ก่อนเคลมประกันรถยนต์ เช็กสิทธิ์สำคัญของเราก่อน
รอบรู้เรื่องรถ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ก่อนเคลมประกันรถยนต์ เช็กสิทธิ์สำคัญของเราก่อน

icon-access-time Posted On 12 ตุลาคม 2565
by Krungsri The COACH
เพื่อนร่วมทางที่ดีที่สุดของรถยนต์คงหนีไม่พ้น “ประกันภัย” เพราะถ้าหากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินขึ้นมาเมื่อไหร่ ประกันรถยนต์ก็จะช่วยทำให้เราอุ่นใจมากยิ่งขึ้นแน่นอน อีกทั้งหากถึงช่วงเวลาที่เราต้องเอารถเข้าซ่อม หรือต้องเอา “เคลมประกัน” แล้วละก็ สำหรับคนที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวอยู่ตลอดคงได้รับผลกระทบไม่น้อย
 
ประกันภัยรถยนต์คืออะไรแบ่งได้กี่ประเภท

คงจะดีกว่าหากเราทำความเข้าใจเรื่องประกันภัยให้มากยิ่งขึ้น และอีกเรื่องสำคัญไม่ควรพลาดคือเราควรรู้สิทธิประโยชน์ที่เราควรได้รับในขณะที่รถเรากำลังส่งซ่อม

ฉะนั้นแล้วบทความนี้ขออาสาพาเหล่าผู้ใช้รถใช้ถนนไปเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้นพร้อม ๆ กัน โดยเรามาเริ่มทำความรู้จักกับประกันภัยรถยนต์ก่อน

ประกันภัยรถยนต์คืออะไร? แบ่งได้กี่ประเภท

ประกันรถยนต์จัดอยู่ในประกันวินาศภัยแบบหนึ่ง ที่คุ้มครองความสูญเสียหรือเสียหายที่เกิดจากการใช้รถ ได้แก่ ความเสียหาย สูญหายของตัวรถยนต์ รวมถึงความสูญเสียหรือเสียหายที่รถยนต์ก่อให้เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิต ของบุคคลภายนอก รวมทั้งบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์คันนั้น โดยประกันรถยนต์ก็มี 2 ประเภทด้วยกัน

1. การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือที่เรียกว่า “การประกันภัย พ.ร.บ.” คือ การประกันภัยรถยนต์ที่กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถทุกคันมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย ตามความคุ้มครองที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หากไม่ได้มีการทำ พ.ร.บ. ถือว่าผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ประกันภัยภาคบังคับสำหรับการเสียชีวิตและการบาดเจ็บ มีวงเงินความคุ้มครองสูงสุดต่อคนอย่างจำกัด ดังนั้นเจ้าของรถควรพิจารณาซื้อประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจเพิ่มเติมเพื่อความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม

รายละเอียดความคุ้มครองของการประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.
  • ให้การคุ้มครองและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และให้การรักษาพยาบาลทันทีในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
  • เป็นการรับประกันให้โรงพยาบาลหรือสถาบันทางการแพทย์เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในการรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์
  • เป็นผลประโยชน์ที่รัฐมอบให้ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมประกันในการบรรเทาทุกข์ของผู้ประสบภัยและครอบครัว

2. การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เป็นการประกันภัยรถยนต์ที่กฎหมายไม่ได้บังคับ แต่เกิดจากความสมัครใจของเจ้าของรถยนต์ เพื่อคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ประกันภัยรถยนต์มีอยู่หลายประเภท หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าประกันภัยชั้นต่าง ๆ ในแต่ละประเภทก็มีความคุ้มครองแตกต่างกันออกไปอีก ความรับผิดชอบหรือเงินค่าสินไหมทดแทนก็จะมีไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ตามเงื่อนไขตอนที่เลือกทำประกันภัยของแต่ละประเภทประกันที่เลือกซื้อเอาไว้

ซึ่งจะมีประเภทการคุ้มครองตามรายละเอียดด้านล่าง
  • คุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัย
  • คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ให้ความคุ้มครองต่อความรับผิดสำหรับความเสียหายใด ๆ ของบุคคลที่สาม
  • คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ แต่ไม่รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้
  • ความคุ้มครองความรับผิดจากอัคคีภัยและการโจรกรรม (Fire and Theft: F&T) ครอบคลุมความเสียหายต่อรถยนต์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถ รวมถึงการตัดแต่งอุปกรณ์และส่วนติดตั้งที่ไหม้หรือขาดหายไปที่ติดอยู่กับรถ

ตารางสรุปความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ

ตารางสรุปความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

ขั้นตอนการเคลมประกันภัยรถยนต์โดยรวมมีอะไรบ้าง?

บ่อยครั้งสิ่งแรกที่ควรทำระหว่างขั้นตอนการเคลมประกันคือใจเย็นและรวบรวมรายละเอียดการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นโทรไปที่ศูนย์ประกันภัย ซึ่งการเคลมประกันก็มีสองรูปแบบเช่นกัน
 

1. เคลมสด

การเคลมที่เกิดขึ้นทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุรถชนกัน โดยยังมีคู่กรณีอยู่ด้วย (เมื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างรถยนต์กับรถยนต์) ซึ่งจะเป็นการโทรติดต่อให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบและออกเอกสารสำหรับทำเรื่องเคลมทันที
 

2. เคลมแห้ง

การเคลมแบบแห้งเป็นการเคลมที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ควรไม่เกินสองสามวัน) โดยปกติในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือการชนทำให้เกิดความเสียหายเล็กน้อย บริษัทประกันภัยต้องบันทึกการเกิดอุบัติเหตุอย่างชัดเจน ชนเข้ากับสิ่งใด เมื่อใด ที่ไหน และรายงานการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนด้วยตนเองต่อบริษัทประกันภัยด้วยการเคลมแบบแห้ง มีกรณีพิเศษของ "การเคลมรอบคัน" ซึ่งรวบรวมรายละเอียดของเครื่องหมายต่าง ๆ พันรอบรถของเจ้าของรถทั้งคัน แต่ความคุ้มครองนี้สำหรับประกันชั้นหนึ่งเท่านั้น

มาถึงอีกหนึ่งความคุ้มครองที่ใครหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ หรือกำลังมองข้ามไปจนทำให้เสียสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้นั่นคือเรื่องของ “ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม” จะมีอะไรบ้างมาดูกัน
 
ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมของการเคลมประกันรถยนต์

ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม ที่เจ้าของรถควรรู้

ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม คือ ค่าสินไหมทดแทนจากการเกิดอุบัติเหตุที่ฝ่ายถูกสามารถเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยของคู่กรณีได้ ในขณะที่เรากำลังนำรถเข้าเคลมประกัน ทำความเข้าใจง่าย ๆ ว่าเราไม่มีรถใช้งาน แต่เราได้รับเงินชดเชยแทนนั่นเอง

หรือถ้าหากท่านใดที่ยังคงสงสัยในเรื่องของค่าขาดประโยชน์ระหว่างรถกำลังซ่อมอยู่ เราขอส่งไม้ต่อให้กับ Krungsri The COACH “รู้มั้ย? ระหว่างรถรอซ่อม เคลมค่าขาดประโยชน์จากประกันได้นะ” คลิกเลย

มาต่อกันที่ขั้นตอนการขอค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมขณะที่รถกำลังเคลมประกัน

  • รอรับใบแจ้งเคลมประกันจากเจ้าหน้าที่ประกันภัย พร้อมกับถ่ายเอกสารไว้เป็นสำเนา
  • นำรถยนต์ไปที่ศูนย์ หรืออู่ซ่อม พร้อมให้ศูนย์หรืออู่ซ่อมประเมินความเสียหายส่งเป็นเอกสารให้เราเก็บไว้ด้วย พร้อมยื่นใบเคลมเพื่อแจ้งซ่อม
  • ขอใบรับรถมาจากศูนย์หรืออู่มาให้เรียบร้อย และถ่ายเอกสารเก็บไว้เสมอ
  • แจ้งศูนย์หรืออู่ให้ถ่ายรูปตอนซ่อมรถแล้วส่งมาให้เราดู เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบฟอร์มเรียกร้องสินไหมค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม
  • เมื่อรถซ่อมเสร็จก็ให้เราไปรับรถพร้อมขอสำเนาใบรับรถหรือหนังสือส่งมอบรถเสร็จที่ระบุวันที่ไว้อย่างชัดเจน
  • จากนั้นให้เราขอแบบฟอร์มแจ้งเคลมค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมจากบริษัทประกันของคู่กรณี หรืออาจจะลองหาแบบฟอร์มจากช่องทางออนไลน์ก็ย่อมได้
  • เตรียมเอกสารของตัวเราเองให้พร้อม เริ่มจากใบขับขี่รถยนต์ และรวมถึงถ่ายสำเนาไว้ด้วย
  • สำเนาทะเบียนรถยนต์ของเรา
  • สำเนาบัญชีธนาคารที่เราต้องการให้โอนเงินค่าขาดประโยชน์กลับมาให้ ซึ่งก็ควรเป็นบัญชีของตัวเราเอง

นี่ก็เป็นเรื่องราวของประกันภัยกับความคุ้มครองต่าง ๆ ที่เราไม่ควรพลาด โดยเฉพาะกับเรื่องของค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมที่หลาย ๆ คนมองข้ามกันไป แค่เรามีข้อมูลและความรู้ในส่วนนี้ติดไว้อุ่นใจกว่าแน่นอน เราไม่รู้ว่าระหว่างการเดินทางจะต้องเผชิญกับอะไร แต่เราสามารถเตรียมวิธีรับมือ และรักษาสิทธิประโยชน์ของเราไว้ได้ ขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุก ๆ ท่านมีความสุขตลอดทุกการเดินทาง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา