บทนำ
ความตึงเครียดทางการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก (Global Supply Chains) และในพลวัตการค้าระหว่างประเทศ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญสำหรับผู้ผลิตที่ใช้ลดความเสี่ยงคือแนวทาง "China+1" กล่าวคือ ผู้ประกอบการต่างมุ่งกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพาจีนเพียงแห่งเดียว ซึ่งภูมิภาคอาเซียนจัดเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตมา นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับทุกประเทศที่อยากดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศของตน
งานศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์พัฒนาการด้านการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) หลังจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงจุดแข็งและความท้าทายด้านการค้าการลงทุนของทั้งภูมิภาคอาเซียนและแต่ละประเทศในภูมิภาค โดยบทความนี้จะมุ่งเน้นไปที่ประเทศอินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ไม่เพียงแค่จากจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย
พัฒนาการด้านการค้าในอาเซียน
ในช่วงที่ผ่านมา รูปแบบการค้าและการลงทุนของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนและการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั้งโลกและพัฒนาการทางด้านการค้าของอาเซียนอย่างชัดเจน
-
ภูมิหลังความตึงเครียดทางการค้าสหรัฐฯ-จีน
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศเริ่มต้นในปี 2561 และมีแนวโน้มดำเนินต่อไป
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีนเพื่อลดการขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด จนในปี 2561 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กำหนดอัตราภาษีศุลกากรมาตรา 301 สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่อมาเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 550 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิด “สงครามการค้า” เต็มรูปแบบที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ทั่วโลก แต่ต่อมาเพื่อบรรเทาความตึงเครียด ทั้งสองประเทศได้เจรจาข้อตกลงการค้าระยะแรกในเดือนธันวาคม 2562 โดยสหรัฐฯ ยอมลดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจีนมูลค่า 300 พันล้านดอลลาร์จาก 15% เป็น 7.5% ขณะที่จีนลดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าสหรัฐฯ มูลค่า 75 พันล้านดอลลาร์ จาก 10% เป็น 5% (ภาพที่ 1) อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศยังดำเนินต่อไป โดยในเดือนพฤษภาคม 2566 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนอีกครั้ง โดยเพิ่มเป็นอัตรา 25-100% สำหรับสินค้าจีนหลายหมวด เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ เป็นต้น โดยมีมูลค่ารวมราว 18 พันล้านดอลลาร์ หรือครอบคลุม 4% ของมูลค่าการนำเข้าจากจีน ซึ่งมีผลตั้งแต่ปี 2567-2569
-
ความตึงเครียดทางการค้าและความเปลี่ยนแปลงในการนำเข้าของสหรัฐฯ และจีน
แม้ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้สร้างผลกระทบเชิงลบทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ แต่ทำให้อาเซียนเป็นผู้ได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปยังสองตลาดเพิ่มขึ้น
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนได้ส่งผลให้การค้าของอาเซียนกับทั้งสองประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีนลดลงอย่างมาก รวมถึงจีนก็นำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงเช่นกัน ขณะที่จีนและสหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้น (ภาพที่ 2)
ในเวลาเดียวกัน สหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้น (ภาพที่ 3) โดยเวียดนามสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ได้อย่างมากในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และเครื่องจักร ในขณะที่ไทยมีความโดดเด่นมากขึ้นในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร (ภาพที่ 4) นอกจากนี้ หลังเกิดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ จีนได้นำเข้าสินค้าจากอาเซียนเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน (ภาพที่ 5-6) โดยเฉพาะการนำเข้าจากเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์แร่ และโลหะ
การที่กลุ่มประเทศอาเซียนได้รับประโยชน์ในการส่งออกที่เพิ่มขึ้นไปยังทั้งสองประเทศนั้น อาจสรุปได้ในเบื้องต้นว่าการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) อันเป็นผลมาจากการกำหนดภาษีศุลกากรครั้งนี้ได้ส่งผลให้เส้นทางการนำเข้าของทั้งสหรัฐฯ และจีน เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ภูมิภาคอาเซียนก็นำเข้าสินค้าจากจีนในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 7) พร้อมกับส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงนำไปสู่คำถามว่าการส่งออกของอาเซียนที่เพิ่มขึ้นนั้นสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจของตนเองได้มากน้อยเพียงใด
-
การเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion)
ความตึงเครียดทางการค้าได้นำมาสู่การเบี่ยงเบนทางการค้าของโลก เนื่องจากสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ ทดแทนการนำเข้าจากประเทศจีน
การเบี่ยงเบนทางการค้า หมายถึง การเปลี่ยนแปลงการนำเข้าสินค้าจากแหล่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไปสู่แหล่งที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า เนื่องจากปัจจัยภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงของภาษีนำเข้าหรือการติดขัดของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้การผลิตหรือการส่งออกจากประเทศที่มีประสิทธิภาพมากกว่า (ซึ่งมีต้นทุนตลอดจนราคาขายที่ถูกกว่า) ถูกแทนที่โดยคู่ค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษหรือที่ไม่ถูกกีดทางการค้า
ในกรณีนี้ การที่สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน จนทำให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากแหล่งอื่นรวมถึงอาเซียนทดแทน สะท้อนถึงรูปแบบการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยประเทศที่ได้รับประโยชน์ด้านการส่งออกเด่นชัดที่สุดคือเวียดนาม ที่สามารถเพิ่มการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปยังสหรัฐฯ และจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ (จากภาพที่ 8) สวนทางกับการเกินดุลการค้ากับประเทศอื่นๆ สะท้อนว่าการผลิตเพื่อการส่งออกของเวียดนามอาจพึ่งพาวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากจีน ดังนั้น การส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพียงการส่งสินค้าจีนผ่านเวียดนามเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ประโยชน์ที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศอยู่ในวงจำกัด ทั้งนี้ เราไม่อาจสรุปผลได้อย่างแน่ชัดหากไม่พิจารณาพัฒนาการด้านการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยประเมินว่าการลงทุนเหล่านี้ส่งเสริมกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมในระยะยาวและยกระดับการผลิตในเวียดนามและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคหรือไม่
พัฒนาการด้านการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในอาเซียน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอาเซียนได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงในกระแสเมกะเทรนด์โลก (Global Megatrends) โดยเฉพาะกระแสโลกาภิวัฒน์ย้อนกลับ (Deglobalization) และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน1/
-
พัฒนาการของ FDI ในอาเซียน: เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจโลกซบเซา
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ส่งผลให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ให้ความสนใจลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงโดยโยกย้ายการลงทุนออกจากจีน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ช่วยสร้างโอกาสการเติบโตระยะยาวในภูมิภาคอาเซียน
เมื่อมองในภาพรวม ในปี 2566 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลก ลดลงร้อยละ -2 ซึ่งเป็นการลดลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน แต่การลงทุนในอาเซียนกลับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่สาม โดยอาเซียนยังคงเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มี FDI ไหลเข้ามามากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของ FDI ทั่วโลก และสัดส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เมื่อพิจารณากลุ่มประเทศที่เข้ามาลงทุน พบว่า สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมีการลงทุนในอาเซียนสูงสุด (ภาพที่ 9) และเมื่อมองมิติอุตสาหกรรมพบว่าในปี 2566 ภาคการเงิน (Financial Sector) มีเงินลงทุนไหลเข้ามาสู่อาเซียนสูงสุดถึง 92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดยการลงทุนในสิงคโปร์ ตามมาด้วยภาคการผลิต (Manufacturing Sector) ที่มีเงินลงทุนเข้ามาเป็นอันดับสองสูงถึง 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม งานศึกษานี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่เงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่สิงคโปร์และภาคการเงิน เนื่องจากลักษณะของเงินลงทุนมีปัจจัยขับเคลื่อนเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ในส่วนต่อไปจึงจะมุ่งเน้นวิเคราะห์เงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในภาคการผลิตของอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่มีการลงทุนใหม่ (Greenfield Investment) ในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 114 ในปี 2566 ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 74
-
FDI ในภาคการผลิตของอาเซียนและความเชื่อมโยงกับภาคการค้า
หลายประเทศในอาเซียนมี FDI ในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น และมีความสัมพันธ์กับการเบี่ยงเบนทางการค้าในช่วงที่ผ่านมา
ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่โดดเด่นในฐานะผู้รับเงินลงทุนในภาคการผลิต ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย (ภาพที่ 10) โดยในเวียดนาม ภาคการผลิตที่มีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ2/ ในขณะเดียวกัน อินโดนีเซียสามารถดึงดูด FDI ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมนิกเกิลซึ่งสำคัญต่อการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ตอบรับกับกระแสโลก นอกจากนี้ FDI ที่เข้าสู่ประเทศมาเลเซียและไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรม EV สำหรับไทย
ทั้งนี้ FDI ในอาเซียนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้า โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่มีความเชื่อมโยงกับการส่งออก โดยในปี 2565-2566 เวียดนามและอินโดนีเซียได้รับเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากในภาคการผลิต บ่งชี้ถึงการย้ายที่ตั้งของอุตสาหกรรมที่เคยกระจุกตัวอยู่ในจีน ตัวอย่างเช่น การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ได้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับเงินทุนไหลเข้าที่มากขึ้นในภาคส่วนเดียวกัน ซึ่งเสริมบทบาทของเวียดนามในฐานะศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน ในทำนองเดียวกัน การส่งออกนิกเกิลของอินโดนีเซียเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของ FDI จากจีนในกระบวนการแปรรูปนิกเกิลเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ EV ทั่วโลก
นอกจากนี้ แม้ว่าปัจจุบันประเทศจีนยังมีสัดส่วนการลงทุนในภาคการผลิตของอาเซียนที่น้อยกว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่เราเริ่มเห็นตัวเลขการลงทุนของจีนในอาเซียนมากขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มเกิดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนนั่นเอง
-
บทบาทของการลงทุนจากจีนในอาเซียน
จีนมีบทบาทในการลงทุนทางตรงในอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากต้องการกระจายฐานการผลิต และยังมีศักยภาพให้เข้ามาลงทุนในอาเซียนได้ต่อไป
เมื่อพิจารณาข้อมูลจากฝั่งของจีน พบว่าตัวเลขการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Outward Direct Investment: ODI) ของจีนในอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังพบว่าภาคการผลิตยังคงเป็นภาคส่วนที่ได้รับการลงทุนจากจีนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาเลเซียจะได้รับ ODI จากจีนลดลง แต่กลับได้รับการลงทุนโดยตรงจากภายในอาเซียนและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก
จากข้อมูลข้างต้นมีข้อสังเกตที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้ ประการแรก แม้ว่าค่าจ้างและต้นทุนการผลิตในจีนจะเพิ่มขึ้น แต่บริษัทส่วนใหญ่ยังคงรักษากระบวนการผลิตขั้นต้นที่มีมูลค่าสูงไว้ในจีน และย้ายการผลิตสินค้าขั้นปลายไปยังประเทศอื่นแทน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่จีนส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสมาร์ทโฟนไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตขั้นสุดท้ายเพื่อการส่งออก ดังที่ปรากฏในภาพที่ 4 (สินค้าที่เวียดนามส่งออกไปสหรัฐฯ) และภาพที่ 8 (สินค้าที่เวียดนามนำเข้าจากจีน) ประการที่สอง แนวโน้มนี้สะท้อนกลยุทธ์ของจีนในการกระจายฐานการผลิตมายังประเทศอาเซียน โดยลดการพึ่งพาการผลิตภายในประเทศเพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และรักษาตำแหน่งทางการค้าในห่วงโซ่อุปทานโลก ประการที่สาม จากภาพที่ 10 (ซ้าย) จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของ FDI จากจีนที่เข้ามายังภาคการผลิตของอาเซียนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ภาพที่ 11 สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตต่อเนื่องของการลงทุนจากจีนมายังอาเซียน และคาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปท่ามกลางกระแสย้ายฐานการผลิตจากความตึงเครียดทางการค้าโลกที่น่าจะทวีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพในการเติบโตของการลงทุนจากจีนมายังอาเซียนได้อีกในอนาคต
จุดแข็งของอาเซียนที่ทำให้เป็นจุดหมายที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน และความท้าทาย
อาเซียนมีจุดเด่นด้านขนาดตลาด โครงสร้างประชากร และนโยบายดึงดูดการลงทุน สำหรับความท้าทาย หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนกำลังปรับตัว เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับกระแสโลก
สำหรับนักลงทุนแล้ว อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านเศรษฐกิจและสังคมหลายประการที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสเมกะเทรนด์โลกที่สำคัญ3/ ได้ โดยสามารถสรุปจุดแข็งได้ดังนี้
1.ตลาดขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง: อาเซียนมีประชากรจำนวนมากกว่า 680 ล้านคน โดยประเทศอย่างอินโดนีเซียและเวียดนามมีประชากรอายุเฉลี่ยเพียง 30 และ 32 ปี ตามลำดับ สะท้อนถึงฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ อาเซียนยังที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย
2.ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ: อาเซียนได้รับประโยชน์จากการกระจายห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากที่ตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางการผลิตหลักอย่างจีน ตลอดจนผู้บริโภคในเอเชีย จึงทำให้ภูมิภาคนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีสำหรับการย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะเวียดนามที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับจีน และเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญในการย้ายฐานการผลิตภายใต้กลยุทธ์ “China +1” ของบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก
3.แรงงานและทรัพยากรจำนวนมาก: ด้วยขนาดและอายุเฉลี่ยของประชากรในอาเซียน ทำให้มีแรงงานจำนวนมากในต้นทุนที่แข่งขันได้ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive Industry) โดยเวียดนามและอินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบในด้านประชากรวัยทำงานจำนวนมาก และต้นทุนแรงงานที่ยังไม่สูงนัก ส่วนอินโดนีเซียมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะนิกเกิลที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
4.โครงสร้างพื้นฐานที่กำลังพัฒนา: หลายประเทศในภูมิภาคกำลังเร่งลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศและอำนวยความสะดวกด้านการค้าเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ หรือบางประเทศ เช่น ไทยมีจุดเด่นด้านโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตในภาคยานยนต์ สำหรับมาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งมีแรงงานทักษะสูงและมีความรู้ทางเทคโนโลยี
5.การรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจและการเงิน: กระแสการรวมกลุ่มในภูมิภาค (Regionalization) ของอาเซียนกับคู่ค้าที่สำคัญกลายเป็นจุดเด่นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)4/ ซึ่งมุ่งอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนที่ราบรื่นทั่วทั้งภูมิภาค นอกจากนี้ เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศมากที่สุดในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์5/
6.นโยบายดึงดูดการลงทุนจากภาครัฐ: ภาครัฐของแต่ละประเทศต่างมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างในด้านเทคโนโลยีและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศในอาเซียนยังคงมีความท้าทายสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอยู่บ้าง ซึ่งพอระบุได้ ดังนี้
1.โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ: แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศอาเซียนจะกำลังพัฒนา แต่ก็ยังมีบางประเทศที่ยังมีช่องว่างการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะในภาคการขนส่งและพลังงาน ตัวอย่างที่สำคัญคือปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าที่ใช้ในภาคการผลิต โดยเฉพาะในเวียดนามที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ดังจะเห็นได้จากดัชนี Getting Electricity (ภาพที่ 16) ของธนาคารโลก6/ ที่บ่งชี้ว่าเวียดนามและอินโดนีเซียมีอัตราการหยุดชะงักของระบบไฟฟ้าสูงกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อเสถียรภาพในภาคการผลิต
2.ความท้าทายทางกฎระเบียบ: สภาพแวดล้อมทางกฎหมายและกฎระเบียบที่ซับซ้อนและใช้เวลานานในการดำเนินการในหลายประเทศอาเซียน อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการดำเนินธุรกิจ และอาจส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนล่าช้า โดยเฉพาะในอินโดนีเซียที่มีระบบกฎหมายกระจายไปตามหลายภูมิภาคทำให้การจัดการเรื่องกฎระเบียบเป็นเรื่องซับซ้อน โดยเฉพาะด้านกฎหมายที่ดินและการขอใบอนุญาตการลงทุน เช่นเดียวกับเวียดนามที่มีกฎระเบียบที่ค่อนข้างยุ่งยากตั้งแต่การจัดตั้งธุรกิจและกระบวนการขออนุญาต
3.ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน: ในขณะที่โลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วกับความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง เช่น การผลิตและพลังงาน
หลังจากการวิเคราะห์จุดแข็งและความท้าทายของภูมิภาคอาเซียนในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ วิจัยกรุงศรีได้จัดทำกรอบการวิเคราะห์ SWOT เพื่อประเมินศักยภาพของแต่ละประเทศในอาเซียนในการดึงการลงทุนจากต่างชาติในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของจุดเด่น จุดด้อย โอกาส และความท้าทายที่แต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนต้องเผชิญ ดังตารางที่ 1
ทั้งนี้ ภูมิภาคอาเซียนกำลังปรับตัวให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลก โดยแต่ละประเทศได้พยายามพัฒนากฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนสนับสนุนอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เน้นเทคโนโลยีและความยั่งยืน อาทิ ไทยมุ่งเน้นปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อลดขั้นตอนสำหรับนักลงทุน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและยานยนต์ไฟฟ้า เวียดนามและอินโดนีเซียพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของภาคการผลิต พร้อมเปิดรับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนมาเลเซียพัฒนาด้านเทคโนโลยีชั้นสูงและส่งเสริมการผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งนี้ อาเซียนมีจุดเด่นด้านโครงสร้างประชากรที่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนวัยหนุ่มสาว จึงได้เปรียบในการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการพัฒนาแรงงานคุณภาพ นับเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนและการขยายธุรกิจจากประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
มุมมองวิจัยกรุงศรี
หากเปรียบเทียบกับการย้ายฐานการผลิตตามแนวทาง “Flying Geese” ในอดีตของญี่ปุ่น7/ ภายใต้ผลกระทบจาก Plaza Accord กับกลยุทธ์ “China+1” ในปัจจุบัน ทั้งญี่ปุ่นและจีนมีจุดร่วมในการเผชิญกับอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มอ่อนแอลง ค่าแรงที่สูงขึ้น และแรงจูงใจในการขยายสู่ตลาดที่ใหญ่กว่า แต่มีความแตกต่างที่สำคัญคือ ณ ขณะนั้น ญี่ปุ่นไม่ได้เผชิญแรงกดดันจากความตึงเครียดทางการค้าในระดับเดียวกับที่จีนเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสของภูมิภาคอาเซียนในการดึงดูดการลงทุน ไม่เพียงแต่จากจีน แต่ยังรวมถึงการลงทุนจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ โดยผลบวกต่ออาเซียนคือการการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยยกระดับศักยภาพในการผลิตการลงทุน และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตาม จุดที่ควรระวังคือ ผลประโยชน์ต่อภาคการผลิตในประเทศอาจมีจำกัด หากเงื่อนไขการลงทุนไม่ได้ระบุชัดเจนถึงสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) หรือการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่สำคัญ อีกทั้งการเข้ามาของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อาจทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กในประเทศประสบปัญหาในการแข่งขันด้านต้นทุน นอกจากนี้ อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ควรจับตามองคือนโยบายกีดกันทางการค้าภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ที่อาจส่งผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกสินค้าจากอาเซียนไปยังสหรัฐฯ และลดความน่าสนใจของอาเซียนในการเป็นหมุดหมายสำคัญใหม่ของนักลงทุน
ทั้งนี้ งานชิ้นนี้พบว่าประเทศอาเซียนมีข้อได้เปรียบทั้งในด้านโครงสร้างประชากรวัยทำงาน ต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ และตำแหน่งที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ แต่ยังมีประเด็นที่ประเทศในอาเซียนควรพัฒนาศักยภาพของตนต่อไป เพื่อสามารถคว้าโอกาสได้มากที่สุดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน ดังนี้
-
ประการแรก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการลดความซับซ้อนของระบบกฎระเบียบและนโยบายการค้า เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจให้มากขึ้น
-
ประการที่สอง การลงทุนในทรัพยากรบุคคล เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น เทคโนโลยีและการผลิตชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกและสร้างข้อได้เปรียบในระยะยาว
-
ประการที่สาม การเพิ่มความร่วมมือภายในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศอาเซียนให้มีความพร้อมรองรับการย้ายฐานการผลิต ซึ่งสามารถเสริมความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและช่วยลดผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าได้ในอนาคต
โดยสรุป การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในปัจจุบันได้เปิดโอกาสสำคัญให้กับอาเซียนในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละประเทศในอาเซียนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคที่มีความโดดเด่นในเวทีโลก กอปรกับการพัฒนาและปิดจุดอ่อนที่ยังมี คาดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และผลักดันให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญในยุคใหม่ซึ่งสอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลก
References
Angsana Council, Bain & Company, and DBS Bank. (2024). Navigating High Winds: Southeast Asia Outlook 2024-2034. FBN Asia.
ASEAN Secretariat & UNCTAD. (2024). ASEAN Investment Report 2024: ASEAN Economic Community 2025 and Foreign Direct Investment. ASEAN Secretariat.
Dacanay, A. (2024, August 29). ASEAN Perspectives. Retrieved from gbm.hsbc: https://www.gbm.hsbc.com/en-gb/insights/global-research/asean-perspectives-bucking-the-global-trend-in-trade
Gembah. (n.d.). Vietnam Supply Chain: Trends, Issues, and. Retrieved from https://gembah.com/blog/vietnam-supply-chain/
Kumra, G., & Seong, J. (2024, September 3). Asia: The epicenter of global trade shifts. Retrieved from McKinsey & Company: https://www.mckinsey.com/featured-insights/future-of-asia/asia-the-epicenter-of-global-trade-shifts
McKinsey & Company. (2024, September 5). Diversifying global supply chains: Opportunities in Southeast Asia. Retrieved from McKinsey & Company: https://www.mckinsey.com/industries/travel-logistics-and-infrastructure/our-insights/diversifying-global-supply-chains-opportunities-in-southeast-asia
McKinsey Global Institute. (2024, January 17). Geopolitics and the geometry of global trade. Retrieved from mckinsey: https://www.mckinsey.com/mgi/our-research/geopolitics-and-the-geometry-of-global-trade
Source of Asia. (2024). Doing Business in ASEAN 2024-2025.
1/ กระแสโลกาภิวัฒน์ย้อนกลับ เป็นแนวโน้มของโลกที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา โดยประเทศและธุรกิจต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตภายในประเทศและการกระจายแหล่งวัตถุดิบมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น การกีดกันทางการค้า และผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
2/ อาทิ การลงทุนของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple การลงทุนของบริษัท Samsung รวมถึงการลงทุนด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัท Intel
3/ กระแสเมกะเทรนด์โลก (Global Megatrends) ที่สำคัญ เช่น กระแสโลกาภิวัตน์ย้อนกลับ (Deglobalization) การเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Shifting In Economic Power) สังคมผู้สูงวัย (Demographic Changes) การขยายตัวของเมือง (Urbanization) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Advancement) และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)
4/ ภูมิภาคอาเซียนได้ทำความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีขนาดเศรษฐกิจครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก มีจุดมุ่งหมายในการขจัดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน (กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, 2566)
5/ ปัจจุบันเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี 16 ฉบับ กับ 54 ประเทศ โดยแบ่งเป็นข้อตกลงทวิภาคี 7 ฉบับ และระดับภูมิภาค 9 ฉบับ
6/ ดัชนีที่ธนาคารโลกใช้ในการวัดความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้าสำหรับธุรกิจ โดยพิจารณาจากระยะเวลา ค่าใช้จ่าย และขั้นตอน หากประเทศใดมีคะแนนสูง แสดงว่ากระบวนการขอใช้ไฟฟ้านั้นง่าย รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยรวม
7/ ภายหลัง Plaza Accord ในปี 1985 ที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้การส่งออกของญี่ปุ่นมีต้นทุนสูงขึ้น ญี่ปุ่นจึงย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในเอเชียที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น เกาหลีใต้และจีน ทำให้แนวคิด Flying Geese เกิดขึ้นจริงเมื่อประเทศที่ได้รับการลงทุนเหล่านี้ได้พัฒนาเศรษฐกิจผ่านการรับช่วงอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีต่ำกว่าจากญี่ปุ่น ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับภูมิภาค