เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
ทำไมประกันสุขภาพสำหรับเด็กจึงมีความสำคัญ? พ่อแม่โดยส่วนมากคิดว่าหากเด็กๆ เกิดอาการเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ แล้วก็สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไหว จึงเลือกที่จะไม่ทำประกันให้กับลูกๆ แต่ทว่าแท้จริงแล้วเด็กเองก็มีความเสี่ยงในการเกิดโรคได้มากกว่าผู้ใหญ่ และบางโรคหากเกิดกับเด็กแล้วอาจมีความรุนแรงและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงกว่าเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการลดความเสี่ยงด้วยประกันสุขภาพจึงเป็นทางเลือกที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง
ประกันสุขภาพสำหรับเด็ก ปัจจัยที่ขาดไม่ได้เพื่อลูกน้อย
สำหรับวัยทำงาน เรามีเรื่องสำคัญมากมายให้คำนึงถึงไม่ว่าจะเป็นงาน เงิน ที่อยู่อาศัย แต่สำหรับเด็กตัวเล็กๆ แล้ว สิ่งที่เขาต้องการหลักๆ ยังคงเป็นสุขภาพที่ดีและการดูแลอย่างเหมาะสม
สาเหตุหลักๆ ที่เด็กจำเป็นต้องทำประกันเพราะ
- เด็กเล็กมีภูมิคุ้มกันต่ำ บอบบาง ติดเชื้อง่าย จึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคแปลกๆ มากกว่าผู้ใหญ่
- หากเด็กมีอาการป่วยจะสื่อสารได้ยากทำได้เพียงการสังเกตุอาการจากการร้อง หรือความผิดปกติตามร่างกาย ทำความเข้าใจอาการได้ยาก บางครั้งอาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าสังเกตุอาการ 2-3 คืน
- อาการเจ็บป่วยของเด็กบางครั้งอาจจะเล็กน้อยแต่ปีหนึ่งอาจเกิดขึ้น 3-4 ครั้ง หรือมากกว่านั้น แล้วยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงต้องใช้เวลาในการรักษาที่ยาวกว่า
การทำประกันสุขภาพสำหรับเด็กโดยส่วนมากจึงมีการคุ้มครองอย่างครอบคลุมในปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าห้อง
- ค่าดูแลรักษายามพักฟื้น
หลายคนอาจมองว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อย เราสามารถดูแลได้ แต่ทว่าปัญหาด้านสุขภาพมีโอกาสเกิดเสมอซึ่งเมื่อไม่สบายแล้วเด็กบางคนอาจใช้เงินจำนวนมากกว่าผู้ใหญ่หลายต่อหลายเท่า ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนหรือหลักล้านบาท การบริหารความเสี่ยงเช่นการซื้อประกันให้ลูกจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อประกันสุขภาพสำหรับเด็ก
ประกันสุขภาพสำหรับเด็กมีความสำคัญขนาดนี้ การเลือกซื้อประกันย่อมต้องคิดให้ถี่ถ้วน โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ประการที่สมควรนำมาคิด คือ
- รายละเอียดความคุ้มครอง: ความคุ้มครองตั้งแต่อายุเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ มีความคุ้มครองครอบคลุมค่ารักษาในส่วนใดบ้าง ภายในวงเงินประกันเท่าไหร่ และมีโรงพยาบาลคู่สัญญาใกล้เคียงหรือไม่
- กำลังทรัพย์: การคุ้มครองที่ครอบคลุม บางครั้งอาจมาพร้อมกับการจ่ายเบี้ยประกันที่สูงขึ้น ดังนั้นฝ่ายพ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีการเช็คกำลังทรัพย์ของตนเองว่าสอดคล้องกับประกันสุขภาพเด็กที่กำลังจะทำหรือไม่
- ความน่าเชื่อถือของประกัน: บริษัทประกันและตัวแทนต้องพึ่งพาได้เมื่อยามจำเป็น หากมีการปรึกษา เคลมประกัน ต้องสามารถตอบคำถามได้ครบถ้วน เพราะเรามีการจ่ายเงินเพื่อการประกันให้กับลูกเราไปเรียบร้อยแล้ว
จริงอยู่ว่าเด็กในช่วงก่อนวัยเรียนจะไม่ค่อยป่วยบ่อยนัก ทว่าหลังจากเข้าโรงเรียน มีสังคม และได้เผชิญสิ่งแวดล้อมรวมถึงมลพิษต่างๆ ย่อมมีโอกาสให้โรคภัยเข้ามาได้ตลอดเวลา
ประกันสุขภาพจะเข้ามามีบทบาทในจุดนี้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีโรคแปลกๆ อยู่เยอะ เช่น ไวรัส RSV ที่มีอาการคล้ายโรคหวัดแต่มีความรุนแรงมากกว่าจนอาจทำให้เป็นโรคปอดอักเสบได้ หากเป็นในเด็กต้องใช้เวลาในการรักษา อาจมีโรคแทรกซ้อนได้ง่ายหากเป็นครั้งหนึ่งก็มีโอกาสที่เป็นได้อีก ลูกหลานของเราเป็นโรคนี้ก่อนทำประกัน บริษัทประกันอาจไม่รับประกัน ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันให้ลูกน้อยก่อนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ทำประกันสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่ากับลูกน้อย
เลือกประกันที่มีความคุ้มครองครบถ้วนในวงเงินที่เหมาะสม
ทำประกันสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการคุ้มครองที่ครอบคลุม
บริษัทประกันต้องมีโรงพยาบาลคู่สัญญาอยู่ในเขตใกล้เคียง
รู้หรือไม่: ประกันสุขภาพปัจจุบันไม่ได้บังคับให้พ่อแม่ต้องซื้อประกันชีวิตพ่วงประกันสุขภาพ
ซื้อประกันให้ลูกตอนอายุเท่าไหร่ดี
การบริหารความเสี่ยงที่ถูกต้องคือการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก่อนเหตุต่างๆ จะเกิด ดังนั้นการซื้อประกันสุขภาพสำหรับเด็กควรทำตั้งแต่ลูกของเราเกิด เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าลูกจะได้รับสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดด้วยมูลค่าที่เหมาะสมที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้นการทำประกันเร็วยังช่วยให้พ่อแม่สามารถบริหารเงินได้ง่าย เนื่องจากมีงวดการจ่ายที่คงที่ ดีกว่าการกู้หนี้ยืมสินเมื่อลูกไม่สบาย เป็นการจัดการปัญหาก่อนที่จะเกิด
สรุป
ไม่มีใครอยากให้ลูกไม่สบาย แต่ถ้าลูกของเราเกิดไม่สบายนั้นเราก็ต้องมีวิธีรับมือ การซื้อประกันให้ลูกเปรียบเสมือนการบริหารความเสี่ยงในระยะยาว ทั้งฝ่ายพ่อแม่ที่ได้ลดค่าใช้จ่ายเมื่อจำเป็น และลูกที่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล
สิ่งจำเป็นสำหรับทุกครอบครัวเลยคือการเลือกประกันให้ลูกหลานของคุณให้เหมาะสม การซื้อประกันควรมีการตรวจสอบโรงพยาบาล ผู้ดูแล รวมถึงการเคลมประกันอย่างถี่ถ้วน
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา