มูเตลู ผู้บริโภคไทยกับธุรกิจแห่งศรัทธา

มูเตลู ผู้บริโภคไทยกับธุรกิจแห่งศรัทธา

18 ธันวาคม 2567

บทนำ

 

ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงมีความเชื่อในเรื่อง “มูเตลู” หรือแนวคิดการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเสริมโชคลาภ และการดึงดูดความสำเร็จให้กับชีวิต ไม่ต่างจากคนไทยในอดีต แต่ด้วยสภาพสังคมและวิถีความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ความเชื่อจะเหมือนเดิมแต่พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเชื่อย่อมแตกต่างไป โดยผู้บริโภคที่เติบโตในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมักปฏิบัติตามแนวทางความเชื่อในรูปแบบดั้งเดิมเช่นกัน เช่น การประกอบพิธีกรรม การเยี่ยมชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือการใช้วัตถุมงคลในชีวิตประจำวัน ในทางตรงกันข้าม ผู้บริโภคที่เติบโตในยุคดิจิทัลมักแสดงออกถึงการปรับตัวของความเชื่อที่สอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยจะมีความเป็น “สายมูดิจิทัล” มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการดูดวง การสั่งซื้อวัตถุมงคลผ่านอีคอมเมิร์ซ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมเชิงความเชื่อในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งสะท้อนการผสานศรัทธากับความสะดวกสบายในโลกดิจิทัลได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเห็นว่า การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในแบบดั้งเดิมและผ่านช่องทางออนไลน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัล และนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจของสินค้าและบริการประเภทต่างๆ รวมถึงการทำการตลาดสมัยใหม่ที่มีผู้บริโภคสายมูเป็นลูกค้าเป้าหมาย ไม่เว้นแม้แต่การชำระเงินและภาคธนาคาร

 

คนเอเชียกับความเชื่อเรื่อง “มูเตลู”

 

“มูเตลู” เป็นคำที่มาจากภาพยนตร์ของประเทศอินโดนีเซียเรื่อง “Penangkal Ilmu Teluh” มีชื่อภาษาไทยว่า มูเตลู ศึกไสยศาสตร์1/  โดยคนไทยมักใช้คำว่า “มูเตลู” แทนแนวคิดหรือการกระทำต่างๆ นอกเหนือจากความเชื่อหลักทางศาสนา ที่เมื่อทำแล้วจะเป็นมงคลต่อตัวเอง เช่น การดูดวง การซื้อเครื่องรางของขลังและสินค้าเสริมมงคล การเดินทางไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่ตามความเชื่อ การประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติซึ่งอาจรวมถึงเรื่องไสยศาสตร์ด้วย ทั้งนี้ Future Market Insights คาดการณ์ว่านับจากนี้ไปอีกหนึ่งทศวรรษ มูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกของการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา (Faith-based tourism) จะมีมูลค่าถึง 38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2577 จากระดับปัจจุบันในปี 2567 ที่ราว 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.6 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี (CAGR)2/

สำหรับทวีปเอเชีย ความเชื่อเรื่องมูเตลูในแต่ละประเทศแตกต่างและหลากหลาย ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ผู้คนนิยมซื้อเครื่องรางที่วางจำหน่ายในศาลเจ้าหรือวัด หรือที่เรียกว่า “Omamori” เพราะเชื่อในเรื่องการช่วยปกป้องคุ้มครอง ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเรียน การทำงาน หรือมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง3/ ส่วนในประเทศจีนรวมไปถึงประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่จำนวนมาก ผู้คนมักเชื่อในศาสตร์ฮวงจุ้ย (Feng Shui) และการเช่าบูชาเครื่องรางในรูปแบบต่างๆ เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งพลังงานดีๆ ทั้งยังช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป4/ หรือในประเทศอินเดียที่มีความหลากหลายทั้งในด้านศาสนา ลัทธิ และความเชื่อ ก็มักเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่นิยมเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น เมืองพาราณสี เมืองหริทวาร และเมืองติรุปติ5/  หรือบริเวณตลอดริมฝั่งแม่น้ำคงคา นอกจากนี้ ชาวอินเดียบางกลุ่มยังนิยมสวมเครื่องรางติดตัวเพื่อให้ปกป้องคุ้มครองหรือให้พบเจอแต่สิ่งดีๆ6/ เป็นต้น  


 

“มูเตลู” ในประเทศไทย

 

คนไทยมีความเชื่อเรื่องมูเตลูคล้ายคลึงกับคนชาติอื่นๆ ในแถบเอเชีย โดยซื้อสินค้าและบริการสายมูเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อดังกล่าว ซึ่งผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปี 2567 พบว่าธุรกิจความเชื่อ สายมู หมอดู ฮวงจุ้ย จะเป็นธุรกิจที่มาแรงในประเทศไทย และคาดว่าจะมีเงินสะพัดในธุรกิจกลุ่มนี้ราว 10,000-15,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย7/ แต่เมื่อตรวจดูรายชื่อธุรกิจประเภทกิจกรรมโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย (รหัส 96304)8/ กลับพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่ยังดำเนินกิจการประเภทนี้อยู่จำนวนทั้งสิ้นเพียง 164 ราย จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกัน 181 ล้านบาท และร้อยละ 72 ของบริษัทเหล่านี้ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

อย่างไรก็ตาม “เศรษฐกิจสายมู” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในกลุ่มธุรกิจประเภทกิจกรรมโหราศาสตร์และไสยศาสตร์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ผลิตสินค้าและนำเสนอบริการด้านความเชื่อแก่ผู้บริโภคในลักษณะอื่นๆ ผ่านหลายช่องทาง ทั้งหน้าร้านแบบออฟไลน์และออนไลน์ด้วย เช่น เครื่องประดับเสริมดวง สินค้าดิจิทัลประเภทวอลเปเปอร์หรือภาพ NFT ลายมงคล หรือแม้แต่บริการทัวร์ที่พาลูกค้าไปไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  นอกจากนี้ หลายธุรกิจรวมถึงในภาคการเงินการธนาคารได้นำความเชื่อเรื่องมูเตลูมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย หรือที่เรียกว่า “Muketing” ซึ่งปรากฎการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้ได้ข้อสังเกตว่า มูเตลูยังคงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชาวไทยอยู่มาก และพลังศรัทธานี้ก็ได้แผ่อิทธิพลมายังเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบันด้วย  

 

ผลสำรวจโดยวิจัยกรุงศรี

 

วิจัยกรุงศรีได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคชาวไทยทั้งในเชิงทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการสายมู โดยเก็บข้อมูลช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ผ่านช่องทางออนไลน์ และได้รับความร่วมมือจากผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,213 คน ที่มีความหลากหลายของช่วงอายุ9/ ระดับการศึกษา และรายได้ ดังนี้

ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสำรวจ

ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 45.8 จัดอยู่ในกลุ่ม Gen Y (อายุ 28-43 ปี) และร้อยละ 37 อยู่ในกลุ่ม Gen X (อายุ 44-58 ปี) โดยจากทั้งหมด ประมาณ 2 ใน 3 เป็นเพศหญิง อีกทั้งราว 3 ใน 5 มีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 30,000-100,000 บาท ทั้งนี้ มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสำรวจทำงานประจำและจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า




 

วิถีชีวิตไทยในเรื่อง “มูเตลู”

 

การพึ่งพามูเตลูของคนไทย: เป้าหมายของแต่ละช่วงวัย

จากผลการสำรวจพบว่า กิจกรรม “สายมู” ยังคงได้รับความนิยมในสังคมไทยอย่างกว้างขวางและครอบคลุมทุกช่วงวัย โดยกว่า 8 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจเคยเข้าร่วมกิจกรรมสายมู อาทิ สักการะที่พึ่งทางใจ เปลี่ยนชื่อ-เบอร์โทร-ทะเบียนรถ-เลือกรถสีมงคล ซื้อวัตถุมงคล-เครื่องราง ดูดวง หรือทำพิธีกรรมต่างๆ อย่างน้อย 1 อย่าง ซึ่งกลุ่ม Gen X มีสัดส่วนผู้ที่เคยทำกิจกรรมสายมูมากที่สุด (ร้อยละ 90.7) รองลงมาคือ Gen Y (ร้อยละ 82.9) Gen Z (ร้อยละ 78.5) และ Baby Boomer (ร้อยละ 67.8) ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปตามวิถีชีวิตในแต่ละวัย โดย Baby Boomer กลุ่มใหญ่ (ร้อยละ 33.9) มีเรื่องสุขภาพเป็นเป้าหมายหลัก ในขณะที่กลุ่มใหญ่ในวัย Gen Z (ร้อยละ 44.2) ให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานหรือการเรียน ส่วนกลุ่ม Gen Y และ Gen X มักมีทรัพย์สินและโชคลาภเป็นเป้าหมายสำคัญ (ร้อยละ 46.6 และ 39.7 ตามลำดับ)

อนึ่ง หากพิจารณาตามกลุ่มเพศสำหรับวัตถุประสงค์ของการมูพบว่าความต้องการทรัพย์และโชคลาภเป็นเป้าหมายหลักของทุกกลุ่มเพศ แต่กลุ่ม LGBTQ+ จะมีความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือการเรียนเป็นเป้าหมายเพิ่มเติมควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังบ่งชี้ว่า “มูเตลู” คือที่พึ่งทางใจหนึ่งเมื่อผู้บริโภคประสบภาวะ “เงินขาดมือ” โดยพบว่าเมื่อประสบปัญหาทางการเงิน เช่น หมุนเงินไม่ทัน ลงทุนแล้วขาดทุน ราวครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจเคยหันไปพึ่งพาการมูเตลู โดยกลุ่ม Gen Y ร้อยละ 59.2 จะหันไปพึ่งมูเตลูเมื่อประสบปัญหาทางการเงิน รองลงมาคือ Gen Z (ร้อยละ 53.7) Gen X (ร้อยละ 43.6) และ Baby Boomer (ร้อยละ 32.2) ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ด้วยวิธีทางเศรษฐมิติจะพบว่า Gen Y มีโอกาสหันไปพึ่งมูเตลูเมื่อประสบปัญหาทางการเงินมากกว่า Gen อื่นๆ ถึง 1.7 เท่า10/


กิจกรรมสายมูเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ผลการสำรวจพบว่า การไปสักการะที่พึ่งทางใจเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ (ร้อยละ 47.5) เดินทางไปสักการะที่พึ่งทางใจอย่างน้อยทุกๆ สามเดือน โดยหากวิเคราะห์ด้วยวิธีทางเศรษฐมิติ พบว่า Gen Z มีโอกาสเดินทางไปสักการะที่พึ่งทางใจมากกว่า Baby Boomer ถึง 2.1 เท่า และกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยกว่ามักจะเดินทางไปสักการะที่พึ่งทางใจมากกว่าผู้ที่มีรายได้สูง โดยกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 75,000 บาทมีโอกาสเดินทางไปสักการะที่พึ่งทางใจมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือน 150,000 บาทขึ้นไปถึงราว 1.7 เท่า นอกจากนี้ เมื่อเจาะลึกถึงความตั้งใจเดินทางไปสักการะขอพรโดยเฉพาะจะพบกว่า LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่นิยมเดินทางไปสักการะหรือขอพรที่พึ่งทางใจมากที่สุด (ร้อยละ 37.3) รองลงมาคือ เพศหญิง (ร้อยละ 27.8) และเพศชาย (ร้อยละ 21.2)

การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า ราว 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจมักซื้อวัตถุมงคลหรือดูดวงอย่างน้อยทุกๆ สามเดือน โดยกลุ่ม LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมดังกล่าวมากสุด และหากพิจารณาแยกตามช่วงอายุ พบว่า Gen Y มีสัดส่วนผู้นิยมซื้อวัตถุมงคลมากที่สุด (ร้อยละ 26.5) รองลงมาคือ Gen X (ร้อยละ 23.8) Baby Boomer (ร้อยละ 20.3) และ Gen Z (ร้อยละ 18.9) ตามลำดับ  ขณะที่กลุ่ม Gen Z มีสัดส่วนผู้นิยมดูดวงมากที่สุด (ร้อยละ 42.1) รองลงมาคือ Gen Y (ร้อยละ 24.7) Gen X (ร้อยละ 22.8) และ Baby Boomer (ร้อยละ 13.6) ตามลำดับ  โดยการวิเคราะห์ด้วยวิธีทางเศรษฐมิติบ่งชี้ว่า Gen Z มีโอกาสดูดวงอย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน มากกว่าคนในวัยอื่นๆ ถึง 2.6 เท่า

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันยังคงต้องเผชิญอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปทำกิจกรรมสายมูในรูปแบบต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการไปสักการะที่พึ่งทางใจ ทำพิธีกรรมตามความเชื่อ ดูดวง หรือเดินทางไปเช่า-ซื้อวัตถุมงคล โดยจากการศึกษาพบว่า อุปสรรคที่สำคัญที่สุดของผู้ตอบแบบสอบถามคือการไม่มีเวลาเพราะมีภาระประจำมาก (ร้อยละ 42.5) โดยกลุ่มที่พบปัญหานี้มากที่สุดคือผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ทั้งทำงานประจำ เป็นฟรีแลนซ์ และเป็นเจ้าของกิจการ รองลงมาคือความไม่สะดวกในการเดินทาง (ร้อยละ 25.5) โดยมักพบปัญหานี้ในกลุ่มผู้เกษียณและว่างงาน โดยเฉพาะกลุ่ม Baby Boomer สำหรับอุปสรรคอื่นๆ ที่พบ คือ การไม่มีเพื่อนร่วมกิจกรรมสายมู (ร้อยละ 8.4) และการขาดความรู้ว่าจะไปทำกิจกรรมได้ที่ไหน (ร้อยละ 8.3) ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้ทำงานประจำในกลุ่ม Gen Y และ Gen X



 

สินค้าสายมูอยู่คู่กับสังคมไทย
 

การซื้อสินค้าสายมูของผู้บริโภคชาวไทย

ผลการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าสายมูเปิดเผยว่า ราว 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูทั้งช่องทางหน้าร้านและช่องทางออนไลน์เกินกว่า 1,000 บาทต่อปี และเมื่อมีรายได้มากขึ้นจะมีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูที่สูงขึ้น โดยสังเกตจากสัดส่วนของผู้ที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าสายมู 1,000 บาทต่อปีขึ้นไปที่จะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ หากวิเคราะห์เชิงลึกจะพบว่า ผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 30,000-75,000 บาท มีโอกาสใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูเกิน 1,000 บาทต่อปี มากกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ถึง 1.9 เท่า ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่านั้น (75,000-150,000 บาท) จะมีโอกาสดังกล่าวถึง 2.6 เท่า ทั้งนี้ กลุ่มที่มีรายได้สูง (รายได้ 150,000 บาทขึ้นไป) มีสัดส่วนของผู้ที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูเกินปีละ 5,000 บาทมากที่สุด (ร้อยละ 8.8)

เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ กว่า 1 ใน 3 ของกลุ่ม Gen Y และ Gen X จะมีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูเกิน 1,000 บาทต่อปี แต่กลุ่มที่ “จ่ายหนัก” ที่สุดกลับเป็นกลุ่ม Baby Boomer โดยมีสัดส่วนของผู้ใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูเกินกว่า 5,000 บาทต่อปีสูงที่สุด
(ร้อยละ 7) เมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่นๆ คือ Gen X (ร้อยละ 6) Gen Y (ร้อยละ 5) และ Gen Z (ร้อยละ 5)

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เพศชายเกือบ 1 ใน 10 มีค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูมากกว่า 5,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า LGBTQ+ และเพศหญิง (ร้อยละ 3-4) ซึ่งหากพิจารณากลุ่ม “เพศชาย-สายมู-จ่ายหนัก” จะพบว่าเกือบ 2 ใน 3 จะนิยมซื้อวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังเป็นประจำทุกเดือน


 

เมื่อกลุ่ม “สายมูดิจิทัล” นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

ราวครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจเคยซื้อสินค้าสายมูผ่านช่องทางออนไลน์ (ภาพที่ 5) โดยเมื่อเทียบระหว่างกลุ่มอายุ กลุ่ม Baby Boomer เคยซื้อสินค้าสายมูผ่านทางช่องทางออนไลน์เป็นสัดส่วนน้อยที่สุด (ร้อยละ 23.7)  ส่วนกลุ่มที่มีสัดส่วนผู้ที่เคยซื้อมากที่สุด (ร้อยละ 59.2) คือ Gen Y โดยมีโอกาสซื้อมากกว่า Baby Boomer ถึง 2.8 เท่า และเมื่อพิจารณาระดับรายได้จะพบว่า ยิ่งระดับรายได้ต่ำ สัดส่วนของผู้ตอบแบบสำรวจที่เคยซื้อสินค้าสายมูผ่านออนไลน์จะยิ่งสูง โดยผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน มีโอกาสเคยซื้อสินค้าสายมูมากกว่าผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 150,000 บาทถึง 2.2 เท่า



นอกจากนี้ สินค้าสายมูที่ได้รับความนิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ กำไลและเครื่องประดับ (ร้อยละ 22.8) เครื่องรางและวัตถุมงคลพกพาได้ (ร้อยละ 21.9) และวอลเปเปอร์ ธีมแอปพลิเคชันโทรศัพท์ลายมงคล (ร้อยละ 21.6) (ภาพที่ 6) โดย Baby Boomer มีสัดส่วนผู้ที่เคยซื้อสินค้ากลุ่มวอลเปเปอร์และธีมมือถือมงคลน้อยที่สุด (ร้อยละ 10) ขณะที่ Gen Y และ Gen Z มีโอกาสซื้อสินค้ากลุ่มนี้มากกว่า Baby Boomer ประมาณ 9 เท่า สอดคล้องกับวิธีการชำระเงิน (ภาพที่ 7) ที่ร้อยละ 42.9 ของ Baby Boomer เลือกชำระด้วยเงินสดหรือเก็บเงินปลายทางเป็นหลัก ซึ่งวิธีนี้ไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลเหมือนวิธีอื่นๆ ในขณะที่ Gen X และ Gen Y ตลอดจน Gen Z เลือกจ่ายผ่านแอปพลิเคชันธนาคารมากที่สุดด้วยสัดส่วนในช่วงร้อยละ 40-50 ซึ่งนับว่าสูงว่าการชำระเงินวิธีอื่นๆ อย่างชัดเจน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากรายได้พบว่า การเลือกชำระค่าสินค้าสายมูด้วยเงินสดมีแนวโน้มลดลงเมื่อรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน




 

บริการสายมู: อีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภค


ผู้บริโภคไทยใช้จ่ายอย่างไรกับบริการสายมู

นอกจากค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าสายมูแล้ว ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการมูเตลูก็ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคไม่แพ้กัน เช่น การดูดวง ทัวร์มูเตลู การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ หรือทำพิธีกรรมต่างๆ โดยจากการสำรวจค่าใช้จ่ายบริการสายมูแบบรวมทุกช่องทาง (ทั้งหน้าร้านและออนไลน์) พบว่า ราว 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจใช้จ่ายไปกับบริการสายมูมากกว่า 1,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับกลุ่มที่จ่ายเงินซื้อสินค้าสายมูมากกว่า 1,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ รายได้ก็มีผลต่อค่าใช้จ่ายบริการสายมูด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ยิ่งรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น สัดส่วนของผู้ใช้จ่ายบริการสายมูเกินปีละ 1,000 บาทจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเมื่อวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติ พบว่าผู้ที่มีรายได้สูง (มากกว่าเดือนละ 150,000 บาท) มีโอกาสใช้จ่ายเกินปีละ 1,000 บาทไปกับบริการสายมู มากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย (ต่ำกว่า 30,000 บาท) ถึง 3.2 เท่า

Gen X คือกลุ่มที่ใช้จ่ายไปกับบริการสายมูมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น โดยมีสัดส่วนของผู้ใช้จ่ายบริการสายมูต่อปีมากกว่า 1,000 บาทสูงที่สุด (ร้อยละ 36.8) รองลงมาคือ Gen Y (ร้อยละ 33.2) ในขณะที่ Baby Boomer และ Gen Z เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายไปกับบริการสายมูน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ 2 ช่วงอายุข้างต้น โดย Baby Boomer ร้อยละ 57.6 และ Gen Z ร้อยละ 47.4 จะใช้เงินเพียงปีละไม่เกิน 500 บาทเพื่อบริการสายมู



 

บริการรับจ้างเป็นตัวแทนมูเตลูที่นำเสนอบนโลกออนไลน์

ปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นบริการรับจ้างเพื่อเป็นตัวแทนมูเตลูบนแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือการรับจ้างเป็นตัวแทนไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งร้อยละ 9.1 ของผู้ตอบแบบสำรวจเคยใช้บริการดังกล่าว และ 2 ใน 3 นิยมชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร โดยเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการเหล่านี้ เนื่องจากไม่สะดวกจะไปสักการะ ณ สถานที่จริง (ร้อยละ 29.2) และเชื่อว่าผู้ให้บริการรู้วิธีสักการะที่ถูกต้อง (ร้อยละ 19.9) อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามผู้ที่ไม่เคยใช้บริการดังกล่าว พบว่าร้อยละ 16.5 สนใจลองใช้บริการ ในขณะที่ร้อยละ 21.1 ยังคงไม่แน่ใจ โดยเหตุผลหลักคือไม่มั่นใจว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหากฝากผู้อื่นไปมูเตลูแทน และยังคงกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเพศหญิงเคยใช้บริการดังกล่าวมากกว่าเพศชายถึง 2.6 เท่า


ความถี่ในการซื้อสินค้าหรือบริการมูเตลูผ่านแพลตฟอร์ม

แม้กว่า 6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจจะเคยซื้อสินค้าและ/หรือใช้บริการมูเตลูผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือกลุ่ม “สายมูดิจิทัล” แต่ในบรรดาคนกลุ่มนี้ กว่า 1 ใน 4 จะซื้อสินค้า/บริการมูเตลูเพียงแค่ปีละ 1-2 ครั้ง ขณะที่มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ซื้อเป็นประจำทุกสัปดาห์ สะท้อนให้เห็นว่าการซื้อสินค้า/บริการมูเตลูผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก

เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มผู้บริโภคสายมูดิจิทัลจะมีสัดส่วนสูงขึ้นในกลุ่มอายุน้อย กล่าวคือ Gen Z มีสัดส่วนมากที่สุด (ร้อยละ 70.5) รองลงมาคือกลุ่ม Gen Y (ร้อยละ 67.2) Gen X (ร้อยละ 59.3) และ Baby Boomer (ร้อยละ 32.2) ตามลำดับ โดย Gen Z มีโอกาสเคยซื้อสินค้า/บริการมูเตลูผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่ากลุ่ม Baby Boomer ถึง 3.7 เท่า



 

เทคโนโลยีสมัยใหม่กับการมูเตลู

เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์มูเตลู โดยวิจัยกรุงศรีพบว่า ในบรรดาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ในการมูเตลู แอปพลิเคชันดูดวงได้รับความสนใจมากที่สุด โดยมีผู้สนใจกว่าร้อยละ 67.4 ของผู้ตอบแบบสำรวจ รองลงมาคือ งานศิลปะ NFT เสริมดวง (ร้อยละ 26.3) การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่าน AR หรือ VR (ร้อยละ 22.3) และการร่วมพิธีกรรมสายมูผ่านการไลฟ์สด (ร้อยละ 17.2)  อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจราว 1 ใน 5 ยังคงไม่สนใจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับมูเตลู โดยกลุ่ม Baby Boomer มีสัดส่วนผู้ที่ไม่สนใจสูงสุด (ร้อยละ 35.6) โดยเมื่อวิเคราะห์เชิงลึกจะพบว่าผู้บริโภคดิจิทัลสายมูกลุ่ม Gen X Gen Y และ Gen Z  มีโอกาสสนใจที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจกรรมมูเตลูมากกว่ากลุ่ม Baby Boomer ถึง 2 เท่า
 

การดูดวงโดยใช้ AI กับความคิดเห็นของคนไทย

ปัจจุบัน AI ได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยมนุษย์ได้แทบทุกเรื่องไม่เว้นแม้แต่มูเตลู เช่น เป็นผู้ช่วยในเรื่องการทำนายดวง11/ ทั้งนี้ หากมีการนำ AI มาใช้ในการดูดวง ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 52.2 จะมีความสนใจดูดวงเพิ่มขึ้น โดยเกินกว่าครึ่งของ Gen Y และ Gen X จะสนใจดูดวงเพิ่มขึ้นเมื่อมีการใช้ AI มาช่วย (ร้อยละ 55.7 และ ร้อยละ 52.0 ตามลำดับ) โดย Gen Y และ Gen X มีโอกาสสนใจใช้ AI ช่วยดูดวงมากกว่า Baby Boomer ถึง 2.3 เท่า

นอกจากนี้ พบว่าราว 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดมีความสนใจใช้ AI ช่วยดูดวงเป็นอย่างยิ่งจนต้องการทดลองใช้ทันที โดย Gen Z มีสัดส่วนดังกล่าวสูงที่สุด (ร้อยละ 28.4) นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หากนำ AI มาช่วยดูดวง ผู้ที่อายุน้อยกว่าจะ “ตื่นเต้น” จนอยากทดลองใช้ทันทีมากกว่ากลุ่มที่อาวุโสกว่า ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของผู้ที่สนใจทดลองใช้ทันทีใน Gen Y ที่ร้อยละ 26.2 ขณะที่ Gen X และ Baby Boomer มีสัดส่วนที่ลดหลั่นกันมาที่ร้อยละ 25.7 และ 13.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตระหนักว่า AI อาจสร้างคำตอบหรือคำทำนายที่ผิดเพี้ยนได้ โดยผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 12 ไม่สนใจการใช้ AI ช่วยดูดวงเพราะกังวลเรื่องความผิดพลาดจากเทคโนโลยีนี้ (ภาพที่ 11)


 

มุมมองวิจัยกรุงศรี: เมื่อพลังศรัทธานำพาโอกาสทางธุรกิจ

 

ผลการศึกษาครั้งนี้ตอกย้ำว่า ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังมงคลยังคงมีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเทคโนโลยี แต่การแสดงออกถึงความเชื่อเหล่านี้อาจถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีมีมุมมองที่อาจเป็นประโยชน์แก่ภาคธุรกิจที่เล็งเห็นโอกาสในการเข้าถึงและครองใจผู้บริโภคกลุ่ม “สายมูดิจิทัล” หรือต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีและตรงใจลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ดังนี้


ความต่างของผู้บริโภคสายมูแต่ละ Gen

ผู้บริโภคกลุ่ม Baby Boomer จัดเป็นกลุ่ม “จ่ายหนัก” ในเรื่องการซื้อสินค้าสายมู กล่าวคือมีสัดส่วนผู้ที่ใช้จ่ายเกิน 5,000 บาทต่อปีสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ โดยสัดส่วนของการจ่ายหนักจะลดหลั่นตามช่วงอายุ (รองลงมาคือ Gen X  Gen Y และ Gen Z ตามลำดับ) โดยเป้าหมายของการมูสำหรับ Baby Boomer ส่วนใหญ่คือการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้น สินค้าสายมูเพื่อสุขภาพ เช่น สร้อยข้อมือหินสุขภาพ อัญมณีมงคลเสริมพลังชีวิต จะสามารถดึงดูดความสนใจของคนกลุ่มนี้ได้มาก แต่ต้องเป็นสินค้าที่สามารถจับต้องหรือสัมผัสได้ด้วยมือ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่สนใจการใช้เทคโนโลยีในเรื่องที่เกี่ยวกับสายมูเท่ากับลูกค้าในกลุ่มอายุอื่นๆ

กลุ่ม Gen X และ Gen Y มีความเป็น “สายมูดิจิทัล” หรือสนใจในด้านเทคโนโลยีมากกว่า Baby Boomer โดยกลุ่มใหญ่มีเป้าหมายการมูเพื่อโชคลาภและทรัพย์สิน ผู้บริโภคสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนผู้ที่ “จ่ายหนัก” หรือจ่ายมากกว่า 5,000 บาทต่อปี ในเรื่องการซื้อสินค้าสายมูใกล้เคียงกับกลุ่ม Baby Boomer และราว 1 ใน 3 ของสองกลุ่มนี้ยังคงใช้จ่ายซื้อสินค้าสายมูเกิน 1,000 บาทต่อปี และใช้จ่ายไปกับบริการสายมูมากกว่า 1,000 บาทต่อปี ดังนั้น คนสองกลุ่มนี้จึงเป็นตลาดใหญ่ของทั้งสินค้าและบริการสายมูทั้งแบบจับต้องได้และแบบใช้เทคโนโลยี เช่น สินค้าเสริมโชคลาภประเภทกำไล เครื่องประดับ วัตถุมงคล เครื่องรางดิจิทัล การดูดวงผ่านแอปพลิเคชันมือถือ โดยเฉพาะการนำ AI มาใช้ดูดวง อย่างไรก็ตาม Gen X จะมีความคล้าย Baby Boomer ในด้านความนิยมวัตถุมงคลและเครื่องราง ส่วน Gen Y จะนิยมกับการซื้อสินค้าสายมูผ่านออนไลน์มากกว่า เช่น วอลเปเปอร์มงคลสำหรับโทรศัพท์มือถือ

สำหรับ Gen Z ที่ยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนหรือเริ่มทำงาน ส่วนใหญ่มักมีเป้าหมายการมูโดยเน้นหน้าที่การงานและการเรียน โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความถี่ในการดูดวงมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ กล่าวคือมีการดูดวงอย่างน้อยทุก 3 เดือนมากที่สุด และยังสนใจแอปพลิเคชันดูดวง ภาพศิลปะ NFT เสริมดวง หรือการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่าน AR / VR มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งในอนาคต เมื่อ Gen Z มีอายุมากขึ้นและมีรายได้มากขึ้น ตลาดสินค้า/บริการสายมูดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นก็น่าจะเติบโตขึ้นตามไปด้วย เพราะการนำความเชื่อมาผสมผสานกับนวัตกรรมที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ เช่น การดูดวงแบบ AI อัจฉริยะที่เรียนรู้ความต้องการของผู้ใช้งานเพื่อให้คำทำนายที่เจาะจง ก็จะยิ่งสามารถดึงดูดใจลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้ในอนาคต 


ตลาดบริการสายมูดิจิทัล

คนทุกช่วงวัยนิยมการเดินทางไปสักการะหรือขอพรที่พึ่งทางใจ แต่ผลสำรวจบ่งชี้ว่าวัยทำงานมักมีภาระประจำมากจนไม่มีเวลาไปประกอบกิจกรรมดังกล่าว อีกทั้งผู้สูงวัยบางกลุ่มก็ไม่สะดวกในการเดินทางไปประกอบกิจกรรมมูเตลู ซึ่งอุปสรรคสำคัญสองประการนี้ได้ก่อให้เกิดตลาดบริการสายมูดิจิทัลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบการรับจ้างไปประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อแทน และเนื่องจากผลการวิจัยชี้ว่า LGBTQ+ คือกลุ่มที่นิยมเดินทางไปสักการะหรือขอพรที่พึ่งทางใจมากกว่าเพศหญิงและเพศชาย ผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำการตลาดแก่บริการดังกล่าว โดย LGBTQ+ นิยมขอพรเรื่องความสำเร็จในหน้าที่การงานและการเรียนควบคู่ไปกับเรื่องทรัพย์และโชคลาภ

นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบอุปสรรคอื่นๆ ของผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Gen X และ Gen Y คือ การไม่มีเพื่อนร่วมกิจกรรมสายมูและการขาดความรู้ว่าจะไปทำกิจกรรมสายมูได้ที่ใด ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสของบริการสายมูดิจิทัลอีกหลายรูปแบบ เช่น การจัดทัวร์มูเตลูที่เน้นความสะดวกและประสบการณ์สักการะ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของทัวร์ออนไลน์ หรือการจัดทัวร์ไปยังสถานที่โดยรับจองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ได้


แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป..แต่พลังศรัทธาไม่เสื่อมไปตามกาลเวลา

เศรษฐกิจสายมูในอนาคตจะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความเชื่อ แต่จะกลายเป็นโอกาสที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีและธุรกิจภาคส่วนต่างๆ โดยตลาดสายมูจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเสริมโชคลาภ การท่องเที่ยวมูเตลู และบริการทางการเงิน ดังนั้น การสร้างแพลตฟอร์มที่รวบรวมสินค้าและบริการสายมูในที่เดียว เช่น "มูมาร์เก็ต" จะช่วยกระตุ้นตลาดและตอบสนองความต้องการนี้

นอกจากนี้ เมื่อพลังความเชื่อและศรัทธาได้หลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยีจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ในเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยี เช่น AI, AR/VR และ NFT จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนวิธีการประกอบกิจกรรมสายมู ผู้บริโภคจะมองหาประสบการณ์เชิงดิจิทัลมากขึ้น เช่น การทำพิธีออนไลน์ หรือการบูชาผ่านแพลตฟอร์ม (Virtual Ceremony) การดูดวงผ่านแอปพลิเคชัน หรือการซื้อเครื่องรางดิจิทัล ทั้งนี้ แม้รูปแบบของการแสดงออกจะเปลี่ยนไป แต่แก่นแท้ของศรัทธายังคงอยู่ แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปเพียงใดก็ตาม แต่ความเชื่อและพลังศรัทธาจะยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ต่อไปในอนาคต 
 

References​

 

กรุงเทพธุรกิจ (2024): “ธุรกิจสายมู สุดปัง จัดตั้งใหม่เพิ่มทุกปี” Retrieved October 12 2024 from   “ธุรกิจสายมู”สุดปัง จัดตั้งใหม่เพิ่มทุกปี

Future Market Insights (2024): “Faith-based Tourism Market Outlook from 2024 to 2034” Retrieved October 1 2024 from
Faith Based Tourism Market Growth, Trends & Forecast 2034

Japan Living Guide (2023): “Omamori: A Guide to Japanese Amulets” Retrieved October 1 2024 from Omamori: A Guide to Japanese Amulets - Living Guide in Japan

Springnews (2024): “ดูดวงไพ่ยิปซี กับเทคโนโลยี AI ผ่านปลั๊กอินบน ChatGPT-4” Retrieved October 12 2024 from ดูดวงไพ่ยิปซี กับเทคโนโลยี AI ผ่านปลั๊กอินบน ChatGPT-4

The Enlightenment Journey (2024): Feng Shui Symbols of Protection and How to Use Them” Retrieved October 1 2024 from
Feng Shui Symbols Of Protection And How To Use Them

Wego Travel (2024): “50 Pilgrimage Destinations and Religious Places in India You Have to Visit at Least Once in Your Life” Retrieved October 1 2024 from 50 Beautiful and Popular Religious Places in India - Wego Travel Blog



1/ มูเตลู‎ (Thai): meaning, translation – WordSense
2/ Faith Based Tourism Market Growth, Trends & Forecast 2034 (futuremarketinsights.com)
3/ Omamori: A Guide to Japanese Amulets - JapanLivingGuide.net - Living Guide in Japan
4/ Feng Shui Symbols Of Protection And How To Use Them (theenlightenmentjourney.com)
5/ 50 Beautiful and Popular Religious Places in India - Wego Travel Blog
6/ Indian amulets - ethnicadornment
7/ https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1121072
8/ https://datawarehouse.dbd.go.th/area/overview/96304
9/ Baby Boomer (อายุ 60 ปีขึ้นไป)  Gen X (อายุ 44-59 ปี)  Gen Y (อายุ 28-43 ปี) และ  Gen Z (อายุ 27 ปีหรือต่ำกว่า)
10/ คำนวณด้วย Odds ratio จากการใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติแบบ Logistic regression ซึ่งเป็นเทคนิคการประมาณค่าความน่าจะเป็นหรือโอกาสของการเกิดเหตุการณ์ที่สนใจภายใต้อิทธิพลจากตัวแปรต่างๆ
 ค่าความน่าจะเป็นหรือโอกาสของการเกิดเหตุการณ์ที่สนใจภายใต้อิทธิพลจากตัวแปรต่างๆ
11/ ดูดวงไพ่ยิปซี กับเทคโนโลยี AI ผ่านปลั๊กอินบน ChatGPT-4

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา