อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามี Startup Ecosystem แข็งแกร่งเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีธุรกิจ Startup ชื่อดังอย่าง Gojek Traveloka และ Tokopedia ต่างก็เริ่มต้นที่นี่ ด้วยความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่กำลังเติบโตรุดหน้าประเทศอื่น ๆ ในบรรดาสมาชิกอาเซียน จนอาจจะทำให้ผู้ประกอบการหลายคนเกิดคำถาม
แล้วอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของผู้ประกอบการ? ในบทความนี้ Krungsri The COACH จะพาไปหาคำตอบกัน
3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นดาวรุ่งในการทำธุรกิจ Startup
เศรษฐกิจอินโดนีเซียกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยปัจจัยหลายประการที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ Startup ในประเทศ ทำให้นักลงทุน และผู้ประกอบการจากทั่วโลกให้ความสนใจกับตลาดแห่งนี้เป็นอย่างมาก มาดูกันว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้อินโดนีเซียน่าสนใจขนาดนี้
1. ตลาดที่ใหญ่และเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต
ดังที่กล่าวไว้ตอนต้นบทความ เศรษฐกิจอินโดนีเซียกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 238.5 ล้านคน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 2 ล้านคนถึงปี 2029 ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรในวัยแรงงาน (อายุ 20-64 ปี) ยังมีสัดส่วนสูงถึง 169.8 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อ และศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มหาศาล
เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี พร้อมกับอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชากรมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้า และบริการในกลุ่มดิจิทัลที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างตรงจุด
2. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องผ่านตัวเลขระดมทุน Startup
แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะมีความท้าทาย แต่ตัวเลขการระดมทุนของ Startup ในอินโดนีเซียกลับเติบโตอย่างน่าประทับใจ โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 มีการเติบโตถึง 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพของตลาดแห่งนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ
FinTech, E-commerce และเทคโนโลยีสีเขียวที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น รูปแบบการระดมทุนของ Startup ในอินโดนีเซียกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ (Debt Financing) เพิ่มขึ้นเป็น 46% เทียบกับการระดมทุนผ่านหุ้น (Equity Financing) ที่ 54% สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของตลาดการเงินที่มีความหลากหลายมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ Startup สามารถเลือกแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับโมเดลธุรกิจของตนเองได้
3. การสนับสนุนผู้ประกอบการต่างชาติของรัฐบาลอินโดนีเซีย
รัฐบาลอินโดนีเซียได้แสดงความมุ่งมั่นในการยกระดับความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ผ่านการประกาศใช้กฎหมาย Omnibus Law on Job Creation เมื่อปี 2563 ที่มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าไปในลงทุนในอินโดนีเซียได้ผ่านธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม Priority Business ที่มีจำนวนทั้งหมด 246 สาขา ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการส่งออก อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการผลิต หรือต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านรูเปียห์ เป็นต้น
ส่วนธุรกิจในกลุ่มอื่น ๆ เช่น ธุรกิจที่ต้องร่วมมือกับสหกรณ์ หรือ MSMEs ซึ่งเป็นธุรกิจทั่วไปที่ไม่ได้เน้นการใช้เทคโนโลยีระดับสูง แต่เน้นการใช้แรงงาน หรือมีความเกี่ยวพันกับมรดกทางวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย จะเปิดให้ต่างชาติลงทุนแค่ 46 สาขา จากจำนวน 106 สาขา
ทำไม Startup จากไทยควรบุกตลาดอินโดนีเซีย
ในปัจจุบันคนอินโดนีเซียมีความคุ้นชินกับสินค้าไทยจากสื่อ เช่น ซีรีส์และภาพยนตร์ อย่างเช่น หลานม่า หรือพี่มากพระโขนง ทำให้ในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเองก็มีการนำเอาสินค้ามาเผยแพร่ในตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จึงอาจจะกล่าวได้ว่าสินค้าไทยก็ยังอยู่ในความสนใจของกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ การค้าระหว่างไทยและอินโดนีเซียยังได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ระหว่างคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและ BPJPH (Halal Product Assurance Organizing Agency) หรือสถาบันรับรองสินค้าฮาลาลของอินโดนีเซีย ครอบคลุมการรับรองมาตรฐานฮาลาลในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 4 ปี นับจากวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566
อีกทั้งยังมีการปรับปรุงระเบียบการจัดเก็บภาษีศุลกากร และภาษีนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะในช่องทางการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน ที่มีการกำหนดเกณฑ์มูลค่า และอัตราภาษีที่ชัดเจน ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนต้นทุน และการดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เผย Insights 3P กลยุทธ์ที่ช่วยให้ธุรกิจไทยบุกตลาดอินโดนีเซียได้สำเร็จ
หลังจากที่เราได้เห็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นดาวรุ่งในการทำธุรกิจ Startup แล้ว Krungsri The COACH จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ หลักการ 3P ซึ่งเป็นคำแนะนำจาก คุณชาร์ต สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ ฝ่ายส่งเสริมการประสานงานภายในประเทศและระหว่างประเทศ ธนาคารกรุงศรีฯ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่อยากขยายธุรกิจในอินโดนีเซีย เพื่อให้สามารถวางกลยุทธ์บุกตลาดอินโดนีเซียได้อย่างตรงจุด
1. Product
ชาวอินโดนีเซียให้ความสนใจกับสื่อ หรือความบันเทิงของไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์ เพลง หรือคอนเทนต์ออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้พวกเขาชอบสินค้าไทยที่อยู่ในสื่อเหล่านี้ตามไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม การเลือกสินค้ากลุ่มนี้ไปบุกตลาดอินโดนีเซีย โดยที่คงจุดแข็งของความเป็นไทยไว้ แต่ปรับรูปแบบสินค้าให้เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย ก็จะช่วยให้ได้เปรียบในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
2. Place
การเลือกทำเลที่จะขยายสินค้าในอินโดนีเซีย เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากอินโดนีเซียมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะ ทำให้แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างทั้งด้านวัฒนธรรม พฤติกรรมผู้บริโภค และกำลังซื้อ ผู้ประกอบการจึงควรเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับสินค้า และบริการของตน โดยอาจเริ่มจากการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย (Targeting) เลือกพื้นที่ที่มีแนวโน้มตอบรับสินค้าได้ดี และปรับกลยุทธ์แบบ Super Localization ซึ่งเป็นการปรับสินค้าให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่ของอินโดนีเซียอย่างจริงจัง เพื่อให้สินค้าเป็นที่ต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
3. Partner
การหาพันธมิตรทางธุรกิจหรือ Local Hero เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการทำธุรกิจที่อินโดนีเซีย ซึ่งแตกต่างจากการทำธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากความหลากหลายของพื้นที่ และวัฒนธรรมของแต่ละเกาะ การมี Local Hero หรือ Local Partners ที่เข้าใจตลาดในพื้นที่นั้น ๆ จะช่วยให้การเข้าถึงผู้บริโภค และการดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการกระจายสินค้า การทำการตลาด และการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์
Krungsri The COACH ขอแนะนำบริการ Krungsri ASEAN LINK ส่งเสริมสินค้าไทยต่อยอดธุรกิจในอินโดนีเซีย
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายธุรกิจสู่ตลาดอินโดนีเซีย และยังไม่มี Local Hero หรือพันธมิตรทางธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีพร้อมสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจผ่านบริการ
Krungsri ASEAN LINK ซึ่งมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจในอุตสาหกรรม และตลาดอินโดนีเซียรวมไปถึงประเทศอาเซียนอื่น ๆ อย่างลึกซึ้ง พร้อมให้คำปรึกษา และนำเสนอโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ธุรกิจไทยก้าวไกลในตลาดอาเซียน
เศรษฐกิจอินโดนีเซียกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยปัจจัยสนับสนุนที่ครบครัน ทั้งขนาดตลาดที่ใหญ่ ประชากรที่มีศักยภาพ และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการต่างชาติ ทำให้ธุรกิจไทยมีโอกาสทองในการขยายตลาดสู่อินโดนีเซีย สินค้าไทยหลายประเภทได้รับความนิยมอย่างมากในอินโดนีเซีย อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม, ผลไม้ไทยทั้งสดและแปรรูป, และสินค้าสุขภาพ เช่น ยาดม นอกจากนี้ ธุรกิจไทยหลากหลายรูปแบบ ทั้งขนาดใหญ่และ SMEs เช่น ธนาคาร, ร้านอาหาร, และธุรกิจท่องเที่ยว ก็เป็นที่นิยมในอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน
ทำให้เป็นจังหวะที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจสู่ตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และรูปแบบการทำธุรกิจอย่างรวดเร็ว
อ้างอิง