5 เทคนิคขอสินเชื่อให้ผ่าน ฉบับมือใหม่หัดกู้
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 เทคนิคขอสินเชื่อให้ผ่าน ฉบับมือใหม่หัดกู้

icon-access-time Posted On 13 กันยายน 2567
By Krungsri The COACH
“ไม่ผ่านการอนุมัติ” คำสั้น ๆ ที่หลายคนไม่อยากได้ยิน เมื่อต้องยื่นขอสินเชื่อส่วนบุคคลกับสถาบันการเงินแล้วไม่ผ่านการอนุมัติ สร้างความผิดหวังและความกังวลใจให้กับหลาย ๆ คน ที่วาดฝันถึงเงินก้อนที่จะมาช่วยต่อเติมความฝัน หรือแก้ไขปัญหาการเงินเฉพาะหน้าที่เผชิญอยู่

แต่รู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังคำว่า "ไม่ผ่านการอนุมัติ" นั้น มีสาเหตุ และปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่เราอาจจะมองข้ามไป และหากเราเข้าใจถึงสาเหตุเหล่านี้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อให้ผ่านฉลุยได้ในครั้งต่อไป Krungsri The COACH มีเทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้ขอสินเชื่อในระบบให้ผ่าน

5 สาเหตุ ทำไมถึงขอสินเชื่อไม่ผ่าน

ขอสินเชื่อส่วนบุคคลแต่ยังขอไม่ผ่าน

Krungsri The COACH จะพามาไขความลับเบื้องหลังคำว่า "ไม่ผ่านการอนุมัติ" จาก 5 สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คำขอสินเชื่อส่วนบุคคลของใครหลายคนไม่ผ่าน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม และก้าวผ่านอุปสรรคนี้ไปได้อย่างมั่นใจ
 

1. มีปัญหาด้านเครดิต

  • ประวัติการชำระหนี้ไม่ดี : การมีประวัติการชำระหนี้ไม่ตรงเวลา หรือผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้ง จะเป็นเหมือนรอยด่างพร้อยในประวัติทางการเงินของผู้กู้ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ในเครดิตบูโร (ศูนย์กลางทำหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อ และประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทที่ส่งมาจากสถาบันการเงิน) เมื่อสถาบันการเงินตรวจสอบประวัติทางการเงินของผู้กู้จากเครดิตบูโร ก็จะเห็นถึงความไม่น่าไว้วางใจในการชำระหนี้ ทำให้ยากต่อการอนุมัติสินเชื่อ
  • เป็นบัญชีหนี้เสีย : หรือเคยมีการค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน เป็นสัญญาณร้ายแรงสำหรับผู้กู้ว่ามีการสร้างหนี้เสีย เพราะเมื่อมีประวัติการค้างชำระหนี้นานเกิน 3 เดือน ข้อมูลนี้จะถูกบันทึกไว้ในรายงานเครดิตบูโรเป็นระยะเวลารวม 8 ปี (5 ปีที่ส่งรายงานหนี้เสีย + 3 ปีที่ลบข้อมูลเครดิตบูโร) และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผู้กู้ เพราะสถาบันการเงินจะมองว่าผู้กู้มีความเสี่ยงสูงในการผิดนัดชำระหนี้ จึงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้
 

2. มีปัญหาด้านรายได้และอาชีพ

  • รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ : รายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่สถาบันการเงินใช้ในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ หากรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่สถาบันการเงินกำหนด สถาบันการเงินอาจจะพิจารณาว่า ผู้กู้มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนด ดังนั้น การมีรายได้ที่มั่นคง และเพียงพอกับภาระหนี้สิน จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการขอสินเชื่อให้ผ่าน
  • อาชีพที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ : สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรืออาชีพที่รายได้ไม่แน่นอน เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์, ฟรีแลนซ์, หรืออินฟลูเอนเซอร์ อาจเป็นเรื่องท้าทายในการขอสินเชื่อ เนื่องจากสถาบันการเงินมักจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางรายได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ ผู้ที่ประกอบอาชีพดังกล่าว จะต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือหลักฐานการเสียภาษี เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของรายได้
  • อายุงานน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด : หากผู้กู้เพิ่งเริ่มทำงาน หรือมีอายุงานน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น บางสถาบันการเงินอาจกำหนดว่าผู้กู้ต้องมีอายุงานอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 1 ปี จึงจะมีสิทธิ์ขอสินเชื่อได้

    ดังนั้น หากอายุงานไม่ผ่านเกณฑ์ คำขอสินเชื่ออาจจะถูกปฏิเสธได้ เพราะสถาบันการเงินอาจมองว่ายังไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานที่มากพอ และมีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนงานหรือตกงาน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต
 

3. ภาระหนี้สินเดิมสูงเกินกว่าที่สถาบันการเงินกำหนด

โดยปกติสถาบันการเงินจะต้องพิจารณาถึงภาระหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบันของผู้กู้ด้วย โดยส่วนใหญ่จะดูจากอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt Service Ratio) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่ามีรายได้เพียงพอต่อการผ่อนชำระหนี้สินหรือไม่
 

4. เอกสารไม่ครบถ้วนหรือข้อมูลไม่ถูกต้อง

เอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ประกอบในการยื่นกู้ ต้องเตรียมให้ครบถ้วนและถูกต้อง เช่น สลิปเงินเดือน หรือรายการเดินบัญชีธนาคาร เพื่อให้สถาบันการเงิน ตรวจสอบรายได้ และความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้ ดังนั้น หากขาดเอกสารเหล่านี้ หรือมีข้อมูลที่ไม่ตรงตามที่เงื่อนไขของสถาบันการเงินที่ได้แจ้งไว้ การขอสินเชื่อก็อาจถูกปฏิเสธได้
 

5. มีปัญหาด้านอื่น ๆ

  • ผู้ค้ำประกันมีประวัติการเงินไม่ดี : ถ้าสินเชื่อที่ยื่นกู้นั้น ต้องใช้ผู้ค้ำประกันร่วมพิจารณาด้วย แต่ผู้ค้ำประกันมีประวัติการเงินไม่ดี ก็จะส่งผลต่อการขอสินเชื่อได้
  • มีคดีความเกี่ยวกับการเงิน : หากมีคดีความทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน หรืออยู่ระหว่างการฟ้องล้มละลาย ก็อาจทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่านได้

อยากขอสินเชื่อให้ผ่านฉลุย ต้องทำอย่างไร

ขอสินเชื่อให้ผ่าน ต้องทำอย่างไร

Krungsri The COACH มี 5 ทริคง่าย ๆ ที่สามารถช่วยให้เตรียมตัวขอสินเชื่อให้ผ่านได้ง่ายขึ้น

1. จ่ายหนี้ตรงเวลา

การจ่ายหนี้ที่มีอยู่ให้ตรงเวลา ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนชำระบัตรเครดิต ค่าผ่อนรถ หรือหนี้อื่น ๆ เป็นเสมือนการสร้าง "เกราะป้องกัน" ให้กับเครดิตของผู้กู้ เพราะทุกการชำระหนี้ที่ตรงเวลาจะถูกบันทึกไว้ในประวัติเครดิต ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินใช้ในการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้กู้ หากมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี สม่ำเสมอ และไม่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินว่าเราเป็นคนมีวินัยทางการเงิน มีความรับผิดชอบ และสามารถจัดการภาระหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในอนาคต
 

2. เลือกสินเชื่อให้เหมาะสม

สินเชื่อมีหลายประเภท เลือกให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการใช้เงิน เพราะหากเลือกสินเชื่อที่ไม่ตรงกับความต้องการ หรือมีเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับสถานะทางการเงิน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาในการผ่อนชำระตามมาได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อใด ๆ ควรศึกษาข้อมูลและเปรียบเทียบข้อเสนอจากหลาย ๆ สถาบันการเงิน เพื่อให้ได้สินเชื่อที่ตอบโจทย์และช่วยให้สามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
 

3. ประเมินความสามารถในการผ่อน

ก่อนจะก้าวเข้าสู่โลกของสินเชื่อ การสำรวจตัวเองว่ามีความสามารถในการผ่อนชำระได้เท่าไรในแต่ละเดือนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการกู้ยืมเกินตัวอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สินที่ยากจะแก้ไขในอนาคต Krungsri The COACH แนะนำให้ใช้เครื่องมือคำนวณสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยประเมินความสามารถในการผ่อนชำระได้ และช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมกับผู้กู้คือเท่าไร เพื่อให้สามารถผ่อนชำระได้อย่างสบายใจ ไม่เป็นภาระหนักจนเกินไป
 

4. อย่าเป็นหนี้เกินตัว

การเป็นหนี้ก็เหมือนการแบกน้ำหนัก หากแบกมากเกินไปก็อาจทำให้เราล้มลงได้ง่าย ๆ เช่นเดียวกัน การมีภาระหนี้สินที่สูงเกินไป อาจทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจกู้ยืมเงิน ควรประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของตัวเองให้ดี โดยทั่วไปแล้ว ภาระหนี้ทั้งหมดไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ เพื่อให้ยังมีเงินเหลือพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และมีเงินสำรองไว้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
 

5. เตรียมเอกสารให้ครบ

การเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนและถูกต้อง เป็นเหมือนการเตรียมตัวสอบ หากมีการเตรียมตัวมาดี ก็มีโอกาสสอบผ่านสูงเช่นเดียวกัน การขอสินเชื่อก็ต้องมีการเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้สถาบันการเงินตรวจสอบข้อมูลและประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ดังนั้น ก่อนยื่นขอสินเชื่อ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้เตรียมเอกสารทุกอย่างครบถ้วนตามที่สถาบันการเงินกำหนด และข้อมูลในเอกสารถูกต้องตรงกันหรือไม่ เพื่อป้องกันความล่าช้าในการดำเนินการ และช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อ
 
เทคนิคขอสินเชื่อให้ผ่าน

นอกจากนี้ Krungsri The COACH ยังมีบทความดี ๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัวขอสินเชื่ออีกเพียบ ลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ 5 วิธีเตรียมตัวขอสินเชื่อธนาคารให้ผ่านฉลุย

เมื่อรู้ทริคการขอสินเชื่อให้ผ่านแล้ว ถ้าอยากขอสินเชื่อส่วนบุคคล Krungsri The COACH ขอแนะนำสินเชื่อส่วนบุคคล Krungsri iFIN เงินกู้ถูกกฎหมาย ดอกเบี้ยต่ำ วงเงินสูง สามารถยื่นกู้ด้วยตัวเองได้เลยผ่าน KMA krungsri app

เทคนิคการกู้ให้ผ่อนสบาย ๆ คือ กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว | อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกปกติ 21% - 25% ต่อปี สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.krungsri.com

สุดท้ายนี้ Krungsri The COACH เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถในการบริหารจัดการเงินให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพียงแค่เข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้การขอสินเชื่อไม่ผ่าน และเตรียมตัวให้พร้อมตามคำแนะนำที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ซึ่งสามารถเริ่มต้นง่าย ๆ จากการตรวจสอบประวัติทางการเงินของตัวเราเอง ว่ามีจุดบกพร่องตรงไหนบ้าง แล้วหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการจัดการหนี้สินเดิม การปรับปรุงรายได้ให้ดีขึ้น หรือการเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนถูกต้อง

เพราะเมื่อเตรียมความพร้อมในทุกด้านแล้ว โอกาสในการขออนุมัติสินเชื่อผ่านก็จะเพิ่มสูงขึ้น

Krungsri The COACH ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านอุปสรรคทางการเงินไปได้ด้วยดี และขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการใช้จ่ายอย่างมีความรับผิดชอบนะครับ


อ้างอิง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา