ผลกระทบจากสงครามการค้า 2.0 ต่อเศรษฐกิจไทย

ผลกระทบจากสงครามการค้า 2.0 ต่อเศรษฐกิจไทย

20 มกราคม 2568

บทสรุปผู้บริหาร

 

จากความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนรอบใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สอง วิจัยกรุงศรีจึงจัดทำบทวิเคราะห์นี้ขึ้นเพื่อประเมินผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกและไทย โดยใช้แบบจำลอง GTAP จำแนกเป็น 3 ฉากทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนในอัตรา 60% กรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนในอัตรา 60% และจากประเทศอื่น (รวมถึงไทย) ในอัตรา 20% รวมถึงกรณีที่จีนตอบโต้กลับด้วยภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราเดียวกัน ผลการวิเคราะห์พบว่า การขึ้นภาษีนำเข้าในทุกกรณีล้วนส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ไทยมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการส่งออกในบางอุตสาหกรรม แต่ผลบวกอาจไม่มากอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย และจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้สหรัฐฯ

ในระยะข้างหน้า รัฐบาลทรัมป์มีแนวโน้มคงภาษีนำเข้าสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ตามแผนเดิมของรัฐบาลไบเดนไว้บางส่วน และเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม แต่อัตราภาษีสุดท้ายอาจไม่สูงถึง 60% หรือครอบคลุมทุกรายการตามที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากสหรัฐฯ จะได้ไม่คุ้มเสีย โดยทรัมป์อาจใช้ภาษีเป็นเครื่องมือ “ขู่” เพื่อให้ได้ข้อตกลงพิเศษทางการค้ากับประเทศต่างๆ ขณะที่ไทยมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าและใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนต่อสินค้าส่งออกของไทย รวมถึงไทยอาจเผชิญกับการทุ่มตลาดจากจีน ดังนั้น ไทยควรดำเนินนโยบายการค้าและการต่างประเทศเชิงรุกให้มากขึ้น โดยเร่งเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับคู่ค้าเดิมและตลาดใหม่ รวมถึงเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการของไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างน้อยในช่วง 4 ปีนับจากนี้

 

บทนำ

 

ชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สองของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความกังวลให้กับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย เนื่องจากนโยบายที่มุ่งเน้นปกป้องธุรกิจในสหรัฐฯ อาจจุดกระแสสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนรอบใหม่ให้มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ล่าสุด (ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567) ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนเบื้องต้นในอัตรา 10% รวมถึงแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเคยประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนสูงถึง 60% รวมถึงประเทศอื่นอีก 10-20% ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในระยะที่ผ่านมา

จากประเด็นดังกล่าว บทวิเคราะห์นี้จึงมุ่งเน้นประเมินผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกและไทย โดยพิจารณาผ่านผลกระทบต่อการส่งออก การลงทุน และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภายใต้ฉากทัศน์ 3 กรณี ได้แก่ i) สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนในอัตรา 60% ii) สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนในอัตรา 60% และจากประเทศอื่น (รวมถึงไทย) ในอัตรา 20% และ iii) สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนในอัตรา 60% และจากประเทศอื่น (รวมถึงไทย) ในอัตรา 20% รวมถึงจีนตอบโต้กลับด้วยภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราเดียวกันที่ 60% และวิเคราะห์แนวโน้มของสงครามการค้าและนัยต่อเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป


ย้อนดูฉากสงครามการค้าภายใต้รัฐบาลทรัมป์สมัยแรก (Trade War 1.0) และผลกระทบ

 

ไทยและอาเซียนส่งออกได้มากขึ้นจากการทดแทนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และจีนที่มีราคาสูงขึ้น

ภายใต้รัฐบาลทรัมป์สมัยแรก สหรัฐฯ เริ่มกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนตามมาตรา 301 เป็นครั้งแรกในปี 2561 ซึ่งการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวจุดชนวนให้จีนตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีในลักษณะเดียวกัน และนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างสองประเทศ จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2562 สหรัฐฯ และจีนได้บรรลุ “ข้อตกลงการค้าระยะที่หนึ่ง” ซึ่งนำไปสู่การลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการของทั้งประเทศในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ และจีนไม่ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติมอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวทำให้สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ ลดลงอย่างมากจาก 21.6% ในปี 2561 เหลือเพียง 14.1% ในปี 2566 (ภาพที่ 1) ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของจีนกลับเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก จาก 7.3% ในปี 2561 เป็น 6.5% ในปี 2566 (ภาพที่ 2) เนื่องจากจีนยังคงพึ่งพาการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าสำคัญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์และเภสัชภัณฑ์ (จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ 80.6% ของมูลค่านำเข้ารวมในหมวดนี้) อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า (53.2%) เกษตรกรรม (94.2%) และยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง (42.8%)


 


 

เมื่อย้อนกลับมาดูภูมิภาคอาเซียน นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา อาเซียนได้ประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจาก 7.3% ในปี 2561 เป็น 10.1% ในปี 2566 (ภาพที่ 1) และการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนของจีนจาก 12.6% ในปี 2561 เป็น 15.2% ในปี 2566 (ภาพที่ 2) โดยไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 11.1% ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 2561 เป็น 16.8% ในปี 2566 (ภาพที่ 3) ขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปยังจีนค่อนข้างคงที่ที่ราว 11.9% สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ที่อาเซียนและไทยได้รับจากการทดแทนสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ และจีนที่มีราคาและต้นทุนสูงขึ้นจากการตอบโต้ทางภาษีระหว่างกัน


 

การจำลองฉากทัศน์สงครามการค้าภายใต้รัฐบาลทรัมป์สมัยที่สอง (Trade War 2.0) และผลกระทบ

 

ไทยมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และการส่งออกเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าจากจีนและสหรัฐฯ ในบางอุตสาหกรรม แต่ผลบวกอาจจำกัดหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย และจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้สหรัฐฯ


จากที่กล่าวมาข้างต้น ในช่วงรัฐบาลทรัมป์สมัยแรกไทยยังได้ประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนบ้าง เนื่องจากเป็นทางเลือกของแหล่งสินค้านำเข้าทดแทนทั้งสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ผลกระทบเชิงลบยังจำกัดเฉพาะบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของทรัมป์ได้สร้างความกังวลต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากในยุค “ทรัมป์ 2.0” นี้ นโยบายภาษีนำเข้าสินค้าจะครอบคลุมทุกรายการสินค้าและทุกประเทศ ซึ่งต่างจากนโยบายของทรัมป์สมัยแรกตลอดจนนโยบายของไบเดน1/ โดยล่าสุด ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 (Gopalan, 2024) ทรัมป์ได้ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนเบื้องต้นที่อัตรา 10% และจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% ทันทีที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2568 ซึ่งก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยประกาศกร้าวว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนที่อัตราสูงถึง 60% และเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยที่อัตรา 10-20% อีกด้วย

คำถามสำคัญที่หลายฝ่ายอาจสงสัยคือ ในครั้งนี้ไทยจะยังได้รับประโยชน์จากสงครามทางการค้าอยู่หรือไม่ ไม่ว่าจะผ่านผลกระทบทางอ้อมของการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน หรือผลทางตรงจากการที่สินค้านำเข้าจากไทยต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าเช่นกัน อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าจีนอาจใช้มาตรการทางภาษีโต้ตอบสหรัฐฯ ดังนั้น วิจัยกรุงศรีจึงประยุกต์ใช้แบบจำลอง GTAP (Aguiar et al., 2019) เพื่อประเมินผลกระทบของนโยบายดังกล่าวต่อการส่งออก การลงทุน และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในระยะปานกลางถึงระยะยาว ผ่านฉากทัศน์ (Scenario) 3 กรณี ได้แก่ ฉากทัศน์แรก สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทุกประเภทในอัตรา 60% ฉากทัศน์ที่สอง สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทุกประเภทในอัตรา 60% และขึ้นภาษีฯ จากประเทศอื่น (รวมถึงไทย) ในอัตรา 20% และฉากทัศน์ที่สาม สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทุกประเภทในอัตรา 60% ขึ้นภาษีฯ จากประเทศอื่นในอัตรา 20% และจีนตอบโต้กลับด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 60% เช่นกัน

 

I. สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนในอัตรา 60%

 

วิจัยกรุงศรีพบว่าในภาพรวม (ภาพที่ 4) การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จะส่งผลให้การส่งออกและ GDP ของโลกโดยรวมลดลงจากกรณีฐาน -0.64% และ -0.17% ตามลำดับ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลิตภาพ (Productivity) ลดลง และอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ลดลง โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ทั้งนี้ การส่งออกของจีนอาจลดลงจากกรณีฐานถึง -5.78% ซึ่งรุนแรงกว่าผลกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ -1.95% อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของธุรกิจในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนกลับส่งผลลบย้อนกลับมาสู่การลงทุนในสหรัฐฯ มากกว่าจีนถึงกว่าสองเท่า เนื่องจากสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบจากจีนในหลายอุตสาหกรรม

ในมุมมองของไทย ในฉากทัศน์นี้ไทยยังคงได้ประโยชน์ เนื่องจากสามารถส่งออกเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากจีนและสหรัฐฯ ของประเทศคู่ขัดแย้งได้มากขึ้น รวมถึงได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและสหรัฐฯ ทำให้การส่งออกและการลงทุนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน +1.66% และ +1.93% ตามลำดับ (ภาพที่ 4) อย่างไรก็ตาม ผลบวกต่อการส่งออกของไทยยังจำกัดเฉพาะบางอุตสาหกรรมเท่านั้น (ภาพที่ 5) เช่น อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า (การส่งออกของจีน -10.1%, การส่งออกของไทย +9.2%) และสิ่งทอ เครื่องหนัง และรองเท้า (การส่งออกของจีน -7.4%, การส่งออกของไทย +3.4%) ทั้งนี้ ผลบวกที่จำกัดดังกล่าวของไทย รวมถึงการมีส่วนร่วมของไทยในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าของจีน ทำให้ผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอาจอยู่ในระดับจำกัดที่เพียง +0.05% จากกรณีฐาน แม้ได้รับการชดเชยจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม







 

II. สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนในอัตรา 60% และขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น (รวมถึงไทย) ในอัตรา 20%

 

เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีแรกพบว่า การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากทุกประเทศในอัตรา 20% เพิ่มเติมจากกรณีแรก จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น (ภาพที่ 6) โดยการส่งออกรวมทั้งโลกจะลดลงจากกรณีฐานถึง -5.02% การลงทุนจะลดลง -0.36% ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมลดลง -0.23% จากกรณีฐาน ซึ่งรุนแรงกว่าฉากทัศน์แรกประมาณ 7.8, 1.7 และ 1.4 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลกระทบเชิงลบต่อสหรัฐฯ ในฉากทัศน์นี้ยังรุนแรงมากขึ้น โดยการส่งออก การลงทุน และ GDP ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงมากกว่ากรณีแรกประมาณ 14.2, 3.4 และ 1.4 เท่า ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น ส่งผลต่อผู้ผลิตในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่พึ่งพาจีนในระดับสูง ขณะที่ผลกระทบต่อการส่งออกและ GDP ของจีนใกล้เคียงกับในฉากทัศน์แรก โดยอยู่ที่ -7.11% และ -0.25% ตามลำดับ ส่วนผลกระทบต่อการลงทุนของจีนดีขึ้นกว่าในฉากทัศน์แรก เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและจากประเทศอื่นเริ่มใกล้เคียงกันมากขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตในจีนโดยพื้นฐานที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงมีความสามารถในการแข่งขันที่ไม่ต่างกันมากนัก

สำหรับประเทศไทยในฉากทัศน์ที่ 2 นี้ ผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงจากกรณีที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าในอัตรา 20% และทางอ้อมจากความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของจีน ทำให้ผลรวมต่อการส่งออกของไทยกลายเป็นลบที่ -1.09% ซึ่งพลิกจาก +1.66% ในฉากทัศน์ที่ 1 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบสูง (จาก +9.2% เป็น -0.7%) ตลอดจนสินค้ากลุ่มสิ่งทอ เครื่องหนัง และรองเท้า (จาก +3.4% เป็น -2%) (ภาพที่ 7) นอกจากนี้ แม้ว่าไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนบางส่วน แต่โดยรวมแล้ว GDP ของไทยพลิกจากผลบวกสุทธิในฉากทัศน์ที่ 1 เป็นผลลบสุทธิเล็กน้อยในฉากทัศน์ที่ 2







 

III. สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนในอัตรา 60% และจากประเทศอื่น (รวมถึงไทย) ในอัตรา 20% รวมถึงจีนตอบโต้กลับด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 60%

 

ผลกระทบเชิงลบในกรณีนี้ ซึ่งเป็นเสมือนฉากทัศน์ที่ 2 บวกกับการดำเนินนโยบายตอบโต้ของจีน จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับสองกรณีแรก (ภาพที่ 8) โดยการส่งออก การลงทุน และ GDP ของโลกมีแนวโน้มลดลงมากกว่าฉากทัศน์แรกถึง 8.1, 2 และ 1.7 เท่า ตามลำดับ โดยเฉพาะการส่งออกของสหรัฐฯ จะลดลงถึง 15.5 เท่า ขณะที่การส่งออกของจีนมีแนวโน้มลดลงมากขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับกรณีแรก (1.2 เท่า) เนื่องจากการตอบโต้ของจีนด้วยการขึ้นภาษีจะเพิ่มต้นทุนให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศของจีนเอง รวมถึงจำกัดการเข้าถึงสินค้าสำคัญจากสหรัฐฯ ซึ่งท้ายที่สุดอาจเร่งให้ห่วงโซ่อุปทานชะงักงันได้ ในทางกลับกัน ผลกระทบต่อ GDP ของสหรัฐฯ ไม่แตกต่างจากฉากทัศน์อื่นๆ มากนัก โดยแบบจำลองบ่งชี้ว่าสาเหตุหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนการบริโภคจากสินค้านำเข้า (-35.2%) ไปเป็นสินค้าภายในประเทศ (+8.2%) แทน

สำหรับประเทศไทยจะยังคงได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง และได้รับผลลบต่อการส่งออกที่น้อยกว่าฉากทัศน์ที่สอง เนื่องจากทุกประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ต่างต้องเผชิญกำแพงภาษีสินค้านำเข้า ไม่ว่าจะจากสหรัฐฯ หรือจีนก็ตาม โดยไทยมีแนวโน้มส่งออกได้มากขึ้นในบางอุตสาหกรรม (ภาพที่ 9) เช่น ภาคเกษตรกรรม (+7.9%) ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง (+2.5%) รวมถึงถ่านโค้กและปิโตรเลียมกลั่น (+2.1%) อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ การส่งออกไทยในหลายรายการมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้า ขณะที่ผลบวกโดยรวมยังจำกัด ทำให้ผลกระทบสุทธิต่อ GDP ของไทยไม่มากนัก คล้ายคลึงกับผลกระทบในฉากทัศน์แรก




 



โดยสรุป การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตามล้วนส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก (ภาพที่ 10) เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและต้นทุนในการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าทั่วโลก ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้เริ่มเปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่เองก็จะได้รับผลกระทบเชิงลบย้อนกลับไปยังการส่งออก การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของตนเองด้วยเช่นกัน ผลจากต้นทุนที่สูงขึ้นและห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เชื่อมโยงกันทำให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มส่งออกได้น้อยลงกว่าจีนถึง 4.2 เท่าในฉากทัศน์ที่ 3 (จีนขึ้นภาษีตอบโต้กลับ) นอกจากนี้ แม้สหรัฐฯ จะพยายามย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reshoring) แต่อาจเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จีนเป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานช่วงต้นน้ำซึ่งเน้นการแข่งขันทางด้านต้นทุน เพราะจีนได้เปรียบจากการประหยัดเชิงขนาด (Economies of scale) เป็นหลัก ส่วนประเทศไทย แม้ว่าอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต รวมถึงการส่งออกเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าจากจีนและสหรัฐฯ ในบางอุตสาหกรรม แต่ประเด็นที่ควรระมัดระวังคือ ผลกระทบทางลบต่อการส่งออกไทยจะกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในฉากทัศน์ที่ 2 (สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศ รวมถึงไทย) และ 3 (จีนตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยภาษีนำเข้าเช่นกัน) เนื่องจากความต้องการสินค้าจากตลาดโลกลดลง ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งห่วงโซ่อุปทานของไทยกับจีนในบางอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงการระบายสินค้าราคาถูกจากจีนซึ่งเดิมเคยส่งออกไปสหรัฐฯ ไปยังประเทศอื่นๆ ดังนั้น ประโยชน์ที่ไทยได้รับโดยสุทธิจากสงครามการค้าอาจไม่มากอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังหรืออาจพลิกกลายเป็นผลเชิงลบสุทธิได้


 

 

มุมมองวิจัยกรุงศรี: แนวโน้มของสงครามการค้าและนัยต่อเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

 

ในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลทรัมป์น่าจะยังคงภาษีนำเข้าสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงตามแผนเดิมของรัฐบาลไบเดนไว้บางส่วน โดยเฉพาะ ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเซมิคอนดักเตอร์ และเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม โดยอัตราภาษีนำเข้าสุดท้ายอาจสูงกว่าที่ทรัมป์ประกาศในเบื้องต้นที่อัตรา 10% แต่อาจไม่ถึง 60% ทุกรายการตามที่เคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง เนื่องจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนแบบครอบคลุมทุกรายการในอัตราที่สูงจะทำให้สหรัฐฯ ได้ไม่คุ้มเสีย วิจัยกรงุศรีจึงคาดว่า ทรัมป์อาจใช้การขึ้นภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือ “ขู่” ที่จะนำไปสู่การเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อตกลงพิเศษทางการค้า คล้ายคลึงกับข้อตกลงกับจีนที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก ซึ่งเป็นแนวทางที่ยืดหยุ่น และอาจช่วยลดผลลบโดยรวมต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ยังเอื้อให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์

ขณะเดียวกัน จีนมีเครื่องมือในการตอบโต้ที่จำกัดกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่จีนนำไปใช้ในกระบวนการผลิตต่อ ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศของจีนอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนต้องหันไปพึ่งพาการส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วิจัยกรุงศรีจึงประเมินว่าจีนอาจเลือกใช้แนวทางการควบคุมการส่งออกสินค้าสำคัญบางประเภทมากกว่าจะโต้ตอบมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง เช่น ควบคุมการส่งออกแร่สำคัญคล้ายกับในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ท้ายที่สุด ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกน่าจะไม่รุนแรงเท่ากับในฉากทัศน์ทั้ง 3 กรณี แต่ไม่ว่าสุดท้ายผลลัพธ์จะเป็นเช่นใดก็ตาม สงครามการค้ารอบใหม่อาจนำไปสู่การแยกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสำคัญของโลกในอัตราเร่งขึ้น (Decoupling or Fragmented Globalization) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจนำไปสู่การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จีนมีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมต้นน้ำได้

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมีแนวโน้มได้ประโยชน์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและสหรัฐฯ รวมถึงการทดแทนสินค้านำเข้าของทั้งสองประเทศในบางอุตสาหกรรม แต่ไทยมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้า รวมถึงสหรัฐฯ อาจเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยโดยตรงเพิ่มขึ้น ประกอบกับอาจใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) ในสินค้าส่งออกที่ไทยเป็นฐานการผลิตให้กับจีน ซึ่งอาจไม่ได้จำกัดเฉพาะแผงโซลาร์เซลล์เหมือนที่ผ่านมา แต่อาจขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ไทยยังอาจเผชิญกับการทุ่มตลาดจากจีน เนื่องจากจีนสามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง และจำเป็นต้องกระจายการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่น ภายใต้สถานการณ์ที่อ่อนไหวดังกล่าว หากไทยสามารถมุ่งเน้นไปที่การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้าพิเศษระหว่างไทยและสหรัฐฯ ก็อาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่การส่งออกเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของจีนมาก เช่น เคมีภัณฑ์และเภสัชภัณฑ์ (ส่งออกไปจีนคิดเป็น 26% ของการส่งออกทั้งหมดในอุตสาหกรรมดังกล่าว) และยางและพลาสติก (ส่งออกไปจีนคิดเป็น 11.9%) ดังนั้น ไทยควรดำเนินนโยบายการค้าและการต่างประเทศเชิงรุกให้มากขึ้น ทั้งเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้าทั้งกับคู่ค้าเดิมและตลาดใหม่ พร้อมกับเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและบริการของไทย สนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทคและบริการสมัยใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน แนวทางเหล่านี้จะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากกระแสสงครามการค้าโลกที่รุนแรงและเข้มข้นขึ้นอย่างน้อยในช่วง 4 ปีนับจากนี้

 

รายการอ้างอิง

 

Aguiar, A., Chepeliev, M., Corong, E., McDougall, R., & van der Mensbrugghe, D. (2019). The GTAP Data Base: Version 10. Journal of Global Economic Analysis, 4(1), 1-27. Retrieved from https://www.jgea.org/ojs/index.php/jgea/article/view/77

Gopalan, N. (2024). Trump Threatens 25% Import Tariffs on Mexico, Canada, Additional 10% on China. Investopedia. Retrieved from https://www.investopedia.com/trump-threatens-25-percent-import-tariffs-on-mexico-canada-additional-10-percent-on-china-8751871

International Trade Centre (ITC). (2024). Trade Map [Database]. Retrieved from https://www.trademap.org/Index.aspx

The White House. (2024, May 14). Fact sheet: President Biden takes action to protect American workers and businesses from China’s unfair trade practices. The White House. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2024/05/14/fact-sheet-president-biden-takes-action-to-protect-american-workers-and-businesses-from-chinas-unfair-trade-practices/



1/ รัฐบาลไบเดนยังคงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่กำหนดขึ้นในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรกไว้เป็นส่วนใหญ่ และเน้นให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสำคัญบางประเภทเป็นหลัก โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 รัฐบาลไบเดนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ ไซริงค์และเข็ม แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เหล็กและอะลูมิเนียม หน้ากากอนามัยและกรองฝุ่น เครนขนส่งสินค้าไปยังฝั่ง เซมิคอนดักเตอร์ และถุงมือทางการแพทย์ โดยเริ่มบังคับใช้ในช่วงเวลาต่างกันระหว่างปี 2567-2569 (The White House, 2024)
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา