“หนี้” เรียกได้ว่าคำนี้แค่ได้ยินก็รู้สึกกังวลแล้ว เพราะคงไม่มีใครอยากมีหนี้แน่นอน ในปัจจุบันเองภาวะเศรษฐกิจที่เราต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เงินเฟ้อ น้ำมันแพง อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เราสามารถก่อหนี้โดยไม่รู้ตัว หากเราเกิดปัญหาที่จำเป็นต้องกู้หนี้สินขึ้นมาจริง ๆ ก็ขอให้คิดไว้ว่าไม่ใช่เรื่องที่แปลก หรือแย่อะไร เพียงแค่เราต้องรู้จักวางแผนบริหารเงิน จัดการแก้หนี้ พร้อมทั้งปรับวินัยทางการเงินกันใหม่
ดังนั้นเรามาลองวางแผนรวมหนี้ และหาทางแก้หนี้ พร้อมทั้งสร้างวินัยทางการเงินใหม่ไปพร้อม ๆ กันผ่านบทความนี้เลย
เรามาดูกันที่วิธีการแก้หนี้โดยการ “รวมหนี้” กันก่อน
การรวมหนี้ คือ การที่เรานำหนี้สินทั้งหมดของเรา รวมทั้งหนี้ดอกเบี้ยสูง เช่น หนี้จากบัตรเครดิตเองมารวมกัน โดยติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อมาปิดหนี้ต่าง ๆ วิธีนี้จะทำให้เราสามารถปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงไปให้หมดไว ๆ ได้
ขั้นตอนต่อไป เรามาต่อกันที่ 5 ขั้นตอนการแก้หนี้ให้ปิดไวที่เราสามารถนำไปใช้ได้กันเลย
5 ขั้นตอนการแก้หนี้ และวางแผนปลดหนี้ให้หมดไว
ขั้นตอนที่ 1 สำรวจตัวเอง
ก่อนเราจะตัดสินใจ
รวมหนี้เราอาจจะต้องเริ่มสังเกตตัวเองเป็นอย่างแรก โดยเราอาจจะสำรวจตัวเองก่อนว่าเรามี
หนี้สินอะไร กับใคร และเท่าไหร่บ้าง แล้วเราลองนำมารวมกันเพื่อให้รู้ยอดหนี้สินที่แท้จริงว่าทั้งหมดเท่าไหร่? (ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย) หลังจากนั้นเราอาจจะลองสำรวจต่อไปอีกว่าเราเป็นหนี้เพราะอะไร เพราะถ้าหากเราทราบต้นเหตุของการเกิดหนี้ของเรา เช่น เราเพิ่งใช้บัตรเครดิตเป็นครั้งแรกแล้วยังคำนวณเงินต้น ดอกเบี้ย ผิดวิธีเราก็จะได้นำข้อผิดพลาดนี้ไปแก้ไขได้
ขั้นตอนที่ 2 วางแผนการปลดหนี้
เรามาลองเรียงลำดับแก้หนี้เจ้าปัญหาจาก
“เจ้าหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุด ไปยัง เจ้าหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่ำที่สุด”
เมื่อได้แล้ว เราก็นำทั้งหมดนี้มาหาทางแก้หนี้โดยการรวมหนี้ และขอสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมดของเรา ซึ่งถ้าหากว่าเรารวมหนี้แล้วยังไม่สามารถผ่อนไหวตามจำนวนเงินที่สถาบันการเงินให้ชำระ เราจำเป็นจะต้องแจ้งรายละเอียดเพื่อให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือหาทางแก้หนี้มาให้เราอีกทาง
อย่างไรก็ตามวิธีการแก้หนี้โดยเลือกที่จะรวมหนี้ อาจไม่ได้ทำกันง่าย ๆ เพราะบางสถาบันการเงินค่อนข้างหินในเรื่องการอนุมัติ เราควรมีแผนสำรอง โดยเราอาจจะเริ่มปลดจากเจ้าหนี้ที่มีดอกเบี้ยเยอะที่สุดก่อน เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยเหล่านั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ปลดหนี้ที่ดอกเบี้ยรองลงมาจนหมดหนี้นั่นเอง
ขั้นตอนที่ 3 ลงมือทำตามแผนที่วางไว้
เราควรที่จะลงมือทำตามแผนแก้หนี้ของเราให้สำเร็จ โดยแผนที่เราออกแบบไว้เราควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยเราจะต้องเริ่มระบุระยะเวลาในการปลดหนี้ไปพร้อม ๆ กับดำเนินการติดต่อธนาคารตามแผน อีกทั้งหากเรามีช่วงเวลาที่ว่างเราอาจจะมองหาทางเลือกเสริมที่ทำให้หนี้เราหมดไว ๆ ควบคู่กันไปด้วย
ขั้นตอนที่ 4 เพิ่มตัวช่วยการปลดหนี้
ตัวช่วย
แก้หนี้ที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของรายได้เสริม เราอาจจะเริ่มมองหารายได้ที่เราไม่จำเป็นต้องลงทุนหนัก และไม่กระทบกับการงานหลักของเราด้วยเช่นกัน อย่างการขายของออนไลน์ รับงานฟรีแลนซ์ เพราะแน่นอนว่ายิ่งรายรับเรามากเท่าไหร่ เรายิ่งมีกำลังจ่ายได้มากขึ้นเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 5 ใช้บัตรเครดิตอย่างระมัดระวัง ตามความจำเป็น
โดยส่วนใหญ่แล้วหนี้ที่เกิดขึ้นมักมาจาก
หนี้บัตรเครดิต หากเรารูดจนหน้ามืดตามัว จนลืมคิดถึงความสามารถในการจ่ายยังไงก็เกิดหนี้แน่นอน ฉะนั้นแล้วเราต้องรู้วิธีการใช้บัตรเครดิตที่ถูกต้อง และใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจริง ๆ แล้วบัตรเครดิตไม่ได้ก่อหนี้ให้เราเสมอไปแต่กลับสามารถช่วยให้เราแลกความคุ้มค่าได้อีกด้วย เราเพียงแค่ต้องศึกษาให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง
นี่ก็เป็น 5 วิธีแก้หนี้ที่เราหยิบมาแนะนำทุกท่าน แต่ถ้าหากท่านใดที่กำลังมองหาวิธีแก้หนี้เพิ่มเติม ต้องนี่เลย Krungsri The COACH
“สู้กับหนี้ Restart วินัยการเงิน” เตรียมพร้อมรอคุณอยู่ คลิกเลย
เรียนรู้ที่จะแก้หนี้กันไปแล้ว เรามาสร้างวินัยทางการเงินใหม่ให้กับตัวเองกันดีกว่า ซึ่งวินัยทางการเงินสร้างได้ไม่ยาก ดังนี้
สร้างวินัยทางการเงินใหม่ด้วย 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 มีเป้าหมายทางการเงิน
เราอาจจะสร้างเป้าหมายทางการเงินของเราให้ชัดเจน และไม่ไกลตัวจนเกินไป เช่น เราปลดหนี้หมดแล้วต้องการที่จะมีบ้าน เราก็วางเป้าหมายทางการเงินของเราให้อยู่ในระดับที่มีเงินเหลือเก็บเหลือใช้ และสามารถทำให้ฝันอยากมีบ้านของเราเป็นจริงได้
ขั้นตอนที่ 2 บันทึกค่าใช้จ่าย
แน่นอนว่าการบันทึกค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะไม่ว่าเราจะใช้จ่ายอะไร เราอาจใช้จ่ายจนลืมตัวไป เพื่อไม่ให้ก่อหนี้โดยไม่รู้ตัวอีกครั้ง เราต้องบันทึกค่าใช้จ่ายตลอด และต้องทำให้เป็นนิสัยจนชิน แค่นี้เราก็จะสร้างวินัยทางการเงินให้ห่างไกลหนี้ของเราได้แล้ว
ขั้นตอนที่ 3 แบ่งเงินการใช้จ่ายให้เป็นสัดส่วนชัดเจน
โดยเราอาจจะลองแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็นหมวด ๆ เช่น หมวดชีวิตประจำวัน ที่เราสามารถจ่ายค่าอาหารได้แต่ละมื้อ มื้อละเท่าไหร่ กำหนดให้ชัดเจน หมวดค่าใช้จ่ายประจำเดือนต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าของใช้ต่าง ๆ
การแบ่งเงินเป็นสัดส่วนชัดเจน ก็เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราเองมีเงินเท่าไร? เหลือเก็บเท่าไหร่? และเรามีเงินพอที่จะนำไปลงทุนต่อยอด ให้รายรับของเรามากกว่าเดิมได้ไหม?
เพียง 3 ขั้นตอนนี้ก็จะทำให้เราสามารถสร้างวินัยทางการเงินของเราขึ้นมาใหม่ได้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดของบทความนี้ เราอยากให้ทุกท่านไม่ย่อท้อ แม้มีหนี้สูงหลายทาง แต่ทุกท่านก็สามารถไปต่อและจัดการได้ ดั่งวลีที่ว่า “ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ” เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน