EXECUTIVE SUMMARY
ปี 2567-2569 ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มคาดว่าจะเติบโต 4.0-5.0% ต่อปี ด้วยรายได้รวมที่ 275-300 พันล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์จาก (1) การทยอยฟื้นตัวของ GDP ภายในประเทศในช่วงปี 2568-2569 (2) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวสำคัญ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยคาดว่าจะมีการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยได้ปัจจัยสนับสนุนโครงการต่างๆจากภาครัฐ และ (3) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมานิยมทานอาหารที่ร้านมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลาย โดยมีปัจจัยเร่งจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและสื่อโซเชียลมีเดียที่แนะนำร้านอาหารใหม่ๆและสิทธิพิเศษต่างๆ ส่วนด้านอุปทานมีปัจจัยหนุนมาจาก (1) ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ บริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ส่งผลให้รักษาคุณภาพของอาหารได้นานขึ้น เอื้อต่อการเปิดร้านอาหารในพื้นที่ห่างไกลแหล่งวัตถุดิบ (2) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ให้บริการแอปพลิเคชันส่งอาหาร (Food Delivery Application) ที่พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆรองรับวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้การบริการของร้านอาหารมีช่องทางเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และ (3) การขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีก (Retail Business) ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เพื่อครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นช่องทางให้ร้านอาหารสามารถขยายกิจการไปตามธุรกิจค้าปลีก
มุมมองวิจัยกรุงศรี
-
ร้านอาหารและเครื่องดื่ม (รายใหญ่/มีเชนสาขา): คาดว่าธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตตาม (1) ภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว (2) ผู้ประกอบการขยายสาขาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาปกติ (3) ความนิยมในแบรนด์และช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคได้ในหลากหลายพื้นที่ รวมถึง (4) อำนาจต่อรองของผู้ประกอบการที่มีต่อซัพพลายเออร์จากปริมาณคำสั่งซื้อวัตถุดิบจำนวนมาก ทำให้สามารถลดต้นทุนต่อหน่วยของสินค้า ในช่วงที่วัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่มมีราคาสูง เป็นปัจจัยช่วยหนุนให้ผู้ประกอบการร้านอาหารแบบเครือข่ายมีความได้เปรียบในการทำกำไร
-
ร้านอาหารและเครื่องดื่ม (ทั่วไป): คาดว่าธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตตามปริมาณนักท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาปกติ แต่ยังคงมีความเสี่ยงด้านต้นทุนวัตถุดิบที่ยังสูงและส่วนแบ่งทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นของผู้เล่นรายใหญ่/มีเชนสาขา อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคอาจยังคงรอการฟื้นตัวท่ามกลางค่าครองชีพที่ยังสูง ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กยังมีความเสี่ยงด้านความสามารถในการทำกำไร
ข้อมูลพื้นฐาน
ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (Food and beverage service activities) หมายถึง ธุรกิจที่ให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม ไอศกรีม และเค้กที่พร้อมบริโภค โดยมีการบริการหลายรูปแบบ อาทิ ร้านอาหาร/ภัตตาคารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full service) การให้บริการบางส่วน (Limited service)1/ การให้บริการแบบนำกลับ (Take away) ทั้งนี้ในปี 2565 จำนวนธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มของไทยที่อยู่ในฐานข้อมูลจดทะเบียนมีทั้งสิ้น 382,083 ร้าน2/ (เพิ่มขึ้น 14.7% จาก 332,976 ร้านในปี 2564) (ภาพที่ 1) โดยสามารถแบ่งธุรกิจตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม3/ (Thailand Standard Industrial Classification; TSIC) ได้เป็น 7 ประเภท ได้แก่
1) ภัตตาคาร/ร้านอาหาร (Restaurants)4/ เป็นการให้บริการจัดหาอาหารและเครื่องดื่ม โดยจัดเตรียมไว้พร้อมบริโภคและให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย อาทิ การบริการแบบมีหรือไม่มีที่นั่ง การให้บริการแบบให้นั่งโต๊ะหรือบริการตนเอง การให้รับประทานที่ร้านหรือนำกลับ เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ เคาน์เตอร์ ผู้ประกอบการประเภทนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลจดทะเบียนมีจำนวน 321,096 ร้าน เป็นสัดส่วนสูงถึง 84.0% ของจำนวนธุรกิจให้บริการอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของไทย
2) การบริการเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในร้าน (Non-Alcoholic beverage store)5/ เป็นการบริการจัดหาเครื่องดื่มประเภทไม่มีแอลกอฮอล์แบบพร้อมบริโภคและให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย อาทิ การบริการแบบมีหรือไม่มีความบันเทิง การให้บริการแบบมีที่นั่งหรือไม่มีที่นั่ง การให้บริการที่โต๊ะหรือบริการตนเองหรือการนำออกไปดื่มข้างนอก เช่น ร้านกาแฟ ร้านน้ำผลไม้ ผู้ประกอบการประเภทนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลจดทะเบียนมีจำนวน 56,951 ร้าน (สัดส่วน 14.9%)
3) การบริการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน (Alcoholic beverage store)5/ เป็นการบริการจัดหาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แบบพร้อมบริโภค และให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย อาทิ การบริการแบบมีหรือไม่มีความบันเทิง การให้บริการแบบมีที่นั่งหรือไม่มีที่นั่งการให้บริการที่โต๊ะหรือบริการตนเองหรือการนำออกไปดื่มข้างนอก เช่น บาร์ ร้านขายเหล้า ผู้ประกอบการประเภทนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลจดทะเบียนมีจำนวน 3,885 ร้าน สัดส่วน (สัดส่วน 1.0%)
4) การบริการอาหารบนแผงลอยและตลาด (Foods stalls and market)5/ เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มที่พร้อมบริโภคบนแผงลอยและตลาด และให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย อาทิ การบริการแบบมีหรือไม่มีความบันเทิง หรือมีที่นั่งหรือไม่มีที่นั่ง ผู้ประกอบการประเภทนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลจดทะเบียนมีจำนวนเพียง 73 ร้าน (สัดส่วนน้อยกว่า 0.1%)
5) ร้านอาหารแบบเคลื่อนที่ (Mobile food)5/ เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มที่พร้อมบริโภคโดยร้านอาหารแบบเคลื่อนที่ เช่น เร่ขายโดยการเดิน รถยนต์หรือรถเข็นเป็นพาหนะ ผู้ประกอบการประเภทนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลจดทะเบียนมีจำนวนเพียง 57 ร้าน (สัดส่วนน้อยกว่า 0.1%)
6) ร้านเครื่องดื่มแบบเคลื่อนที่ (Mobile beverage)5/ เป็นการบริการเครื่องดื่มที่พร้อมบริโภคโดยให้บริการผ่านร้านเคลื่อนที่ เช่น เร่ขายโดยการเดินหรือใช้รถยนต์หรือรถเข็นเป็นพาหนะ ผู้ประกอบการประเภทนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลจดทะเบียนมีจำนวนเพียง 12 ร้าน (สัดส่วนน้อยกว่า 0.1%)
7) การบริการเครื่องดื่มบนแผงลอยและตลาด (Beverages stalls and market)5/ เป็นการให้บริการเครื่องดื่มบนแผงลอยและตลาด ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่พร้อมบริโภค ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีความบันเทิง มีที่นั่งหรือไม่มีที่นั่ง ผู้ประกอบการประเภทนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลจดทะเบียนมีจำนวนเพียง 9 ร้าน (สัดส่วนน้อยกว่า 0.1%)
ทั้งนี้ สาเหตุที่จำนวนผู้ประกอบการประเภทที่ 4-7 ที่มีจำนวนน้อย เนื่องจากอ้างอิงฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเฉพาะผู้ประกอบการในระบบซึ่งได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเท่านั้น โดยผู้ประกอบการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยหรือ Micro SMEs ซึ่งอยู่นอกระบบ
ทั้งนี้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดกรุงเทพฯมากที่สุด เนื่องจากเป็นทั้งเมืองหลวง เมืองท่องเที่ยว แหล่งการค้า และศูนย์รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆของไทย ทำให้มีจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มสูงถึง 54,476 ร้าน คิดเป็นสัดส่วน 14.3% ของจำนวนธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มของไทย รองลงมาเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 15,824 ร้าน (สัดส่วน 4.1%) ชลบุรี 15,565 ร้าน (สัดส่วน 4.1%) สุราษฎร์ธานี 11,506 ร้าน (สัดส่วน 3.0%) และเชียงราย 9,099 ร้าน (สัดส่วน 2.4%) (ภาพที่ 2) เห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่ได้รับความนิยมท่องเที่ยวจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และมีจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยในจังหวัดนั้นหนาแน่น โดยร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งร้านอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลร้านอาหารให้ได้มาตรฐานทั้งในด้านบุคคล สถานที่ อาหาร อุปกรณ์ และภาชนะ
หากจัดประเภทธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในปี 2565 แบ่งออกได้ดังนี้ (ภาพที่ 3)
-
ประเภทบุคคล (Personal business) 361,589 ราย คิดเป็น 94.6% ของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของไทย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นขนาด Micro ขนาดเล็ก และขนาดกลาง จำนวน 361,586 ราย (99.9% ของจำนวนผู้ประกอบการประเภทบุคคลทั้งหมด) ที่เหลือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย
-
ประเภทนิติบุคคล (Corporate business) 20,494 ราย คิดเป็น 5.4% ของจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของไทยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นขนาด Micro ขนาดเล็ก และขนาดกลาง จำนวน 20,423 ราย (99.7% ของผู้ประกอบการประเภทนิติบุคคลทั้งหมด) ที่เหลือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 71 ราย
เมื่อพิจารณาเฉพาะธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารซึ่งมีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มประเภทธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม สามารถแบ่งออก เป็นกิจการบุคคลธรรมดา 302,677 ร้าน (สัดส่วน 94.3% ของจำนวนธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารทั้งหมดของไทย) ส่วนหนึ่งเนื่องจากธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อีกทั้งใช้เงินทุนในการดำเนินธุรกิจได้หลายระดับตามความสามารถของผู้ประกอบการ ทำให้ธุรกิจสามารถเข้าออกได้ง่าย ที่เหลือเป็นกิจการนิติบุคคลจำนวน 18,419 ร้าน (สัดส่วน 5.7%) โดยทิศทางการเติบโตของธุรกิจแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวของร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าปลีกสมัยใหม่
แม้ว่ากิจการบุคคลธรรมดาจะมีสัดส่วนสูงแต่ศักยภาพในการเติบโตยังคงต่ำกว่ากิจการนิติบุคคล6/ จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่าสัดส่วนของกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่มประเภทนิติบุคคลที่มีศักยภาพในการเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง-สูงมีสัดส่วนมากกว่า 87.5% เมื่อเทียบกับกิจการบุคคลธรรมดาที่มีศักยภาพในการเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง-สูงมากนั้นมีเพียง 14.8% (ตารางที่ 2)
หากพิจารณาข้อมูลผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคลและยังดำเนินกิจการอยู่ในปี 2565 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่าจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage Service Activities) อยู่ที่ 20,494 ราย เพิ่มขึ้น 14.0% ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2564 ที่มีผู้ประกอบการ 17,982 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร (Restaurants) จำนวน 18,419 ร้าน (89.9% ของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่จดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 12.9% จาก 16,319 ร้านในปี 2564 (ภาพที่ 4) ผลจากการเปิดประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยกลับมาปกติ ทำให้ผู้บริโภคออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน ท่องเที่ยว และทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ช่วยหนุนให้ธุรกิจร้านอาหารกลับมาฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ภาวะการแข่งขันสูงขึ้น กดดันให้ธุรกิจร้านอาหารในปี 2565 กว่า 649 ราย เลิกกิจการ เพิ่มขึ้น 4.5% จากจำนวน 621 รายที่เลิกกิจการในปี 2564
รายได้โดยรวมของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของไทยที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2565 อยู่ที่ 255.6 พันล้านบาท7/ เพิ่มขึ้น 50.7% (ในปี 2564 รายได้รวมอยู่ที่ 169.6 พันล้านบาท) (ภาพที่ 5) ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ดังนี้
-
ธุรกิจอื่นๆ: มีส่วนแบ่งรายได้อยู่ที่ 17.8 พันล้านบาท คิดเป็น 7.0% ของรายได้ของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของไทย ซึ่งมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 12.6% ต่อปี11/ โดยผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาปกติในปี 2565 หนุนรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆกลับมาเติบโต 42.8% จำแนกตามรายธุรกิจ แบ่งได้ ดังนี้ (ภาพที่ 8)
1) การบริการเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในร้าน (เช่น ร้านกาแฟ คาเฟ่) รายได้อยู่ที่ 15.1 พันล้านบาท เติบโต 37.4% จาก 11.0 พันล้านในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 84.9% ของรายได้รวมของธุรกิจอื่นๆ (ลดลงจาก 88.2% จากปี 2564)
2) การบริการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน (เช่น ผับ บาร์ สถานบันเทิง) รายได้อยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท เติบโต 94.8% (จาก 1.2 พันล้านในปี 2564) มีสัดส่วนอยู่ที่ 12.9% ของรายได้รวมของธุรกิจอื่นๆ (เพิ่มขึ้นจาก 9.4% จากปี 2564)
3) การบริการอาหารบนแผงลอยและตลาด สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 180.3 ล้านบาท ขยายตัว 16.0% จาก 155.4 ล้านบาทในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 1.0% ของรายได้รวมของธุรกิจอื่นๆ (ลดลงจาก 1.3% จากปี 2564)
4) ร้านอาหารแบบเคลื่อนที่ สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 168.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75.9% จาก 95.5 ล้านบาทในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.9% ของรายได้รวมของธุรกิจอื่นๆ (เพิ่มขึ้นจาก 0.8% จากปี 2564)
5) ร้านเครื่องดื่มแบบเคลื่อนที่ สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 26.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.6% จาก 15.0 ล้านบาทในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.2% ของรายได้รวมของธุรกิจอื่นๆ (เพิ่มขึ้นจาก 0.1% จากปี 2564)
6) การบริการเครื่องดื่มบนแผงลอยและตลาด สัดส่วนรายได้อยู่ที่ 24.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% จาก 22.3 ล้านบาทในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.1% ของรายได้รวมของธุรกิจอื่นๆ (ลดลงจาก 0.2% จากปี 2564)
-
หากจำแนกตามสัญชาติของนิติบุคคล จะพบว่ารายได้หลักมาจากนิติบุคคลไทยมีรายได้รวม 17.7 พันล้านบาท (คิดเป็น 99.4% ของรายได้ธุรกิจอื่นๆ) เติบโตขึ้น 42.7% จากในปี 2564 อยู่ที่ 12.4 พันล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการต่างชาติมีรายได้รวม 16.0 ล้านบาท (คิดเป็น 0.1% ของรายได้ธุรกิจอื่นๆ) เติบโตขึ้น 247.8% จากในปี 2564 อยู่ที่ 4.6 ล้านบาท
-
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้ประกอบการสำคัญในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ บจก. คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล, บจก.ทิพย์ธารี, บจก.เอส ซี กรุ๊ป, บจก. ดาว คอฟฟี่บีนส์, บจก.ท้ายสำเภา 2003 โดยในกลุ่มนี้มีรายได้รวมกันอยู่ที่ 10.4 พันล้านบาท คิดเป็น 58.4% ของรายได้ธุรกิจอื่นๆ ซึ่งมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 9.7% ต่อปี11/
ทั้งนี้ การพิจารณาภาพรวมธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage Service Activities) จำเป็นต้องครอบคลุมหลายองค์ประกอบทั้งด้านขนาดของธุรกิจ ทำเลที่ตั้งร้านอาหาร และลักษณะการประกอบธุรกิจ โดยในช่วงระหว่างปี 2562-2565 ที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 มูลค่าธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มในไทยหดตัวเฉลี่ย (CAGR) -11. 8% ต่อปี (ภาพที่ 9) สะท้อนว่าธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจและพึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงส่งผลต่ออัตราการเติบโตเฉลี่ยในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ต่อมาหลังจากความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรคระบาด COVID-19 คลี่คลายลง ทำให้ภาครัฐลดความเข้มงวดในการเดินทาง รวมถึงการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามปกติ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หมวดที่พักและบริการด้านอาหาร (Accommodation and Food Service Activities) ปี 2565 มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 4.6% ของ GDP ทั้งประเทศ (จาก 3.3% ของ GDP ในปี 2564) ตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้น 135.9% (อยู่ที่ 125.0 ล้านทริป จาก 53.0 ล้านทริปในปี 2564) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น 2,788.9% (อยู่ที่ 10.4 ล้านคน จาก 0.4 ล้านคนในปี 2564) (ภาพที่ 10) อย่างไรก็ตาม หากเทียบมูลค่าตลาดของไทยกับกลุ่มประเทศในอาเซียนในปี 2565 พบว่าตลาดธุรกิจบริการด้านอาหารของไทยมีมูลค่าราว 21.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังน้อยกว่าประเทศในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งมีมูลค่า 29.0 และ 22.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) ระหว่างมูลค่าธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มของไทยกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปี 2558-2565 สูงถึง 0.99 (ภาพที่ 11) สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอีกปัจจัยที่จะหนุนให้มูลค่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของไทยเติบโตได้ โดยในช่วงดังกล่าวนักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเฉลี่ยอยู่ที่ 1,393.1 บาท/คน/วัน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 567.9 บาท/คน/วัน12/ (ข้อมูลล่าสุดปี 2565)
โดยสรุป ปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ (1) จำนวนของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เนื่องจากธุรกิจนี้พึ่งพากำลังซื้อจากนักท่องเที่ยว (2) ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อและความต้องการของประชาชนในการบริโภคอาหารนอกบ้าน โดยในปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศขยายตัว 2.6% ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านของครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,220.6 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 7.0% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1,140.3 บาท/เดือน ส่วน Delivery สั่งจากที่ร้านเฉลี่ยอยู่ที่ 1,587.9 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1,476.9 บาท/เดือน (ภาพที่ 12) และ (3) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมานิยมทานอาหารที่ร้านมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลาย โดยมีปัจจัยเร่งจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและสื่อโซเชียลมีเดียผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีบทบาทต่อผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ การแนะนำร้านอาหารใหม่ๆ การแชร์ประสบการณ์การรับประทานอาหารในร้าน การโปรโมทร้านอาหารผ่านโฆษณาออนไลน์ การสร้างการติดตามจากลูกค้าโดยแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจของอาหาร และการให้สิทธิพิเศษต่างๆ ของร้านอาหาร โดยอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 77.8% เมื่อเทียบกับปี 2564 อยู่ที่ 69.5% (ที่มา: Datareportal)
สำหรับปัจจัยด้านอุปทานที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจนี้ ได้แก่ (1) จำนวนผู้ประกอบการ เนื่องจากโครงสร้างการดำเนินธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน การเข้า-ออกจากธุรกิจจึงทำได้ไม่ยาก ส่งผลให้มีจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ธุรกิจจึงต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง (2) การขยายตัวของเมือง หนุนการขยายสาขาของผู้ประกอบการ (ภาพที่ 13) โดยเฉพาะการขยายสาขาตามศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า/คอมมูนิตี้มอลล์ ทั้งในเมืองท่องเที่ยวและเมืองหลักของภูมิภาคต่างๆ และ (3) ความสะดวกจากบริการแอปพลิเคชันส่งอาหาร (Food Delivery Applications) ที่เข้ามีบทบาทในชีวิตของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกสำหรับช่องทางในการสั่งอาหารเพิ่มขึ้น อาทิ Grab Food, Foodpanda และ Lineman (ภาพที่ 14)
สถานการณ์ที่ผ่านมา
ในปี 2566 อุปสงค์ในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มสูงขึ้นสะท้อนจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หมวดที่พักและบริการด้านอาหาร (Accommodation and Food Service Activities) ที่ปรับเพิ่มขึ้น 27.7% ในทิศทางที่สอดคล้องกับการเติบโตของ GDP โดยรวม (ภาพที่ 15) โดยมีปัจจัยช่วยขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากอุปสงค์ในภาคท่องเที่ยวตาม (1) มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ และ (2) การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 152.5% อยู่ที่ 28.15 ล้านคน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 22.1% อยู่ที่ 176.2 ล้านทริป ในปี 2566 (ภาพที่ 16)
ส่วนด้านอุปทานปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางของอุปสงค์ โดยธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารที่จดทะเบียนนิติบุคคลและดำเนินกิจการอยู่แล้วเพิ่มขึ้น 15.2% อยู่ที่ 21,224 ร้าน13/ (ภาพที่ 17) ส่วนจำนวนผู้ประกอบการจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 32.8% อยู่ที่ 4,001 ร้าน โดยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดที่ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยว อาทิ จังหวัดกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนผู้ประกอบการจดทะเบียนใหม่มากที่สุด 1,287 ร้าน ตามมาด้วย ชลบุรี (481 ร้าน) ภูเก็ต (371 ร้าน) เชียงใหม่ (271 ร้าน) และสุราษฎร์ธานี (211 ร้าน) นอกจากนี้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันส่งอาหาร (Food Delivery Application) ได้ปรับตัวหลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์การรับประทานอาหารที่ร้าน (Dine-In) โดยให้ส่วนลดต่างๆ เพื่อรับประทานอาหารที่ร้านในราคาพิเศษ นอกจากนี้ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ขยายตัวอย่างมากเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยกระจายร้านอาหารและเครื่องดื่มไปยังที่ต่างๆ มากขึ้น (ตารางที่ 3)
จากปัจจัยข้างต้น รายได้ของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่จดทะเบียนนิติบุคคลในปี 2566 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5-3.5% อยู่ที่ 262.0-264.5 พันล้านบาท (ภาพที่ 18) ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 1,254 บาท/ครัวเรือน/เดือน เพิ่มขึ้น 2.8% และการบริโภคที่สั่งมารับประทานที่บ้าน (Delivery at Home) เฉลี่ยอยู่ที่ 1,640 บาท/ครัวเรือน/เดือน เพิ่มขึ้น 3.3% (ภาพที่ 13) และการฟื้นตัวด้านอุปสงค์จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
รายได้หลักของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มคาดว่าจะยังคงมาจากนิติบุคคลไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่าสัดส่วนจะลดลงทีละน้อยเหลือ 98.7% จาก 98.8% ในปี 2565 ขณะที่นิติบุคคลต่างชาติมีสัดส่วน 1.3% เพิ่มขึ้นจาก 1.2% ในปี 2565 ตามการเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการสัญชาติจีน (ภาพที่ 19)
อย่างไรก็ตาม การประกอบธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารในปี 2566 ยังคงเผชิญความเสี่ยง อาทิ (1) การแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ในปี 2566 มีผู้ประกอบการในธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารที่จดทะเบียนนิติบุคคลเลิกกิจการ 722 ร้าน เพิ่มขึ้น 11.2% (จากจำนวน 649 ร้าน ที่เลิกกิจการในปี 2565) (ภาพที่ 20) และ (2) ต้นทุนวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทุนหลักส่วนใหญ่14/ มีราคาเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว (17.3%) น้ำตาล (8.6%) พืชผัก (25.1%) น้ำมันถั่วเหลือง (1.7%) (ภาพที่ 21) ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาหรือปริมาณเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร ในภาวะที่การแข่งขันสูงขึ้น
แนวโน้มธุรกิจ
ปี 2567-2569 วิจัยกรุงศรีคาดว่าอุปสงค์ในธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจาก (1) การทยอยฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ การฟื้นตัวของการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ (2) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะทยอยกลับมา โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวสำคัญ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ หลังจากสถานการณ์การบินที่ค่อยๆ กลับมาเป็นปกติ โดยยังคงมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐโดยเฉพาะการให้ฟรีวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวบางประเทศ ที่จะช่วยให้ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับก่อน COVID-19 ได้ในปี 2568 ด้านนักท่องเที่ยวไทยคาดว่าจะมีการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐ (ภาพที่ 22) นอกจากนี้ภาครัฐยังมีนโยบายผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่น มาตรการขยายเวลาเปิดสถานบริกาถึงตี 4 โดยเริ่มจากจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และอ.เกาะสมุย สุราษฏ์ธานี เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ซึ่งจะสนับสนุนการฟื้นตัวในกลุ่มธุรกิจให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม และ (3) อินเตอร์เน็ตและสื่อโซเชียลที่มีบทบาทมากขึ้นต่อพฤติกรรมการบริโภค ผ่านการแชร์รูปภาพและประสบการณ์จากผู้ที่มีอิทธิพลในสื่อโซเชียล (Influencer) หรือโฆษณาออนไลน์ รวมถึงชุมชนของผู้ที่รักอาหารที่มักจะมีการแนะนำร้านอาหารใหม่ๆ และสิทธิพิเศษต่างๆกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นความสนใจในการแสวงหาแหล่งรับประทานอาหารตามร้านใหม่ๆ ในทำเลที่หลากหลาย
ทางด้านอุปทานคาดว่าจะได้แรงหนุนการเติบโตจาก (1) การขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ บริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ส่งผลให้รักษาคุณภาพของอาหารได้นานขึ้น ทำให้ผู้ประกอบสามารถเปิดร้านอาหารที่หลายได้แม้ในพื้นที่ที่ไกลจากวัตถุดิบ (2) การเติบโตของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันส่งอาหาร (Food Delivery Application) ที่เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ (ภาพที่ 23) รองรับวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับการใช้แอฟพลิเคชันในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงร้านอาหารต่างๆได้ง่ายขึ้น รวมถึงการมีส่วนลดต่างๆเพื่อจูงใจผู้บริโภค และ (3) การขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีก (Retail Business) ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก (ตารางที่ 4) ที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะทำเลแหล่งธุรกิจที่มีศักยภาพหรือหรือแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อรองรับการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภค รวมทั้งการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยปัจจัยหนุนด้านอุปทานเหล่านี้คาดว่าจะเอื้อให้จำนวนร้านอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% (ภาพที่ 24)
จากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานข้างต้น คาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่จดทะเบียนนิติบุคคลเติบโต 4.0-5.0% ต่อปี โดยมีรายได้รวมที่ 275-300 พันล้านบาท ในปี 2567-2569 (ภาพที่ 25)
ปัจจัยท้าทาย
-
ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารมีการแข่งขันสูงขึ้นจากจำนวนร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น ตามการเปิดสาขาใหม่ของศูนย์การค้าและสถานที่อื่นๆ เช่น สถานีน้ำมัน รวมทั้งการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติที่มีความได้เปรียบทั้งด้านเงินทุน เครือข่ายธุรกิจ และความสามารถด้านภาษาที่หลากหลาย ทำให้สามารถปรับแผนธุรกิจตามเทรนด์ด้านอาหารที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กดดันความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ SMEs โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า จำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารของไทยประมาณ 40% มีอายุการดำเนินงานเพียง 0-3 ปี
-
ความผันผวนด้านต้นทุนจาก (1) สภาพอากาศที่แปรปรวนจากทั้งปรากฎการณ์เอลนีโญ/ลานีญาได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และต้นทุนอาหารและเครื่องดื่ม และ (2) ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงที่ส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม
-
ภาวะเศรษฐกิจที่อาจยังฟื้นตัวช้าท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวสูง รวมถึงปัญหาหนี้สินครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง(สัดส่วน 91.3% ต่อ GDP ในช่วง Q4 2566) ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลงและระมัดระวังค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
-
การขยายตัวของร้านอาหารแบบ Cloud Kitchen15/ ทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การรับประทานอาหารราคาแพง ซึ่งอาจกดดันกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่มีหน้าร้าน โดย Statista คาดว่าตลาดของการส่งอาหารออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าเกือบ 37.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567
-
ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพและอนามัยมากขึ้น กดดันให้ผู้ประกอบการเน้นบริการอาหาร/สินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น อาทิ ใช้วัตถุดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ หรือใช้โปรตีนจากพืช (Plant Base) รวมถึงใช้ผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนมีผลต่อต้นทุนการดำเนินงาน
การปรับตัวสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ (Sustainability)
การดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนที่มีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มแข่งขันปรับตัวด้านกระบวนการดำเนินงานและปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจแบบ ESG (Environmental, Social and Governance) มากขึ้น
-
ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการได้เริ่มปรับตัว อาทิ (1) การใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ (Solar Cell System) มากขึ้น (2) ลดการใช้น้ำ (3) การบำบัดน้ำเสียก่อนการปล่อยทิ้งสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ (4) การใช้สารทำความเย็นที่ช่วยลด/ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (5) การขนส่งอาหารโดยใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแทนรถจักรยานยนต์สันดาป (6) การคัดแยกทำความสะอาดขยะพลาสติก และนำไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก หากเป็นวัตถุอินทรีย์จะนำของเสียทั้งหมดไปใช้ประโยชน์ อาทิ ทำปุ๋ย อาหารสัตว์ แทนการฝังกลบ และ (7) การออกแบบรูปแบบร้านโดยมุ่งเน้นกับการอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเลือกวัสดุและเทคโนโลยีในการก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
-
ด้านสังคม ผู้ประกอบการหลายรายมุ่งเน้นในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น อาทิ (1) การให้โอกาสคนพิการเข้าทำงาน (2) การช่วยเหลือเด็กในการเข้าถึงการศึกษามากขึ้น และ (3) การบริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังมีคุณภาพสูงให้แก่มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ
-
ด้านธรรมาภิบาล ทั้งในองค์กร ลูกค้า และส่วนรวม โดยครอบคลุมไปถึง สวัสดิภาพของสัตว์ (Animal Welfare) ด้วย อาทิ ร้านอาหารในเครือ บริษัท บ้านหญิง กรุ๊ป จำกัด16/ และร้านอาหารโมโม พาราไดซ์17/ ได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ที่ถูกเลี้ยงแบบไม่ขังกรง (Cage-Free) เป็นต้น
การปรับตัวของธุรกิจข้างต้น อาจเพิ่มแรงกดดันด้านต้นทุนทางธุรกิจ ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารและบริการซึ่งอาจมีผลต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ เนื่องจากการส่งผ่านภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคอาจทำได้จำกัด ในภาวะที่กำลังซื้อยังรอการฟื้นตัว
1/ อาทิ การบริการอาหารและ/หรือเครื่องดื่มด้วยตนเอง การบริการอาหารด้วยตนเอง การชำระเงินด้วยตนเอง
2/ ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
3/ ที่มา: กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
4/ TSIC 56101
5/ การบริการอาหารบนแผงลอยและตลาด (TSIC 56102), ร้านอาหารแบบเคลื่อนที่ (TSIC 56103), การบริการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน (TSIC 56301), การบริการเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในร้าน (TSIC 56302) , การบริการเครื่องดื่มบนแผงลอยและตลาด (TSIC 56303), ร้านเครื่องดื่มแบบเคลื่อนที่ (TSIC 56304)
6/ ศักยภาพในการเติบโตพิจารณาจากองค์ประกอบ 4 ส่วน ได้แก่ 1) ปัจจัยพื้นฐานของกิจการ 2) คุณลักษณะของผู้ประกอบการ 3) การดำเนินงานของกิจการ 4) ผลประกอบการของกิจการ
7/ คำนวณจากจำนวนนิติบุคคลทุกขนาดที่อยู่ในประเภทธุรกิจ 56101,56102,56103, 56301, 56302, 56303, 56304 และได้ส่งงบการเงินในปี 2565 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 9,022 ราย
8/ ข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2558-2565
9/ รูปแบบธุรกิจร้านอาหารที่ใช้แบรนด์เดียวและขยายตัวไปตามสถานที่ต่างๆโดยการลงทุนเองหรือการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ (ที่มา: https://www.smartsme.co.th)
10/ ข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2558-2565
11/ ข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2558-2565
12/ Source: Ministry of Tourism and Sports
13/ ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลอ้างอิงจากเดือนธันวาคมปี 2566
14/ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นสัดส่วน 57.9% ของต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (ที่มา: Office of the National Economic and Social Development Council (NESDC)’s 2015 Input-Output Table, Krungsri Research)
15/ Cloud Kitchen เป็นธุรกิจร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน โดยเน้นการใช้พื้นที่เพื่อปรุงอาหารเพื่อขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียว
16/ ที่มา: thaipr.net
17/ ที่มา: Mo-Mo-Paradise (Thailand) Facebook Page