กองทุนรวมความเสี่ยงต่ำ
กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้คุณภาพดีที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการบริหารสภาพคล่อง ไม่ต้องการสูญเสียเงินต้น แต่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากออมทรัพย์ทั่วไป และผลตอบแทนไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
กองทุนรวมความเสี่ยงปานกลาง
กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน ตลอดจนหุ้นกู้ของภาคเอกชน เหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ คาดหวังความสม่ำเสมอของผลตอบแทน ทั้งนี้ราคาของกองทุนตราสารหนี้อาจมีความผันผวนได้ตามภาวะตลาด ดังนั้น การลงทุนควรเป็นไปตามระยะเวลาที่แนะนำ เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะปานกลาง ควรลงทุนอย่างน้อย 1 ปี
กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนทั้งในตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์อื่นๆ ดังนั้น ผลตอบแทนที่กองทุนได้รับและความเสี่ยงของการลงทุนจะแตกต่างไปตามสัดส่วนการลงทุนของแต่ละตราสาร เหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ระดับปานกลางค่อนข้างสูง หรือต้องการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ภายในกองทุนเดียว โดยมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้เหมาะกับแต่ละภาวะตลาด
กองทุนรวมความเสี่ยงสูง
กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) หรือกองทุนรวมหุ้น
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ (Warrant) รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่น ๆ กองทุนรวมหุ้นจะถูกกำหนดให้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เนื่องจากการลงทุนในหุ้นมีความผันผวนซึ่งนำไปสู่ทั้งโอกาสและความเสี่ยง ดังนั้น กองทุนรวมหุ้นจึงเหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง สามารถลงทุนระยะยาวได้ และเข้าใจว่าการขาดทุนระยะสั้นอาจเกิดขึ้นได้
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF)
กองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ซึ่งมีนโยบายให้เลือกลงทุนหลากหลาย เช่น กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนหุ้นต่างประเทศ ความเสี่ยงของกองทุนก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน และเนื่องจากแต่ละประเทศมีสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแตกต่างกัน การเลือกลงทุนใน FIF จึงเป็นการกระจายความเสี่ยง ทั้งนี้ นักลงทุนยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเรื่องการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investment)
กองทุนรวมที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือกต่างๆ เช่น หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ ทองคำ กองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากทรัพย์สินที่ไปลงทุนอาจมีความผันผวนของราคาสูงมาก หรืออาจไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย หรือราคาอ้างอิงกับสินทรัพย์อื่นๆ จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง ลงทุนได้ในระยะยาว และต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไปลงทุน
กองทุนรวมสำหรับลดหย่อนภาษี
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่ลงทุนจริงสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* ต้องไม่เกิน 500,000 บาท SSF สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายประเภทเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้น REITs โดยเลือกลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุนทุกประเภทที่สามารถลงทุนระยะยาวได้
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมและเตรียมความพร้อมสำหรับการเกษียณอายุ โดยผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่ลงทุนจริงสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี โดยเมื่อนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* ต้องไม่เกิน 500,000 บาท RMF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ตั้งแต่การลงทุนในตลาดเงิน ตราสารหนี้ ตราสารผสม และหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นผู้ลงทุนสามารถเลือกออมเงินลงทุนตามความเสี่ยง ความคาดหวังในผลตอบแทน และระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ดังนั้น RMF จึงเป็นทางเลือกการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุนทุกประเภทที่สามารถลงทุนระยะยาวได้
กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
กองทุนรวม Thai ESG คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้น ESG ของไทย หรือลงทุนในตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนของไทย (ESG Bond) กองทุน Thai ESG จึงนับเป็นทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนที่สนใจการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เพราะหากมีการดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืนแล้ว ก็มีโอกาสจะส่งผลโดยตรงต่อการสร้างผลกำไรที่ยั่งยืนของบริษัทตามไปด้วย และที่สำคัญการลงทุนในกองทุน Thai ESG จะได้รับการสนับสนุนการยกเว้นภาษีอีกด้วย โดยผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่ลงทุนจริงสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
*การออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ได้แก่ SSF, RMF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี