ปัจจุบันคนไทยส่วนมากประสบปัญหาหนี้สินและหาทางออกสำหรับการปิดหนี้ไม่ได้ เนื่องจากภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่เท่าเดิมหรืออาจจะน้อยลง จึงอาจจะทำให้หลายคนตกอยู่ในสภาวะมืดแปดด้านในการหาเงินมาชำระหนี้ ซึ่งหากใครกำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้ Krungsri The COACH ชวนมาดูกันว่า มีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้าง
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไม่ชำระหนี้ตามกำหนด
การค้างชำระหนี้ หรือแม้แต่การจ่ายล่าช้าเพียงเล็กน้อย ก็ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้แล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินได้อย่างรุนแรง ตามระยะเวลาที่ค้างชำระ ยิ่งล่าช้าเป็นเวลานานเท่าไร ผลกระทบก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น และส่งผลต่อการขอสินเชื่อในอนาคต
ล่าช้าไม่เกิน 30 วัน : เตรียมตัวระวังค่าใช้จ่ายบานปลาย
แม้จะไม่ปรากฎในรายงาน
เครดิตบูโรว่ามีการค้างชำระ แต่การจ่ายล่าช้าภายใน 30 วันก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งนอนใจ เพราะจะต้องเสียดอกเบี้ยจากยอดค้างชำระแล้ว ยังอาจจะต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่าง ๆ เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
ล่าช้าเกิน 30 วัน แต่ไม่ถึง 90 วัน : สัญญาณเตือนภัยสู่ประวัติหนี้เสีย
เมื่อมีการจ่ายล่าช้าเกิน 30 วัน แต่ยังไม่ถึง 90 วัน สถาบันการเงินจะบันทึกสถานะการชำระเงินว่า “ล่าช้า” และข้อมูลนี้จะถูกส่งไปยังเครดิตบูโร ส่งผลให้มีการบันทึกประวัติการเงินไม่ดี
แม้จะยังไม่ถึงขั้นติดเครดิตบูโร แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังมีปัญหาในการจัดการหนี้สิน ซึ่งอาจทำให้การขอสินเชื่อในอนาคตเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งนี้การอนุมัติสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินนั้น ๆ
ล่าช้าเกิน 90 วัน : สถานการณ์วิกฤต ติดประวัติค้างชำระ เป็นหนี้เสีย
ยอดค้างชำระจะถูกจัดเป็น “หนี้เสีย” เมื่อข้อมูลนี้ถูกส่งไปยังเครดิตบูโร ทำให้มีการบันทึกประวัติการเงินว่า สถานะบัญชี 20 หรือมีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน สถาบันการเงินจะจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และส่วนใหญ่จะไม่พิจารณาปล่อยสินเชื่อใหม่ให้
หากยังคงเพิกเฉยไม่จัดการกับหนี้สินที่ค้างชำระ ยอดหนี้ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากดอกเบี้ยและค่าปรับต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามเกณฑ์ของสินเชื่อแต่ละประเภท นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกสถาบันการเงินฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้กู้สินเชื่อในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอแน่นอน
หากติดประวัติเป็นบัญชีหนี้เสียแล้ว กี่ปีเครดิตถึงกลับมาดี
อ้างอิงตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องส่งรายงานต่อเนื่องไปอีก 5 ปีนับจากวันที่เป็นหนี้เสีย และเมื่อครบกำหนดข้อมูลก็ยังปรากฎอยู่ในรายงานต่อไปอีก 3 ปี รวมระยะเวลาที่
บัญชีหนี้เสียดังกล่าวอยู่ในระบบคือ 8 ปี
เทคนิคปลดหนี้ให้หมดไว สู่อิสรภาพในการใช้ชีวิต
เมื่อหนี้เริ่มกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางเส้นทางสู่เสรีภาพทางการเงิน อย่าปล่อยให้ความรู้สึกท้อแท้เข้าครอบงำ เพราะยังมีหนทางที่จะหลุดพ้นจากพันธนาการนี้ได้ ลองนำเทคนิคแก้หนี้เหล่านี้จากคำแนะนำของ Krungsri The COACH ไปปรับใช้ เพื่อปิดหนี้ และสร้างโอกาสสู่ชีวิตทางการเงินที่สดใสอีกครั้ง
1. เน้นชำระหนี้ก่อนใช้จ่ายเสมอ
เมื่อมีรายได้เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน หรือรายได้เสริมต่าง ๆ ให้รีบนำเงินดังกล่าวไปปิดหนี้ที่เรามี เพื่อลดภาระหนี้ นอกจากนี้ อาจกำหนดว่าแต่ละเดือนไม่ควรมียอดชำระหนี้เกินกว่า 40% ของรายได้ ไม่อย่างนั้นอาจจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรามากเกินไปและเสี่ยงต่อการก่อหนี้เพิ่ม
2. ปิดยอดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน
เมื่อเห็นยอดหนี้ที่เรามีทั้งหมด ให้แบ่งหนี้ออกเป็นหนี้ระยะสั้นและระยะยาว หนี้ระยะสั้นที่มียอดหนี้เหลือน้อย ดอกเบี้ยต่อปีสูง งวดผ่อนชำระไม่มาก เช่น บัตรเครดิต ส่วนหนี้ระยะยาว เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น ควรเร่งปิดหนี้ระยะสั้นก่อนเพื่อลดภาระหนี้ในแต่ละเดือน หากสามารถปลดหนี้ก้อนแรกได้ก็จะทำให้มีกำลังใจ และสามารถจัดการหนี้ก้อนอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น
3. เปิดใจ เพื่อเจรจากับสถาบันการเงิน
อย่าปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง การสื่อสารอย่างเปิดเผย และตรงไปตรงมากับสถาบันการเงิน ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหา และเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการขอปรับโครงสร้างหนี้ ขอประนอมหนี้ เช่น การขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระ หรือลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งก็จะช่วยลดภาระในการผ่อนชำระต่อเดือน และทำให้การแก้หนี้เสียเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น
4. รีไฟแนนซ์ รวมหนี้ เพิ่มสภาพคล่อง
หากมีหนี้และชำระไม่ไหว การรีไฟแนนซ์อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยการรวมหนี้ทั้งหมดมาไว้ในสินเชื่อเดียว อาจช่วยลดภาระยอดผ่อนโดยรวม และทำให้การจัดการหนี้สินได้ง่ายและเป็นระบบมากขึ้น
Krungsri The COACH ขอแนะนำ
สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล (บริการรวมยอดหนี้) ซึ่งเป็นตัวช่วยในการรวมหนี้ ลดภาระยอดผ่อน เพิ่มสภาพคล่อง และบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว | อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกปกติ 21% - 25% ต่อปี*
*ศึกษารายละเอียด เงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพิ่มเติมที่
www.krungsri.com
การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากวางแผนจัดการหนี้อย่างรัดกุม และมีสติในการจัดการหนี้ให้ไม่พอกพูนจนเกินไป แต่หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวคนเดียว ลองปรึกษาธนาคารดูก่อน ไม่ว่าจะเป็นการขอเจรจากับสถาบันการเงิน หรือการรวมหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ย คือหนทางที่จะออกจากวังวนแห่งความเครียด และสร้างชีวิตทางการเงินที่มั่นคงได้อีกครั้ง
ทุกปัญหามีทางออกเสมอ อย่าปล่อยให้ความกลัวหรือความไม่กล้า มาเป็นอุปสรรคในการขอความช่วยเหลือ Krungsri The COACH พร้อมเคียงข้าง ให้คำปรึกษา และสนับสนุน เพื่อให้ทุกท่านสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างแข็งแกร่ง เริ่มต้นจัดการหนี้ตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตทางการเงินที่สดใสและอิสระอย่างแท้จริง
อ้างอิง