“สุขภาพการเงินที่ดี” มีได้ไม่ยาก
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

“สุขภาพการเงินที่ดี” มีได้ไม่ยาก

icon-access-time Posted On 03 ธันวาคม 2564
By Krungsri The COACH
เรื่องหนึ่งที่หลายคนทำเป็นประจำทุกปี ก็คือ การตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจดูว่าร่างกายของเราว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ มีอะไรตรงไหนที่ควรระวังบ้าง เพราะหากเกิดความผิดปกติจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ และคุณรู้ไหมว่าในด้านการเงินก็มีการตรวจสุขภาพทางการเงินด้วยเหมือนกัน เพราะปัญหาการเงินมีความใกล้เคียงกับปัญหาสุขภาพ โดยกว่าจะแสดงอาการให้รู้สึกได้ ปัญหานั้นก็ใหญ่และสะสมมาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นการตรวจสุขภาพทางการเงินจึงมีความสำคัญ ละเลยไม่ได้ทีเดียว ตัวอย่างปัญหาทางการเงินที่พบบ่อยก็คือ ปัญหา “เงินออม” ไม่เพียงพอ เก็บเงินไม่ได้ และปัญหา "หนี้สิน" ที่กว่าจะรู้ตัวว่าตัวเองมีปัญหา ปริมาณหนี้ก็เพิ่มพูนเป็นก้อนโตจนไม่สามารถจ่ายไหว ซึ่งถ้าเรามีการตรวจสุขภาพทางการเงินอย่างต่อเนื่องเราก็จะพบปัญหาเหล่านี้ก่อน และแก้ไขได้ทันเวลา
เราไม่ควรมีหนี้สินเกิน 50%25 ของสินทรัพย์ทั้งหมด

เราไม่ควรมีหนี้สินเกิน 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมด

โดยหลักการแล้วเกณฑ์มาตรฐานที่แนะนำก็คือ ไม่ควรมีหนี้สินเกิน 50% ของสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ณ ปัจจุบันเรามีสินทรัพย์มูลค่าทั้งหมด 1,000,000 บาท ประกอบไปด้วยเงินฝาก 200,000 บาท รถยนต์มูลค่า 500,000 บาท กองทุนรวม 250,000 บาท และสินทรัพย์อื่นรวมกันอีก 50,000 บาท ดังนั้นแปลว่าเราไม่ควรมีหนี้ทุกประเภทรวมกันเกิน 500,000 บาทนั่นเอง เหตุผลก็เพื่อป้องกันไม่ให้เราเป็นหนี้เกินความจำเป็น และมีภาระที่ต้องชำระคืนที่สูงเกินไป เพราะโดยธรรมชาติของหนี้ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ภาระเรื่องของ “ดอกเบี้ย” ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ซึ่งถ้าหากเราตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองแล้วพบว่า ณ ปัจจุบันมีหนี้สินเกิน 50% ของสินทรัพย์ เราก็จะได้เริ่มระมัดระวังตัวเองในการก่อหนี้ในอนาคต หรือเร่งออมเงินเพื่อให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้น และลดสัดส่วนหนี้สินรวมลงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

การผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ทั้งหมด

อีกหนึ่งเกณฑ์มาตรฐานที่แนะนำให้ตรวจสอบก็คือ "ภาระการผ่อนชำระในแต่ละเดือน" ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งภาระการผ่อนชำระก็จะนับรวมการผ่อนรายการที่เป็นหนี้ทั้งหมด เช่น ค่าผ่อนรถยนต์ ผ่อนบ้านที่อยู่อาศัย ผ่อนหนี้บัตรเครดิต รวมไปจนถึงภาระการผ่อนสินค้า 0% ทั้งหมดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนด้วย
วางแผนลงทุนการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 40%25 ของรายได้ทั้งหมด บริหารภาษีและมั่งคั่งไปพร้อมกัน
ส่วนเหตุผลที่แนะนำว่าไม่ควรเกิน 40% ก็เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่เราไม่สามารถชำระหนี้ได้ เช่น รายได้ขาดหายหรือลดลง นอกจากนี้เหตุผลที่เกณฑ์มาตรฐานกำหนดไว้ 40% ก็เพราะว่าเราจะได้เหลือเงินไปดูแลเป้าหมายการเงินอื่นๆ ในชีวิตด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าเบี้ยประกันสำหรับการบริหารความเสี่ยงต่างๆ หรือถ้าใครที่มีครอบครัวแล้ว ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของบุตรและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
ซึ่งเมื่อตรวจสุขภาพทางการเงินแล้วพบว่ามีภาระก่อนผ่อนชำระที่ใกล้เคียงหรือเกิน 40% ขึ้นไป เราก็ควรระมัดระวังในการก่อหนี้อื่นๆ เพิ่มในอนาคต หรือพยายามปิดชำระหนี้ที่สามารถปิดได้ก่อนเพื่อให้ภาระลดลง หรือถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้จริงๆ เราก็จะได้เร่งมือหารายได้เพิ่มเพื่อเตรียมรับภาระหนี้สินที่กำลังจะเพิ่มขึ้น
ควรมีเงินออมอย่างน้อยที่สุด 10%25 ทุกเดือน

ควรออมเงินอย่างน้อย 10% ทุกเดือน

เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “คนจะรวยไม่วัดกันว่ามีรายได้เท่าไหร่ แต่ต้องดูว่าเหลือเก็บเท่าไหร่” เพราะปัญหาเรื่องการเงินก็สามารถเกิดกับคนที่มีรายได้ที่สูงได้เช่นเดียวกัน หากไม่มีเงินออมเลย ก็จะเกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น มีเงินเก็บไม่พอเกษียณ หรือเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน หรือเจ็บป่วยจำเป็นต้องใช้เงิน ก็อาจมีเงินไม่เพียงพอ ทั้งนี้การเก็บออมเงินตามหลักเบื้องต้น เราควรออมเงินอย่างน้อย 10% ของรายได้ในแต่ละเดือน และควรออมสม่ำเสมอทุกเดือนอย่าให้ขาด เพื่อช่วยให้เรามีเงินพอสำหรับเป้าหมายการเงินต่างๆ ทั้งนี้เกณฑ์ต่างๆ ที่เราแนะนำเป็นเพียงค่า "มาตรฐาน" เท่านั้น ซึ่งในการปฏิบัติจริงอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคลได้
สุดท้ายขอฝากว่าสุขภาพทางการเงินไม่ได้มีแค่ “เงินออม” หรือ "หนี้สิน" เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายแง่มุม สำหรับใครที่สนใจแนะนำให้ลองหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเช็คดูสถานะการเงินของตัวเราว่าเป็นอย่างไร มีส่วนไหนที่ควรระวังเป็นพิเศษหรือไม่ หรือสามารถขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญฟรีได้ที่บริการ Krungsri Plan Your Money โทร. 02-296-5959 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 16.00 น.
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา