รวมเรื่องควรรู้การต่อภาษีรถยนต์ ถ้าไม่อยากถูกจับ ปรับ
รอบรู้เรื่องรถ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

รวมเรื่องควรรู้การต่อภาษีรถยนต์ ถ้าไม่อยากถูกจับ ปรับ

icon-access-time Posted On 25 ตุลาคม 2565
by Krungsri The COACH
ปัจจุบัน มีการซื้อขายรถยนต์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเพราะความจำเป็นหรือเหตุผลอื่น ๆ แต่สิ่งที่สำคัญรองลงมา คือ “การต่อภาษีรถยนต์” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า การต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปี โดยที่บทความนี้จะมาพูดถึงข้อควรรู้ที่เจ้าของรถป้ายแดงควรที่จะรู้ก่อนที่จะถูกจับ ปรับ และมากไปกว่านั้นจะได้รู้อีกว่าต่อภาษีรถยนต์ต้องใช้อะไร? ต่อภาษีรถยนต์เตรียมเอกสารอะไรบ้าง? มีช่องทางไหนบ้างในการต่อภาษีรถยนต์ ซึ่งเราจะมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้

ความสำคัญของการต่อภาษีรถยนต์

"ต่อภาษีรถยนต์สำคัญยังไง" อาจเป็นคำถามที่หลายคนถาม และคำตอบที่มักจะได้รับ คือก็ทำไปตามระเบียบกฎหมาย แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น การใช้รถโดยสารนั้น อาจจะทำให้ถนนมีความเสื่อมสภาพลง ซึ่งจำเป็นต้องสร้างถนนสายใหม่ ดังนั้น การที่เราทุกคนเสียภาษีรถยนต์ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือหน่วยงานขนส่งให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงถนนทั่วประเทศตลอดจนการคมนาคมอื่น ๆ

การต่อภาษีรถยนต์ประจำปี เป็นส่วนที่สำคัญมากที่เจ้าของรถมือใหม่จะต้องทำ เพราะเป็นกฎระเบียบข้อบังคับของกรมการขนส่งทางบก ว่ารถที่ผ่านการจดทะเบียนแล้วจะต้องมีการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี
 
ความสำคัญการต่อภาษีรถยนต์

ถ้าไม่ต่อภาษีรถยนต์จะเป็นอย่างไร?

หากละเลยการต่อภาษีรถยนต์ย่อมถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และถือเป็นเรื่องสำคัญที่คนใช้รถควรรู้ แต่ถ้าหากไม่ต่อภาษีจะต้องปฏิบัติ ดังนี้
  • เสียค่าปรับ
    ตามปกติแล้ว การต่อภาษีรถยนต์ สามารถทำได้ล่วงหน้าก่อนทะเบียนรถยนต์ หมดอายุไม่เกิน 3 เดือน (หรือ 90 วัน) แต่ถ้าต่อภาษีรถยนต์ล่าช้าจะโดนค่าปรับ 1% ของภาษีรถยนต์/เดือน ยิ่งปล่อยไว้นาน ค่าปรับก็จะยิ่งเพิ่ม หากปล่อยไว้นาน อาจโดนค่าปรับย้อนจนหลังอ่วมแน่นอน
  • ถูกระงับทะเบียนรถยนต์
    เมื่อปล่อยรถไว้นาน โดยไม่ได้ทำการต่อทะเบียนรถยนต์เกิน 3 ปี ทางขนส่งจะดำเนินการระงับทะเบียนรถทันที แต่ถ้าหากจะใช้รถคันเดิม จะต้องดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนรถใหม่พร้อมคืนป้ายทะเบียนรถ รวมถึงดำเนินการชำระภาษีรถยนต์ย้อนหลัง สำหรับรถของใครที่มีการซ่อมเป็นเวลายาวนาน หรือจอดไว้ไม่ได้ใช้งาน ขนส่งก็ไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้น เราสามารถยื่นแสดงการระงับใช้รถชั่วคราวล่วงหน้าที่ขนส่งได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีในช่วงเวลานั้น ๆ
  • เสียค่าใช้จ่ายจิปาถะ
    นอกจากค่าปรับแล้ว การไม่ต่อภาษีรถยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เช่น ค่าตรวจสภาพ ค่าป้ายใหม่ เป็นต้น นี่ยังไม่นับค่าเดินทางไปๆ มาๆ กรณีเตรียมเอกสารไม่ครบหรือโดนเรียกเอกสารเพิ่มเติมอีก ซึ่งเทียบแล้วการยื่นต่อภาษีรถตามปกติ ยังมีแต่ข้อดีมากกว่าข้อเสีย

เพราะฉะนั้น ทุกคนควรดำเนินการต่อภาษีรถยนต์เป็นประจำทุกปี เพื่อที่จะให้ไม่ต้องเสียค่าปรับย้อนหลัง แถมประหยัดเวลาอีกด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วทุกคนคงสงสัยใช่ไหมว่าเอ๊ะ! แล้วการต่อประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ) และการต่อประกันภัยภาคสมัครใจ ต้องทำยังไงบ้าง? เราขอแนะนำ “Krungsri The COACH Ep.31 3 ข้อเจ้าของรถต้องรู้ ถ้าไม่อยากถูกจับ ถูกปรับ” ดูคลิปเต็มแบบรวดเดียวจบเข้าใจเรื่องของการต่อภาษีรถยนต์ และเอกสารในการใช้ต่อภาษีรถยนต์

การต่อภาษีรถยนต์ต้องทำอย่างไร?

หลังจากที่ทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญของการต่อภาษีรถยนต์แล้ว ทีนี้ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป คือการจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็น
 

เอกสารที่ต้องเตรียมในการต่อภาษีรถยนต์

  • สมุดคู่มือจดทะเบียนรถตัวจริงหรือสำเนา
  • เอกสาร พ.ร.บ. รถยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ
  • ใบรับรองการตรวจสภาพรถ (สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หรือรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่จดทะเบียนมาแล้วตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป)
  • เงินสำหรับอัตราภาษีรถตาม พ.ร.บ. รถยนต์ 
 
ประกันภัยภาคบังคับ พ.ร.บ.รถยนต์
 

เรามาต่อกันที่ การต่อประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ)

สำหรับรถยนต์ที่จะไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปีนั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือ พ.ร.บ. รถยนต์ โดยจะแบ่งเป็น 2 กรณีแบบเข้าใจง่าย ๆ
 

กรณีที่ 1

โดยถ้าเป็นรถใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี สามารถนำเอกสาร สำเนาทะเบียนรถ หรือเล่มจริง สำเนาบัตรประชาชน ไปซื้อ พ.ร.บ. รถยนต์ ได้ที่บริษัทตัวแทนจำหน่ายประกันภัย หรือธนาคารต่าง ๆ ใกล้บ้าน
 

กรณีที่ 2

แต่หากรถมีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป จะต้องทำการตรวจสภาพรถก่อน โดยสามารถตรวจได้ที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ทุกแห่ง ที่ได้การรับรองจากกรมการขนส่งทางบก รวมถึงที่กรมขนส่งทางบกทุกแห่ง
 

อัตราค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถยนต์ ขึ้นอยู่กับประเภทรถ โดยมีรายละเอียดอ้างอิงจาก คปภ. ดังนี้

  • รถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 7 คน ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. 600 บาท/ปี
  • รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน ไม่เกิน 15 ที่นั่ง ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. 1,100 บาท/ปี
  • รถยนต์โดยสารเกิน 15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. 2,050 บาท/ปี
  • รถยนต์โดยสารเกิน 20 ที่นั่ง ไม่เกิน 40 ที่นั่ง ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. 3,200 บาท/ปี
  • รถยนต์โดยสารเกิน 40 ที่นั่ง ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. 3,740 บาท/ปี
  • รถยนต์ไฟฟ้า ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. 600 บาท/ปี

สุดท้ายนี้อยากจะบอกกับเจ้าของรถมือใหม่ทุกคน ว่าอย่าลืมตรวจเช็กช่วงเวลาในการต่อภาษีรถยนต์ให้ดี ๆ ถ้าไม่อยากโดนค่าปรับย้อนหลัจนหลังอ่วม และขอให้เจ้าของรถมือใหม่สนุกกับการขับขี่ยานพาหนะ ภายใต้กฎหมายจราจร
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา