หยุดวงจรจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตด้วย 4 ทางรอด
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

หยุดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เปิด 4 วิธีปิดหนี้ที่ได้ผลจริง

icon-access-time Posted On 15 กรกฎาคม 2567
By Krungsri The COACH
ในยุคปัจจุบัน การซื้อของจับจ่ายใช้สอยสิ่งต่าง ๆ สามารถทำได้ง่ายดายแค่ปลายนิ้ว ไม่ว่าจะผ่านระบบออนไลน์หรือผ่านบัตรเครดิตที่ทั้งสะดวกและรวดเร็ว แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ฟุ้งเฟ้อสวนทางกับรายได้ทำให้หลาย ๆ คนจึงไม่สามารถจ่ายเต็มจำนวนได้จากยอดที่ใช้จ่ายไป โดยมักจะเลือกจ่ายเฉพาะขั้นต่ำบัตรเครดิตแทน ยิ่งเป็นวัยทำงานที่มีรายได้ และเครดิตดี มีบัตรหลายใบ พอจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตหลายใบเข้า ก็จะรู้สึกราวกับว่าถูกทับถมท่ามกลางหนี้สิน

เมื่อพิจารณาถึงความสะดวก ปลอดภัย และคุ้มค่า บัตรเครดิต ดูจะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ที่สุด และเข้ากับ lifestyle ของคนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ด้วยรูปแบบการใช้งานที่ง่าย และหลากหลาย ไม่ว่าจะถือบัตรไปรูดซื้อสินค้าที่ร้านค้า หรือจะผูกเข้ากับบริการออนไลน์ให้ตัดเงินจากบัตรเมื่อมีธุรกรรมเกิดขึ้น แถมยังมีดีลพิเศษส่งเสริมการขายมากมายไม่ว่าจะเป็น ส่วนลด cashback คะแนนสะสม และการผ่อนจ่ายค่าสินค้าและบริการ แต่คุณประโยชน์เหล่านี้จะกลายเป็น “โทษ” ทันทีเมื่อเราใช้จ่ายอย่างไม่มีสติ ไม่รู้ว่าใช้ไปเท่าไร ไม่รู้ว่าต้องจ่ายคืนเมื่อไร ยิ่งคนที่ใช้บัตรเครดิตหลาย ๆ ใบอย่างไม่รู้ตัว เมื่อถึงเวลาที่ใบแจ้งหนี้มา ก็สายเกินไปที่จะรู้สึกตัวแล้ว ต้องจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตทุกเดือน เรื่องยากที่จะหลุดพ้นจากวงจรหนี้ ซึ่งบางรายอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในปิดหนี้บัตรเครดิตก้อนนี้ลง

หากใครรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องจ่ายหนี้บัตรเครดิตโดยเลือกจ่ายขั้นต่ำเท่านั้น มาเรียนรู้ "วิธีปิดหนี้บัตรเครดิต" จาก Krungsri The COACH ชวนทุกคนรู้เทคนิคหยุดวงจรหนี้บัตรเครดิต ที่ต้องคอยจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตในแต่ละเดือน ทำให้ระดับหนี้สินลดลงจนกลับมาตั้งหลัก แล้วค่อย ๆ แก้ปัญหาหนี้บัตรให้คลี่คลายจนถึงหมดไป
4 ขั้นตอนหยุดวงจรจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต

4 ขั้นตอนหยุดวงจรจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เคลียร์หนี้อย่างเป็นระบบ

ขั้นตอนที่ 1 สำรวจ และรู้จักตัวเองให้มากขึ้น

ลองสำรวจว่าเรามีรายได้เท่าไร แต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง สามารถจ่ายเพิ่มได้อีกเท่าไร แล้วมีเงินเหลือเก็บไหม เหล่านี้ล้วนเป็น checklist ที่ต้องมีทุกครั้งก่อนคิดเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่คนที่มีปัญหาเรื่องหนี้มักเกิดจากการไม่รู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของตัวเอง ดังนั้น การเริ่มสำรวจตัวเองเพื่อเข้าใจปัญหาจะช่วยให้มองภาพรวมของปัญหาได้ดียิ่งขึ้น วิธีที่จะทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น คือ ควรทำงบรายรับรายจ่ายของตัวเองให้ละเอียด โดยเฉพาะค่าบัตรเครดิตที่ต้องจ่ายคืนในแต่ละเดือน

ขอยกตัวอย่าง นาย A ประกอบคำอธิบาย ทั้ง 4 ขั้นตอนโดยละเอียด

ตารางรายรับรายจ่ายประจำเดือนของนาย A
 
รายรับ บาทต่อเดือน
เงินเดือน 25,000
รายจ่าย  
ค่าสาธารณูปโภค 2,000
ประกันสังคม 750
ค่าเช่าห้อง 6,000
ยอดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 1 5,600
ยอดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 2 2,000
ยอดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 3 2,400
ค่าใช้จ่ายทั่วไป 8,000
สุทธิ -1,750
ตัวอย่างเช่น นาย A มีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ทำให้เงินทุกเดือนติดลบ อยู่เดือนละ 1,750 บาท จากการเป็นหนี้บัตรเครดิต 3 ใบ และผ่อนจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตรวมกันเดือนละ 10,000 บาท (ขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% จากยอดคงค้างรวม 125,000 บาท)

หากยังจ่ายขั้นต่ำไหว และเงินรายเดือนยังไม่ติดลบ แสดงว่ายังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่หากไม่สามารถชำระไหว หรือขาดชำระในบางงวด แนะนำให้อ่านขั้นตอนถัดไป
 

ขั้นตอนที่ 2 หยุดวงจรหนี้

ง่าย ๆ ก็คือไม่ก่อหนี้ใหม่ ใช้จ่ายอย่างระวังระวัง หยุดพฤติกรรมฟุ่มเฟือย ไม่แก้หนี้ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตที่อาจทำให้หนี้พอกพูน

ตัวอย่างเช่น นาย A มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ รายได้ไม่พอจ่าย และไม่อยากเสียเครดิต ดังนั้น พอถึงกำหนดชำระหนี้ก็ใช้วิธีกดเงินจากบัตรเครดิตใบที่ 1 ไปจ่ายใบที่ 2 พอถึงกำหนดชำระบัตรใบที่ 2 ก็ไปกดเงินจากใบที่ 1 มาจ่าย วนไปเรื่อย ๆ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นการจัดสรรเงินที่ดี หมุนเงินเก่ง แต่หารู้ไม่ว่าจะกำลังก่อหนี้เพิ่มพูนสะสม ตัวอย่างเช่น กดเงินจากบัตรใบที่ 1 จำนวน 10,000 บาท เพื่อไปจ่ายค่าบัตรใบที่ 2 เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายคืนบัตรใบที่ 1 เราจะไม่ได้จ่ายคืนแค่ 10,000 บาท แต่เราต้องจ่าย 10,000 + 300 ค่าธรรมเนียมบัตร ทำให้ A ต้องจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตสูงขึ้น และติดลบหนักขึ้นวนเป็นวงจร จนไปสิ้นสุดที่วงเงินบัตรเครดิตก็จะเต็มทั้ง 3 ใบ และกู้เพิ่มไม่ได้แล้ว จึงควรปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อหยุดวงจรหนี้
 
บัตรเครดิต บัตรเครดิตใบที่ 1 ยอดกดที่ต้องกดจากบัตรเครดิต
ใบที่ 2 เพื่อมาชำระหนี้ใบที่ 1
ยอดกดที่ต้องกดจากบัตรเครดิต
ใบที่ 1 เพื่อมาชำระหนี้ใบที่ 2
ยอดกดเงินสด 10,000 10,300 10,609
ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสด 3% 300 309 318.27
ต้นทุนหนี้รวม 10,300 10,609 10,927.27
แม้จะพยายามหาเงินมาจ่ายหนี้เท่าไร แต่หากต้นเหตุของหนี้ ซึ่งก็คือพฤติกรรมการใช้เงินเกินตัว หรือใช้อย่างไม่ถูกต้อง ยังไม่ถูกแก้ไข ปัญหาก็ไม่มีทางสิ้นสุด จึงควรหยุดวงจรหนี้ก่อนไปขั้นตอนต่อไป เมื่อสายหนี้ก็จะขาดลง ก็จะช่วยให้เราสามารถจัดการหนี้ที่มีอยู่ให้ค่อย ๆ หาย และหมดไปได้
 

ขั้นตอนที่ 3 หาแหล่งเงินเพื่อจัดการหนี้บัตรเครดิต

หากต้องการปิดหนี้บัตรเครดิตให้เร็วที่สุด อาจต้องพิจารณาหาแหล่งเงินมาลดยอดหนี้เพื่อให้ภาระลดลง เช่น ดูว่ามีเงินฝาก เงินลงทุนที่เก็บไว้ หรือของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่าที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ แปรสภาพเอามาใช้หนี้ก่อน ไว้ปลดหนี้ได้ค่อยสร้างขึ้นมาใหม่

นอกจากนี้ การขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหรือคนรู้จัก มาใช้หนี้ก่อนเพราะไม่มีดอกเบี้ย ลดต้นทุนหนี้ในการจ่ายหนี้บัตรเครดิต (แต่ยืมแล้วต้องคืนด้วยนะ!!) หรืออาจเลือกทำงานพิเศษ เพิ่มรายได้ในการปิดหนี้บัตรเครดิตให้รวดเร็วขึ้น

แต่หากแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้ได้ดีปัญหาก็จะจบ แต่ถ้ายังไม่ไหวจำเป็นต้องใช้ขั้นตอนสุดท้าย
 

ขั้นตอนที่ 4 รวมหนี้บัตรเครดิต

หากขั้นตอนที่ 1-3 ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เห็นผล หรือยังคงมีปัญหาเหล่านี้อยู่ เช่น
  • รายรับติดลบรายจ่ายเท่าเดิม
  • จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตไม่ไหว
  • จ่ายหนี้บัตรเครดิตล่าช้า หมุนเงินลำบาก

เป็นสัญญาณที่รู้ว่าจำเป็นต้องนำหนี้บัตรเครดิตที่เรามีอยู่จากหลาย ๆ ที่ เอามารวมไว้ที่เดียวกัน เรียกว่าการรวมหนี้บัตรเครดิต
 
4 วิธีปิดหนี้บัตรเครดิต

การรวมหนี้คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

การรวมหนี้ คือการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเดียวเพื่อมาจ่ายหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้สินอื่นๆที่มีอยู่ทั้งหมด และเป็นหนี้กับสถาบันการเงินแห่งเดียว ประโยชน์ของการรวมหนี้ จะทำให้มีภาระในการผ่อนชำระเพียงแห่งเดียวจากเดิมที่จ่ายกระจัดกระจายหลายที่ ลดปัญหาการจ่ายล่าช้าหรือลืมชำระหนี้ และที่สำคัญช่วยให้ยอดขั้นต่ำในการผ่อนชำระต่อเดือนลดลง

3 ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนการรวมหนี้เพื่อปิดหนี้บัตรเครดิต

1. สรุปยอดหนี้ทั้งหมด

สำรวจยอดรวมทั้งหมดเป็นจำนวนเงินเท่าใด และการผ่อนในปัจจุบันเดือนละเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล
 

 
รายการ วันที่จ่าย ยอดหนี้ ผ่อนขั้นต่ำ 10%
บัตรเครดิต 1 1 50,000 5,000
บัตรเครดิต 2 4 20,000 2,000
บัตรเครดิต 3 20 30,000 3,000
รวม   100,000 10,000

2. ประเมินความสามารถในการจ่ายหนี้บัตรเครดิตต่อเดือน

เพื่อให้รู้ว่ามีกำลังผ่อนไหวเดือนละเท่าไร โดยความสามารถในการผ่อนประเมินได้จากรายรับรายจ่ายประจำเดือน หากนาย A มียอดผ่อนต่อเดือนลดลงเดือนละ 2,000 บาท จากเดิมที่ผ่อน 10,000 บาท ต่อเดือน จะทำให้แต่ละเดือนไม่ติดลบ นาย A จึงมีความสามารถผ่อนชำระได้ไม่เกินเดือนละ 8,000 บาท
 
รายรับ บาทต่อเดือน
เงินเดือน 25,000
รายจ่าย  
ค่าสาธารณูปโภค 2,000
ประกันสังคม 750
ค่าเช่าห้อง 6,000
ค่าใช้จ่ายทั่วไป 7,000
เงินออม 500
ยอดผ่อนชำระที่ไหว 8,250

3. หาข้อมูลสถาบันการเงินที่ให้บริการรวมหนี้บัตรเครดิต

สามารถหาข้อมูลแหล่งที่ให้บริการรวมหนี้ โดยเลือกค้นหาแหล่งสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยต่ำ และสำคัญที่สุด ผ่อนชำระลดลงอยู่ในระดับที่ชำระไหว เพื่อให้การจ่ายหนี้บัตรเครดิตต่อเดือนอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้

Krungsri The COACH แนะนำสินเชื่อรวมหนี้


จากตัวอย่างด้านบน หากนาย A ตัดสินใจรวมหนี้ไว้ที่ Krungsri iFIN ยอดหนี้รวม 100,000 บาท จะทำให้การผ่อนชำระขั้นต่ำ ลดลงเหลือ 3,596 บาทต่อเดือน (ดอกเบี้ย 24% ระยะเวลา 60 เดือน ลดต้นลดดอก)

จากการประเมินความสามารถในการจ่าย นาย A สามารถผ่อนชำระได้เดือนละ 8,000 บาท หากสามารถผ่อนชำระได้ทุกเดือน จะทำให้ยอดหนี้หมดไวขึ้นภายใน 20 เดือน และประหยัดดอกเบี้ยจากการลดต้นลดดอกได้ประมาณ 60,000 บาท

จะเห็นได้ว่าการรวมหนี้บัตรเครดิตช่วยให้สะดวกในการผ่อนชำระคืนหนี้ จากเดิมต้องจ่ายเดือนละ 10,000 บาททำให้เงินติดลบทุกเดือน กลายเป็นจ่ายขั้นต่ำเพียงเดือนละไม่ถึง 4,000 บาท และจากเดิมที่ต้องชำระหนี้สามครั้งต่อเดือน รวมหนี้มาจ่ายเจ้าหนี้เพียงรายเดียว ลดโอกาสที่จะหลุดหรือลืมชำระหนี้ โดยในการขอสินเชื่อ กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
 
  • อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกปกติ 21% - 25% ต่อปี*
*ศึกษารายละเอียด เงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพิ่มเติมที่ www.krungsri.com


สรุป
การเลือกใช้บัตรเครดิตเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการใช้จ่ายสินค้าและบริการต่าง ๆ เพราะมีสิทธิประโยชน์มากมาย เพียงแค่เราระมัดระวังและใช้โดยอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากขาดวินัยทางการเงิน และใช้จ่ายเกินตัว อาจทำให้เกิดปัญหาต้องจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เมื่อพลาดไปแล้วการสำรวจตัวเอง หยุดวงจรปัญหาเดิมโดยเร็ว และรวมหนี้บัตรเครดิต จะช่วยรักษาสถานะการเงินที่ดีของเราให้มั่นคง


อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา