1.2 สถาบันทางการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non-Bank Financial Intermediaries: NBFIs)
ในฟิลิปปินส์มีสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร หรือ NBFIs หลากหลายประเภท อาทิ กองทุนรวม ผู้ค้าหลักทรัพย์และนายหน้า สมาคมออมทรัพย์ สหภาพเครดิต บริษัทประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญ อย่างไรก็ดี มี NBFIs บางประเภทที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของลูกค้ารายย่อย ได้แก่ สถาบันการเงินระดับฐานราก (Microfinance Institutions) ต่างๆ เช่น องค์กรการเงินรายย่อยเอกชนไม่แสวงหากำไร (Microfinance Non-Government Organizations: MF NGOs) โรงรับจำนำ สหกรณ์ เป็นต้น ซึ่ง NBFIs เหล่านี้นับว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญแห่งหนึ่งสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อย ตลอดจนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และ
รายย่อย (Micro-, Small-, and Medium-sized Enterprises: MSMEs)
2. พัฒนาการที่สำคัญในภาคการเงิน
ภาคธนาคารของฟิลิปปินส์เติบโตต่อเนื่องจากการพึ่งพาเงินทุนของ NFCs เป็นหลัก อย่างไรก็ดี ความต้องการบริการทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น กอปรกับเทคโนโลยีทางการเงินที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ภาคธนาคารเริ่มขยายความครอบคลุมการให้บริการไปยังรายย่อยมากขึ้น
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาคธนาคารของฟิลิปปินส์มีการเติบโตของสินทรัพย์โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉลี่ย (ภาพที่ 8) สะท้อนถึงการขยายตัวของภาคการเงินที่ได้รับอานิสงส์มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ของคนในประเทศ และนำไปสู่ความต้องการบริการด้านการเงินทั้งความต้องการฝากเงิน สินเชื่อ และการวางแผนทางการเงินสำหรับอนาคต (ภาพที่ 9)
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าธนาคารขนาดใหญ่ในฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศ การเติบโตของสินทรัพย์ภาคธนาคารดังกล่าวจึงสะท้อนถึงการพึ่งพาเงินทุนจากภาคธนาคารของ NFCs ที่เติบโตต่อเนื่อง มากกว่าการเข้าถึงเงินทุนของรายย่อย แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายธนาคารเริ่มเห็นโอกาสจากการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลและเริ่มให้ความสำคัญกับลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น กอปรกับการพัฒนาของเทคโนโลยีในภาคการเงินยิ่งส่งเสริมการขยายฐานลูกค้าของภาคธนาคารให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มลูกค้าภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ลูกค้าย่อยจากภาคธนาคารที่มีการเติบโตเร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สินเชื่อธนาคารที่ปล่อยให้แก่ภาคครัวเรือนยังนับว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดของสินเชื่อสำหรับลูกค้าธุรกิจ (ภาพที่ 10) ดังนั้น NBFIs ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยต่อเนื่อง
พัฒนาการที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในภาคการเงินของฟิลิปปินส์ คือการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีทางการเงิน โดยผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้นตามพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐภายใต้กระแสดิจิทัล โดยในปี 2563 Overseas Filipino Bank4/ เป็นธนาคารแห่งแรกที่ได้ใบอนุญาตการดำเนินกิจการธนาคารดิจิทัล (Digital Banks) เต็มรูปแบบจาก BSP และต่อมา BSP ได้ให้ใบอนุญาตดังกล่าวแก่ธนาคารดิจิทัลอื่นเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง5/ ซึ่ง BSP ได้คาดการณ์ว่า ธนาคารดิจิทัลอาจใช้ ระยะเวลาประมาณ 5 ถึง 7 ปี เพื่อนำเสนอรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับตลาดและสามารถทำกำไรได้ อย่างไรก็ดี BSP ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานของธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบในเดือนมีนาคม 2567 ว่า มีเพียง 2 ใน 6 แห่งเท่านั้นที่สามารถทำกำไรได้ซึ่งสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของธนาคารดิจิทัลในประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ BSP จะเผยแพร่รายงานของภาคธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบเป็นระยะๆ
นอกเหนือจากธนาคารดิจิทัลแล้ว จากรายงานสถานะการชำระเงินดิจิทัลของ BSP พบว่าการชำระเงินของลูกค้ารายย่อยผ่านระบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มจากร้อยละ 10 ของจำนวนธุรกรรมการชำระเงินของลูกค้ารายย่อยทั้งหมด ในปี 2561 มาสู่ร้อยละ 42.1 ในปี 2565 ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนประชากรฟิลิปปินส์ที่มีบัญชีธนาคารหรือบัญชีออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65 ในปี 2565 จากร้อยละ 22.6 ในปี 2560 และคาดว่าจะเกินร้อยละ 70 ในปี 2566 โดยที่จำนวนประชากรฟิลิปปินส์ที่ถือครองบัญชีบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การใช้บริการธนาคารออนไลน์หรือแอปพลิเคชันมือถือที่เพิ่มขึ้นได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การชำระเงินดิจิทัลของชาวฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะการใช้งานแอปพลิเคชันการชำระเงินต่างๆ เช่น GCash และ PayMaya ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถชำระเงิน โอนเงิน และออมทรัพย์ได้โดยไม่ต้องไปสาขาธนาคาร อย่างไรก็ตาม บริการสินเชื่อ การประกันภัย และการลงทุนผ่านระบบดิจิทัลยังมีช่องว่างสำหรับการพัฒนาอยู่อีกมาก
3. ความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจ
การเข้าถึงบริการทางการเงินของลูกค้ารายย่อยยังเป็นโจทย์ท้าทาย แต่สถาบันไมโครไฟแนนซ์ บริการทางการเงินดิจิทัลและนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินจากภาครัฐกำลังมีบทบาทในการลดช่องว่างดังกล่าว
แม้ฟิลิปปินส์จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงต่อเนื่อง แต่ภาคครัวเรือนและ MSMEs ในประเทศยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ที่เป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยตามรายงานของธนาคารโลก ในปี 2564 ประชากรฟิลิปปินส์ที่อายุมากกว่า 15 ปี มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 49 ที่ยังไม่มีบัญชีธนาคารหรือการเข้าถึงบริการการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (ภาพที่ 11) และจากรายงานการสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินประจำปี 2564 ของ BSP พบว่ากลุ่มเกษตรกรถึงร้อยละ 73 เป็นกลุ่มอาชีพที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ซึ่งมีสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ทั้งนี้ ผู้ที่ยังไม่มีบัญชีธนาคารมองว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดของการเข้าถึงบริการทางการเงินคือ การไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงิน ตามมาด้วยการขาดเอกสารที่จำเป็น
ในส่วนของการเข้าถึงสินเชื่อ ด้วยพื้นฐานที่ภาคธนาคารมุ่งเน้นการให้บริการทางการเงินภายในเครือข่ายธุรกิจเดียวกัน มากกว่าการขยายฐานลูกค้าไปยังลูกค้ารายย่อย ประกอบกับปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ที่เป็นข้อจำกัดในการขยายสาขาของธนาคารไปยังพื้นที่ห่างไกล ตามการสำรวจของ BSP จึงพบว่าคนฟิลิปปินส์ยังมีสัดส่วนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงิน (Formal Credit Source) และแหล่งเงินทุนนอกระบบสถาบันการเงิน (Informal Credit Source) ใกล้เคียงกัน ที่ร้อยละ 57 และร้อยละ 56 ตามลำดับ สำหรับแหล่งเงินทุนในระบบ พบว่าสถาบันการเงินที่สำคัญที่สุดได้แก่กลุ่มสถาบันไมโครไฟแนนซ์ (MF NGOs) โดยผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 23 ได้ระบุว่าพึ่งพาแหล่งเงินทุนจาก MF NGOs อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 4 ระบุว่าได้กู้เงินจากภาคธนาคาร ซึ่งเป็นตัวเลขที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2019 (ภาพที่ 12) โดยกลุ่มคนที่มีอัตราการกู้ยืมจากธนาคารสูงได้แก่ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง (VisMin: Visaya and Mindanao) กลุ่มครัวเรือนรายได้สูง (Class ABC) เจ้าของธุรกิจ และกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 50
การที่ครัวเรือนรายย่อยและ MSMEs ยังมีสัดส่วนการพึ่งพาสินเชื่อจากแหล่งเงินทุนนอกระบบในระดับสูงและยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจากภาคธนาคาร ได้สะท้อนถึงรากฐานปัญหาการเข้าถึงเงินทุนในระบบของฟิลิปปินส์ หากพิจารณาจากมุมผู้รับบริการ กว่าครึ่งของชาวฟิลิปปินส์และภาคธุรกิจ MSMEs มองว่าการกู้ยืมจากสถาบันการเงินอย่างธนาคารนั้นทำได้ยาก เนื่องจากต้องใช้เอกสารประกอบการยื่นกู้จำนวนมาก มีรายได้น้อย ใช้เวลาในการดำเนินการที่นาน และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้น ประชาชนและธุรกิจรายย่อยจำนวนมากจึงหันไปพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ และจากมุมของผู้ให้บริการ ธนาคารมักพบว่าการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดเล็กและบุคคลในชนบทนั้นไม่คุ้มกับความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เอื้อต่อความน่าสนใจเชิงธุรกิจ อาทิ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ธนาคารแบบดั้งเดิมที่ต้องอาศัยสาขา (Brick and Mortar) มีต้นทุนในการดำเนินการที่สูง ประกอบกับการที่ฟิลิปปินส์มีอัตราการออมต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (ภาพที่ 12) ธนาคารจึงมีแรงจูงใจต่ำที่จะลงทุนในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะสั้นอาจไม่เพียงพอ
อุปสรรคการเข้าถึงเงินทุนในระบบดังกล่าว โดยเฉพาะการเข้าถึงเงินทุนของ MSMEs ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจ เนื่องจาก MSMEs เป็นฟันเฟืองที่สำคัญต่อเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ โดยจำนวนของ MSMEs ในระบบเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 99.6 ของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศ และมีการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 65 ของการจ้างงานทั้งหมด การได้รับสินเชื่อจากแหล่งเงินทุนนอกระบบที่มีต้นทุนสูงจึงสะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรเงินทุน และจำกัดศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย
ในปัจจุบัน สถาบันไมโครไฟแนนซ์มีบทบาทสำคัญในการลดช่องว่างการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม MSMEs และประชาชนที่มีรายได้ต่ำ เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้ง MSMEs รวมถึงประชากรในภาคการเกษตรและประมงในพื้นที่ชนบทอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ โดยในงานศึกษาหลายฉบับได้ระบุว่า ไมโครไฟแนนซ์มีประสิทธิภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อและการให้บริการทางการเงินผ่านไมโครไฟแนนซ์อย่างต่อเนื่อง6/
อีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้นแม้กระทั่งในชนบทของฟิลิปปินส์ คือบริการทางการเงินดิจิทัลที่กำลังทวีความสำคัญมากขึ้น โดยงานศึกษาต่างๆ พบว่าบริการทางการเงินดิจิทัลสามารถนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดในฟิลิปปินส์ที่พบว่าอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้วจากร้อยละ 34 ในปี 2560 มาเป็นร้อยละ 51 ในปี 2564 หลังจากที่ฟิลิปปินส์มีพัฒนาการของบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลเร่งขึ้นอย่างชัดเจนดังที่ได้กล่าวในข้างต้น
แม้บริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลจะมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด แต่สัดส่วนของประชากรที่มีสมาร์ทโฟน (ร้อยละ 74) ยังสูงกว่าสัดส่วนประชากรที่มีบัญชีธนาคาร (ร้อยละ 51) ดังนั้น แผนการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของ BSP จึงมุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ เพื่อปลดล็อกการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) และกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของต่างชาติในภาคการเงิน อาทิ (1) อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในสถาบันการเงินของฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น จากเดิมที่สูงสุดร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 60 (2) ยกเว้นการลงทุนในกิจกรรมที่สงวนไว้สำหรับชาวฟิลิปปินส์ (3) ปรับกระบวนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารให้รวดเร็วและง่ายขึ้น รวมถึง (4) การออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัล ซึ่งมีข้อกำหนดเงินทุนขั้นต่ำที่ต่ำมาก และอนุญาตให้บริษัทต่างชาติถือใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลได้ทั้งหมด การผ่อนคลายข้อจำกัดเหล่านี้คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติในภาคการเงิน เพิ่มการแข่งขันในภาคการเงิน และทำให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจรายย่อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น
แม้ว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินใน MSMEs และกลุ่มประชากรรายย่อยมากขึ้น แต่ความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อร่วมปิดช่องว่างดังกล่าวก็มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะบทบาทของสถาบันการเงินอย่างธนาคาร ซึ่งอาจเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีในการขยายฐานธุรกิจและฐานลูกค้าต่อไป
โอกาสทางธุรกิจในภาคการเงิน
การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ยังมีช่องว่าง นับว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจในภาคธนาคาร โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงรูปแบบการให้บริการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับประชากรแต่ละกลุ่มได้
สำหรับโอกาสทางธุรกิจในภาคการเงินของฟิลิปปินส์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะจากธนาคารมีศักยภาพในการเติบโตสูง จากปัจจัยขับเคลื่อนหลายประการ โดยประการแรกคือ ระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งย่อมหมายถึงโอกาสอีกมากสำหรับธนาคารที่จะช่วยทำให้ MSMEs และครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในต้นทุนที่เหมาะสมได้ ประการที่สอง คือการเพิ่มขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลางในฟิลิปปินส์ (ในปี 2563 สัดส่วนชนชั้นกลางอยู่ที่ร้อยละ 43.5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด7/) รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้และความต้องการทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับธนาคารในการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อต่างๆ (ภาพที่ 13) ด้วยเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการบริโภคภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์หลัก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้โอกาสธุรกิจสินเชื่อในประเทศเปิดกว้างขึ้น ประการที่สาม แม้ในหลายพื้นที่ห่างไกลหรือชนบทหายแห่งยังขาดโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อที่เสถียร แต่สัดส่วนการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 13) จะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนทั่วไปได้มากขึ้น
อีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญได้แก่การผลักดันของภาครัฐในการส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2560 รัฐบาลได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ National Strategy for Financial Inclusion หรือ NSFI ซึ่งในปัจจุบันยุทธศาสตร์ปี 2565-2571 ได้มุ่งเน้นแก้ไขความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเกษตรกร (ที่มีสัดส่วนถึงร้ยอละ 24.5 ของแรงงานทั้งหมด) ผ่านการส่งเสริมไมโครไฟแนนซ์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัล การฝึกอบรมด้านความรู้ทางการเงิน โดยองค์กรที่รับผิดชอบหลัก ได้แก่ Financial Inclusion Steering Committee หรือ FISC ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐร่วมที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประสานงานหลักระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ ทางการฟิลิปปินส์คาดหวังว่าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของประเทศจะมีความสำคัญในการสร้างระบบการเงินที่มีความครอบคลุม และส่งผลสืบเนื่องให้ระบบเศรษฐกิจทำงานอย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ภาครัฐเองก็มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การเงินดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการนำระบบบัตรประจำตัวประชาชนฟิลิปปินส์ (Phillipines Identification System: PhilSys)8/ ซึ่งเป็นระบบบัตรประจำตัวประชาชนดิจิทัลแห่งชาติมาใช้ด้วย ซึ่ง PhilSys สามารถแก้ไขปัญหาการขาดเอกสารประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นอุปสรรคที่พบบ่อยต่อการเปิดบัญชีธนาคารได้ นอกจากนี้ยังสามารถอำนวยความสะดวกในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ในบริการทางการเงินดิจิทัลอีกด้วย
เมื่อมองปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ประกอบกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยเฉพาะด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในแต่ละกลุ่มของอาชีพ และรายได้ จะเห็นได้ว่า กลยุทธ์ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการเงินในฟิลิปปินส์อาจจำเป็นต้องเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของประชาชน เช่น สินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีรายได้น้อย สินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ตอบสนองความต้องการทางการเงินของครอบครัว
นอกจากนี้ กระแสดิจิทัลที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในฟิลิปปินส์ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งที่จะมาช่วยเสริมทัพให้กับโอกาสธุรกิจในภาคธนาคาร โดยจากการสำรวจของธนาคารกลางฟิลิปปินส์9/ พบว่าคนส่วนใหญ่จากครอบครัวรายได้น้อยที่พึ่งพาแหล่งกู้ยืมนอกระบบเพราะความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการชำระเงินคืน ดังนั้น หากภาคการธนาคารสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเงินดิจิทัลเพื่อช่วยลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ตลอดจนลดความยุ่งยากด้านเอกสาร ประชาชนก็จะสามารถเข้าถึงเงินกู้จากธนาคารได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีการเงินดิจิทัลสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าที่ครอบคลุม ตลอดจนเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่จะทำให้ธนาคารเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น สามารถประเมินความเสี่ยงในการกู้ยืมของลูกค้าแต่ละราย รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
เมื่อมองภาพที่กว้างขึ้นในระดับภาคเศรษฐกิจจริงและระดับภูมิภาค ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการชำระเงินในภูมิภาค (Regional Payment Connectivity: RPC) ที่จะครอบคลุมการชำระเงินรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการเชื่อมระบบ QR Code และการเชื่อมระบบการชำระเงินแบบทันที (Fast Payment) ระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม) และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดย RPC มีเป้าหมายในการทำให้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศไร้รอยต่อด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจทำธุรกรรมระหว่างประเทศในอาเซียนได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการในฟิลิปปินส์ทำร่วมกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย
กล่าวโดยสรุป โอกาสทางธุรกิจที่ในภาคธนาคารของฟิลิปปินส์ควรมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์การให้บริการสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดเล็ก-ปานกลาง และสินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์หรือสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ตามความต้องการสินเชื่อที่มากขึ้นของคนกลุ่มนี้ นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีการเงินดิจิทัลมาช่วยเสริมทัพเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ และบริหารความเสี่ยง จะช่วยทำให้ภาคธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจด้านบริการสินเชื่อให้สามารถแข่งขันกับแหล่งเงินกู้นอกระบบได้ ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดสำคัญ และปลดล็อกการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ ความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านการชำระเงินอาจเป็นการเปิดประตูแก่ภาคธุรกิจให้มองเห็นโอกาสที่กว้างขึ้นในการทำธุรกิจกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย
ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในภาคการเงินของฟิลิปปินส์
แม้การดำเนินธุรกิจในภาคการเงินในฟิลิปปินส์ยังคงมีความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะความเสี่ยงเชิงระบบแต่เสถียรภาพทางการเงินที่ยังแข็งแกร่งและมาตรการภาครัฐที่คอยกำกับดูแลคาดว่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าว
ความท้าทายโดยทั่วไปสำหรับการดำเนินธุรกิจในภาคธนาคารฟิลิปปินส์ ได้แก่
-
ข้อจำกัดเชิงภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐาน: เนื่องจากในบางพื้นที่ที่ห่างไกลอาจมีจำนวนประชากรไม่มากพอที่สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์เข้าไปเปิดสาขา ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปของฟิลิปปินส์ยังต้องได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อรองรับให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าไปขยายสาขาในพื้นที่นอกเมืองได้มากขึ้น นอกจากนี้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่จำกัดในบางพื้นที่ห่างไกลยังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การเงินดิจิทัล
-
ระบบการจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัยของข้อมูล: ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงในภาคการเงินฟิลิปปินส์ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด จึงอาจทำให้ธนาคารประเมินความเสี่ยงลูกค้าเพียงตามลักษณะงานและรายได้ และมองว่าลูกค้าบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงเกินไป จึงจำกัดการปล่อยกู้ หรือปล่อยกู้ด้วยเงื่อนไขที่เข้มงวด10/ นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนมากในฟิลิปปินส์ยังขาดความไว้ใจและมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อใช้บริการทางการเงินดิจิทัล11/
-
เสถียรภาพในระบบการเงิน: การวิเคราะห์เสถียรภาพในระบบการเงินของฟิลิปปินส์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อมองหาความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) ที่อาจกระทบกับการดำเนินธุรกิจด้านสินเชื่อและธนาคารได้ โดยในปัจจุบันพบว่าภาคธนาคารฟิลิปปินส์ในภาพรวมยังมีเสถียรภาพแข็งแกร่ง ด้วยระดับ CAR ที่ยังคงมากกว่าเกณฑ์ที่ร้อยละ 16.01 (ตามรายงานของ BSP ณ เดือนมีนาคม 2566) และอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ค่อยๆ ปรับลดลงสู่ระดับร้อยละ 3 แม้ว่ายังสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 ที่ประมาณร้อยละ 2 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นด้านเสถียรภาพอื่นๆ ที่ต้องคอยติดตามต่อไป อันได้แก่ความเสี่ยงจากประเภทของสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยและสินเชื่อส่วนบุคคล และความเสี่ยงเชิงระบบจากความเชื่อมโยงภายในภาคการเงินและภาคธุรกิจอื่นๆ ที่มิใช่ภาคการเงิน
- ความเสี่ยงจากสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อส่วนบุคคล
สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนสำคัญของสินเชื่อโดยรวมของธนาคาร (ร้อยละ 21.13 ในเดือนมีนาคม 2566)โดยในปัจจุบันสัดส่วนของหนี้เสีย (NPL) จากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (CRE) มีสัดส่วนหนี้เสียที่สูงขึ้น เนื่องจากอัตราพื้นที่เช่าที่ว่าง (Vacancy Ratio) ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 จากความความต้องการพื้นที่สำนักงานลดลง ตามแนวโน้มการทำงานจากบ้าน และความต้องการที่น้อยลงจากผู้ประกอบการให้บริการเกมออนไลน์จากต่างประเทศ12/ โดย Vacancy Ratio ของพื้นที่สำนักงานและคอนโดมิเนียมในเขตเมือง (Metro Manila) ในไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 18.4 และร้อยละ 17.2 ตามลำดับ ซึ่งสูงขึ้นมากจากช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 และร้อยละ 10 ตามลำดับ13/ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดราคาอสังหาริมทรัพย์ และส่งผลต่อความมั่นคงของผู้ประกอบการที่มีอัตราการกู้ยืมสูง ทั้งนี้ แม้จะมีข้อกำหนดจำกัดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ไว้ที่ร้อยละ 25 ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร แต่ภาวะชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในระยะยาวอาจะส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคารได้
นอกจากนี้ กลุ่มสินเชื่อเพื่อการบริโภคยังคงมีอัตรา NPL ที่สูงกว่าประเภทสินเชื่ออื่นๆ แม้สินเชื่อเพื่อผู้บริโภคจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของระบบธนาคาร แต่หนี้เสียจากสินเชื่อประเภทนี้กลับคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 35 ของหนี้เสียทั้งหมดในไตรมาส 3 ปี 2566 (ภาพที่ 14)
- ความเสี่ยงเชิงระบบจากความเชื่อมโยงภายในภาคการเงินเองและกลุ่มธุรกิจนอกภาคการเงิน
นอกเหนือจากการที่ภาคธนาคารฟิลิปปินส์จะเน้นปล่อยกู้ให้กับกลุ่ม NFCs ที่มิได้อยู่ในภาคการเงินแต่อยู่ในเครือธุรกิจเดียวกันแล้ว การที่ฟิลิปปินส์มีกลุ่มการเงินขนาดใหญ่ (Financial Conglomerate)14/ จำนวนมาก ยังสะท้อนถึงความเชื่อมโยงภายในภาคการเงิน และระหว่างภาคการเงินกับภาคเศรษฐกิจจริงที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบได้ โดยที่ผ่านมา NFCs ในฟิลิปปินส์มีสัดส่วนการกู้ยืมมากขึ้น (ภาพที่ 15) เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ดึงเงินทุน โดยเฉพาะจากภาคธนาคารมาใช้ในการดำเนินธุรกิจและลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน การเพิ่มขึ้นของหนี้สินจึงทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น15/ ซึ่งหากมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ของภาคธุรกิจการเงินนอกธนาคาร อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของธนาคารผ่านการเชื่อมโยงของทุนในธุรกิจการเงิน และความเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายอื่นๆ ได้
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้มีมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มการเงินขนาดใหญ่ โดยในปี 2547 BSP ได้จัดตั้ง Financial Sector Forum (FSF) เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการกำกับดูแล 4 แห่ง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) คณะกรรมการประกันภัย (IC) และบริษัทประกันเงินฝากของฟิลิปปินส์ (PDIC) เพื่อกำกับดูแลกลุ่มอาณาจักรธุรกิจด้านการเงินจำนวน 12 แห่ง ทั้งนี้ ในปี 2565 FSF เพิ่มการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยครอบคลุมการทบทวนความเสี่ยงและวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทต่างๆ ในโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ เนื่องจากการจัดตั้งกลุ่มธุรกิจในลักษณะนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อบริษัทอื่นๆ ภายในกลุ่มธุรกิจ ในกรณีที่บริษัทหรือนิติบุคคลหนึ่งประสบปัญหาทางการเงิน โดยในปี 2565 – 2566 FSF ได้ทบทวนความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจไปแล้วจำนวน 3 กลุ่ม และคาดว่าจะดำเนินการทบทวนความเสี่ยงให้แล้วเสร็จทั้ง 12 กลุ่มในอีก 5 ปีข้างหน้า
มุมมองวิจัยกรุงศรี
ภูมิทัศน์ทางการเงินของฟิลิปปินส์ถูกขับเคลื่อนด้วยภาคธนาคารเป็นหลัก แม้ที่ผ่านมาภาคธนาคารของฟิลิปปินส์จะเติบโตต่อเนื่อง แต่นับว่าการจัดสรรเงินทุนให้แก่ธุรกิจรายย่อยหรือภาคครัวเรือนทั่วไปยังคงไม่ครอบคลุมและยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจากภาคธนาคารยังเน้นปล่อยให้แก่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในเครือเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงเงินทุนและบริการทางการเงินของฟิลิปปินส์ที่มีมายาวนาน อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา การให้บริการทางการเงินแบบ Grameen Bank16/ ได้ช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มรายได้ต่ำได้อยู่บ้าง ผ่านการพัฒนารูปแบบสินเชื่อที่มีความเหมาะสมกับความต้องการเฉพาะกลุ่ม (ตัวอย่างในกรณีนี้ ได้แก่การให้สินเชื่อขนาดเล็กโดยไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน) โดยในปี 2540 ฟิลิปปินส์ได้พัฒนาธนาคารชนบทที่ให้บริการในรูปแบบ Grameen ซึ่งประสบความสำเร็จในแง่ของการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นหลักการที่ MF NGOs นำมาใช้สำหรับการให้สินเชื่อเป็นกลุ่ม (Group Lending) ถึงในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ด้วยแนวโน้มความต้องการบริการทางการเงินที่คาดว่าจะมีมากขึ้นตามการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศและการผลักดันของภาครัฐ ภาคธนาคารจึงนับว่าเป็นอีกสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยเฉพาะด้านการให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจรายย่อย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีในการขยายฐานธุรกิจในระยะต่อไป โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการเฉพาะกลุ่มรายได้และอาชีพ การนำเทคโนโลยีทางการเงินมาช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง จะทำให้ภาคธนาคารมีศักยภาพดีขึ้นและสามารถแข่งขันกับผู้เล่นนอกระบบได้ ทั้งนี้ ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจภาคธนาคารและการเปลี่ยนผ่านสู่การเงินดิจิทัลยังคงมีอยู่ ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับธุรกิจในภาคการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุน สร้างแรงจูงใจทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตลอดจนการสร้างความโปร่งใสและเสถียรภาพในระบบการเงิน
References
Asian Development Bank. (2023). Asia Bond Monitor November 2023.
Bangko Sentral ng Pilipinas. (2013). Financial Inclusion in the Philippines.
Bangko Sentral ng Pilipinas. (n.d.). 2019 Financial Inclusion Survey.
Bangko Sentral ng Pilipinas. (2022). 2021 Financial Inclusion Survey.
Bangko Sentral ng Pilipinas. (2022). A Future-Ready Philippines: Digital, Sustainable, Inclusive. BSP Annual Report 2022.
Bangko Sentral ng Pilipinas. (n.d.). 2022 Status of Digital Payments.
Bangko Sentral ng Pilipinas. (2023). 2022 Annual Report National Strategy for Financial Inclusion.
Bangko Sentral ng Pilipinas. (2023). Financial Inclusion in the Philippines Dashboard as of Second Quarter 2023.
Bangko Sentral ng Pilipinas. (2023, December 28). Ranking as to Total Assets Universal and Commercial Bank Group As of 30 September 2023. Retrieved from https://www.bsp.gov.ph/Statistics/Financial%20Statements/Commercial/assets.aspx
Bangko Sentral ng Pilipinas. (2022). The development of financial markets in the Philippines and its interaction with monetary policy and financial stability. BIS Papers No 113, 219-242.
Bangko Sentral ng Pilipinas. (n.d.). BSP Digital Payments Transformation Roadmap 2020-2023 Report.
BangkoSentral ng Pilipinas. (n.d.). Digital Financial Inclusion: The Philippines Experience.
CHIPONGIAN, L. C. (2023, November 7). Regulators closely watching 12 financial conglomerates in PH. Retrieved from Manila Bulletin: https://mb.com.ph/2023/11/7/article-1337
International Fund for Agricultural Development. (2003, May). Banking on Grameen Is it viable in the Philippines?
International Monetary Fund. (2022). IMF Country Report No. 22/155 Philippines Financial Sector Assessment Program Technical Note On Risk Assessment of Banks, Non-financial Corporates, And Macro-financial Linkages.
Mah, C. (2023, July 13). Linkedin. Retrieved from Philippines Cyber Attacks Among Highest in APAC: https://www.linkedin.com/pulse/philippines-cyber-attacks-among-highest-apac-ck-mah
McKinsey. (2023). On the verge of a digital banking revolution in the Philippines.
Ramon Aboitiz Foundation Inc. (2023). Achieving Financial Inclusion in the Philippines Through Microfinance Programs.
Tan, W. L. (2009). Consumer credit in the Philippines. BIS Papers No 46, 117-123.
The Philippine Stock Exchange. (n.d.). STOCK MARKET INVESTOR PROFILE 2022.
1/ IMF, 2022
2/ สถาบันการเงินเฉพาะกิจในรูปแบบ UKBs ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของมี 2 แห่ง ได้แก่ 1) Land Bank of the Philippines (LBP) จะเน้นกลุ่มลูกค้าในภาคเกษตรกรรมและการประมง และ 2) Development Bank of the Philippines (DBP) จะเน้นบริการผู้ประกอบการด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม รวมไปถึงด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ และ MSMEs
3/ IMF, 2021
4/ ธนาคารในเครือ Land Bank of the Philippines ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
5/ ในเดือนกันยายน 2565 BSP ได้ประกาศหยุดการออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลเพิ่มเติมเป็นเวลาสามปี เพื่อให้ BSP ได้มีเวลาในการตรวจสอบประสิทธิภาพของธนาคารดิจิทัลและผลกระทบต่อระบบธนาคาร เนื่องจากระดับการพัฒนาของบริการทางเงินผ่านระบบดิจิทัลยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น รวมถึงตรวจสอบประสิทธิภาพของธนาคารดิจิทัลในการช่วยสนับสนุนวาระการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล (Philstar, 2021)
6/ ภายใต้พระราชบัญญัติการปฏิรูปสังคมและการบรรเทาความยากจน เพื่อส่งเสริมให้ไมโครไฟแนนซ์เป็นเครื่องมือบรรเทาความยากจน ได้กำหนดให้ไมโครไฟแนนซ์สามารถปล่อยสินเชื่อมูลค่าสูงสุด 150,000 เปโซ (ประมาณ 2,650 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการบริโภคและธุรกิจขนาดย่อย และสูงสุด 300,000 เปโซ (5,300 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก
7/ Philippines Statistics Office
8/ เป็นระบบที่ความคล้ายคลึงกับบัตรประชาชนดิจิทัลของไทย หรือ ThaiID ซึ่งทั้งสองระบบเป็นบัตรประจำตัวประชาชนแบบดิจิทัลที่ใช้ข้อมูลชีวมาตร (Biometrics) ซึ่งสามารถใช้เพื่อทำธุรกรรมต่างๆ แทนบัตรประชาชนแบบเดิม และมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ
9/ Financial Inclusion Survey, BSP, 2021
10/ โดยภาครัฐสามารถปรับโครงสร้างซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้และต้นทุนให้กับภาคส่วนเหล่านี้ผ่านระบบข้อมูลเครดิตที่แข็งแกร่ง ระบบใบรับสินค้าคลังสินค้าที่น่าเชื่อถือ ประกันภัยเครดิตและประกันภัยการเกษตร
11/ NSFI Annual Report, 2022
12/ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการที่ทางการฟิลิปปินส์ดำเนินการปราบปรามกิจกรรมผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกมออนไลน์จากต่างประเทศ
13/ AMRO, 2023
14/ BSP นิยามกลุ่มการเงินขนาดใหญ่ (Financial Conglomerate) ว่าคือ “กลุ่มนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมเดียวกันหรือมีอิทธิพลร่วมกันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเงินที่สำคัญในภาคการธนาคาร ภาคหลักทรัพย์ หรือภาคประกันภัยอย่างน้อยสองแห่ง”
15/ BIS, 2020
16/ Grameen Bank หรือ “ธนาคารหมู่บ้าน” ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแสวงหากำไรแต่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือนที่ยากจนที่สุด การปล่อยกู้ของ Grameen Bank ใช้การค้ำประกันที่เรียกว่าหลักทรัพย์ทางสังคม (Social Collateral) ผ่านการสอดส่องดูแลกันเองของกลุ่มลูกหนี้ (Mutual Trust) แต่เดิม Grameen Bank เน้นการให้สินเชื่อส่วนบุคคล (Microcredit) เพื่อส่งเสริมการทำวิสาหกิจ แต่ภายหลังได้พัฒนาไปสู่การให้บริการการเงินที่ครอบคลุมทั้งหมด (Inclusive Financial Services) แก่คนยากจน