ความกังวลหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องพบเจอ คงหนีไม่พ้นเรื่องความผันผวนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะสำหรับ
นักลงทุนมือใหม่ที่ยังมีประสบการณ์น้อยเมื่อเจอสถานการณ์ “หุ้นตก” อาจตกใจ เพราะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่จนทำอะไรไม่ถูก โดยส่วนใหญ่แล้วสาเหตุหลัก ๆ มาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศเราในช่วงเวลานั้น ๆ นั่นเอง
ถึงแม้ว่าอาการ “หุ้นตก” จะเป็นเรื่องน่ากังวล แต่ก็เป็นสถานการณ์ปกติที่ต้องพบเจอกันอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นแทนที่จะมัวแต่กังวล เราควรมาทำความเข้าใจกับปัญหาต่าง ๆ ของสภาวะนี้ พร้อมรับมือให้ทัน เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองด้วยวิธีการเหล่านี้
1. กลับมาวิเคราะห์การลงทุนของตัวเอง
สิ่งแรกที่เราควรทำเมื่อพบกับปัญหาความผันผวนของหุ้นคือต้องตั้งสติให้ดี และค่อย ๆ คิดวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ไข ด้วยวิธีการกลับมาศึกษาข้อมูล
ทำความเข้าใจหุ้น แต่ละตัวที่ตัวเองได้ถือไว้ ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานในแต่ละกิจการเป็นอย่างไรบ้าง ผลประกอบการของหุ้นที่ลงทุนไปมีอัตราเติบโตหรือไม่ ทั้งในส่วนเงินผลกำไรและเงินสดจากกิจการทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ถ้าเราเรียนรู้ ก็จะมีความเข้าใจในทิศทางของตลาดและการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น
หรือถ้าคุณลงทุนกับหุ้นในกลุ่มกิจการประเภทเดียวกันเพียงอย่างเดียว ข้อนี้ก็อาจต้องพิจารณา เพราะถ้าหุ้นกลุ่มนั้นล้ม ทั้งพอร์ตเราก็จะล้มตามไปทั้งแผง ในภาวะที่ตลาดผันผวน การวิเคราะห์พื้นฐานหุ้นแต่ละตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องใส่ใจในรายละเอียดให้มากกว่าเดิม หากยังมีความชำนาญไม่มากพอก็สามารถปรึกษาที่ปรึกษาการลงทุนก็เป็นทางเลือกที่ดี
2. ติดตามข่าวเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ
ในภาวะตลาดผันผวน การติดตามข่าวเศรษฐกิจหรือข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องยิ่งมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน บางสถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องหุ้นหรือเศรษฐกิจโดยตรงก็อาจสร้างผลกระทบได้ เช่น เรื่องการเมืองภายในประเทศ ก็สามารถทำให้กระทบกับการลงทุนในภาพใหญ่ได้ หรือเรื่องดราม่าเล็กน้อยจากผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งที่อยู่ในตลาดหุ้น แล้วกลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมนั้น ๆ ในวันถัดมากราฟในหุ้นนั้นก็อาจจะดิ่งลงก็ได้ การลงทุนจึงไม่ใช่แค่การวิเคราะห์กราฟหรือข้อมูลพื้นฐานในการลงทุนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การลงทุนจึงเป็นมิติที่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน หากเราติดตามและพยายามทำความเข้าใจบริบทสังคมและเศรษฐกิจตามไปด้วย ก็เป็นการช่วยเสริมให้เข้าใจเหตุผลที่หุ้นนั้น ๆ มีการเปลี่ยนแปลง
3. กระจายทรัพย์สินในการลงทุนให้มากกว่าเดิม
การลดความเสี่ยงด้วยการกระจายทรัพย์สินในการลงทุนก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะในยามที่ตลาดหุ้นเกิดการผันผวน ยากที่จะคาดเดาทิศทางได้ เราควรบริหารเงินลงทุนอย่างระมัดระวัง คุณอาจต้องเลือกลงทุนในรูปแบบที่ความเสี่ยงต่ำและมีเสถียรภาพมั่นคง อย่าง
กองทุนรวม, พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ เพราะการลงทุนรูปแบบเหล่านี้มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ล้มได้ยาก ซึ่งต่างกับหุ้นทั่วไปที่มีความผันผวนสูงตามกลไกของตลาด แต่ก็มีข้อควรระวังสำหรับกองทุนรวม เนื่องจากกองทุนรวมมีหลากหลายประเภท คุณควรเลือกรูปแบบกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้หลีกเลี่ยงกองทุนที่มีการลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ เพราะมีความผันผวนสูง ก่อนพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมก็ควรศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วน
4. ลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging)
การตัดสินใจซื้อหุ้นครั้งเดียวในจำนวนมาก อาจเป็นวิธีการที่ไม่ตอบโจทย์กับสภาวะตลาดผันผวน เพราะคุณอาจมีโอกาสที่จะสูญเสียเงินไปมหาศาลและไม่ได้อะไรกลับมาเลย หรือถ้าเจ็บน้อยสุดก็อาจได้ผลตอบแทนในแบบที่ไม่เป็นไปตามที่ใจหวัง ยังมีวิธีที่อดเปรี้ยวไว้กินหวานอย่าง
“DCA” (Dollar-cost averaging) เป็นรูปแบบหนึ่งในการซื้อที่ปลอดภัยกว่า วิธีการนี้เป็นวิธีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยเราเป็นผู้กำหนดการลงทุนเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กัน เป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส ซึ่งมีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนได้น้อยกว่า เป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติที่ตัดเรื่องอารมณ์และความรู้สึกออกไป ทำให้เราไม่ต้องเกร็งกับการขึ้นลงของราคาหุ้น แถมยังช่วยให้เรามีวินัยในการลงทุนมากขึ้นอีกด้วย
5. ลงทุนกับกองทุนหุ้นในกลุ่ม SET50
เนื่องจาก SET50 เป็นกลุ่มหุ้นที่มีความแข็งแรงอันดับต้น ๆ และเป็นหุ้นที่กิจการมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ไม่ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนหรืออ่อนไหวขนาดไหน หุ้นในกลุ่มนี้จะไม่ใช่หุ้นที่ล้มก่อน ทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ยังคงเป็นหุ้นที่น่าลงทุนต่อไป การเลือกลงทุนไปกับกองทุนที่อยู่ในกลุ่ม SET50 จึงเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่า อย่าเพิ่งคล้อยตามไปกับกระแสที่มาในแต่ละช่วง ว่าหุ้นตัวนี้มาต้องรีบซื้อรีบโกย ตัวไหนลงก็ขายทิ้งทันที โดยที่ตัวคุณเองก็ยังไม่รู้ศักยภาพของกิจการนั้น ๆ ก็อาจทำให้คุณแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อไปไม่ไหว สิ่งนี้เป็นภาวะที่อันตราย
6. ปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจ
การปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์ก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน ท่ามกลางความผันผวน หุ้นก็มักจะมาจากเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจหรือเทรนด์แนวโน้มธุรกิจอยู่เสมอ เช่น ในปี 2563 ที่คาดว่าอัตราการนำเข้า รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) เพิ่มมากขึ้น ทำให้หุ้นในกลุ่มพลังงานมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น เราก็ควรพิจารณาหุ้นในกลุ่มนี้ไว้บ้างเพื่อสร้างผลกำไรให้กับพอร์ตของตัวเอง
และในทางตรงกันข้ามหุ้นแบบไหนที่ไปต่อไม่ได้จริง ๆ เราก็ต้องทำการ
Cut Loss หรือการตัดสินใจขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อป้องกันส่วนที่เหลือเอาไว้บ้าง ไม่ให้เราขาดทุนมากเกินไป หากคุณกำลังลงทุนในระยะสั้น การ Cut Loss สามารถทำได้เลยเพื่อเปลี่ยนไปลงทุนหรือซื้อหุ้นตัวอื่นแทน แต่หากเป็นการลงทุนระยะยาว อาจจะต้องใจเย็นและคอยติดตามความผันผวนให้ดีก่อนตัดสินใจทำการ Cut Loss
สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าหลายครั้งตลาดหุ้นไม่เป็นไปดั่งใจ นั่นก็ถือเป็นเรื่องปกติที่คุณต้องทำความเข้าใจและยอมรับในการขึ้น-ลงของราคาหุ้นตามสภาวะรอบข้างที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน การกังวลจนเกินไป หรือการรีบขายหุ้นทิ้งจึงอาจทำให้คุณเสียโอกาสดี ๆ ไป ดังนั้นการวางแผนให้ดีและรอบคอบจึงเป็นเรื่องที่คุณต้องใส่ใจ มาลองใช้ 6 ทริคง่าย ๆ ที่เรายกมาฝากกัน ก็สามารถช่วยให้คุณตัดสินใจหาทิศทางการเดินหน้าต่อได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน