พอวิกฤตโควิดมา หลายอย่างก็หยุดชะงัก โดยเฉพาะสภาพคล่องทางการเงินของใครหลายคน วันนี้เราอยากชวนทุกคนมาสำรวจสุขภาพการเงินของตัวเอง พร้อมเรียนรู้วิธีการบริหารเงิน รวมถึงการบริหารเรื่องสินเชื่อและหนี้สินต่าง ๆ เพื่อให้เราผ่านวิกฤตไปได้แบบไม่ยากลำบาก มาดูเรื่องสำคัญที่ต้องรู้เพื่อให้เรามีการบริหารจัดการการเงินที่ดี กับ ‘โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์’ กันดีกว่า
การทำงบรายรับรายจ่ายเพื่อดูสภาพคล่อง
สิ่งแรกที่สำคัญคือการทำงบรายรับ-รายจ่าย ซึ่งจะคล้ายกับบัญชีครัวเรือน แต่ต้องทำไปข้างหน้า 6 เดือน เพื่อให้รู้ว่ารายรับ-รายจ่ายของคุณในอีก 6 เดือนต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร และถ้าคุณทำอาชีพอิสระหรือมีธุรกิจส่วนตัว รายรับ-รายจ่ายส่วนตัวและของกิจการก็ต้องแยกออกจากกัน ห้ามปนกันมั่วนะครับ โดยงบรายรับ-รายจ่ายนี้จะสะท้อนสภาพคล่องทางการเงินออกมาให้เห็น ถ้ามีสภาพคล่องดีก็จะมีกินมีใช้ และมีเงินเหลือเก็บนั่นเองครับ
ดูอัตราส่วนการออมและการลงทุนแต่ละเดือน
การคำนวณต่อมาคือ อัตราส่วนการออมและการลงทุน เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวบอกว่า เงินที่หามาได้แต่ละเดือนไปไหนบ้าง อัตราส่วนนี้คำนวณง่าย ๆ โดยการเอาเงินออมบวกเงินลงทุนรายเดือน และหารด้วยรายได้รวม แล้วคูณด้วย 100 โดยอัตราส่วนที่ถือว่าโอเคคือ 10-20 % เพราะโอกาสประสบความสำเร็จด้านการเงินจะมีสูงขึ้นทันทีครับ ตัวอย่างเช่น
เงินออม 5,000 บาท + เงินลงทุน 5,000 บาท = 10,000 บาท
10,000 บาท ÷ รายได้รวม 70,000 บาท = 0.14
0.14 × 100 = 14
ก็คือ 14% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่โอเคแล้วครับ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
ส่วนตัวผมมีทริคที่อยากจะแนะนำเกี่ยวกับการออมก็คือ คุณควรเปิดบัญชีกับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูง ซึ่งผมจะแนะนำบัญชี 2 ประเภทจากรุงศรีนะครับ หนึ่งคือ
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์มีแต่ได้ จะฝาก-ถอนเมื่อไหร่ก็สะดวก แถมยังให้ดอกเบี้ยสูงและให้ดอกเบี้ยทุกเดือน อีกประเภทคือ
บัญชีฝากประจำทั่วไป ให้ดอกเบี้ยสูงและช่วยสร้างวินัยการออมให้คุณด้วย ใครสไตล์ไหนก็เลือกตามใจเลยนะครับ
รู้อัตราส่วนเงินสำรองเพื่อรองรับเหตุไม่คาดฝัน
ลำดับต่อมาคือการคิดอัตราส่วน
เงินสำรอง ที่จะเป็นตัวบอกว่าถ้าเกิดคุณโชคร้าย ไม่มีรายได้เข้ามา หรือรายได้ไม่เป็นปกติขึ้นมา คุณจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน วิธีการคำนวณ คือ เอาเงินออมหรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและมูลค่าไม่ผันผวน เช่น เงินฝาก สลากออมทรัพย์ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น เอามารวมกันตั้งแล้วหารด้วยรายจ่ายรวมต่อเดือน เช่น
เงินฝาก 80,000 บาท + กองทุนรวมตลาดเงิน 40,000 บาท = 120,000 บาท
120,000 บาท ÷ ค่าใช้จ่ายรวมแต่ละเดือน 30,000 บาท = 4
ซึ่งหมายความว่าถ้ามีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้น คน ๆ นี้ก็จะสามารถอยู่ได้ 4 เดือนครับ สำหรับผมแล้วผมคิดว่าอัตราส่วนเงินสำรองที่ดีคืออยู่ที่ 6 เดือน แต่ถ้าใครกลัวไม่ปลอดภัย ผมก็คิดว่า 12 เดือนก็สูงแล้วนะครับ
หนี้เยอะไปไหม ? คำนวณอัตราส่วนเงินชำระหนี้ต่อรายได้
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ อัตราส่วนเงินชำระหนี้ต่อรายได้ เพราะนี่คือการ Balance ชีวิต อัตราส่วนเงินชำระหนี้ต่อรายได้จะเป็นตัวบอกว่า หนี้คุณเยอะไปไหม ถ้าจะบริหารควบคุมมันหน่อยดีหรือเปล่า วิธีการคำนวณก็คือ เอาภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากหนี้เป็นตัวตั้ง หารด้วยรายได้ทั้งเดือน แล้วคูณด้วย 100 จากนั้นก็คิดเป็นเปอร์เซ็นต์นะครับ ยกตัวอย่างเช่น
ยอดผ่อนรวม 35,000 บาท ÷ รายได้ 70,000 บาท = 0.5
0.5 × 100 = 50
ผลที่ออกมาก็คือ 50% นะครับ 50% ซึ่งเยอะหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลครับ คือ ถ้าเป็น 50% สำหรับคนมีบ้านมีรถ ก็ถือว่าสูงแล้ว แต่ยังพอไหว ชีวิตยังเคลื่อนไปได้อยู่ แต่ถ้าเป็นคนที่ยังไม่มีบ้านไม่มีรถก็ไม่ควรจะเกิน 30% เพราะคุณยังไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และชีวิตคุณก็จะเหนื่อยเกินไปนะครับ
ค้นหาสถานะการเงินที่แท้จริงจากตัวเลขความมั่งคั่งสุทธิ
ความมั่งคั่งสุทธิ หรือที่เรียกว่า Net Worth ควรมีการคิดคำนวณปีละครั้งเพื่อดูความมั่งคั่งของเราแบบภาพรวม แต่ละเดือนเมื่อได้เงินเดือนหรือค่าจ้าง เราเอาไปทำอะไรบ้าง เหลืออะไรให้กับตัวเองบ้าง หลายคนมีภาระหนี้สินเพราะความจำเป็น ซึ่งการมีหนี้สินก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ว่าจำเป็นต้องวางแผนและบริหารให้ดี ที่สำคัญต้องหมั่นเช็กว่าหนี้สินเราเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือเปล่า คือ วันนี้นายจักรพงษ์ มีทรัพย์สินหรือหนี้สินอะไรบ้างไหม ลองเอามาหักลบกัน แล้วก็จะรู้ว่าเรามีทรัพย์สินสุทธิ หรือความมั่งคั่งสุทธิเท่าไหร่ เช่น
ทรัพย์สินรวม 3,136,000 บาท - หนี้สินรวม 2,340,000 บาท = ทรัพย์สินสุทธิ 796,000 บาท
ลองไปคำนวณกันเพื่อให้ตัวเองเห็นภาพชัดเจนขึ้นนะครับ
สุดท้ายต้องใส่ใจการบริหารจัดการหนี้ให้เป็น
อีกเรื่องที่สำคัญพอ ๆ กับการบริหารเงินก็คือเรื่องการบริหารจัดการหนี้นั่นเองครับ ถ้าคุณมีความจำเป็นจะต้องใช้สินเชื่อ เราควรจะบริหารจัดการสินเชื่อของเราอย่างไร ให้มันเกิดประโยชน์แล้วก็ได้ผลดีนะครับ
ขอยกตัวอย่างเรื่องการซื้อทรัพย์สินใหญ่อย่างบ้าน เวลาเรา
ซื้อบ้าน มันไม่ได้มีแค่ตัวบ้านอย่างเดียวที่ต้องจ่าย เพราะมันมีเรื่องของตัวค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่พ่วงมาด้วย เช่น ถ้าคุณซื้อบ้านมือสอง คุณอาจจะมีเรื่องของค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการโอน แล้วไหนจะค่าตกแต่งบ้านอีก ซึ่งค่าตกแต่งเนี่ยแหละครับที่มักจะบานปลาย แล้วถ้าเงินไม่พอทีนี้ก็ต้องกู้อีก อาจจะเป็นสินเชื่อบุคคล หรือสินเชื่อแบบ Top Up ก็วางแผนดี ๆ เพราะฉะนั้นผมขอแนะนำว่าคุณจะต้องดูต้นทุนรวม ว่าเราจะต้องผ่อนประจำทุกเดือนเท่าไหร่ เรายังสามารถบริหารได้หรือเปล่า แล้วสภาพคล่องของเราโอเคอยู่ไหม
อีกประเด็นคือถ้าคุณจำเป็นต้องใช้สินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งคุณมีความจำเป็นต้องผ่อนของ สิ่งที่ต้องคำนึงคือ คุณจะต้องผ่อนกี่เดือน ต้องคำนวณระยะเวลาผ่อนที่ตัวเองสามารถบริหารได้ และต้องประเมินอัตราส่วนเงินผ่อนชำระหนี้ต่อรายได้ว่า ถ้าเรากู้สิ่งนี้เพิ่ม ผ่อนสิ่งนี้เพิ่มจะโอเคไหม มันจะทำให้อัตราส่วนเงินผ่อนชำระหนี้ต่อรายได้เป็นอย่างไร มันเกิน 30% ไหม ถ้าคุณมีแต่หนี้ที่เป็นหนี้สินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือหนี้บริโภคทั้งหลาย เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล มากเกินไป ก็เริ่มต้องกลับมาคิดพิจารณาใหม่แล้วครับ ส่วนถ้ามีการผ่อนบ้านผ่อนรถด้วย รวม ๆ แล้วก็ไม่ควรเกิน 50% ซึ่งก็ต้องมาคิดว่าเราจะสามารถจัดการอะไรได้บ้าง เราจะลดการใช้จ่ายตรงนี้ไปก่อนดีไหมเพื่อที่เราจะได้ของที่เราต้องการ ซึ่งนี่ก็เรียกว่าการบริหารจัดการหนี้ สำหรับคนที่มองหาสินเชื่ออยู่ตอนนี้ก็ควรเลือกสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำอย่าง
สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลจากธนาคารกรุงศรี เพราะเขาให้วงเงินสูง อนุมัติไว ดอกเบี้ยต่ำ แถมผ่อนได้นานถึง 60 เดือน
เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นช่องทางในการบริหารจัดการเงินและเรื่องการบริหารจัดการหนี้ของตัวเองกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาแบบนี้นะครับ อย่างถ้าใครมีหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ผมเชื่อว่าหนี้ที่เกิดขึ้นมันมาจากความจำเป็น แต่หัวใจสำคัญก็คือ เราต้องทำให้ชีวิตเราไม่เดือดร้อนจากการมีหนี้ก้อนนั้น ผมว่านี่คือความชาญฉลาดในการบริหารจัดการครับ