้ตามมา โดยวิธีชำระหนี้ก็มีหลายแบบ เช่น อาจเลือกวิธีการชำระหนี้แบบต่าง ๆ เช่น ปลดหนี้ด้วยวิธี Snowball Method ชำระหนี้ที่มีวงเงินน้อยที่สุดก่อน จนค่อยไปถึงหนี้ก้อนใหญ่ หรือ Avalanche Method ชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยโดยรวม เป็นต้น

4.2 ลองเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้หรือขยายเวลา
ลองติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อขอเจรจาต่อรองการชำระหนี้ โดยไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินอาจมีเงื่อนไขในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงินหลายรูปแบบ เช่น ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รีไฟแนนซ์ ยืดระยะเวลาหนี้ พักชำระหนี้ชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ย หรืออื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการเจรจาร่วมกัน

และที่สำคัญที่สุด ก่อนตัดสินใจรับข้อเสนอในการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองให้ดีก่อน ไม่ต้องรีบร้อน ซึ่งวิธีนี้อาจจะช่วยทำให้ปัญหาเครียดเงินไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทันลดลงได้
 
จัดการความสามารถในการชำระหนี้
 

5. หาวิธีเพิ่มรายได้

แม้ว่าเราจะปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายและจัดการหนี้สินจนทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงมา และสามารถจบปัญหาเครียดเงินไม่พอใช้จนหมุนเงินไม่ทันได้บ้าง แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดคิดขึ้นมาอีก เราอาจจะไม่มีเงินสำรองเพียงพอในการใช้จ่ายจนทำให้เกิดปัญหาเครียดเงินไม่พอใช้จนทำให้หมุนเงินไม่ทันกลับมาอีกได้

ดังนั้น เพื่อความสบายใจมากขึ้นเราอาจจะต้องหาวิธีสร้างรายได้เสริม เพื่อสร้างเงินทุนสำรองสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและยามฉุกเฉินมากขึ้น ด้วยอาชีพฟรีแลนซ์นอกเวลางานประจำต่าง ๆ เช่น
  • ขายสินค้าออนไลน์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ซื้อ หรือผู้ขาย และแน่นอนว่าทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ สร้างเศรษฐีใหม่มาแล้วหลายต่อหลายคน โดยการค้าขายออนไลน์มีทั้งการสต็อกสินค้าเอง และเป็นตัวกลางในการขาย เราสามารถเลือกวิธีที่เหมาะกับเวลาและเงินของเราได้เลย
  • ขับรถส่งคน/ส่งอาหาร ผ่านแอปพลิเคชัน นับเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมสูงมาก ๆ ในตอนนี้ เพียงแค่มีรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมใบขับขี่ ก็สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ได้แล้ว ซึ่งงานประเภทนี้หากเราขับมากได้มาก ขับน้อยได้น้อย รายได้ตามความขยันเลย
 
แก้ปัญหาเงินไม่พอใช้ง่ายๆ

Krungsri The COACH สรุป

การแก้ปัญหา “เงินไม่พอใช้”จนทำให้ “หมุนเงินไม่ทัน” ตามขั้นตอนที่เราแนะนำไป ต้องอาศัยวินัยและการวางแผนการเงินที่ดี ซึ่งถ้าเราเริ่มต้นด้วยการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ก็ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญให้เราทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาเครียดเงินไม่พอใช้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ แต่หากใครที่ต้องการเงินก้อนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน "สินเชื่อ Krungsri iFIN" ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถยื่นกู้ได้ง่าย ๆ ผ่าน KMA krungsri app ยื่นกู้ง่าย จบใน KMA krungsri app ได้ดอกเบี้ยต่ำ และมีเงื่อนไขที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม Krungsri The COACH ขอย้ำกว่าการกู้เงินเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยแก้ปัญหาเงินไม่พอใช้ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายและวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บ และมีชีวิตทางการเงินที่มั่นคงในระยะยาว

อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา