สูตรลัดปิดหนี้ไวทันใจ ไม่เสี่ยงติดแบล็คลิสต์เครดิตบูโร
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

สูตรลัดปิดหนี้ไวทันใจ ไม่เสี่ยงติดแบล็คลิสต์เครดิตบูโร

icon-access-time Posted On 19 กรกฎาคม 2567
By Krungsri The COACH
ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้ง่ายและเป็นหนี้ไวขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมากกว่า 1 ใน 3 มีภาระหนี้สิน นอกจากจำนวนคนเป็นหนี้ที่เยอะแล้ว “ปริมาณหนี้” ก็หนักไม่แพ้กัน หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 197,255 บาท และ “จำนวนบัญชีหนี้” ที่พบว่า กว่า 30% ของคนไทยที่มีหนี้เกิน 4 บัญชีขึ้นไป
ทำอย่างไรถึงจะแก้หนี้หรือปิดหนี้ได้

จากข้อมูลด้านบน ปัญหาของการเป็นหนี้ของคนไทยนั้นส่อแววเพิ่มขึ้น หาทางออกในการแก้หนี้ได้ยาก และอาจจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยข้อมูลจากเครดิตบูโรเปิดเผยว่า คนไทยกำลังแบกรับภาระหนี้ไม่ไหว สะท้อนได้จาก 3 เดือนแรกของปี 2024 หนี้เสียบัตรเครดิตพุ่งกว่า 1 ล้านบัตร คิดเป็นยอดเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.6% หากเราเป็นหนึ่งในนั้นที่กำลังแก้หนี้ไม่ไหว และไม่อยากเสี่ยงติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรจะจัดการอย่างไร

หากใครรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ และกำลังหาทางออกในการแก้หนี้ Krungsri The COACH จะมาแชร์เคล็ดลับในการแก้หนี้ ทำให้ระดับหนี้ลดลงจนกลับมาตั้งหลักได้

ปัจจัยเสี่ยงหนี้ท่วมของคนไทย ในปี 2024

  • ค่าครองชีพสูง : คนไทยมีค่าใช้จ่ายครัวเรือน เฉลี่ยเดือนละ 23,695 บาท และเงินเฟ้อที่แพงและรุนแรง ส่งผลให้ค่าครองชีพก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ
  • รายได้ไม่เหมาะสม : ในขณะที่รายจ่ายสูงขี้นเรื่อย ๆ รายได้กลับไม่สัมพันธ์กัน คนไทยมีรายได้ครัวเรือน เฉลี่ยเดือนละ 29,030 บาท เงินเก็บคงเหลือเดือนละประมาณ 5,000 บาท อาจส่งผลกระทบเวลามีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เข้ามาในยามฉุกเฉิน
  • ความสามารถในการเข้าถึงบริการทางเงินที่ง่ายขึ้น : ในยุคก่อน จะต้องใช้ความยุ่งยากมากกว่าจะได้เงินกู้ หรือใช้จ่าย ในปัจจุบันกู้ยืมง่ายแค่ปลายนิ้ว แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ยังมีบริการให้ชอปก่อนและจ่ายทีหลัง
 
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนเป็นหนี้

เช็กสุขภาพการเงิน ก่อนเป็นหนี้เกินตัว

ในทางการเงิน มีการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินส่วนบุคคล (Personal Financial Ratio) คือ การเปรียบเทียบตัวเลขงบการเงินในรูปแบบอัตราส่วน เพื่อประเมินศักยภาพทางการเงินของบุคคล เหมือนการตรวจสุขภาพทางการเงินว่า เรามีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงและจัดการหนี้ได้เหมาะสมหรือไม่ โดยมี 2 สัดส่วนดังนี้
 

1. เช็กยอดหนี้สินจากทรัพย์สิน

นำหนี้สินทั้งหมดมาเปรียบเทียบกับทรัพย์สินทั้งหมดที่มี โดยหนี้ไม่ควรเกิน 50% ของทรัพย์สินที่มี เช่น หากมีทรัพย์สินรวมกัน 1,000,000 บาท หนี้สินควรจะมีไม่เกิน 500,000 บาท เป็นต้น ยิ่งหนี้สินมีสัดส่วนที่สูง ภาระดอกเบี้ยมักจะมากขึ้นตามไปด้วย
 

2. เช็กการผ่อนหนี้สินจากรายได้

การเช็กยอดหนี้สินจากทรัพย์สินแค่เพียงอย่างเดียวก็จะยังไม่สามารถประเมินศักยภาพทางการเงินได้อย่างชัดเจน ต้องดูความสามารถในการผ่อนให้ไหวในแต่ละเดือนด้วย โดยนำค่างวดต่อเดือนที่ใช้ผ่อนหนี้เทียบกับรายได้รวมต่อเดือน ซึ่งไม่ควรเกิน 40% เช่น รายได้ 25,000 บาท จะผ่อนหนี้ได้ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อเดือน เป็นต้น หากอัตราส่วนนี้ยิ่งสูง จะสะท้อนภาระหนี้ที่เกินตัว จนทำให้เหลือเงินไว้ใช้จ่ายน้อย และเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้หากมีรายจ่ายก้อนใหญ่
 
เช็กยอดหนี้สินจากทรัพย์สิน สมมติ ยอดหนี้ไม่ควรเกิน 50% ของทรัพย์สิน
ทรัพย์สิน 1 ล้านบาท ไม่ควรมียอดหนี้เกิน 5 แสนบาท
เช็กการผ่อนหนี้สินจากรายได้ สมมติ การผ่อนหนี้ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้
รายได้ 25,000 บาทต่อเดือน ไม่ควรผ่อนหนี้เกิน 10,000 บาทต่อเดือน
อัตราส่วนการเงินส่วนบุคคลจะเป็นตัววิเคราะห์ปัญหาด้านหนี้สิน หากใครที่ค่าใกล้เกณฑ์อาจต้องระมัดระวัง ปัญหาหนี้สิน แต่หากใครเกินค่าไปแล้ว ต้องดำเนินการแก้หนี้โดยด่วน
 
รวบรวมวิธีปลดหนี้ให้เร็วที่สุด

สูตรลัดแก้หนี้ไวทันใจ เริ่มทำตามได้เลย

การแก้หนี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่จะทำไหว หากมีความรู้ทางการเงินที่เหมาะสม และที่สำคัญ คือ วินัย กับความตั้งใจที่แน่วแน่ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
 

ขั้นตอนที่ 1 หยุดวงจรหนี้

เส้นทางการแก้หนี้ เริ่มต้นก้าวแรกจากการไม่ก่อหนี้ใหม่ หากเริ่มการแก้หนี้โดยไม่หยุดวงจรการเกิดหนี้ เหมือนกับพยายามเติมน้ำให้เต็มในถังที่มีรูรั่ว ดังนั้น เราควรใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง หยุดพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย การหยุดวงจรหนี้จะช่วยอุดรูรั่วให้ปัญหาหนี้เบาบางลง
 

ขั้นตอนที่ 2 สำรวจ และรวบรวมข้อมูลของตัวเอง

ให้ดูว่าเรามีรายได้เท่าไร แต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แล้วมีเงินเหลืออยู่ไหม เหล่านี้ล้วนเป็น Checklist ที่ต้องมีทุกครั้งก่อนคิดเพิ่มค่าใช้จ่าย การเริ่มสำรวจตัวเองเพื่อเข้าใจปัญหา จะช่วยให้มองภาพรวมของปัญหาได้ดียิ่งขึ้น วิธีที่จะทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น คือ ควรทำงบรายรับรายจ่ายของตัวเองให้ละเอียด โดยเฉพาะข้อมูลของจำนวนหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือน มีหนี้กับที่ไหนบ้าง ยอดผ่อนขั้นต่ำต่อเดือนเท่าไร อัตราดอกเบี้ยเท่าไร และวันที่ชำระคืนเมื่อไหร่ เป็นต้น
 

ขั้นตอนที่ 3 จัดลำดับการจัดการหนี้

เมื่อเรารู้ข้อมูลหนี้สินทั้งหมดแล้ว และยังพอมีกระแสเงินสดที่จะโปะเพิ่ม ควรปิดหนี้ตามลำดับทีละก้อน ไม่ควรปิดกระจัดกระจาย โดยเรียงจากหนี้ที่ยอดคงเหลือต่ำที่สุดก่อน การทุ่มเงินลงไปเพื่อปิดหนี้ที่ยอดคงเหลือน้อยสุดเป็นอันดับแรกจนหมดก่อน นอกจากจะช่วยทำให้มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่ต้องผ่อนหนี้ก้อนเดิมแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างกำลังใจในการแก้หนี้ให้ตัวเองอีกด้วย และหากมีหนี้ที่ยอดคงเหลือใกล้เคียงกัน ให้จ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าก่อน เพื่อให้ประหยัดดอกเบี้ยที่จ่าย ตัดเงินต้นได้ไวขึ้น การเรียงลำดับเพื่อปิดหนี้อย่างเป็นระบบจะช่วยให้แก้หนี้ได้ง่าย เร็ว และประหยัดดอกเบี้ยสูงสุด
 

ขั้นตอนที่ 4 รวมหนี้ทั้งหมดไว้ในแหล่งเดียว

หากขั้นตอนที่ 1-3 ยังไม่สามารถแก้หนี้ได้เห็นผล ยังคงมีปัญหาเหล่านี้อยู่ เช่น รายจ่ายติดลบ จ่ายขั้นต่ำหนี้ไม่ไหว จ่ายหนี้ล่าช้า หมุนเงินลำบาก เป็นสัญญาณเตือนว่าจำเป็นต้องนำหนี้ที่มีอยู่จากหลาย ๆ ที่ เอามารวมไว้ที่เดียวกัน เรียกว่า การรวมหนี้ โดยทำการยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งเดียวมาจ่ายหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด จะช่วยลดปัญหาการจ่ายล่าช้าหรือลืมชำระหนี้ และที่สำคัญช่วยให้ยอดขั้นต่ำในการผ่อนชำระต่อเดือนลดลง โดยเลือกค้นหาแหล่งสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยต่ำ และสำคัญที่สุด เลือกแบบที่ยอดผ่อนชำระต่อเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระไหว
 
ปิดหนี้ไวทันใจ ไม่เสี่ยงติดแบล็คลิสต์เครดิตบูโร

Krungsri The COACH แนะนำสินเชื่อสำหรับรวมหนี้

บริหารจัดการหนี้ได้ง่าย ๆ ด้วย สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล (บริการรวมยอดหนี้) เพื่อให้คุณรวมทุกหนี้ให้เป็นก้อนเดียว ไม่ต้องกังวลวันครบกำหนดชำระจากหนี้สินหลาย ๆ ที่ ทำให้สามารถบริหารและจัดการหนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น สามารถเลือกผ่อนต่อเดือนจำนวนน้อย ๆ เพื่อที่สามารถชำระหนี้ได้และยังมีเงินเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน สนใจกรอกข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ

กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว I อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกปกติ 21% - 25% ต่อปี*
*ศึกษารายละเอียด เงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ปัจจุบันการเข้าถึงสินเชื่อหรือการกู้ยืมเงินเป็นเรื่องง่าย แต่การชำระหนี้กลับเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย เนื่องจากปัญหาหลายประการ เช่น ค่าครองชีพที่สูง รายได้ที่ไม่เพียงพอ การจัดการหนี้ที่ไม่ดี หรือความรู้ และโอกาสทางการเงินที่ไม่เพียงพอ ปัญหาจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่ "การเป็นหนี้" เพราะการเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะต้องระวังและรีบแก้ไขหาก "เป็นหนี้เกินตัว" และ "จัดการหนี้ที่ไม่เหมาะสม" ดังนั้น ความรู้เรื่องวิธีบริหารจัดการหนี้อย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษา และหากประกอบกับความตั้งใจ และวินัยที่ดี แม้จะมีหนี้ ก็จะแก้หนี้ไม่ยาก และไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงกับชีวิตแต่อย่างใด


อ้างอิง
  • www.thaipbs.or.th/news/content/339775
  • projects.pier.or.th/household-debt/
  • www.ncb.co.th/fin-knowledge/six-list-getridof-debt-lastyear/
  • www.setinvestnow.com/th/glossary/personal-financial-ratio?lang=en
  • www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา