ค่าใช้จ่ายก็มี หนี้สินก็มี ทำยังไงถึงจะหลุดวงจรนี้
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ค่าใช้จ่ายก็มี หนี้สินก็มี ทำยังไงถึงจะหลุดวงจรนี้

icon-access-time Posted On 10 ตุลาคม 2557
By Maibat
ความต้องการของมนุษย์มีไม่สิ้นสุดเพื่อหาสิ่งที่มาเติมเต็มให้กับชีวิต ซึ่งการได้สิ่งต่างๆมาส่วนมากก็ต้องใช้เงินซื้อ ตั้งแต่เกิดจนตายมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน บางวันใช้เงินน้อยบางวันใช้เงินมากขึ้นอยู่กับ ช่วงวัย รายได้ ทรัพย์สิน และนิสัยการใช้เงิน เป็นสำคัญ โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อฐานะการเงินของคุณในอนาคตเป็นตัวชี้วัดว่าจะรวยหรือจน
 
"คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มฐานะการเงินไม่สู้ดี สาเหตุมาจากนิสัยการใช้เงินเกินรายได้ โดยการใช้รายได้ในอนาคตเป็นเครดิต ... และขาดความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคล ทำให้ใช้เงินอย่างไม่ระมัดระวังจนก้าวเข้าสู่ วงจรหนี้ฟุ่มเฟือย"
คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มฐานะการเงินไม่สู้ดี สาเหตุมาจาก “นิสัยการใช้เงินเกินรายได้” โดยการใช้รายได้ในอนาคตเป็นเครดิตในการขอกู้ยืมเพื่อมาใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลินในปัจจุบัน ผ่านการใช้สินเชื่อรูปแบบต่างๆ ได้แก่ เงินด่วน ผ่อนสินค้า บัตรเครดิต กู้บ้าน กู้รถ ฯลฯ รวมถึงการกู้ยืมเงินจากคนรอบตัวมาใช้จ่าย และสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ “ขาดความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคล” ทำให้ใช้เงินอย่างไม่ระมัดระวังจนก้าวเข้าสู่ “วงจรหนี้ฟุ่มเฟือย” อย่างรวดเร็วกว่าจะรู้สึกตัวหนี้สินมีขนาดก้อนโตเกินจ่ายไหวส่งผลให้ต้องเครียดกับการแก้ปัญหาหนี้สินยาวนานหลายปีเลยครับ
มาทำความรู้จักกับ “วงจรหนี้” กันก่อน นิยามของผมคือ การกู้ยืมมาซื้อสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการ แล้วค่อยๆทยอยจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ทำให้สามารถซื้อของได้เกินเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน วงจรหนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทขึ้นอยู่กับเจตนาในการก่อหนี้
1. “วงจรหนี้ลงทุน” เป็นการก่อหนี้เพื่อนำไปลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี ได้แก่ กู้เพื่อลงทุนกิจการ กู้เพื่อลงทุนคอนโดปล่อยเช่า กู้เพื่อลงทุนในหุ้น ฯลฯ
2. “วงจรหนี้จำเป็น” เป็นการก่อหนี้เพื่อนำไปใช้ในสิ่งจำเป็น ได้แก่ กู้เพื่อรักษาพยาบาล กู้เพื่อซื้อบ้านพักอาศัย กู้เพื่อการศึกษา ฯลฯ
3. “วงจรหนี้ฟุ่มเฟือย” เป็นการก่อหนี้เพื่อนำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ได้แก่ กู้เพื่อซื้อของแบรนด์เนม กู้เพื่อซื้อรถสปอร์ต กู้เพื่อเล่นการพนัน ฯลฯ
ผมเชื่อว่าคนที่มีหนี้เสียส่วนใหญ่มีปัญหามาจากวงจรหนี้ฟุ่มเฟือยซึ่งเกิดจากมีนิสัยการใช้เงินเกินตัว เป็นวงจรหนี้ที่ไม่ควรเกิดเลยครับ
ผมขอเสนอ 9 ข้อคิดเปลี่ยนนิสัยการใช้เงินเพื่อหลีกเลี่ยงหรือหลุดพ้น “วงจรหนี้ฟุ่มเฟือย”
 
"การกู้ยืมมีทั้งคุณและโทษขึ้นอยู่กับเจตนาในการก่อหนี้ ที่สำคัญควรจำกัดขนาดหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สามารถชำระได้สบายๆ โดยไม่ต้อง กังวลใจ"
1. “จงหาเงินแบบคนรวยใช้เงินแบบคนพอเพียง” ฝึกนิสัยให้เป็นคนหาเงินเก่งมีรายได้หลายทางโดยศึกษาวิธีหาเงินจากคนรวย และฝึกนิสัยใช้เงินอย่างประหยัดรู้คุณค่าของเงินที่ใช้ไปโดยศึกษาวิธีการใช้เงินจากคนพอเพียง
2. “จงลองเก็บเงินก่อนใช้” หากเป็นคนเก็บเงินไม่ค่อยอยู่เห็นอะไรก็อยากซื้อไปหมด ลองใช้วิธีหักเงินมาออมทันทีเมื่อมีรายได้แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือไปใช้จ่าย โดยนำเงินออมไปฝากแยกไว้อีกบัญชีจะเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ประจำ หรือ กองทุนรวมก็ได้ แต่ห้ามถอนไปใช้ยกเว้นมีเหตุจำเป็นจริงๆ
3. “จงคิดมาตรการรัดเข็มขัด” ลองคิดทบทวนดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ลดลงได้ โดยเฉพาะของฟุ่มเฟือย ของที่ใช้ไม่หมด และของที่ซื้อมาไม่ได้ใช้
4. “จงเว้นวรรคความต้องการ” ควรรู้จักควบคุมความต้องการโดยเฉพาะของที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เที่ยวต่างประเทศ ไม่ควรซื้อต่อๆกัน เพราะความต้องการพอได้รับการตอบสนองแล้วความต้องการใหม่จะเกิดขึ้นทันที ดังนั้นควรเว้นช่วงห่างบ้างเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้ไม่เกินรายได้
5. “จงมีเงินสดในกระเป๋าสตางค์ให้น้อย” เทคนิคนี้ช่วยทำให้รู้สึกว่าไม่ค่อยมีเงินและไม่ค่อยอยากออกเงินเลี้ยงคนอื่น ทำให้ซื้อของน้อยลงได้เป็นอย่างดี
6. “จงลดการซื้อของราคาปกติ” รู้จักเลือกซื้อของที่เหมือนกันจากแหล่งที่ถูกกว่า ไม่ใช่เอาง่ายเข้าว่าซื้อที่ไหนก็ได้ที่สะดวกราคาไม่เกี่ยง นอกจากนี้ร้านค้าที่มีบัตรสมาชิกหรือรับชำระด้วยบัตรเครดิตก็มักจะมีโปรโมชั่นส่วนลด เงินคืน คะแนนสะสม ให้ซื้อของได้ถูกลงไปอีก
7. “จงควบคุมการใช้เงินในอนาคต” ไม่ว่าจะเป็นบัตรกดเงิน บัตรผ่อนสินค้า บัตรเครดิต และการกู้ยืมเงินในรูปแบบต่างๆ ต้องใช้อย่างมีเหตุผลและมั่นใจว่าสามารถหาเงินมาชำระคืนได้
8. “จงหัดรีไฟแนนซ์หนี้” หากมีหนี้ก้อนโตที่ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมแพง หลังจากพ้นระยะเวลาห้ามโอนย้ายตามสัญญา (ถ้ามี) ก็ควรโอนหนี้ย้ายไปอยู่กับสถาบันการเงินใหม่ที่เสนออัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมถูกกว่าอย่างชัดเจน
9. “จงพิชิตเป้าหมายทางการเงิน” ศึกษาหาความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคลจากคนที่ประสบความสำเร็จ และตั้งเป้าหมายทางการเงินของเราทุกปีโดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ อัตราเพิ่มขึ้นของรายได้ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน อัตราการออม อัตราส่วนสภาพคล่อง จากนั้นก็ลงมือทำพิชิตเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกปี
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เปิดโอกาสให้แชร์แนวคิดการเงินส่วนบุคคล และขอย้ำเพื่อนๆว่าการกู้ยืมมีทั้งคุณและโทษขึ้นอยู่กับเจตนาในการก่อหนี้ ที่สำคัญควรจำกัดขนาดหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สามารถชำระได้สบายๆโดยไม่ต้องกังวลใจ ขอให้โชคดีไม่ติดกับดักวงจรหนี้ที่ไม่ดีนะครับ
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา